มองเหตุลอบสังหารอดีตผู้นำญี่ปุ่น สะท้อนการทำงานสื่อไทย-ห่วงพื้นที่ออนไลน์บ่มเพาะความเกลียดชัง

ค่ำวันที่ 22 ก.ค. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) จัดเสวนา (ออนไลน์) Cofact Live Talk หัวข้อ “เราเรียนรู้อะไรจากข่าวการลอบยิงผู้นำญี่ปุ่น ความเร็ว vs. ความถูกต้อง ความเชื่อ vs. ความจริง ความชอบ vs. ความชัง” โดยถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Cofact โคแฟค” และ “Ubon Connect อุบลคอนเนก”

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะผู้บริโภคสื่อ เมื่อได้ยินข่าวก็อยากรู้รายละเอียด แต่ในช่วงแรกของข่าวเป็นเรื่องของเหตุการณ์ ซึ่งสำหรับสื่อไทยก็คงต้องตามข่าวจากที่สื่อต่างประเทศส่งมา ส่วนบริบทของสังคมญี่ปุ่น เท่าที่ทราบคือเป็นสังคมที่ผู้คนมีความระมัดระวัง สื่อก็เช่นกัน จึงไม่มีข่าวแบบหวือหวา หรือข่าวที่ไม่ใช่จากแหล่งข่าว
เมื่อไล่ตามช่วงเวลา ซึ่งเหตุการณ์เกิดในช่วงกลางวัน มีสื่อออนไลน์รายงานไปก็มีความก้าวหน้า กระทั่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ เสียชีวิต แต่เมื่อถึงช่วงหัวค่ำ เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่า สื่อหลักนำเสนอเหตุการณ์ลอบสังหารจนถึงการเสียชีวิต ซึ่งตามหลังสื่อออนไลน์ เรื่องนี้สื่อหลักไมได้ผิดอะไร แต่เรื่องของจังหวะก็เป็นความท้าทายการทำงานของสื่อหลักเหมือนกัน
ทั้งนี้ ความรู้สึกส่วนตัว 3 ประการเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อไทยในประเด็นการลอบสังหารอดีตนายกฯ อาเบะ 1.สื่อที่มีศักยภาพกลับไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศญี่ปุ่นมาให้ความรู้ ซึ่งมีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น ทำไมนักการเมืองญี่ปุ่นหาเสียงแบบนั้น หรือทำไมถูกลอบสังหารได้ง่าย 2.ดูเหมือนสื่อไทยจะไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้มากนัก ทั้งที่ตนขนาดไม่ใช่คอการเมืองก็ยังสนใจ
และ 3.เมื่อมีรายงานข่าวว่า แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นปมในใจเกี่ยวกับลัทธิทางศาสนา ตนรอดูว่าจะมีสื่อไทยเทียบเคียงกับเรื่องราวแนวเดียวกันหรือไม่ เพราะประเทศไทยก็มีการระดมทุนทางศาสนาเหมือนกัน แต่สุดท้ายกลับไปออกในทำนองว่า เสียดายคนถูกยิงน่าจะเป็นบุคคลอื่น ขณะที่ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ในไทยกลับนำเหตุการณ์นั้นมาเชื่อมโยงกับปมที่ตนเองสนใจ ใช้เหตุการณ์สื่อสารความรู้สึกของตนเอง
ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับสื่อไทยในภาพรวม อาจมีวิธีการทำข่าวที่เรียกกันว่าดรามา (Drama) หรือทำข่าวแบบเร้าใจ แต่ต้นเรื่องเป็นญี่ปุ่นซึ่งข้อมูลที่ออกมาน่าจะถูกกลั่นกรองพอสมควร ขณะเดียว ตนสังเกตว่าคนญี่ปุ่นมีนิสัยรักษากิริยา ไม่แสดงท่าทีใดๆ ออกมา เช่น เมื่อไปดูภาพภรรยาของอดีตนายกฯ อาเบะ จะเห็นแต่ความนิ่งสงบ แต่สื่อไทยกลับไปบรรยายภาพว่าภรรยาใจสลาย
แน่นอนเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องเสียใจ แต่ท่าทีที่แสดงออกนั้นดูนิ่ง เช่นเดียวกับพิธีศพที่บรรยากาศดูเรียบและนิ่งไปหมด แต่เข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงความเคารพ แต่ก็อาจเป็นเพราะสื่อไทยเคยชินกับการเสียชีวิตไม่ว่าคนธรรมดาหรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มีมุมให้นำเสนอ แต่เมื่อไปเจอมุมนิ่งสงบจากต้นเรื่อง รวมถึงความระมัดระวังจากสื่อญี่ปุ่น สื่อไทยก็อาจรู้สึกได้ว่าไม่มีมุมนำเสนอ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีหลายแง่มุม ตั้งแต่พิธีศพ ปมของผู้ก่อเหตุ ฯลฯ ทำให้สำหรับสื่อไทย ในส่วนของข่าวจะมาเร็วไปเร็ว เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตของคนดังในอดีตจากประเทศอื่นหรือในไทยเอง
“บางทีความเป็นข่าวและคุณค่าของข่าว มันไม่ใช่ความหวือหวา เร้าใจ เร้าอารมณ์เสมอไป ในฉากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องที่เรียบง่ายนั้นมันก็บอกอะไรบางอย่างเหมือนกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือความสูญเสียไม่ได้ต่างกัน ความน่าเสียใจไมได้ต่างกัน” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

รศ.ดร.มาลี บุญศิริพันธ์ อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า 1.การนำเสนอของสื่อไทยเน้นความเร็วมากกว่าความถูกต้อง เช่น ในตอนแรกชื่อของผู้ก่อเหตุไปซ้ำกับอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง สื่อก็ไปเปิดประวัติของอาจารย์ท่านนี้อย่างละเอียดทันทีโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน เรื่องนี้เป็นความผืดพลาดอย่างรุนแรง อีกทั้งแม้ในเวลาต่อมา สื่อญี่ปุ่นจะชี้แจงว่าเป็นคนละคน แต่สื่อไทยก็ไม่ได้แก้ไข
2.สื่อไทยขาดการหาข้อมูลโดยรอบมาประกอบ เช่น ที่มาที่ไปของเหตุการณ์ แต่กลับไปนำเสนอในเชิงดรามา อาทิ บอกไปก่อนแล้วว่าเสียชีวิตหลังถูกยิงไม่นาน ทั้งที่ในความเป็นจริงกว่าจะเสียชีวิจกินเวลาอีกหลายชั่วโมงหลังไปโรงพยาบาลแล้ว ทั้งที่ข่าวนี้สำคัญและต้องการความเที่ยงตรงมาก หรือข้อบกพร่องด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย สื่อไทยก็ไม่พูดถึง กระทั่งตำรวจญี่ปุ่นออกมาแถลงแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งสื่อไทยระยะหลังๆ ขาดระบบกองบรรณาธิการ ขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สามารถหยิบยกมาใช้ได้ทันที
แม้กระทั่งการเชื่อมโยงระหว่างลัทธิในญี่ปุ่นที่ถูกพาดพิงว่าเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุของคนร้าย กับองค์กรศาสนาที่มีลักษณะคล้ายกันในสังคมไทย สื่อไทยก็ไมได้นำเสนอแบบเจาะลึกลงไป กระทั่งผู้นำลัทธิในญี่ปุ่นต้องออกมาชี้แจงภารกิจขององค์กร และปฏิสธว่าแม่ของผู้ก่อเหตุไม่ได้บริจาคเงินจำนวนมากให้องค์กร ซึ่งสื่อสามารถทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เปรียบเทียบองค์กรลักษณะนี้ของทั่วโลก เพราะเรื่องนี้น่าสนใจที่จะถูกพูดถึง
“ของเรายังขาดการเจาะและการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างทันทีทันใดไปมาก แล้วตอนนี้ชักจะเกิดวัฒนธรรมในการเล่นดรามา ไม่ว่าข่าวนั้นจะเป็นข่าวที่ละเอียดอ่อนขนาดไหน ข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน ท่านเล่นเป็นดรามาไปหมด เล่นเป็นของเล่น ที่ประชาชนควรรู้ก็จะไมได้รู้” รศ.ดร.มาลี กล่าว

ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น พบสังคมญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเนื้อเดียวสูง กล่าวคือ ชนชั้นกลาง (Middle Class) ในญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่มาก ตัวอย่างหนึ่งคือการใช้บริการรถไฟ ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงานหรือผู้บริหารก็มักเดินทางด้วยรถไฟไม่ต่างกัน จึงดูเป็นสังคมที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน ดังนั้นการก่อเหตุรุนแรงที่ผู้ก่อเหตุมีแรงจูงใจจากการถูกกดทับทางอำนาจจึงเกิดขึ้นน้อยมาก
