สว. 2567 กับการถูกตีตราว่า “สว. ชุดจับสลาก”
“สว. ชุดจับสลาก” เป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาตีตราสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากกระบวนการเลือกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ที่จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567
แม้ว่าวาทกรรมทางการเมืองหรือถ้อยคำตีตรา จะไม่สามารถนำมาพิสูจน์ได้ว่าผิดหรือถูกเหมือนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการเมือง (political fact-checking) อื่น ๆ เพราะเป็นการผสมผสานทั้งข้อเท็จจริง มุมมอง ความเห็น และการใช้ถ้อยคำเพื่อสื่อสารความคิดบางอย่าง แต่ก็ไม่ควรถูกปล่อยผ่านโดยไม่ตรวจสอบ เพราะวาทกรรมการเมืองมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อ ทัศนคติและการรับรู้ของคนในสังคมต่อเรื่องนั้น ๆ
ผู้เขียนหยิบวาทกรรม “สว.ชุดจับสลาก” ที่คาดว่าจะอยู่ในบริบทการเมืองไทยไปอีกพักใหญ่ มาตรวจสอบที่มาและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพราะเห็นว่าการใช้ถ้อยคำที่สื่อว่า สว. 2567 เข้าสภามาได้จากการจับสลากเสี่ยงโชค ย่อมมีผลต่อการยอมรับผลการเลือกและการทำหน้าที่ของ สว. 200 คนที่จะได้รับการประกาศชื่อภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วางไว้
“จับสลาก” มาจากไหน?
กระบวนการ กติกา และรายละเอียดขั้นตอนการเลือก สว. 2567 ถูกออกแบบและเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567สรุปสั้น ๆ ได้ว่า มีการแบ่งผู้สมัครเป็น 20 กลุ่มอาชีพ และแบ่งการเลือกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ (9 มิ.ย.) ระดับจังหวัด (16 มิ.ย.) และระดับประเทศ (26 มิ.ย.) แต่ละระดับมีการเลือก 2 ขั้น ขั้นแรกคือเลือกบุคคลในกลุ่มอาชีพเดียวกัน หรือ “เลือกกันเอง” ขั้นสองคือเลือกผู้สมัครในกลุ่มอาชีพอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน หรือ “เลือกไขว้”
ระดับอำเภอ: ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับจากการเลือกกันเองในแต่ละกลุ่ม จะผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจากรอบเลือกไขว้ จะผ่านเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด
ระดับจังหวัด: ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับจากการเลือกกันเองในแต่ละกลุ่ม จะผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจากรอบเลือกไขว้ จะผ่านเข้าสู่การเลือกระดับประเทศ
ระดับประเทศ: ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับจากการเลือกกันเองในแต่ละกลุ่ม จะผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจากรอบเลือกไขว้ จะได้เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 200 คน
ในการเลือกทุกระดับ ทั้งในขั้นเลือกกันเองและเลือกไขว้ กฎหมายกำหนดไว้ว่า ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนทำให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินจำนวนที่กำหนดไว้ “ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น” ทั้งนี้กฎหมายเปิดช่องให้ผู้สมัครสละสิทธิ์การจับสลากได้ โดยระบุว่า “หากผู้มีสิทธิจับสลากไม่ประสงค์จับสลาก ให้ผู้นั้นออกจากสถานที่เลือก และให้กรรมการประจำสถานที่เลือกบันทึกในรายงานเหตุการณ์ประจำสถานที่เลือก”
นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุให้ใช้วิธีการจับสลากในอีก 2 กรณี คือ 1) เมื่อภายในกลุ่มไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้แทนจับสลากแบ่งสาย 2) การจับสลากเพื่อแบ่งสายสำหรับการเลือกไขว้ ซึ่งแต่ละสายจะมีจำนวนกลุ่มและจำนวนผู้สมัครแตกต่างกัน จึงมีผลต่อคะแนนโหวตจากผู้สมัครที่อยู่ในสายเดียวกัน
เสียงวิจารณ์
การใช้วิธีจับสลากมาตัดสินการเข้ารอบ/ตกรอบของผู้สมัคร สว. ที่มีคะแนนเท่ากัน เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์มาตั้งแต่ต้น
ในเวทีเสวนาหัวข้อ “เลือก สว. กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย” จัดโดยสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา กล่าวว่า การใช้วิธีจับฉลากเพื่อตัดสินในกรณีที่ผู้สมัครได้คะแนนเท่ากันจะทำให้ สว. ชุดนี้ถูกเรียกได้ว่าเป็น “สว.ชุดจับฉลาก”
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวระหว่างกิจกรรมจำลองการเลือก สว. จัดโดยเครือข่าย Senate67 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 ว่า “ท่าน (ผู้สมัคร สว.) ต้องไปทำบุญ…ไปทำบุญก่อนมาเลือก สว. เพราะท่านต้องจับสลากเยอะ…”
ในการเลือก สว. ระดับอำเภอเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 ใน 928 อำเภอ/เขตทั่วประเทศ มีหลายกรณีที่ผู้สมัครคะแนนเท่ากันและต้องตัดสินด้วยการจับสลาก ทำให้มีผู้สมัครที่ตกรอบเพราะจับได้สลากที่มีข้อความว่า “ไม่ได้รับเลือก” ส่วนผู้ที่จับได้สลาก “ได้รับเลือก” ก็ผ่านเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด หลังจากวันนั้น เสียงวิจารณ์และการใช้วาทกรรม “สว.จับสลาก” เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกมา “รีวิว” กติกาการเลือกของผู้สมัครทั้งที่ตกรอบและได้ไปต่อ รวมทั้งเป็นเพราะประชาชนเริ่มเห็นภาพว่าการจับสลากส่งผลต่อการเลือก สว. ครั้งนี้อย่างไร
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ผู้สมัคร สว. เขตประเวศ กรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 10 มิ.ย. 2567 แสดงความเห็นว่า “เลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งแบบที่ผู้สมัครต้องพกดวงเข้าไปในสนามเลือกตั้งด้วย เพราะในหลายขั้นตอนของการเลือก พวกเขาออกแบบให้พึ่งดวง พึ่งโชคชะตา มีการใช้วิธีจับสลากเสี่ยงดวงเข้ามาใช้” และกติกาการเลือก สว. ครั้งนี้ถูกออกแบบมาโดย “ไม่เชื่อในคน แต่เชื่อในดวงมากกว่า” เขาจึงเรียกการเลือก สว. ครั้งนี้ว่า “การเลือกตั้งเสี่ยงดวง”
นายโกวิท โพธิสาร สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5,500 ราย เมื่อ 11 มิ.ย. 2567ว่า “ซ้อมไว้สำหรับใช้ในสภา ‘เรียนทั่นประธาน กระผม/ดิฉัน สว. 2,500 ที่มาจากการจับสลาก’…” และ “วิธีขยับฐานะทางเศรษฐกิจคือถูกหวย วิธีได้มาซึ่ง สว. คือ จับสลาก…”
มุมมองทางวิชาการและตัวอย่างจากต่างประเทศ
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ว่า การจับสลากเป็นวิธีที่คู่กับการเมืองไทยและถูกใช้มายาวนาน ในการเลือก สส. และการเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าผู้สมัครมีคะแนนเท่ากัน กฎหมายก็เขียนไว้ว่าให้ตัดสินด้วยการจับสลาก จึงไม่แปลกที่จะมีการนำมาใช้ในการเลือก สว. ซึ่งมีโอกาสสูงที่ผู้สมัครจะคะแนนเท่ากัน เนื่องจากมีผู้สมัครน้อยและยังแบ่งย่อยเป็น 20 กลุ่มอาชีพ
“การจับสลากไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดหรอก แต่ว่าสังคมไทยค่อนข้างจะยอมรับมัน…คนไทยค่อนข้างจะโอเคกับโชคชะตา ยอมรับเรื่องดวง ถ้าจับสลากแพ้ก็คือดวงซวยอะไรแบบนี้ มันมีเรื่องของวัฒนธรรมเข้ามาด้วย มันก็เลยทำให้กติกานี้ไม่ถูกโต้แย้งมากนัก” ดร.สติธรวิเคราะห์และให้ข้อมูลว่าในต่างประเทศอาจใช้วิธีการอื่นเช่น ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเท่ากันได้ทำหน้าที่ทั้งคู่โดยแบ่งกันทำงานคนละครึ่งวาระ เช่น ถ้าวาระ 4 ปี ก็ให้จับสลากว่าใครจะทำ 2 ปีแรกหรือ 2 ปีหลัง แทนที่จะให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้แพ้ไปเลย
เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 125 ระบุว่า ในการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง “…กรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”
ส่วน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 110 เขียนไว้ว่าหากมีผู้สมัครได้คะแนนเท่ากัน “ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเลือกตั้งเท่ากันจับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้งครบจํานวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น”
ในต่างประเทศ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐของสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ที่ประชุมฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐแห่งชาติสหรัฐ (National Conference of State Legislatures) ให้ข้อมูลว่า กรณีที่ผู้สมัครได้คะแนนเท่ากัน แต่ละมลรัฐจะใช้วิธีการตัดสินที่ต่างกันไป กล่าวคือ 28 รัฐจากทั้งหมด 50 รัฐ ใช้วิธีการจับสลาก (drawing of lots) หรือวิธีการอื่นที่คล้ายกัน อีก 14 รัฐจะถือว่าไม่มีผู้ใดชนะและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ส่วนรัฐที่เหลือใช้วิธีชี้ขาดแบบอื่น เช่น รัฐมอนทานาและเทนเนสซีให้ผู้ว่าการรัฐหรือกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ลงคะแนนชี้ขาด เนวาดาและนิวแฮมเชียร์ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติโหวตเลือกจากผู้สมัครที่ได้คะแนนเสมอกัน เป็นต้น
ถาม กกต.
ผู้เขียนสอบถามข้อมูลจาก กกต. ว่าในการเลือก สว. ระดับอำเภอเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 มีกรณีที่ผู้สมัครได้คะแนนเสมอกัน (ทั้งในรอบเลือกกันเองและเลือกไขว้) ในทุกหน่วยเลือกทั่วประเทศจำนวนเท่าไหร่ มีการจับสลากเกิดขึ้นกี่ครั้ง และจำนวนผู้ที่ผ่านเข้ารอบการเลือกระดับจังหวัดด้วยการจับสลากมีกี่คน
ว่าที่ร้อยตรีภาสกร สิริภคยาพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 ตอบว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยได้เก็บข้อมูลคะแนนและผลการจับสลากไว้ทั้งหมด แต่ กกต. ยังไม่ได้สรุปรวบรวมข้อมูลชุดนี้ออกมา จึงยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ว่ามีการจับสลากที่ส่งผลต่อการตกรอบ-เข้ารอบของผู้สมัครมากน้อยแค่ไหนในการเลือกระดับอำเภอ
ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดอีก 2-3 จังหวัด ให้ข้อมูลตรงกันว่า เจ้าหน้าที่มีการจดบันทึกว่าผู้สมัครคนใดที่ผ่านเข้ารอบจากการจับสลาก โดยเขียนไว้ในช่องหมายเหตุในใบรายงานผลการนับคะแนนว่า “จับสลาก” แต่ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลให้ได้ในขณะนี้ เนื่องจากกระบวนการเลือกยังไม่เสร็จสิ้น
ข้อสรุป
- กฎหมายและระเบียบการได้มาซึ่ง สว. ระบุไว้จริงว่า หากมีผู้สมัครที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้ผู้สมัครจับสลากกันเองว่าใครจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น โดยระเบียบ กกต. กำหนดให้เจ้าหน้าที่บันทึกผลการจับสลากลงในใบรายงานผลการนับคะแนนด้วย อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ (14 มิ.ย. 2567) กกต. ยังไม่ได้มีการประมวลผลข้อมูลว่ามีการจับสลากเพื่อตัดสินในกรณีที่ผู้สมัครได้คะแนนเท่ากันทั้งหมดกี่ครั้ง
- ระบบ/กติกา/การจัดการเลือก สว. 2567 มีปัญหาหลายด้านจริงตามที่นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคมนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ตลอดจนผู้สมัคร สว. ออกมาวิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยจำนวนมาก รวมถึงเรื่องการใช้วิธีจับสลากมาตัดสินผู้ชนะหรือการออกแบบกระบวนการที่ทำให้ต้อง “เสี่ยงดวง” มากเกินไป ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความไม่เห็นด้วยได้อย่างเต็มที่ แต่บางครั้งความไม่เห็นด้วยนั้นนำไปสู่การผลิตวาทกรรมทางการเมืองและถ้อยคำตีตราที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว. หรือส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ สว. ชุดนี้
- การจับสลากเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือก สว. แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมีผู้สมัครน้อยและการออกแบบให้เลือกกันเอง ทำให้การเลือก สว. ครั้งนี้ต้องใช้วิธีการจับสลากมากกว่าการเลือกตั้ง สส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นไม่ใช่ว่า สว. 2567 ทั้งชุดจะเข้าสู่สภาด้วยการจับสลากหรือเพราะดวงดีมีโชค ผู้สมัครหลายคนตั้งใจใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์เพื่อเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือสมัครเพื่อลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นที่คิดว่าเหมาะสม จึงไม่ควรเหมารวมว่า สว. ชุดนี้เป็น “สว. ชุดจับสลาก”
- ในมุมของการทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) ผู้เขียนเห็นว่าควรครอบคลุมถึงการตรวจสอบวาทกรรมทางการเมืองและถ้อยคำตีตราด้วย แม้จะไม่สามารถสรุปได้ว่าจริงหรือเท็จ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้รับข้อมูลข่าวสารรู้เท่าทันที่มาและวิเคราะห์ความถูกต้องชอบธรรมของวาทกรรมนั้น ๆ ได้