‘AI’กับข้อมูลข่าวสาร! ‘โอกาส-ภัยคุกคาม’ ทางออกอยู่ที่‘สื่อ-บริษัทเทคฯ’ต้องชัดเรื่อง‘จริยธรรม’

กิจกรรม

3 ต.ค. 2567 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ กฎบัตรปารีสเรื่องจริยธรรมสื่อในยุค AI และบริบทของไทย ที่สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ชั้น 34 ตึก SM Tower กรุงเทพฯ พร้อมถ่ายทอดสดทางเพจ “Cofact โคแฟค”  สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ The Reporter 

ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและระบบสุขภาพวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เหมือนกับเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง AI ถูกสร้างมาเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่สุขภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลปลอม รวมถึงการรุกรานทางไซเบอร์ ซึ่ง AI เข้ามาทวีความรุนแรงของปัญหา

เรื่องของข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) หรือเรื่องข่าวลวงต่างๆ ทั้งคนไทยและคนทั่วโลกจะถูกคุกคามด้วยปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยรายงานความเสี่ยงโลก (Global Risk Report 2024) ระบุว่า Disinformation จะเป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ใน 2 ปีข้างหน้า แล้วก็จะยืนยาวต่อเนื่องไปอีก 10 ปีข้างหน้า ผอ.สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและระบบสุขภาพวะทางปัญญา สสส. กล่าว

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 27 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ว่าจะใช้ AI ในหน่วยงานสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดจริยธรรมได้อย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็พอจะรู้แนวทางกันอยู่บ้าง เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ในการสร้างภาพประกอบ 

เคยมีตัวอย่างที่มีสำนักข่าวมีการทดลองสร้างรูปประกอบโดยใช้ AI ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีกฎเกณฑ์ทำอย่างไร ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจาก AI สร้างมาแบบไม่สมบูรณ์ มีจุดที่ทำให้สามารถจับผิดได้ง่าย รู้ว่าไม่ใช่ภาพจริง จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างภาพนี้โดยสร้างขึ้นจาก AI  แต่ไม่บอกผู้ชม-ผู้ฟัง ซึ่งเป็นประเด็นที่เคยพูดคุยกัน ชวรงค์ กล่าว

อาเธอร์ กริมองพองต์ (Arthur Grimonpont) ผู้แทนองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) กล่าวว่า ตนเป็นหัวหน้าฝ่าย AI และความท้าทายระดับโลกของ RSF ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นกำลังหลักในการเผยแพร่ข้อมูลทั่วโลก จากอัลกอริทึมที่คอยจับความสนใจของแต่ละคนแล้วป้อนเนื้อหาที่น่าสนใจเหล่านั้น ซึ่งหมายถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่างๆ เช่น Youtube Facebook Instagram TikTok และ X ที่แม้หน้าตาจะแตกต่างกัน แต่การออกแบบภายในกลับคล้ายกัน

ทั้งหมดนี้เพื่อดึงความสนใจของผู้คน และเปลี่ยนความสนใจนั้นให้กลายเป็นรายได้จากโฆษณา แพลตฟอร์มเหล่านี้จึงกลายเป็นความท้าทายของสำนักข่าวต่างๆ โดยช่วงปลายปี 2565 – ปลายปี 2566 Meta (บริษัทเจ้าของ Facebook) ได้ลดการเข้าถึงข่าวของสำนักข่าวใน Facebook ลงครึ่งหนึ่ง โดยที่ยังไม่มีใครบังคับให้ Meta รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้ ที่ยิ่งกว่านั้น AI อาจมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตข้อมูลข่าวสารอีกด้วย 

การมาของ AI แบบสร้างสรรค์ มาพร้อมกับโอกาสหลายอย่าง แต่ก็มาพร้อมกับภัยคุกคามที่สำคัญเช่นกัน ในด้านโอกาส ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการใช้งานพื้นฐาน เช่น การแปลงเสียงเป็นข้อความ การแปลงข้อความเป็นเสียง หรือเป็นการใช้งาน AI ที่ฉลาดขึ้นอีก เช่น ในการทำข่าวสืบสวน อย่างการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม หรือการสกัดข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) 

