แนะนำเครื่องมือตรวจสอบข้อมูลลวงด้วยตนเอง Cofact Special Report #11

บทความ

ทำความรู้จัก OSINT วิธีการสำคัญสำหรับตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวเท็จ

นิก วอเตอร์ส บรรณาธิการของ Bellingcat ลาออกจากกองทัพอังกฤษเมื่อปี 2015 เขาได้ทำงานกับกองทัพมาเป็นเวลา 4 ปี ด้วยความที่เขาสนใจประเด็นเรื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้เขาตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโทสาขาด้านความมั่นคงและความขัดแย้งที่ King’s College London

ระหว่างที่เขาเรียน เขาเกิดสนใจประเด็นที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวกรองแบบ Open Source หรือ OSINT หรือการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่เขาเขียนคือหัวข้อ power of OSINT for investigating disinformation during the Ukrainian conflict หรือพลังของ OSINT ในการสืบค้นข้อมูลลวงเกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทระหว่างยูเครน บทความนี้ถูกตีพิมพ์ใน Bellingcat เว็บไซต์ที่รวบรวมข่าวสืบสวนสอบสวน ก่อนหน้านั้นเขายังได้เขียนบทความเกี่ยวกับสงครามในเยเมน ข้อพิพาทในซีเรีย และข้อมูลการจู่โจมด้วยโดรนของประเทศต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลประเภท OSINT อีกด้วย

วิธีการค้นหาข้อมูลแบบ OSINT ได้รับความนิยมมากในยุคสื่อสังคมออนไลน์ การเข้าถึงเซิร์จเอนจิ้น และเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ต ช่วยให้นักข่าว นักวิจัย หรือแม้แต่หน่วยงานความมั่นคงใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการสืบสวนคดียากๆ 

Bellingcat ก่อตั้งโดย เอเลียต ฮิกกินส์ นักข่าวในเมืองเลเชสเตอร์ของอังกฤษ สำนักข่าวนี้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการค้นหาข้อมูลแบบ OSINT ในช่วงเริ่มแรกเขานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ในสงครามซีเรีย ต่อมาพวกเขาได้รับความสนใจจากการนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนกรณีเครื่องบินสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2014 ปัจจุบันพวกเขานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเชิงลึกที่ใช้วิธีแบบ OSINT และฝึกอบรมผู้ที่สนใจในการทำข่าวด้วยวิธีนี้

วอเตอร์สบอกกับ First Draft ถึงทักษะ เครื่องมือ และความสามารถที่จำเป็นในการสืบสวนสอบสวนข้อมูลแบบโอเพนซอร์ส และนี่คือประเด็นสำคัญที่เขาได้สรุป

  1. ความคล่องแคล่วในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล

การยืนยันความถูกต้องของรูปภาพและวีดีโอที่เราพบบนสื่อโซเชียลเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการ OSINT โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลบนโลกออนไลน์มีจำนวนมาก การยืนยันข้อมูลด้วยวิธี OSINT จึงสำคัญกับนักข่าวเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นทักษะที่จะช่วยให้พวกเขาวิเคราะห์ที่มาของภาพได้

ปกติแล้วเรามักจะเห็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญๆ บันทึกภาพของพวกเขาแล้วโพสลงสื่อโซเชียลเช่นทวิตเตอร์ก่อนที่ภาพเหล่านั้นจะถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อกระแสหลัก ถึงแม้ข้อมูลเหล่านี้จะสำคัญต่อการนำเสนอข่าว แต่หลายครั้งภาพเหล่านี้ก็มักนำเสนอความจริงบางส่วน หรืออาจจะเป็นภาพเท็จก็ได้

ดังนั้นเราควรตั้งคำถามกับทุกเนื้อหา ภาพถ่าย และวีดีโอที่เราเห็นบนสื่อโซเชียล และตรวจสอบว่าผู้ที่โพสเป็นใคร เพราะอะไรเขาหรือเธอจึงโพสเนื้อหาเหล่านั้น เหมือนกับที่วอเตอร์สย้ำเสมอว่า “การวิเคราะห์ที่มาของข้อมูลคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการ OSINT”

  1. ทักษะด้านการค้นหาขั้นสูง

นอกจากการเข้าใจว่าเราจะหาข้อมูลโอเพนซอร์ชจากไหนได้แล้ว การมีทักษะการใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลเหล่านั้นด้วยความเข้าใจก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ทวิตเตอร์และกูเกิลมีเครื่องมือที่เคล็ดลับและเครื่องมือค้นหาขั้นสูงที่ช่วยให้เราปลดล็อกข้อมูลสำคัญเหล่านี้ได้

การค้นหาขั้นสูงผ่านทวิตเตอร์ (Twitter’s advanced search) สามารถช่วยให้เราค้นหาทวีตที่มีข้อความ สถานที่ วัน เวลา ภาษา ประเภทชื่อบัญชี หรือแม้แต่แฮชแทคที่เราสนใจได้ (เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กได้ยุติการให้บริการฟังค์ชั่นค้นหาแบบละเอียด เช่นการใช้คีย์เวิร์ด สถานที่ หรือช่วงเวลาของโพสต่างๆ)

