รับประทานน้อยเท่ากับผอมจริงหรือไม่ 


      การลดน้ำหนัก เราอาจคุ้นเคยว่าเราถ้าอยากให้น้ำหนักลดลงสิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือการควบคุมอาหารเพื่อลดการนำพลังงานเข้าสู่ร่างกาย ให้ร่างกายได้เกิดการเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปทำให้น้ำหนักลดลง ทำให้หลายคนคงจะหนีไม่พ้นการอดอาหาร แต่การอดอาหารหรือการกินน้อยลงทำให้เราผอมจริงหรือ
      การลดอาหารหรือการกินน้อยลงอาจทำให้ลดน้ำหนักในระยะสั้นได้ แต่ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนในการทำให้ผอมอย่างถาวร การกินน้อยเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว เนื่องจากร่างกายอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ และยังสามารถทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานช้าลง ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดการโยโย่ ทำให้เรากลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
      โยโย่ (Yo-Yo effect) คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ไม่ยั่งยืน เช่น การอดอาหาร หรือการลดแคลอรี่มากเกินไป ทำให้น้ำหนักลดลงในระยะสั้น
ตัวอย่างของโยโย่เอฟเฟกต์
      คนที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วด้วยการอดอาหารหรือทานแคลอรี่ต่ำมาก อาจเห็นผลลัพธ์ในช่วงแรก โดยน้ำหนักลดลงเร็ว แต่เมื่อกลับมาทานอาหารปกติ น้ำหนักก็อาจกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และบางครั้งอาจเพิ่มมากขึ้น
      โดยจะมีปัญหาเรื่องสัดส่วนเกินแม้น้ำหนักตัวจะไม่มากเท่าไหร่ และมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวและส่วนเกินที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ละนิดจนดูไม่ออกและไม่รู้ว่าทำไมน้ำหนักถึงขึ้นทั้งที่ไม่ได้ทานเยอะเลย ยิ่งวันไหนที่มีเหตุจำเป็นต้องทานในมื้อที่ไม่ได้ทานมานาน ร่างกายก็จะพยายามเก็บพลังงานจากอาหารมื้อนั้นให้มากที่สุดด้วยการสะสมไขมัน ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นทันที

ดังนั้น การลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารเป็นวิธีที่ไม่สามารถทำให้เราผอมได้ 100% เพราะยิ่งเราอดอาหารนานเท่าไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งเผาผลาญน้อยลง การลดน้ำหนักจึงยากขึ้น ในขณะที่น้ำหนักขึ้นง่ายกว่าเดิม และมีไขมันสะสมมากขึ้น 

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ : กรมสุขภาพจิต / โรงพยาบาลกรุงเทพ / อินเตอร์ ฟาร์มา / คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี )