ไทยติดอันดับ 3 เสรีภาพสื่อในอาเซียน แต่ยังรั้งอันดับ 115 ของโลก COFACT Special Report #23
เมื่อไม่นานมานี้ Reporters Without Borders เผยผลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2022 ซึ่งไทยมีอันดับที่ดีขึ้น อยู่ที่อันดับ 115 จาก 137 เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามไทยยังคงอยู่ในกลุ่ม Tier 4 หรือประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในขั้นยากลำบาก สื่อยังถูกกดดันจากภาครัฐให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับสิ่งที่รัฐต้องการจะสื่อ และยังมีกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการให้สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา
English Summary
Thailand’s global press freedom ranking has improved, from 137 last year to 115 this year. According to Reporters Without Border, the reason for Thailand’s improved rank does not come from the domestic situation, but rather the press freedom globally has been in decline. Many countries such as Russia and China use the national security law to silence critics of the government. Myanmar is one of the countries in Southeast Asia with the lowest press freedom ranking due to the jailing of the journalists who criticize the coup, while Indonesia sees the lower ranking due to the radical Islamic movements.
ผู้จัดทำผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า สื่อของไทยมีการเลือกข้างอย่างชัดเจน บวกกับการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่าสื่อควรทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลไม่มีความไว้วางใจการทำงานของสื่อเสรี
อย่างไรก็ตามการที่อันดับเสรีภาพสื่อของไทยดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคนั้นแย่ลง จากบทวิเคราะห์ของเว็บไซต์ The Diplomat ระบุว่า เหตุการณ์รัฐประหารและการจับกุมนักข่าวในเมียนมาอย่างโหดร้าย และการคุกคาม-ปิดสื่อที่นำเสนอข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ทั้งสองประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเมียนมาถูกจัดอันดับที่ 176 จาก 180 ประเทศ และฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 147 จากที่เคยอยู่อันดับที่ 138 เมื่อปีที่แล้ว
ส่วนประเทศในอาเซียนซึ่งถูกจัดอันดับดีขึ้นนอกจากไทยแล้ว ก็ยังมีมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 113 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 119) สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 139 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 160) กัมพูชาอยู่อันดับที่ 142 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 144) และบรูไนอยู่อันดับที่ 144 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 154)
ประเทศในอาเซียนที่มีอันดับแย่ลง นอกจากเมียนมา และฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีอินโดนีเซียที่เมื่อปีที่แล้วเคยอยู่อันดับที่ 113 แต่ปีนี้อยู่อันดับที่ 117 โดยผู้จัดทำแบบสำรวจระบุว่าสื่อในอินโดนีเซียยังประสบกับปัญหาความหวาดกลัว และการถูกคุกคามโดยกองทัพ และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ถึงแม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีสื่อเอกชนเสรีจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ตาม
เสรีภาพสื่อในเอเชียตกต่ำลง
Reporters Without Border ผู้จัดทำแบบสำรวจนี้พบว่า ปี 2022 เป็นปีที่เสรีภาพสื่อใน
ภูมิภาคเอเชียตกต่ำลงเป็นอย่างมาก โดยเอเชียมีจำนวนประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในระดับน่ากังวลถึง 25% ของทั้งภูมิภาค โดยภูมิภาคที่เสรีภาพสื่อตกต่ำที่สุดคือตะวันออกกลาง มีประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในระดับน่ากังวลถึงกว่า 52%
ปัจจัยที่ทำให้เสรีภาพสื่ออยู่ในระดับตกต่ำในเอเชียมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารในเมียนมา การใช้กฎหมายควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการคุมขังนักข่าวที่นำเสนอข้อมูลที่รัฐบาลไม่พอใจ และหลายประเทศมีสื่อในความควบคุมของรัฐบาลมากกว่าสื่อเอกชนเสรี
ประเทศ หรือเขตปกครองพิเศษที่อันดับเสรีภาพสื่อตกต่ำลงมากที่สุดจากปีที่ผ่านมาคือฮ่องกง ซึ่งปีนี้ถูกจัดอันดับที่ 148 (ปีที่ผ่านมาอยู่อันดับที่ 80) เหตุผลหลักมาจากการใช้กฎหมายความมั่นคงจับกุม และสั่งปิดสื่อเสรีเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลฮ่องกง ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกลางปักกิ่งของจีน การสั่งปิดหนังสือพิมพ์ยอดนิยมอย่าง The Apple Daily และ Stand News รวมถึงการจับกุมนักข่าว และเจ้าของสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยอ้างว่าพวกเขาเป็นภัยความมั่นคงสร้างความหวาดกลัวให้กับสื่อเป็นอย่างมาก
สแกนดิเนเวีย ยืนหนึ่งภูมิภาคที่เสรีภาพสื่อดีที่สุดในโลก
สิบอันดับประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลกได้แก่ 1. นอร์เวย์ 2. เดนมาร์ก 3. สวีเดน 4. เอสโตเนีย 5. ฟินแลนด์ 6. ไอร์แลนด์ 7. โปรตุเกส 8. คอสตาริกา 9. ลิทัวเนีย 10. ลีชเทินชไตน์ ซึ่ง 4 ใน 10 ประเทศที่ระบุมาล้วนเป็นประเทศที่อยู่ในสแกนดิเนเวีย ผู้จัดทำแบบสำรวจระบุว่า ประเทศในสแกนดิเนเวียมีกฎหมายคุ้มครองการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และประเทศเหล่านี้มีจำนวนสื่อเอกชนเสรีมากกว่าสื่อในกำกับของรัฐบาล
ส่วน 10 ประเทศที่เสรีภาพสื่อตกต่ำที่สุดในปี 2022 ได้แก่ 180. เกาหลีเหนือ 179. เอริเทรีย 178. อิหร่าน 177. เติร์กเมนิสถาน 176. เมียนมา 175. จีน 174. เวียดนาม 173. คิวบา 172. อิรัก 171. ซีเรีย
ที่มา:
https://thediplomat.com/2022/05/southeast-asia-nations-languish-in-annual-press-freedom-ranking/
https://rsf.org/en/rsfs-2022-world-press-freedom-index-new-era-polarisation
https://mothership.sg/2022/05/singapore-press-freedom-ranking-2022/
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com