ขณะที่กูเกิลเองก็มีคำสั่งการค้นหาพิเศษ ที่จะช่วยให้เราค้นหาข้อมูลได้ละเอียดมากกว่าการค้นหาแบบปกติ วอเตอร์สบอกว่า “กูเกิลเป็นเครื่องมือค้นหาที่มีความสามารถมากกว่าที่คุณคิด แต่หลายครั้งที่ผู้ใช้งานมักจะใช้เพียงฟังค์ชั่นพื้นฐานของมัน”

  1. แนวคิดแบบนักสืบ

การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบค้นข้อมูล OSINT ที่ดี คนคนนั้นจะต้องมีแนวคิดแบบนักสืบ วอเตอร์สบอกว่า “เขาจะไม่ตัดสินข้อมูลเพียงแค่การใช้เครื่องมือแค่หนึ่งหรือสองอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้พวกเรา (นักวิจัยด้าน OSINT) สนุกกับการทำงานร่วมกันก็คือความรักในการแก้ปริศนาต่างๆ”

เขาบอกด้วยว่า การเข้าใจความรู้สึกและการกระทำของคนในเหตุการณ์สำคัญๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เราควรเรียนรู้พฤติกรรมของพวกเขาและนำมาใช้ในการสืบหาข้อมูล

วอเตอร์สบอกว่า “เครื่องมือต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือหลักการ และแนวคิดแบบสืบสวนสอบสวน รวมถึงการมองหาวิธีการที่หลากหลายในการสืบค้นหาความจริง”

  1. เข้าใจความเป็นจริงของเหตุการณ์ด้วยเครื่องมือตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

หัวใจสำคัญของการวิจัยเรื่อง OSINT ของวอเตอร์ส คือการเข้าใจว่าภาพถ่าย หรือคลิปวีดีโอต่างๆ นั้นถ่ายจากสถานที่ใด 

เขาจะใช้เครื่องมือตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอย่าง Google Maps, Google Earth และการค้นหาภาพแบบย้อนกลับ (Reverse Image Search) จากเซิร์จเอนจิ้นของรัสเซีย Yandex และเว็บค้นหาภาพ RevEye ประกอบการยืนยันสถานที่เกิดเหตุ

นอกจากนี้เขายังใช้เครื่องมือยืนยันสภาพอากาศ เช่น SunCalc และ ShadowCalculator เพื่อยืนยันว่าเวลาที่เกิดเหตุตรงกับภาพที่โพสหรือไม่

วอเตอร์สใช้วิธีการวาดเส้นเพื่อเปรียบเทียบจุดสองจุดในภาพถ่ายดาวเทียมว่าตรงกับจุดที่ผู้โพสภาพถ่ายหรือไม่ (ภาพจาก: Nick Waters/Twitter)

แต่การรู้จักวิธีใช้เครื่องมือการค้นหาพิกัดที่ตั้งต่างๆ อาจจะไม่เพียงพอเสมอไป

วอเตอร์สบอกว่า “หลายครั้งที่คนเรามักจะตัดสินทันทีว่าภาพที่ถ่ายเกิดในสถานที่ที่มีการกล่าวอ้างจริง การรู้จักภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในพื้นที่นั้นๆ หรือการเข้าใจวัฒนธรรมของภูมิภาคที่เกิดเหตุจะช่วยให้เรายืนยันสถานที่เกิดเหตุได้ง่ายขึ้น”

ซาเมีย ฮาร์บ (@obretix บนทวิตเตอร์) ผู้เชี่ยวชาญด้านพิกัดภูมิศาสตร์บอกว่า เขาได้นำเทคนิคการยืนยันสถานที่เกิดเหตุจากวอเตอร์สไปใช้ยืนยันสถานที่เกิดเหตุข้อพิพาทในซีเรีย

วอเตอร์สบอกว่า ฮาร์บมีความสามารถในการจับคู่ภาพกับสถานที่ รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ของซีเรียเป็นอย่างดี

  1. การส่วนร่วมในการสืบค้นข้อมูล

มูฮัมมัด อิดรีส์ อาหมัด อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิงได้เขียนถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการสืบสวนหาข้อมูลร่วมกันด้วยวิธี OSINT ในวารสาร The New York Review of Books

Bellingcat นำหลักการนี้มาใช้ต่ออีกขั้นด้วยวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนนักสืบสวนข้อมูลระดับโลก วอเตอร์สบอกว่า “นักสืบสวนข้อมูลทั่วโลกมีการใช้หลักการแบบ OSINT เหมือนๆ กัน หลายครั้งที่พวกเขารวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อช่วยยืนยันข้อมูลและจุดเกิดเหตุในสถานที่ที่อาจตรวจสอบได้ยาก พวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายใหม่ๆ ไม่ได้เป็นงานที่น่าเบื่อ” 

เขายังบอกอีกด้วยว่า นักข่าวที่ใช้ทักษะ OSINT ควรใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างการมีส่วนร่วมในการยืนยันข้อมูลและสถานที่เกิดเหตุ เพราะการสร้างชุมชนที่มีส่วนร่วมในการยืนยันข้อมูลร่วมกัน ย่อมมีพลังมากกว่าการทำตามลำพัง

ที่มา: https://firstdraftnews.org/articles/the-skills-every-digital-investigator-needs/


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com