เป็นเกย์ = เสี่ยงเอชไอวี?

จริงหรือที่ LGBTIQ+ เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าเพศอื่น?

หลายคนอาจจะมองว่าเอชไอวีนั้นมีแค่กลุ่ม LGBTIQ+ เท่านั้นที่มีโอกาสติดเชื้อได้ ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ไปตรวจและเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ทันท่วงที และนั่นทำให้โอกาสในการค้นพบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวียิ่งน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจตามไปด้วยเช่นกัน แต่คำถามที่ตามมาคือแล้วเพศไหนกันที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดล่ะ?

จากข้อมูลของ ศ.พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์จากสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจว่า คู่นอนที่นิยมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักนั้นนอกจากคู่ชาย-ชายแล้ว ยังมีคู่ชาย-หญิงที่ปัจจุบันก็นิยมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอีกด้วย ฉะนั้น ตัวเลขของฝ่ายรับไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีมากถึง 138:10,000 ครั้ง ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายมีความเสี่ยงเพียง 11:10,000 ครั้ง เท่านั้น

สอดคล้องกับผลงานวิจัยของคุณกิตติ กรุงไกรเพชร จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ศึกษากรณีพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของนิสิตระดับปริญญาตรี กลุ่มคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ประเทศไทย เมื่อปี 2554 พบว่า ในกลุ่มนิสิตชายที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิง มีประมาณ 3% ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับเพศตรงข้าม อย่างไรก็ดี ข้อมูลสถิติที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับอัตราการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักระหว่างชายและหญิงในประเทศไทยยังมีจำกัดอยู่ในขณะนี้

แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและเป็นฝ่ายรับ ย่อมส่งผลทำให้ติดเชื้อเอชไอวีมากกว่า เพราะนั่นเกิดจากทวารหนักเป็นบริเวณที่บอบบาง มีเส้นเลือดอยู่จำนวนมาก และสามารถเกิดแผลได้ง่าย ทำให้เชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลเหล่านี้ได้

จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สามารถชี้ชัดได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ทั้งนั้น หากคุณเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ควรใส่ใจ และสามารถฟันธงได้ว่า LGBTIQ+ ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีอย่างแน่นอน ซึ่งการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การใช้ยาเพร็พ (PrEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ก็เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกัน รวมถึงการไปตรวจเอชไอวีอย่าสม่ำเสมอก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน


แหล่งอ้างอิง

  • มูลนิธิเพื่อรัก
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล