จาก‘6ตุลา’ถึง ‘ชายแดนใต้’ ผลกระทบ‘ข้อมูลลวง’เรื่องที่ทั้ง‘รัฐ-สื่ออาชีพ-ชาวโซเชียล’พึงตระหนัก

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)วันที่ 5 ต.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในหัวข้อ ทบทวนบทบาทสื่อสันติภาพในการรับมือสงครามข้อมูล จาก ตุลา 19 ถึง ยุคปัญญาประดิษฐ์รู้สร้าง” ณ เดอะเบคเฮาส์ @ปัตตานี เนื่องในโอกาส วันครูโลก (World Teachers’ Day) 5 ตุลาคม ของทุกปี

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เริ่มต้นด้วยการเล่าก่อนว่า มีโอกาสได้ไปศึกษาเรื่อง วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ (Peace Journalism)” การที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี ทำให้ในต่างประเทศที่ได้ไปสมัครเรียนมองว่าที่นี่มีเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ในแวดวงวิชาการตั้งแต่เมื่อราวๆ 10 กว่าปีก่อน เริ่มมีงานวิจัยเรื่องการสื่อสารเพื่อสันติภาพออกมา และเมื่อได้อ่านก็มองว่าน่าจะเข้ากับสถานการณ์ชายแดนใต้ จึงเลือกเรื่องนี้มาทำเป็นวิทยานิพนธ์

จริงๆ แล้วสิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะรู้เลยว่าสื่อมีบทบาทสำคัญมากๆ ในการสร้างสันติภาพหรือทำให้ไม่เกิดสันติภาพก็ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างที่เราเห็น แล้วจริงๆ เราก็พูดถึงกันเยอะ บทบาทสื่อ เรื่องข่าวสืบสวน-สอบสวนอะไรต่างๆ แต่พอมันลงลึกในประเด็นเฉพาะซึ่งเป็นเรื่องของความขัดแย้ง Peace Journalism ก็บอกว่าเราจะไม่ได้เรียนหรือรู้แค่แนวปฏิบัติของการทำข่าวเท่านั้น แต่เราต้องรู้บริบทของพื้นที่ที่เราไปทำข่าว และที่สำคัญเราต้องรู้ทฤษฎีเรื่องความขัดแย้งและสันติภาพ

หากให้อธิบาย วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ หมายถึง แนวปฏิบัติการทำงานของสื่อที่ต้องหาข้อมูลอย่างรอบด้าน หรือการค้นหาความจริงในทุกแง่มุมไม่ใช่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีเป้าหมายไปสู่ทางออกของปัญหาอย่างสร้างสรรค์และสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกระบวนการทำงานก็ย่อมแตกต่างจากเดิม เช่น ในอดีตการค้นหาข้อมูลทำได้จากการลงพื้นที่หรือการสัมภาษณ์บุคคลที่หลากหลายเพื่อรวบรวมความคิดเห็นมาประกอบ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มาก

แม้จะมีเครื่องมือมากขึ้นในปัจจุบัน แต่หากเราประเมินข้อมูลไม่เป็นอาจกลายเป็นเรื่องยากได้ ในส่วนของหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิชาชีพสื่อจึงต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย อาทิ มีการนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เรื่องการทำข่าวด้วยการใช้ข้อมูล (Data Journalism) และล่าสุดคือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามา ซึ่งคนทำสื่อต้องไม่เพียงใช้งานได้ แต่ต้องใช้อย่างชาญฉลาดด้วย 

ในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้ผ่านการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) สิ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอคือตราบใดที่เป็นการสื่อสารกับสาธารณะก็ต้องมีความรับผิดชอบ และสื่อสังคมออนไลน์ก็ไม่เหมือนกับการเขียนบันทึกหรือพูดอะไรในพื้นที่ส่วนตัว ส่วนประเด็นการมาของ AI นั้นมองว่าเป็นโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้พัฒนาผลงานได้ดีขึ้น รวมถึงขยายศักยภาพของคน 

