‘โคแฟค’ร่วมเปิด2หัวข้อสนทนา ในงาน‘มหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025’

กิจกรรม

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมวงเสวนา “Soul Connect : จิตวิญญาณ การร่วมทุกข์ และความหวัง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานแถลงข่าว มหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025 ภายใต้แนวคิด HUMANICE : มาพบเพื่อนที่ดีต่อใจ พาคุณไป Connect หัวใจความเป็นมนุษย์ในตัวคุณ ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา 100 องค์กร ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Soul Connect Fest”

Screenshot

โดย สุภิญญา เปิดเผยว่า มหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-2 มี.ค. 2568 โคแฟคได้รับเชิญให้จัดห้องย่อย2 เรื่อง คือ 1.พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเชื่อมโยงกับมิติความเป็นมนุษย์ (AI & Humanity) โดยเน้นเป้าหมายเรื่องการสร้างสันติภาพและการเข้าถึงความจริง เหตุที่เลือกหยิบยกประเด็นนี้เนื่องจากความทุกข์ร่วมสมัยปัจจุบันเราอาจอยู่กับข้อมูลข่าวสารมากเกินไป และบางครั้งก็มีความรู้สึกลบๆ เข้ามา จากข้อมูลไม่จริงบ้าง หรือข้อมูลจริงแต่ทำให้เกิดความเครียดบ้าง เป็นต้น 

โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุค AI และเทคโนโลยี Deepfake ก็รู้สึกว่าน่ากลัวมากขึ้น ดังที่เห็นจากสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) กำหนดให้ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ที่เป็นผลจากปัญญาประดิษฐ์ เป็นความเสี่ยงของโลก (Global Risk) อันดับ 1 ของโลกในช่วง 2-3 ปีล่าสุด จึงอยากเชื่อมโยงผลกระทบของเทคโนโลยีมาสู่ความเป็นมนุษย์ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเองก็พูดกันมากเรื่องการปรับตัวให้อยู่รอดในยุค AI เช่น การเพิ่มทักษะ (Upskill) หรือการเรียนรู้ใหม่ (Reskill) แต่ผลกระทบด้านสังคมและด้านจิตวิญญาณก็เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับมือเช่นกัน

ทั้งนี้ ผลกระทบของ Deep Tech (เทคโนโลยีขั้นสูง) เมื่อก่อนอาจอยู่แค่เรารู้ไม่เท่าทันสื่อ อยู่ในเรื่องของความคิด แต่จากงานวิจัยบอกว่า Deep Tech ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับร่างกาย เช่น อีก 10 – 20 ปีข้างหน้า สรีระของคนเราอาจเปลี่ยนไปจากการที่เราใช้โทรศัพท์มือถือกันนานเกินไป กับผลผลกระทบต่อสมอง จิตใจและจิตวิญญาณ อย่างที่เราหลงเชื่อมิจฉาชีพ ซึ่งที่หลงเชื่อก็เป็นเพราะสารของมิจฉาชีพที่สื่อมาไปกระตุ้นอะไรบางอย่างในความคิดหรือความรู้สึกของตัวเราหรือไม่ 

หรือแม้แต่ไปถึงขั้นจิตไร้สำนึก ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าหงุดหงิดเพราะอะไร เนื่องจากสมองก็ยังคิดว่าตนเองปกติดี แต่จิตไร้สำนึกที่สะสมความคิดมายาวนานมาก ตลอดชีวิตของเราก็ไม่รู้ว่าเก็บสะสมอะไรไว้บ้าง เพราะความทุกข์ของมนุษย์ก็มาจากการสะสมความคิดและความรู้สึกที่ฝังลึกลงไป โดยหากเป็นคนที่เคลียร์ตนเองได้ จะเหมือนกับโยนหินลงไปในน้ำ แม้จะเกิดรอยแต่ไม่นานรอยก็หายไป แต่หากเป็นคนที่ชอบสร้างอารมณ์ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็จะเหมือนกับศิลาจารึก ความทุกข์สมัยเด็กผ่านไปเป็นสิบปี หากไม่เคลียร์ออกก็ยังคงอยู่ ซึ่งการเคลียร์ออกที่ว่านี้แต่ละคนจะมีวิธีไม่เหมือนกัน ก็ขอเชิญชวนให้มาหาคำตอบกันที่งาน Soul Connect Fest

Screenshot

ในมุมของโคแฟค จริงๆ เรายังเล่นแค่ในระดับความคิดอยู่ ให้รู้เท่าทัน ให้มีสติ ไม่เชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่แชร์อะไรโดยไม่เช็ค แต่งานนี้เราโชคดีมากเลยที่ได้มาเชื่อมโยงกับภาคีสุขภาวะทางปัญญา เพราะผลกระทบของ Deep Tech ก็คงไม่ใช่แค่ระดับสมองหรือความคิดที่อยู่ๆ เราเผลอโอนไป แต่มันลึกซึ้งไปถึงจิตวิญญาณ แล้วเราจะรับมืออย่างไร? อันนี้ก็น่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับภาคีสุขภาวะทางปัญญาและภาคีระบบสื่อ มันก็ต้องแก้ไป 2 อย่างด้วยกัน สุภิญญา กล่าว

สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่เราต้องกลับมาดูแลจิตใจตนเองในเชิงลึก เพื่อให้พร้อมกับการรับมือกับโลกที่ผันผวน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยปัญหามากมายซึ่งไม่ใช่แต่ในประเทศไทย แต่อีกด้านหนึ่ง การแก้ปัญหาเชิงระบบโครงสร้างก็ต้องทำด้วย เช่น จะออกแบบระบบนิเวศสื่อให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งความรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม องค์กรสื่อ รวมถึงระดับปัจเจกอย่างบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) การที่โคแฟคซึ่งทำเรื่องระบบสื่อได้มาร่วมกับภาคีสุขภาวะทางปัญญา จึงเป็นโอกาสดี

ส่วนอีกหัวข้อที่โคแฟคจะร่วมจัดในงาน Soul Connect Fest 2025 คือ 2.ผลกระทบจากด้านลบของอินเตอร์เน็ต เช่น ความเกลียดชัง มีคำถามว่าเหตุใดในอินเตอร์เน็ตคนเราจึงเกลียดกันมาก แสดงความคิดเห็นกันแบบรุนแรงสุดโต่งจนอาจลุกลามออกจากโลกออนไลน์ไปสู่โลกจริง แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องทนอยู่ ซึ่งนอกจากการมีความรู้เท่าทัน มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) ยังต้องมีความเป็นมนุษย์ที่ใจเย็นๆ และใจดีต่อกัน

โดยในวงนี้จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากความเกลียดชังบนโลกออนไลน์มาร่วมพูดคุย ยิ่งยุคหลังๆ เป็นยุค 4.0 มีการยกระดับ เช่น ใช้เทคโนโลยี Deepfake มีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation – IO) ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นและวนอยู่ไม่หายไปไหน แล้วจะหาทางออกกันอย่างไร ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่ตั้งไว้ในงานคือ ปัญญารวมหมู่ (Collective Wisdom)” รวมถึงมีความเป็นมนุษย์ ที่แม้การชอบหรือเกลียดเป็นสิทธิของบุคคล แต่การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะควรจะต้องมีขอบเขต และต้องอยู่บนฐานของความเป็นจริงไม่ใช่บิดเบือน

เราจะใช้พลังปัญญารวมหมู่ เราจะสร้างความเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการเคารพกันและกันแม้จะเห็นต่างกันในพื้นที่ออนไลน์ได้อย่างไร ซึ่งทุกวันนี้พื้นที่ออนไลน์ก็เป็นพื้นที่ของเราเกินครึ่งไปแล้ว ก็คือต้องสร้างวัฒนธรรมของความเป็นมนุษย์คู่กันไปด้วย อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นที่เราได้คุยกัน สุภิญญา กล่าว 

สำหรับวงเสวนา “Soul Connect : จิตวิญญาณ การร่วมทุกข์ และความหวัง ในการแถลงข่าวมหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025 ยังมีผู้ร่วมเสวนาอีก 3 ท่าน โดย จารุปภา วะสี ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญากล่าวว่า การเฝ้ามองความเคลื่อนไหวทั้งในประเทศไทยและโลก มีสิ่งหนึ่งที่รายงานหลายฉบับกล่าวตรงกันคือ วิกฤติต่างๆ ที่ซับซ้อนหนักหนาแล้วเราหาทางออกไม่ได้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือมนุษย์ไม่สามารถร่วมมือกันได้ หรือร่วมมือกันได้ยาก จึงเกิดคำถามว่าจะฝ่าเรื่องนี้ออกไปอย่างไร

Screenshot

ศ.(เกียรติคุณ) น.พ.ประเวศ วะสี  เคยกล่าวถึงคำหนึ่งที่สำคัญมาก คือ สันติภาพ  สันติภาวะ แต่สันติภาพหรือสันติภาวะของโลกหรือสังคมภายนอกนั้นเชื่อมโยงกับสันติภาพหรือสันติภาวะภายในจิตใจของเราแต่ละคนกับคนใกล้ตัว  ขณะที่คำว่าการร่วมทุกข์ จริงๆ คือการร่วมเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในโลกปัจจุบันการร่วมทุกข์ คือ เรื่องใหญ่ หากเข้าไปถึงตรงนั้นเชื่อได้ว่าเราจะเจอความหวัง

เคยสัมภาษณ์คนทำงานระดับสูงที่สุด กับคนทำงานกับคนรากหญ้าที่สุด พูดคำเดียวกัน ฟังแล้วน้ำตาไหล เขาบอกคุณรู้ไหม? เมื่อใดก็ตามที่เขาลงไปทำงานในพื้นที่แล้วเจอผู้คนที่ทำงานแบบนี้ด้วยกัน เขาไม่เคยหมดหวังเลย ฉะนั้นจากสันติภายในสู่สันติภาพสังคม สู่สันติภาพโลก จุดร่วมองเราคือเรากลับมาที่จิตวิญญาณ เชื่อมโยงกัน เราร่วมทุกข์ด้วยกันแล้วเราจะเจอความหวังแน่ๆ จารุปภากล่าว

Screenshot

ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สุขภาวะทางปัญญา หมายถึงความสุขที่เกิดจากการที่เราได้กลับมาใคร่ครวญ ได้รู้จักตนเองและเกิดการเชื่อมโยงกับผู้อื่น สังคมและธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นฐานของงานสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งปัญหาของโลกเราทุกวันนี้เรียกว่า บานี (BANI)” ที่ทั้งเปราะบางซับซ้อน คลุมเครือ  คาดเดาไม่ได้ ไม่เป็นเส้นตรง จึงสร้างความกังวลและความทุกข์ภายในใจให้กับผู้คนในสังคม 

เคยมีนักศึกษาไปถาม มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งในชั้นเรียนนั้น นักศึกษาหลายคนมองไปที่เรื่องการก่อสร้างต่างๆ แต่นักมานุษยวิทยาผู้นี้กลับตอบว่า การค้นพบกระดูกโคนขาของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์จะอยู่รอดไม่ได้เลยหากร่างกายบาดเจ็บ เพราะไม่สามารถออกไปหาอาหาร แต่การที่กระดูกโคนขาดังกล่าวมีร่องรอยการได้รับการเยียวยา นั่นหมายถึงมีมนุษย์คนอื่นๆ ช่วยกันโอบอุ้มฟูมฟัก คอยดูแลกันจนกระดูกโคนขาหายเป็นปกติ นั่นคือจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ 

Screenshot

เรามองว่าสุขภาวะทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่ง เรียกว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการคลี่คลายหรือเข้าไปแก้ไขหรือป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว ดังนั้นเราจะเห็นการเคลื่อนไหวของประเด็นต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกเดือด ความมั่นคงทางอาหาร หรือแม้แต่สุขภาพจิตที่เริ่มเอามิติในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา หรืออาจเรียกจิตวิญญาณหรือการพัฒนาภายใน เข้าไปร่วมขับเคลื่อนกับปัญหาหล่านั้น อันนี้เรียกว่าเป็นความหวังของสังคมแล้วก็มนุษยชาติผอ. สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าว

Screenshot

สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า วิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันไม่มีพื้นที่ทำให้เราได้พูดในสิ่งที่เป็นตัวเราเอง ไม่มีเวลาหรือความเงียบที่เพียงพอที่เราจะได้สำรวจหรือเปิดบทสนทนา เพราะเมื่อว่างกันเราก็มักจะใช้เวลาไปกับสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการเบียดบังเวลาที่เราจะได้ทำความรู้จักจิตวิญญาณข้างใน ต้องเริ่มจากตรงนี้ก่อน เมื่อเราไม่รู้จักและเกิดการขัดแย้งกับความรู้สึกภายใน 

ซึ่งบางทีเราจะรู้สึกสับสน หงุดหงิด ไม่รู้จะจัดวางตนเองอย่างไร และตอบคำถามตนเองไมได้ด้วยว่าที่เป็นแบบนั้นเพราะอะไร ในขณะที่คนคลี่คลายได้มักเป็นคนที่เปิดบทสนทนาแล้วเคลียร์ เปิดใจอย่างตรงไปตรงมาแล้วคุยกับจิตใจโดยมองว่าเป็นเพื่อน เพราะหากมองว่าเป็นคู่ต่อสู้รบไปก็ไม่ชนะ ส่วนคำว่าความทุกข์ก็คือความขัดแย้งหรือสิ่งที่ไม่เป็นไปตาม แม้กระทั่งความสุขของผู้อื่นก็ยังเป็นความทุกข์ของเราได้ อย่างยุคนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ไปทางไหนก็เจอแต่คนโพสต์อะไรที่เป็นความสุข ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดเราไม่สุขอย่างเขาบ้าง

อันนี้ก็ต้องกลับไปฝึกกันว่าเราจะเบิกบานกับความสุขของคนอื่นได้อย่างไร ยินดีกับคนอื่นที่มีความสุขได้อย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ต้องเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีการตอบสนองกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายหน้า หรือเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ ถ้าในมิติศาสนาก็มีผู้ค้นพบว่าปัญญาก็เกิดจากการที่คุณต้องผ่านช่วงเวลาของความทุกข์ให้ได้ คุณจะเกิดปัญญาได้อย่างไรว่าคุณไม่ผ่านความทุกข์ ถ้าเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ ตีความมันอีกในมิติหนึ่ง เราก็อาจยินดีกับการที่เราจะต้องอยู่กับความทุกข์ เรายินดีได้จากความทุกข์ มีประโยชน์ได้จากความทุกข์ สมบัติ กล่าว

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากคนดังในวงการบันเทิงย่าง “วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา” และ “ชาย – ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ” ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “2 คนบันเทิงกับการตกผลึกตัวตนและความคิด” ซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/SoulConnectFest/videos/834869462093916/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

Screenshot
Screenshot