ตรวจสอบข้อเท็จจริง “ฝีดาษลิง” COFACT Special Report #25
“ฝีดาษลิง” โรคระบาดใหม่ที่ทั่วโลกและไทยกำลังจับตา เป็นโรคระบาดทางผิวหนังในตระกูลฝีดาษ หรือไข้ทรพิษที่เคยหายจากโลกไปกว่า 40 ปี แต่กลับมาแพร่ระบาดใหม่อีกครั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงมองว่าฝีดาษลิงยังคงเป็นโรคระบาดที่ควบคุมได้ง่ายกว่าโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคติดต่อผ่านทางการสัมผัสร่างกาย เชื้อไม่ลอยอยู่ภายในอากาศ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น และหายได้เอง
English Summary
Many countries around the world are watching the spread of monkeypox closely. Many health experts say it is too soon to tell whether monkeypox outbreak could lead to a global pandemic. On the good news, monkeypox causes less severe symptoms compare to smallpox and the current smallpox vaccine is 85% effective against monkeypox. We look at most frequently asked questions on monkeypox and the current measures to prevent the spread of the disease in Thailand.
Q: โรคฝีดาษลิงคืออะไร?
A: ฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับฝีดาษคน และไข้ทรพิษ พบครั้งแรกในประเทศแถบแอฟริกา ลักษณะอากาศประกอบไปด้วย ไข้ ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย รวมทั้งมีผื่นและตุ่มตามตัว ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง ในระยะสุดท้ายผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะเป็นสะเก็ดแห้งและหลุดออกมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการราว 2-4 สัปดาห์จากนั้นจะหายเอง
Q: ฝีดาษลิงแพร่กระจายได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
A: ฝีดาษลิงแพร่กระจายได้ด้วยการสัมผัสสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลากหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย โดยเชื้อจะติดมาตามสารคัดหลั่งของสัตว์ เช่น เลือด น้ำลาย หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเชื้อสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ แต่โอกาสติดเชื้อในลักษณะนี้จะต่ำกว่าการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
Q: ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดโรคฝีดาษลิง?
A: ผลการศึกษาในแอฟริกาพบว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีโอกาสติดโรคฝีดาษลิงมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตที่ร้อยละ 10 นอกจากนี้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น แอฟริกาตะวันตก และมีประวัติสัมผัสสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะในพื้นที่ดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเช่นกัน
Q: ปัจจุบันเราพบการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงในไทยหรือยัง?
A: ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นชาวต่างชาติ เดินทางมาเปลี่ยนเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เบื้องต้นมีการเฝ้าสังเกตอาการผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 12 คนซึ่งเดินทางมาในเที่ยวบินเดียวกัน แต่ยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดในประเทศ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกระบุด้วยลักษณะของเชื้อทำให้เชื่อได้ว่าโรคฝีดาษลิงจะไม่แพร่กระจายจากคนสู่คนอย่างรวดเร็ว และทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับโควิด-19 บวกกับเรายังคงมีวัคซีนและวิธีการรักษาโรคฝีดาษอยู่เดิม ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะเรายังมีวิธีการจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดได้
Q: การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันมีโอกาสติดโรคฝีดาษลิงมากกว่าจริงหรือไม่?
A: ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ยืนยันว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อฝีดาษลิง และฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม ล้วนเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษลิงทั้งสิ้น
Q: ปัจจุบันเรามียารักษาโรคฝีดาษลิงหรือยัง?
A: ปัจจุบันเรายังไม่มียารักษาโรคฝีดาษลิงโดยตรง แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด และยารักษาผิวหนังบริเวณที่พบตุ่มหนอง ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ได้ผลดี
Q: การปลูกฝี หรือการฉีดวัคซีนฝีดาษ สามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่?
A: การปลูกฝี หรือการใช้วัคซีนฝีดาษสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้สูงถึง 85% อย่างไรก็ตามไทยเรา รวมทั้งหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้มีการฉีดวัคซีนฝีดาษ หรือปลูกฝีมานานกว่า 40 ปีแล้ว เนื่องจากโรคฝีดาษได้สูญหายไปจากโลกมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของโรคฝีดาษลิงทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาผลิตวัคซีนฝีดาษอีกครั้ง ซึ่งวัคซีนฝีดาษที่เคยใช้รักษาฝีดาษคนอยู่เดิมมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษลิงได้ดี เนื่องจากเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกัน
Q: เราควรจะต้องไปรับการฉีดวัคซีนฝีดาษในเวลานี้หรือไม่?
A: ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขของไทยยังไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษ เนื่องจากยังไม่พบการแพร่ระบาดในไทย และปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงแล้ว บวกกับธรรมชาติของเชื้อที่จะติดต่อกันผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง อัตราการเสียชีวิตต่ำ และผู้ป่วยสามารถหายเองได้ ทำให้ฝีดาษลิงยังเป็นโรคที่ไม่น่ากังวลมากนักเมื่อเทียบกับโรคระบาดทางระบบทางเดินหายใจเช่นโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ที่มีความรุนแรงของโรคมากกว่า
Q: เราจะป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิงได้อย่างไร?
A: กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศ ที่พบการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเช่นประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา ให้เฝ้าสังเกตอาการตัวเอง หากพบว่ามีไข้ ปวดเมื่อร่างกาย มีผื่นและตุ่มตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนประชาชนทั่วไปให้รักษาสุขอนามัย เช่นหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ เช่นลิง และสัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนู กระรอก ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสกับสัตว์เหล่านี้ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และรับประทานอาหารปรุงสุก
ที่มา:
https://www.bbc.com/thai/international-61522154
http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgdetil.php?id=904
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/monkeypox
https://news.ch7.com/detail/572704
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com