แต่ยอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องความเป็นมืออาชีพของสื่อ ตั้งแต่ความแน่วแน่ในบทบาทของตนเอง เพราะบางที่เมื่อเราอยู่ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ก็ทำให้หลงลืมบทบาทของตนเองไปว่าการเป็นสื่อควรนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน หรือการใช้ AI เข้ามาช่วยในงานสื่อก็ใช้เพื่อทำงานแทนตนเองไปเลย ไม่ได้ใช้เพื่อตรวจสอบหรือเพื่อขยายศักยภาพของตนเอง ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมต่อผู้รับสาร แต่ระยะหลังๆ องค์กรสื่อก็จะให้ความสำคัญกับเรื่อง AI เห็นได้จากการเปิดเวทีสัมมนาเรื่องนี้มากขึ้น

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์  6 ตุลา ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า ปรากฏการณ์ของการสื่อสาร เมื่อย้อนมองไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วมาเทียบกับปัจจุบันจะพบทั้งความเหมือนและความต่าง” โดยสิ่งที่เหมือนคือการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (Malinformation) เพื่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือในอดีตการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้จะทำผ่านสื่อมวลชนจึงมีข้อจำกัด เช่น หากเผยแพร่ผ่านวิทยุก็ไปถึงเฉพาะผู้รับสารที่ฟังวิทยุ แต่ปัจจุบันช่องทางการเผยแพร่มีมากกว่า ทำให้ข้อมูลแพร่กระจายได้กว้างขวางและรวดเร็วกว่า

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันคนยุคปัจจุบันอาจมีความรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารมากกว่าคนในอดีตและมีช่องทางในการตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายกว่า แตกต่างจากคนในอดีตที่เมื่อได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง กว่าจะรู้ข้อเท็จจริงก็อาจผ่านไปแล้วเป็นปีหรือหลายปี ทั้งนี้ ในฐานะนักนิเทศศาสตร์ ตนยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็น แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือจริยธรรม รัฐต้องมีจริยธรรมในการกำกับสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่สื่อ (หรือใครก็ตามที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร) ก็ต้องมีจริยธรรมด้านความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ขณะที่ประเด็นสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความที่กระบวนการเจรจาสันติภาพไม่คืบหน้า ทำให้แม้เหตุความรุนแรงจะลดลงแต่คนในพื้นที่ก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่วนเรื่องข่าวลวง-ข่าวปลอม ซึ่งในบริบทของพื้นที่นี้มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงหรือเรื่องศาสนา เพราะมาจากทั้งฝ่ายที่โจมตีรัฐและฝ่ายที่โจมตีกลุ่มผู้ก่อการ หรือเรียกว่าเป็น สงครามข้อมูลข่าวสาร ที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตไม่ว่าบนเว็บไซต์หรือในแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ มองว่าคนมีความรู้เท่าทันมากขึ้น

พอเราพูดเรื่องสันติภาพ เรื่องความขัดแย้ง การที่จะไปสื่อสารเรื่องนั้นได้เราก็ต้องมีความรู้ด้วยเกี่ยวกับทฤษฎีความขัดแย้งหรือทฤษฎีความรุนแรง ซึ่งก็มีหลายระดับ ความรุนแรงเชิงกายภาพ เชิงวัฒนธรรม บางสังคมที่เราไม่เห็นความรุนแรงเชิงกายภาพไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความรุนแรง ฉะนั้นถ้านักข่าวหรือนักวารสารศาสตร์ไม่รู้ตรงนี้จะมองข้ามไป เช่น ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงที่ซ่อนอยู่เยอะแยะไปหมดที่ไม่ใช่เชิงกายภาพ ถ้าเราไม่ได้เรียนทฤษฎีเหล่านี้มาจะไม่รู้ ไม่มีการยิงกันก็น่าจะสงบแล้วไหม? แต่จริงๆ ยังมีปัญหาสังคมหลายอย่าง

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล ขยายความเรื่องปัญหาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ปัญหาแม่หม้าย-เด็กกำพร้า ปัญหาความยากจนที่เชื่อมโยงกับความสูญเสียซึ่งเกิดจากเหตุความรุนแรง ส่วนข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล อยากให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องกระบวนการสันติภาพ เรื่องการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในสังคม ความปรองดองและการอยู่ร่วมกันในบริบทของสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นนโยบายเรื่องเหล่านี้ที่ชัดเจน อีกทั้งเมื่อไม่มีข่าวเหตุความรุนแรงคนก็มักจะลืม ทั้งที่ในพื้นที่ก็ยังมีปัญหาอยู่

