‘สายบุญ-คนใจดี’พึงระวัง! เช็คให้ชัวร์ก่อนบริจาค ระวังตกเป็นเหยื่อ‘มิจฉาชีพ’

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ในวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ “เทใจดอทคอม” (TaejaiDotcom) ต้อนรับบรรยากาศเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งหลายคนก็อยากทำบุญหรือบริจาคเพื่อความเป็นสิริมงคล อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ยุคดิจิทัล มีเพจหรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เปิดขึ้นมาเพื่อรับบริจาคเป็นจำนวนมาก คำถามคือจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพที่อาศัยความใจบุญของคน

เอด้า กล่าวว่า เทใจเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการบริจาคทางออนไลน์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน เนื่องจากเห็นปัญหา 2 ประการในสังคมไทย 1.ในมุมคนทำงานเพื่อสังคม หากเป็นองค์กรที่ขนาดไม่ใหญ่ โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้ยา เพราะคนที่ต้องการบริจาคไม่รู้ว่าองค์กรนั้นทำอะไรบ้าง กับ 2.ในมุมคนที่อยากบริจาค มักไม่รู้ว่าเมื่อบริจาคแล้วเงินจะไปที่ไหน เพราะการหาข้อมูลทำได้ยากเช่นกันจึงเกิดความคิดว่า น่าจะมีแพลตฟอร์มเหมือนตลาดอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่คัดกรองโครงการ 

แพลตฟอร์มเทใจ จึงเป็นพื้นที่ที่ด้านหนึ่งผู้บริจาครับรู้ได้ว่าเงินบริจาคจะถูกนำไปช่วยเหลือสังคมตามโครงการได้แน่นอน กับอีกด้านหนึ่งคือเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนทำงานเพื่อสังคม เช่น โครงการช่วยเหลือเด็ก จะช่วยอย่างไร? ใช้งบประมาณเท่าไร? จะทำให้ทรัพยากร คือเงินบริจาค ที่ในแต่ละปีคนไทยนิยมบริจาคกันมากอยู่แล้วสามารถช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ เข้าทำนองทำบุญเห็นผลชาตินี้ไม่ต้องรอชาติหน้า

หลายองค์กรอาจมีช่องทางของตัวเอง มีเฟซบุ๊กเพจ มีเว็บไซต์มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 12 ปีที่แล้ว แต่ปัญหาเดิมๆ ของผู้บริจาคก็ยังมีอยู่ว่าเขามีเว็บไซต์ไม่ได้หมายความว่าเราจะอ่านข้อมูลแล้วสิ่งที่เขาพูดมันจะเป็นจริงหมด แล้วยังมี Misinformation (ข้อมูลคลาดเคลื่อน) หรือ Imperfect Information (ข้อมูลไม่ครบถ้วน) ก็ยังมีปัญหาตรงนี้อยู่

กระบวนการคัดกรองโครงการหรือองค์กรที่จะเข้ามาใช้แพลตฟอร์มเทใจ 1.ปัญหาและการแก้ไข ดูสิ่งที่โครงการบอกว่าเป็นปัญหานั้นเป็นจริงหรือไม่?  และวิธีการแก้ไขที่เสนอมาสมเหตุสมผลหรือไม่?2.ศักยภาพของผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบุคคลหรือองค์กร แต่ต้องดูว่าจะทำสิ่งที่เสนอมาให้เห็นผลจริงได้หรือไม่? และ 3.ความสมเหตุผลของการตั้งงบประมาณ และกระบวนการบริหารจัดการเงิน หากผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อนี้จะมาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ อีกทั้งยังมีการตรวจสอบซ้ำก่อนที่แพลตฟอร์มจะอนุมัติให้ใช้เงินบริจาคที่ระดมทุนมาได้

เอด้า ยกตัวอย่าง ร้านปันกัน เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้เยาวชนไทยเข้าถึงการศึกษาผ่านการให้ทุนการศึกษา ซึ่งนอกจากจะระดมทุนผ่านการเปิดรับเงินบริจาคแล้ว ยังเปิดรับบริจาคสิ่งของที่สภาพยังดีแต่เจ้าของเดิมไม่ใช้แล้ว ผ่านร้านปันกัน เพื่อนำของนั้นไปขายต่อนำเงินมาใช้สนับสนุนภารกิจของมูลนิธิฯ ด้วย โดยรายได้ทั้งหมดจากการขายจะถูกแปลงเป็นทุนการศึกษาของเด็กๆ ส่วนต้นทุนการบริหารจัดการต่างๆ มูลนิธิฯ จะเป็นผู้ออกให้ มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้จากาการขายสินค้าบริจาคทุกเดือนและคำนวณให้เห็นด้วยว่าสามารถช่วยเหลือเด็กได้กี่คน 

ส่วนคำถามว่า จะตรวจสอบอย่างไรในยุคที่มีการเปิดรับบริจาคเกิดขึ้นมากมายแบบนี้? จากประสบการณ์ส่วนตัว มีคำแนะนำ 1.ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดหากสามารถทำได้ ซึ่งบางองค์กรจะเปิดเผยข้อมูลไว้บนเว็บไซต์ค่อนข้างละเอียด เช่น รายงานประจำปี (Annual Report) ที่เปิดเผยว่าได้รับเงินบริจาคจากแหล่งใด เงินที่ได้มาถูกนำไปใช้อย่างไร มีระบบตรวจสอบการใช้เงินและการวางนโยบายอย่างไร

หรือหากเป็นองค์กรในรูปแบบมูลนิธิ โดยมากก็จะขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย หรือหากระบุว่าการบริจาคสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ก็จะต้องมีข้อมูลองค์กรที่เว็บไซต์กรมสรรพากร นอกจากนั้นยังอาจสอบถามคนใกล้ตัวที่เคยบริจาค ไปจนกระทั่งหากมีเวลาก็จะไปดูการทำงานขององค์กรนั้นด้วยตนเอง ซึ่งด้วยความที่ใช้การตรวจสอบมากแบบนี้ ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าคนจำนวนมากไม่มีเวลา จึงเป็นที่มาของการสร้างแพลตฟอร์มเทใจขึ้นเพื่อให้ผู้บริจาคมั่นใจว่าเงินที่บริจาคไปจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

2.ดูชื่อบัญชีธนาคารสำหรับเปิดรับเงินบริจาคให้ดีก่อนโอน เช่น หากพบว่าเป็นบัญชีชื่อบุคคล ไม่ใช่ชื่อองค์กรหรือมูลนิธิ แม้จะเข้าใจว่าหลายโครงการยังไม่ได้จัดตั้งเป็นองค์กร ยังใช้บัญชีบุคคลรับบริจาค แต่ในมุมผู้บริจาคหากเห็นว่าเป็นบัญชีชื่อบุคคลก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยอาจลองนำชื่อบัญชีนั้นไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางครั้งก็อาจพบข้อมูลการแจ้งเตือนว่าบัญชีนี้เป็นมิจฉาชีพใช้หลอกรับเงินบริจาคมาหลายครั้งแล้ว

3.ระวังการปลอมแปลงแอบอ้างองค์กรที่มีอยู่จริงเพราะแม้แต่เทใจดอทคอมก็ยังเคยโดนมิจฉาชีพปลอมเว็บไซต์มาแล้ว โดยแอบอ้างเพื่อชักชวนคนให้คนลงทุน บอกว่านอกจากจะได้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 30 แล้วยังได้ทำบุญอีกด้วย ซึ่งในครั้งนั้นหลังทราบเรื่องจากที่มีผู้แจ้งเข้ามา สิ่งแรกที่ดำเนินการคือแจ้งเตือนในทุกช่องทางที่มี และแม้ทางเทใจดอทคอมจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานกับทางตำรวจให้กรณีมีผู้หลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว และต้องขอย้ำว่า ชื่อ URL เว็บไซต์จริงของเทใจดอทคอม คือ taejai.com”ในขณะที่เว็บไซต์ปลอมที่เคยพบนั้นจะมี URL ว่า th-taejai.com ดังนั้นต้องสังเกตให้ดี

ถ้าเรารู้เร็วแล้วเราเตือน อย่างของเราผู้เสียหายคือผู้บริจาคและเจ้าของโครงการ ช่วยกันกระจายข่าว มิจฉาชีพก็กลัวเรา คือถ้าเราเร็วแล้วเขารู้ว่าเราเอาจริง อย่างของเทใจเราโดนทำหน้ากากหลอกอยู่ 3 วัน พอเขารู้ว่าเรารู้แล้วเราเตือน พอหลังจาก 3 วันก็เปลี่ยนไปเป็นอีกองค์กรหนึ่ง เป็นองค์กรการกุศลเหมือนกัน ในฐานะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดนเป็นผู้เสียหายด้วย เราก็ต้องพยายามเตือนกันเร็วๆ ให้ข้อมูลไปได้เร็วที่สุด

จากเรื่องเล่าของเอด้า ที่ผ่านมาก็มีข่าวมิจฉาชีพปลอมเพจเป็นองค์กรศาสนา องค์กรการกุศล หรือบุคคลอื่นเพื่อเปิดรับบริจาคอยู่เนืองๆ อย่างเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2567 ทางตำรวจไซเบอร์ โดย ตำรวจ กก.2 บก.สอท.4 เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบกรณีมีผู้โพสต์ภาพในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมข้อความ เชิญชวนทำบุญกฐินสามัคคี ณ วัดดงยางเหนือ อ.พบพระ จ.ตาก เนื่องจากเห็นว่ามีประชาชนบางรายเข้ามาแสดงความเห็นว่าเป็นโพสต์หลอกลวง นอกจากนั้นยังพบว่ามีการโพสต์ภาพพระป่วยนอนโรงพยาบาล เพื่อเชิญชวนให้บริจาค

จากการสืบสวนพบว่า ทั้ง 2 โพสต์ ใช้บัญชีคนละธนาคาร แต่มีข้อสังเกตว่าชื่อบัญชีเป็นชื่อบุคคลคนเดียวกัน อีกทั้ง เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบใน อ.พบพระ ก็ได้รับข้อมูลว่า ในพื้นที่นี้ไม่มีวัดชื่อวัดดงยางเหนือ จึงมั่นใจว่าเป็นมิจฉาชีพ นำไปสู่การขอศาลออกหมายจับและเข้าจับกุมคู่สามี-ภรรยา ที่ร่วมกันโพสต์หลอกลวงเปิดรับบริจาคดังกล่าวได้ในที่สุดโดยในระยะเวลา 4-5 เดือนของการเปิดรับบริจาค มียอดเงินเข้าบัญชีสูงถึงหลักล้านบาท  

(หมายเหตุ : หากนำคำว่า “วัดดงยางเหนือ” และ “ตาก” ไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต จะไม่พบชื่อวัดดงยางเหนือปรากฏแต่อย่างใด โดยจะมีเพียงชื่อ “วัดดงยาง” ซึ่งเป็นวัดที่มีอยู่จริง และแม้จะอยู่ใน จ.ตาก แต่วัดดงยางนั้นจะอยู่ใน อ.บ้านตาก ไม่ใช่ อ.พบพระ)

หรือก่อนหน้านั้นประมาณ 1 เดือนเศษ ในวันที่ 3 พ.ย. 2567 ครั้งนี้เป็นตำรวจไซเบอร์ กก.4 บก.สอท.4จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย เป็นคู่รักหนุ่ม-สาว ซึ่งมีหมายจับจากศาลจังหวัดเชียงราย เนื่องจากทางคณะกรรมการวัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ได้เข้าแจ้งความว่าถูกมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นกรรมการวัด โพสต์ข้อความเชิญชวนเปิดรับบริจาค แต่เมื่อตรวจสอบก็พบว่าชื่อบัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินบริจาคเป็นชื่อของ 1 ใน 2 ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับทางวัดแสงแก้วโพธิญาณ และเมื่อตำรวจเริ่มสืบสวนก็พบว่า มีการตระเวนกดเงินจากบัญชีตามตู้ ATM ในพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ กระทั่งสามารถจับกุมทั้ง 2 คนได้ที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

คำแนะนำเรื่อง “มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมอ้างเป็นพระ/เป็นวัด โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันที่ 6 ก.ย. 2567 เตือนภัยคนชอบทำบุญ เนื่องจากมีมิจฉาชีพแอบอ้างหรือสร้างเพจปลอมเป็นพระหรือวัด ชักชวนให้ทำบุญหรือรับบริจาคเงิน โดยจะอ้างตัวเป็นพระ,เณร เปิดเพจหลอกคนทำบุญ ขโมยภาพหมา-แมวเจ็บป่วยมาขอเงิน อ้างทำบุญบวชพระ ทำบุญโลงศพ สร้างโบสถ์ สร้างเมรุ ฯลฯ

ดังนั้นก่อนบริจาคุกครั้ง 1.ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นเพจของวัด พระ หรือหน่วยงานจริง 2.ซื้อของทำบุญกับร้านค้าที่มีตัวตนและน่าเชื่อถือ 3.ตรวจสอบบัญชีผู้รับเงินให้ถี่ถ้วน กรณีรับบริจาคในนามบัญชีส่วนตัว 4.ไม่คลิกลิงก์ ไม่แอดไลน์คนไม่รู้จัก ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว!!!

หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ Cofact Talk สัมภาษณ์คุณเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ“เทใจดอทคอม” (TaejaiDotcom) ย้อนหลังได้ที่นี่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1994659234372826?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1157215 (เตือนภัย ผัวเมียแสบ ปลอมเพจวัดตุ๋นทำบุญ – บริจาคช่วยพระป่วย สารภาพติดพนัน : กรุงเทพธุรกิจ 10 ธ.ค. 2567

https://www.thairath.co.th/news/crime/2823533 (รวบคู่รักวัยรุ่น เปิดเพจตุ๋นเหยื่อ รับบริจาคบูรณะวิหารหลวงลายคำ ที่ถูกไฟไหม้)

https://www.antifakenewscenter.com/คลังความรู้/มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมอ้างเป็นพระ-เป็นวัด/(มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมอ้างเป็นพระ/เป็นวัด : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 6 ก.ย. 2567)