กกต. ประกาศรับรอง สว.67 กับข้อเท็จจริงเรื่อง “รับรองก่อน สอยทีหลัง”
สองสัปดาห์หลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสร็จสิ้นไปเมื่อ 26 มิ.ย. 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ประกาศรับรองรายชื่อ สว. 200 คนที่ได้รับเลือกและบัญชีสำรอง เท่ากับว่า กกต. เลือกแนวทาง “รับรองก่อน สอยทีหลัง” ซึ่งก่อนหน้านี้นายสมชาย แสวงการ และ สว. ที่กำลังจะพ้นตำแหน่งกลุ่มหนึ่งอ้างว่า “กระทำไม่ได้” เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ
จากการตรวจสอบกับ กกต. และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โคแฟคพบว่าคำกล่าวอ้างของ สว. กลุ่มนี้ไม่ตรงกับความจริง เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนสิทธิผู้ได้รับเลือกเป็น สว. หลังจากประกาศรับรองผลแล้วได้
“รับรองก่อน สอยทีหลัง” หมายถึง การที่ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการรับรองรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. และบัญชีสำรอง แม้จะมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ได้รับเลือกและความไม่ถูกต้องชอบธรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการเลือกอยู่ก็ตาม หลังจากประกาศรับรองไปแล้ว หาก กกต. สืบสวนพบว่า สว. คนนั้นหรือผู้มีชื่อในบัญชีสำรองขาดคุณสมบัติ ก็จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือถ้ามีการทำผิดกฎหมาย กกต. ก็จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกามีคําสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา สว. ที่ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่ามิได้กระทำความผิด ถ้าศาลพิพากษาว่าผิดจะต้องสิ้นสุดการเป็น สว. หรือถูกลบชื่อจากบัญชีสำรอง
ไม่มีกฎหมายรองรับ?
ระหว่างการประชุมวุฒิสภาชุดที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า “ชุดเฉพาะกาล” เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 เพื่อพิจารณาข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา นายสมชาย แสวงการ อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป. สว.) “ไม่ได้ให้อำนาจ [กกต.] ไปสอยทีหลัง” ดังนั้น “การรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังกระทำไม่ได้”
นายสมชายอ้างมาตรา 42 ของ พ.ร.ป. สว. ที่วรรคสุดท้ายเขียนไว้ว่า เมื่อ กกต. ได้ผลคะแนนการเลือกระดับประเทศแล้วให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา
นายสมชายตีความว่า มาตรา 42 นี้กำหนดให้ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ก็ต่อเมื่อเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรมเท่านั้น หากยังมีข้อร้องเรียนหรือข้อสังสัย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัครหรือกระบวนการเลือก กกต. ต้องสอบสวนให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะประกาศรับรองผล
นายจัตุรงค์ เสริมสุข เป็น สว. อีกคนหนึ่งที่เห็นเหมือนกับนายสมชาย เขาอภิปรายว่า “การที่ กกต. พูดมาโดยตลอดว่ารับรองไปก่อน แล้วสอยกันทีหลัง ไม่รู้ว่ามันมีกฎหมายข้อไหน บทบัญญัติไหน หรือพระราชบัญญัติฉบับไหน หรือรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ให้อำนาจ กกต. รับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลัง…”
นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สว. อภิปรายในทิศทางเดียวกันว่า กกต. ไม่สามารถรับรองผลการเลือก สว. ไปก่อนแล้วค่อยมา “สอย” ทีหลังเหมือนกับการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ เพราะ สว. ที่ถูกกล่าวหานั้นมีส่วนในการเลือกผู้สมัครคนอื่นในขั้นตอนการเลือกกันเองและการเลือกไขว้ “ผิดหนึ่งคน พลาดหนึ่งคน คือพลาดทั้งหมด”
โคแฟคตรวจสอบ
กกต. ใช้วิธี “รับรองก่อน สอยทีหลัง” มาแล้วในการเลือกตั้งหลายครั้งหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการเลือก สส. การเลือกตั้งซ่อม หรือการเลือกระดับท้องถิ่น แต่เนื่องจากการได้มาซึ่ง สว. ชุดที่ 13 ในปี 2567 นี้ เป็นการเลือกครั้งแรกภายใต้กติกาและระบบใหม่ที่ถูกออกแบบโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าซับซ้อน มีข้อกล่าวหาและข้อกังขาเกิดขึ้นมากมายในแทบทุกขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนการประกาศผลด้วย
กกต. พูดมาเป็นระยะว่าการ “รับรองก่อน สอยทีหลัง” นั้นทำได้ตามกฎหมาย ครั้งล่าสุดคือในการแถลงความคืบหน้าการเลือกระดับประเทศที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวถามนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ว่าการ “สอยทีหลัง” นั้นมีกฎหมายข้อไหนรองรับ
นายแสวงตอบว่า “มาตรา 62 ของ พ.ร.ป. สว. ระบุว่า เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. แล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น และเมื่อศาลรับคำร้องไว้พิจารณา สว. ผู้นั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ถ้าอยู่ในบัญชีสำรองก็ต้องลบชื่อออก”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงประเด็นเดียวกันนี้ในการให้สัมภาษณ์ ไทยพีบีเอส ว่า “ตามข้อกฎหมาย กกต. ทำได้อยู่แล้ว เมื่อประกาศผลไปแล้วตามมาพบว่า สว.ท่านใดทำผิด พ.ร.ป. สว. ก็สามารถส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิได้ตลอด คนที่อยู่ในบัญชีสำรองก็เลื่อนขึ้นมา”