ส่วนประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เล่าว่า เด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่รู้จักเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ (วันที่ 28 เม.ย. 2547) โดยนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ณ ปัจจุบัน จะเป็นเด็กที่เกิดในช่วงปี 2544-2547 เด็กกลุ่มที่เห็นในมหาวิทยาลัยจึงไม่ค่อยมีความรู้สึกเจ็บช้ำที่แฝงอยู่ คนรุ่นใหม่ในพื้นที่จึงให้ความสำคัญกับการอยู่ดีกินดี เช่น มองว่าสันติภาพคือการมีชีวิตที่กินดีอยู่ดีและสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัย

แต่ถึงคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเติบโตมากับการเห็นเจ้าหน้าที่ตั้งด่านความมั่นคงจนคุ้นชิน ก็ยังคาดหวังว่าสักวันหนึ่งคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีชีวิตปกติเหมือนคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ขณะที่ก็จะเห็นความพยายามของคนรุ่นใหม่ในการสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น มีร้านอาหาร-ร้านกาแฟที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีพื้นที่แสดงผลงานศิลปะ ให้พบเห็นมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป

“มันก็ช่วยทำให้คนมีชีวิตชีวาขึ้น ทำให้เมืองมันเป็นเมืองที่น่าเที่ยว ฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน  ยังมีปัญหาโครงสร้างอยู่ที่ต้องช่วยแก้ด้วย อย่าเห็นแต่ความโรแมนติกของปัตตานี แต่ให้เห็นด้วยว่าปัตตานียังต้องการการแก้ไขปัญหาหลายอย่าง จริงๆ ยะลาก็คึกคักนะ แล้วนราธิวาสช่วงหลังๆ ก็มีกิจกรรมอะไรต่างๆ เกิดขึ้นเยอะเหมือนกันในแง่กิจกรรมที่สร้างสรรค์”

ส่วนบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในท้องถิ่น ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นสื่อท้องถิ่นที่มีลักษณะเป็นองค์กรแล้ว แต่กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ผลิตเนื้อหาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ซึ่งมักจะเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือวิถีชีวิต ไม่ใช่เรื่องการเมือง ที่ยังมีคือองค์กรสื่อส่วนกลางส่งนักข่าวมาประจำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไม่ก็เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานข่าวให้องค์กรสื่อส่วนกลาง  

อนึ่ง แม้การพูดคุยครั้งนี้จะว่าเน้นไปที่บทบาทของสื่อในการสื่อสารเพื่อสร้างสันติภาพหรือไม่ขยายความรุนแรง แต่ปัจจุบันเมื่อทุกคนสื่อสารและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าโลกออนไลน์มีแต่ความรุนแรง เช่น ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ซึ่ง ผศ.ดร.วลักษณ์กมล ให้ความเห็นว่า ในมุมหนึ่งก็ต้องมีกฎกติกากำกับดูแลกันบ้าง ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นต้องระบุความผิดให้มีโทษติดคุกตะราง แต่อาจอยู่ในรูปแบบแนวปฏิบัติหรือคำแนะนำ (Guideline) แต่หากไม่ทำตามก็จะมีมาตรการบางอย่าง

Professionalism (ความเป็นมืออาชีพอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือเรื่องของวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ ที่จะเป็นมาตรฐานวิชาชีพของสื่อที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ก็คิดว่ายังต้องมีอยู่ อีกประเด็นหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าอาจจะต้องมีการทำให้เป็นประเด็นที่เด่นชัดขึ้นมามากขึ้นในสังคม โดยคนที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหา หรือมีส่วนร่วมเป็น Stakeholders (ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย) ทั้งหลายให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาด้วยผศ.ดร.วลักษณ์กมล ฝากทิ้งท้าย

หมายเหตุ :ในช่วงท้ายของรายการ Cofact Talk ครั้งนี้ ยังมีแขกรับเชิญพิเศษคือ พระมหานภันต์ สันติภัทโท ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.) และผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มาร่วมพูดคุยซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/3831596513780870/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-