แต่พร้อมกับโอกาสเฉพาะทางเหล่านี้ แต่มีภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน เพราะจากการสำรวจครั้งใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ AI ก็พบข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จ ถือเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งภัยคุกคามของ AI แบบสร้างสรรค์ คือการทำให้แยกแยะได้ยากระหว่างเนื้อหาที่เป็นจริงกับเนื้อหาที่ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งคนจะไม่เชื่อ ในขณะที่ความท้าทายของสื่อคือการรักษาระดับความไว้วางใจของผู้รับสาร

ยังมีเรื่องของความหลากหลายและความเป็นอิสระในการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งแชทบอทอาจกลายเป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญในอีกไม่ช้า เหมือนสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน เช่น เมื่อ OpenAI (บริษัทผู้พัฒนาแชทบอท ChatGPT) เข้าเป็นพันธมิตรกับสื่อต่างๆ  จึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าคำตอบจาก ChatGPT ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารจะมีความน่าเชื่อถือและถูกต้องเพียงพอ นั่นคือปัญหาที่เราควรสนใจ

รวมถึงภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ  ซึ่งไม่สามารถรับประกันเรื่องรายได้จากข้อตกลงระหว่างสื่อกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ ในทางทฤษฎีอาจป้องกันภัยคุกคามเหล่านี้ได้ผ่านการใช้กฎหมายและกฎข้อบังคับ แต่น่าเสียดายที่กฎข้อบังคับเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ออกมาช้าเกินไป ในขณะที่บริษัทที่ให้บริการ AI ซึ่งมักจะเป็นเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ด้วยนั้นมักจะอยู่ในกลุ่มที่มีอำนาจในการล็อบบี้สูงมาก ทั้งในสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมาสื่อมวลชนถูกกำกับด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกันเอง ดังนั้นสื่อมวลชนจึงมีโอกาสในการทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสื่อมวลชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องกำกับดูแลผู้ให้บริการ AI และ Social Media ด้วยเช่นกัน แต่สำนักข่าวยังทำหน้าที่ของตัวเองได้และดำเนินการในฝั่งของตนได้จึงเป็นเหตุผลที่ RSF ได้ริเริ่มกฎบัตรปารีสว่าด้วย AI และงานข่าวและสื่อสารมวลชน ผู้แทน RSFกล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการบรรยายของผู้แทน RSF มีประเด็นน่าสนใจ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ทำให้มนุษย์สามารถผลิตภาพได้มหาศาลกว่าเมื่อ 150 ปีก่อน เราอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูลทั้งภาพ เสียงและตัวอักษร ที่บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ดังนั้นหลักสำคัญของสื่อมวลชนจริงๆ คือกลับไปที่หลักจริยธรรมที่สื่อยึดถือ 

แต่เมื่อมีเรื่องของ AI เข้ามา ก็จะมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเทคโนโลยี แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์และองค์กรสื่อ ซึ่งต้องรวมพลังกัน นอกจากจะมีแนวปฏิบัติของตนเองแล้ว ยังต้องสร้างอำนาจต่อรองด้วย เช่น นักข่าวภาคสนามไปลงพื้นที่ หรือบทความที่นักข่าวเขียนขึ้น เมื่อถูกนำไปให้ AI สร้างอะไรขึ้นมา ก็ควรมีการเจรจาเรื่องต้นทุนร่วมกับบริษัทเทคโนโลยี

จากเมื่อก่อนที่เราต้องเจรจาเรื่องการเข้าถึงของอัลกอริทึม ดูเหมือนว่าเราก็จะถูกรุกคืบเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่เขาบอกว่าทำไมสื่อแต่ละสื่อไม่สามารถมาทำอะไรด้วยตัวเอง เราถึงต้องรวมตัวกันเพื่อจะสร้างพลังและอำนาจต่อรอง แล้วก็สร้างแนวปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดขององค์กรสื่อเองด้วย และเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมด้วย สุภิญญา กล่าว

ผศ.ดร.เอกพล เธียรถาวร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎบัตรปารีสเหมือนกับกติกากว้างๆ ออกแบบมาให้ครอบคลุมหลายๆ ด้านในการใช้ AI ในงานสื่อสารมวลชน แต่รายละเอียดอาจต้องดูที่สื่อแต่ละแห่งหรือแต่ละบริบทต้องไปปรับใช้ ซึ่งสิ่งที่เห็นด้วยอย่างมากคือการต้องย้อนกลับมาดูว่าจริยธรรมเดิมของวิชาชีพเป็นอย่างไรและนำมาใช้เป็นแกนหลักในการทำงานไม่ว่าจะเป็น AI หรือเทคโนโลยีอื่นๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ในการทำงานสื่อ

มีคนถามผมว่าต้องใช้อย่างไรดี เรื่อง AI มันใหม่มาก   ผมคุยกับนักศึกษาว่า ย้อนกลับไปว่าใช้วิธีคิดเหมือนเดิมเลย เวลาจะสื่อเนื้อหาอะไรออกไป โดยเฉพาะเรื่องโศกนาฏกรรม ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน คือประโยชน์สูงสุดและความเสียหายหรือผลกระทบน้อยที่สุด ยังเป็นหลักเกณฑ์เดิมแค่ใช้เครื่องมือใหม่ ผศ.ดร.เอกพล กล่าว

ชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า จริงๆ วันนี้ทุกประเทศในโลกค่อนข้างกังวลและตื่นตัวกับการมาของปัญญาประดิษฐ์ แต่จากการสำรวจข้อมูลหลายๆ ที่ ก็พบว่ายังอยู่ในขั้นทดลองใช้ ยังเป็นการลองผิดลองถูก รวมถึงบริษัทผู้พัฒนา AI ก็เช่นกัน วันนี้ AI จึงเหมือนกับไม่เก่งแต่ดันทุรัง คนที่จะนำสิ่งที่ AI สร้างขึ้นไปใช้ก็ต้องตรวจสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่าถูกหรือผิด 

หากเป็นคนที่ศึกษามาจะรู้ว่าไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ผู้รับสารทั่วๆ ไป โอกาสที่เขาจะรู้คือแทบไม่มีปัจจุบันจึงยังอยู่ในส่วนของการรู้เท่าทัน และจะใช้เครื่องมือหรือแนวทางใดในการตีกรอบ แต่ไม่อยากให้กรอบแคบจนเกินไปเพราะอาจไปทำลายความคิดสร้างสรรค์ให้หายไป ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับเรื่องการคุยกับต้นทาง หมายถึงหากสื่อนานาประเทศสามารถรวมคัวกันได้แล้วไปคุยกับบริษัทผู้พัฒนา AI ว่าต้องให้ความสำคัญกับจริยธรรมด้วย

สำหรับการทำงานของสื่อมวลชน อาจจะต้องมีข้อกำหนดอะไรบางอย่างว่า AI ไม่ควรจะสร้างอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่เขาหาไม่ได้  ึ่งจะเป็นการช่วยงานสื่อเบื้องต้น กาเป็นสื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นหลักการที่ก็ยึดหลักปฏิบัติมานานแล้วไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ AI การนำเสนอข้อเท็จจริงจะช่วยทำให้สื่อมีความน่าเชื่อถือ ชุตินธรา กล่าว

ชนิดา จันทเลิศลักษณ์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์กล่าวว่า สนับสนุนกฎบัตรปารีสในเรื่องการให้อำนาจของมนุษย์ที่อยู่เหนือ AI เพราะการทำงานของกองบรรณาธิการ สุดท้ายการตัดสินใจหรือการกำหนดวาระข่าวยังเป็นเรื่องของบรรณาธิการที่มีทั้งประสบการณ์และมีความมั่นใจในการหยิบแหล่งข้อมูลแรก (First Source Data) มาใช้ก่อนที่จะใช้ AIมาช่วยสนับสนุน จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดี เมื่อมี AI เข้ามา ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน อำนาจของมนุษย์ไม่ว่าบรรณาธิการหรือนักข่าวจะมีความสำคัญมากขึ้น

First Source Data (แหล่งข้อมูลแรกมีความสำคัญมาก อย่างไม่นานนี้ Open AI ก็ถูก New York Times ฟ้องในเรื่องของการละเมิด คือเขาเชื่อว่ามีการหยิบเอาเนื้อหาบางส่วนเพื่อมาให้ AI เรียน แต่สุดท้ายแล้ว Open AI ก็กลับกลับไปซื้อข้อมูลของ Times  สะท้อนให้เห็นความสำคัญของ First Source Data ในงานข่าวและสื่อสารมวลชน ดังนั้นยิ่งตอกย้ำให้มีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าการแยกระหว่างเนื้อที่เป็น First Source Data ที่มีการตรวจสอบแล้ว ค่อยใช้เครื่องมือมาสร้าง หรือช่วยในการเล่าเรื่องชนิดา กล่าว

สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creator) ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ มีความว่องไวเป็นทุนเดิม แต่ปัจจุบันถึงจุดที่ต้องกังวลความไวด้วย เพราะ Content Creator เกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่เป็นชุมชน (Community) มักจะผลิตเนื้อหาเพื่อชุมชนกลุ่มเล็กๆ วิธีคิดและแนวปฏิบัติจะเป็นแบบกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อเครื่องมือดิจิทัล โดยเฉพาะ AI เข้ามา ก็ต้องรับเอาหลักการสื่อสารมวลชนมาใช้ให้มากขึ้น

จริงๆ ผู้ผลิตเบอร์ต้นๆ เคยมารวมตัวกันเพื่อคุยในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหา จริยธรรมเรายังไม่แม่นเลย เนื่องจากเดิมทีแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมในกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหาไม่ได้มีสมาคมหรือหน่วยงานใดให้การรับรอง ถ้าจริยธรรมในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์กับผู้ผลิตเนื้อหา อาจต้องมีการลงลึกว่าตัวอย่างหรือกรณีศึกษาเป็นอย่างไร สุวิตากล่าว

รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากที่อ่านกฎบัตรปารีส พบว่าไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากยุคก่อนที่จะมีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งหลักการของวารสารศาสตร์ก็ยังอยู่ ส่วน AI ก็เหมือนกับเป็นพนักงานใหม่ที่ยังไม่รู้ดีเท่ากับเรา แต่ก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กล้าทำแม้บางครั้งจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน 

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยหรือสื่อไทยยังไม่มีความพร้อม อีกทั้ง Big Data ที่จะมาให้ AI ใช้ก็ยังไม่มี เคยไปอบรมการใช้ AI เข้ามาช่วยงานอยู่หลายครั้ง แต่เมื่อลองใส่คำสั่งลงไปก็พบว่า AI ทำออกมาผิดค่อนข้างมาก ดังนั้นหากคนที่ใช้งาน AI เชื่อทั้งหมดจะมีโอกาสผิดพลาดสูง   อย่างตนเคยเป็นบรรณาธิการ มีประสบการณ์จะรู้ว่าข้อมูลนั้นถูกหรือผิด   แต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังสะสมข้อมูลมาน้อยแล้วนำ AI มาใช้ ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นอย่างมากซึ่งปัจจุบันจะมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เป็นนักข่าวหรือผู้ผลิตเนื้อหา พบว่าใช้และเชื่อ AI อย่างมาก โดยไม่รู้ด้วยว่าจะได้รับข้อมูลผิดๆ 

ดังนั้นสำหรับตัวเอง ตั้งคำถาม 2 คำถามว่า 1.วันนี้ที่มาคุยกันเราจะใช้กฎบัตรนี้เป็นตัวตั้งแล้วเรามาวิพากษ์ว่าควรใช้อย่างไรให้สอดคล้องกับบริบทของไทย วัฒนธรรมสื่อไทย และความพร้อม2.โดยส่วนตัวคิดว่ายังไม่พร้อม เอาง่ายๆ โคแฟคเล่นเรื่องข้อมูลบิดเบือน เราทำกันตั้งแต่ปี 2562จนถึงวันนี้มีสำนักข่าวกี่สำนักที่มีฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checker) รศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว

หมายเหตุ : สามารถอ่าน กฎบัตรปารีสว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และงานข่าวและสื่อสารมวลชน ได้ที่นี่ https://blog.cofact.org/paris-charter23/

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

ขอบคุณภาพงานจาก The Reporter