แม้ว่าการ “รับรองก่อน สอยทีหลัง” จะมีกฎหมายรองรับ แต่ ผศ.ปริญญาก็เตือนว่า หาก กกต. เพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนต่าง ๆ ในการเลือก สว. แล้วเดินหน้ารับรองผลการเลือกโดยไม่สอบสวนข้อร้องเรียนอย่างจริงจัง ก็อาจถูกครหาได้
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ชุดเดียวกับนายสมชาย อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 ที่ให้อำนาจ กกต. “รับรองก่อน สอยทีหลัง”
มาตรา 226 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า “ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือกแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกผู้ใดกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น”
“พอหลังประกาศผลแล้วเขาถึงได้ไปสอย…ถ้าระหว่างนี้มีคนร้องเยอะ กกต. ก็ต้องตรวจสอบดูว่าวินิจฉัยชี้ขาดได้เลยมั้ย ถ้าวินิจฉัยได้เลยเขาก็สอยเลย แต่ถ้ายังไม่ชัดเจน มีข้อโต้แย้ง มีหลักฐานที่ต้องไปพิสูจน์กันทีหลัง” นายเสรีกล่าว
โดยสรุป ข้อกฎหมายที่ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือก สว. ก่อน แล้วจึงทำการสืบสวนสอบสวนคำร้องและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ มีดังนี้
1) พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
● มาตรา 62 เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือกแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
เมื่อศาลฎีกามีคําสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทําความผิดให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองด้วย และเมื่อศาลฎีกามีคําพิพากษาว่าผู้นั้นกระทําความผิด ให้ กกต. สั่งลบรายชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีสำรอง
● มาตรา 63 เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. แล้ว หากความปรากฏต่อ กกต. ว่า สว. คนใดขาดคุณสมบัติหรือหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า
2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
● มาตรา 225 ซึ่งอยู่ในส่วนที่ว่าด้วยที่มาและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกผู้ใดกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทําความผิด และเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
“ถูกต้อง สุจริต เที่ยงธรรม”
ในการแถลงข่าวเรื่องการประกาศรับรองผลการเลือก สว. เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 นายแสวง เลขาธิการ กกต. อธิบายว่า กกต. รับรองผลการเลือก สว. เพราะ “พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือก สว. เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริตและเที่ยงธรรม” ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 42 ของ พ.ร.ป. สว.
นายแสวงอธิบายว่าที่สรุปเช่นนั้น เพราะ กกต. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับกระทำความผิดและข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นแล้ว โดย กกต. แบ่งความผิดและข้อร้องเรียนเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่ม 1 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร: เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครตั้งแต่ต้น ทำให้มีผู้สมัครถูกตัดสิทธิกว่า 2,000 คน ในการเลือกระดับอำเภอ (1,917 คน) ระดับจังหวัด (526 คน) และระดับประเทศ (5 คน) และได้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกของผู้สมัครเป็นการชั่วคราวอีก 89 ราย
กลุ่ม 2 กระบวนการเลือก: มีผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับกระบวนการเลือกในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9, 16 และ 26 มิ.ย. 2567 มายัง กกต. 3 คำร้อง และยื่นไปที่ศาลฎีกาอีก 18 คำร้อง ซึ่ง กกต. พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และศาลฎีกาก็ยกคำร้องทุกคดีแล้ว จึงถือว่ากระบวนการเลือกเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
กลุ่มที่ 3 ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมจากการฝ่าฝืนกฎหมาย: กกต. ได้รับคำร้องเกี่ยวกับความไม่สุจริต เช่น การจัดตั้ง บล็อกโหวต ฮั้ว ทั้งหมด 47 เรื่อง ซึ่งพยานหลักฐานเท่าที่ กกต. รวบรวมได้ในตอนนี้บ่งชี้ว่าอาจทำเป็นขบวนการ การสอบสวนในเชิงลึกต่อไปต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กกต. จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน ให้ส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์มาช่วยในการสอบสวน ซึ่งขณะนี้หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่ามีการกระทำความผิด เพื่อความเที่ยงธรรมต่อทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา จึงต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายในการพิสูจน์และแก้ข้อกล่าวหา
นายแสวงสรุปว่า จากการดำเนินการของ กกต. ในทั้ง 3 ส่วน “ในชั้นนี้จึงยังไม่สามารถบอกว่าการเลือก [สว.] เป็นไปโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม” จึงนำมาสู่การประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 10 ก.ค. 2567