แม้กระทั่งเรื่องการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยของเหตุลอบสังหาร โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าเกี่ยวข้องเพราะการเมืองญี่ปุ่นไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น ขณะเดียวกัน แม้อดีตนายกฯ อาเบะ มีความคิดแบบฝ่ายขวา แต่พวกฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนสันติภาพก็คงไม่คิดใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ถึงญี่ปุ่นจะมีอาชญากรรมน้อย แต่เกิดมาทีหนึ่งก็น่าตกใจมาก โดยส่วนใหญ่จะใช้มีพเพราะหาได้ง่ายกว่าปืน
ส่วนภูมิหลังของผู้ก่อเหตุ ทราบว่าเดิมเป็นครอบครัว มีแม่และน้อง แต่เมื่อเกิดมรสุมในชีวิตแล้วคนเป็นแม่ต้องการหาที่พึ่งทางจิตใจแล้วไปเจอกับลัทธิดังกล่าว นำไปสู่การทุ่มบริจาคเงินให้ลัทธิ ซึ่งตัวเลขที่ปรากฏในข่าวสูงเกือบ 30 ล้านบาท ทำให้ผู้ก่อเหตุและน้องต้องดิ้นรนส่งตนเองเรียนมหาวิทยาลัย หากมองในมุมนี้ก็เข้าใจผู้ก่อเหตุได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้ก่อเหตุตั้งใจจะไปสังหารเจ้าลัทธิ แต่เมื่อพบว่าเข้าถึงยากก็หันมาเลือกอดีตนายกฯ อาเบะ ที่เข้าถึงง่ายกว่า ซึ่งก็ประกอบกับเป้นช่วงที่อดีตนายกฯ อาเบะ ไปช่วยหาเสียงพอดี อีกทั้งสังคมญี่ปุ่นมีเหตุคนถูกทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นน้อยมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่มาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ได้เข้มงวดมากนัก
“กรณีของผู้ก่อเหตุเขาก็ไมได้ไปซื้อปืนที่ไหน เขาประดิษฐ์ปืนเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีประวัติการซื้อขายปืนใดๆ หรือเอามาจากไหน ไม่ได้หาปืนผิดกฎหมาย มันห็ไม่ใช่ ดังนั้นถ้ามองจากมุมของตำรวจญี่ปุ่น จะเรียกว่าเป็นเหตุสุดวิสัยก็ไม่ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดเดาของเขาจรงิๆ” ผศ.ดร.เจษฎา ระบุ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์ ขอให้ความรู้กับสื่อและสังคมไทย เรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อกรณีบุคคลใดหัวใจหยุดแต้นหมายถึงเสียชีวิต เห็นได้จากข่าวการถูกยิงของนอดีตายกฯ อาเบะ ในตอนแรกสื่อญี่ปุ่นบรรยายว่าหัวใจหยุดเต้นแล้วจึงเปลี่ยนเป็นเสียชีวิตในภายหลัง แต่สื่อไทยเมื่อเห็นสื่อญี่ปุ่นใช้คำว่าหัวใจหยุดเต้นก็ตีความว่าเสียชีวิตในทันทีซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการทีคนคนหนึ่งหัวใจหยุดเต้น ยังสามารถกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นได้
ซึ่งแนวปฏิบัติทางการแพทย์คือการปั๊มและนวดหัวใจ (CPR) ประกอบกับให้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยแนวปฏิบัติจะอยู่ที่ 20 นาที-1 ชั่วโมง หากพ้นเวลานี้ไปแล้วผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บยังไม่ฟื้น แพทย์ที่ดูแลจะประกาศเวลาการเสียชีวิตซึ่งจะถูกบันทึกในใบมรณบัตร เช่นเดียวกับการจับชีพจรไม่เจอก็อาจไมได้หมายถึงเสีนชีวิตแล้วเสมอไป เพราะอาจเกิดจากชีพจรเต้นผิดจังหวะทำให้เบามากจนจับไมได้ โดยแพทย์ต้องดูสัญญาณอื่นประกอบด้วย เช่น ร่างกายขยับได้หรือไม่ ม่านตาตขยายรือไม่ ตอบสนองต่อแสงหรือไม่ เป็นต้น
นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า อีกด้านหนึ่ง ในมุมสุขภาพจิต กรณีลอบสังหารอดีตนายกฯ อาเบะ เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ผลที่ออกมาคือรุนแรงถึงชีวิต อีกทั้งผู้ก่อเหตุมีความตั้งใจก่อเหตุเห็นได้จากปืนที่ใช้เป็นอาวุธที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ประเด็นนี้ต้องวิเคราะห์ไปให้ถึงการรับรู้ ซึ่งการรับรู้ที่นำไปสู่การมีสุขภาพจิตผิดเพี้ยน ในทางการแพทย์หมายถึงการขาดการรู้เท่าทันสุขภาพ (Health Literacy) และการรับรู้อาจมาจากสื่อ สิ่งแวดล้อมหรือบุคคลรอบข้าง ซึ่งก็ได้เห็นแล้วว่าปัจเจกบุคคลมีอำนาจทำลายล้างสูงเพียงใด
เมื่อเทียบกับสังคมไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาในประเด็นความคิดที่ผิดเพี้ยนก่อให้เกิดความขัดแย้ง สังคมไทยก็มีการแบ่งฝ่ายเป็นคู่ตรงข้าม ประกอบกับสื่อก็มีบทบาทมาก เห็นได้จากใครเลือกข้างไหนก็มักจะรับข้อมูลข่าวสารเฉพาะจากสื่อฝั่งเดียวกัน และไม่ฟังอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้การนำเสนอของสื่อหรือการแสดงออกของคนเป็นแบบทิศทางเดียว ซึ่งชี้นำการรับรู้และนำไปสู่การตัดสินใจทางจิต ที่ทางการแพทย์นับเป็นสุขภาพอย่างหนึ่งผิดไปด้วย จึงเห็นปฏิบัติการใช้ความรุนแรงของมวลชนเกิดขึ้นในสังคมไทย
“ความแตกต่างระหว่างความเป็นปัจเจกที่ใช้ความรุนแรง กับความเป็นมวลชนที่ใช้ฝูงชนเข้าไปแล้วใช้ความรุนแรงต่อกัน ในอดีต 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมไทยปัจจุบันต้องเข้าไปคิดแล้วว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันสามารถตัดสินปัญหา แล้วจริงๆ มันควรจะเกิดขึ้นไหม? เรามีมาตรการอย่างไรในการที่จะไปปกป้อง” นพ.นิรันดร์ กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุอาจไม่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่มาจากปัจจัยจากประวัติในอดีต หรือปัจจัยด้านศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่ทำให้ความอึดอัดคับข้องใจระเบิดออกมา เมื่อประกอบกับการได้รับข้อมูลที่ส่งต่อกันมาซึ่งอาจจะไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะอดีตนายกฯ อาเบะ ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ผู้ก่อเหตุตั้งใจลอบสังหารแต่แรก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุไปได้ข้อมูลจากที่ใด แต่ได้รับข้อมูลที่ทำให้ดข้าใจผิดว่าอดีตนายกฯ อาบะเกี่ยวข้องกับองค์กรลัทธิศาสนาดังกล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อกันทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มีผลต่อการตัดสินใจของคนไม่มากก็น้อย ซึ่งประเทศไทยก็มีมากเช่นกัน อาทิ ทฤษฎีสมคบคิดที่ส่งต่อข้อมูลจับแพะชนแกะเพื่อกล่าวหาคนนั้นคนนี้ เรื่องนี้อันตรายเพราะเป็นกรสั่งสมความเกลียดชังโดยไม่รู้ตัว ข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดและไม่ทราบที่มาแต่ถูกส่งต่อกันไป เป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ผู้ก่อเหตุอาจมีปมอยู่ก่อนแล้ว แต่การได้รับข้อมูลทำให้วินาทีนั้นแล้วตัดสินใจ บุคคลสาธารณะก็ตกเป็นเป้าหมายได้ง่าย
“อยากจะรณรงค์ให้คนระมัดระวังมากขึ้นในการส่งต่อข้อมูลที่มันเป็นทฤษฎีสมคบคิด จับแพะชนแกะ ว่าคนนั้นคนนี้ คนนั้นคนนี้อยู่เบื้องหลังซึ่งมันอาจจะไม่จริง 100% นำไปสู่ความเกลียดชัง บังเอิญมันไปเจอกับคนที่เขามีปมพอดี มันอาจจะกระตุ้นทำให้เขาตัดสินใจทำอะไรที่มันมีความรุนแรงก็ได้ เราก็ไม่รู้ ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญอันหนึ่งที่คนทั่วไปน่าจะได้ใช้และตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย” น.ส.สุภิญญา กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-