กินข้าวร่วมกัน ติดเอชไอวี?
ไขมายาคติที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี และการอยู่ร่วมกับเอชไอวี
ถ้าหากพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง “เอชไอวี” แล้ว ภาพจำในอดีตของใครหลายคนคงมองไปในแง่ลบ เพราะสมัยก่อนสื่อมวลชน รัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ มักจะมุ่งเน้นการนำเสนอภาพจำที่น่ากลัวและทำให้คนหวาดกลัว เช่น การนำเสนอภาพแผลพุพองในกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะโรคแทรกซ้อน หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะเอดส์” จนส่งผลทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีในช่วงหลังๆ นั้นไม่สามารถใช้ชีวิตเฉกเช่นคนอื่นๆ ได้ เพราะสังคมมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับเอชไอวีว่าจะติดทางการอยู่ร่วมกัน ใช้สิ่งของเดียวกัน หรือแม้กระทั่งทำงานร่วมกันไม่ได้
อันที่จริงแล้ว เอชไอวี คือเชื้อไวรัสที่จะติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น ซึ่งการติดต่อเอชไอวีในปัจจุบันจะติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทั้งจากการใช้สารเสพติดและการทำหัตถการทางการแพทย์ที่ไม่ปลอดภัย มีการวนใช้เข็มฉีดยาเก่า และจากช่องทางแม่สู่ลูก
โดยปกติแล้วเอชไอวีไม่ได้ติดจากการสัมผัสภายนอก เช่น การใช้สิ่งของร่วมกัน หรือการใช้ส้วมสาธารณะร่วมกัน เป็นต้น เนื่องจากเอชไอวีนั้นใช้ลักษณะการติดต่อที่ปราศจากอากาศ โดยจำเป็นต้องมีช่องทางเข้าของเชื้อ เช่น การเกิดบาดแผลที่อวัยวะเพศ ช่องคลอด หรือบริเวณทวารหนัก และมีสารคัดหลั่งที่ออกมาขณะมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทำให้ติดเชื้อในที่สุด
อย่างไรก็ดี เอชไอวีจะไม่เจริญเติบโตทางอากาศ เนื่องจากตัวเชื้อเอชไอวีเมื่อสัมผัสกับอากาศแล้วจะทำให้ตัวเชื้อนั้นตายลง จึงไม่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสภายนอกแต่อย่างใด ฉะนั้นการรับประทานอาหารร่วมกัน การกอด หรือแม้กระทั่งการทำงานร่วมกัน ไม่ได้ส่งผลให้มีการติดเชื้อเอชไอวีแต่อย่างใด กลับกันหากคุณมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน คุณย่อมเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้เช่นกัน
ฉะนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุด คือการป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงคำนึงถึงความเหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของตนเอง เช่น การรับประทาน PrEP หรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี การใส่ถุงยางอนามัย และการตรวจหาเชื้อเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง ซึ่งรัฐจัดให้มีการตรวจฟรี ณ โรงพยาบาลและสถานบริการใกล้บ้านของท่านนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
- มูลนิธิเพื่อรัก
- ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย (คลินิกนิรนาม)
- สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย