อึ้ง ! คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ถูกหลอกให้ซื้อสินค้า-โอนเงิน-กู้เงิน ไตรมาสแรก ปี 67 เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท พบ ผู้สูงอายุโดนหลอกพุ่ง 22%
สสส. สานพลัง โคแฟค-ภาคี เปิดเวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 28 มุ่งยกระดับนิเวศสื่อสุขภาวะ เตรียมความพร้อมประชาชนในการรับมือมิจฉาชีพออนไลน์ทางการเงิน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ต.ค. 2567 ที่ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายจัดเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 28 ภายใต้หัวข้อ “Next levels to counter fraud & deepfake: What’s else should we act? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุคดีพเฟค” พร้อมระดมความคิดจากนักวิชาการและวิทยากรหลากหลายสาขา ร่วมกันถกปัญหา และหาทางออกด้านการรับมือและป้องกันภัยมิจฉาชีพการเงินออนไลน์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจาก We Are Social ดิจิทัลเอเจนซีระดับโลก ระบุว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 63 ล้านคน คิดเป็น 88% เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในรอบ10 ปี และมีผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียมากกว่า 49ล้านคน หรือราว 68.3% เมื่อมีมือถืออยู่กับตัว ทำให้เป็นโอกาสทองของมิจฉาชีพ ที่สามารถเข้าถึงตัวได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567 โดย สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์และตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน โดยผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อเพิ่มสูงขึ้น 22% สาเหตุมาจากผู้สูงอายุไม่เข้าใจกลโกงเหล่านี้ จึงสูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้กับมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัญหาขาดความเชื่อมั่นต่อการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ และปัญหาสุขภาพจิต
“เวทีนักคิดดิจิทัลฯ ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การผนึกกำลังภาคีทุกภาคส่วนยกระดับนิเวศสื่อสุขภาวะ เสริมทักษะให้ทุกคนเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ รวมถึงขับเคลื่อนให้มีมาตรการทางกฎหมายที่ต้องมาควบคุมกำกับดูแล มีบทลงโทษที่ชัดเจน มีมาตรการทางสังคม และมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ซึ่งคนทุกวัยต้องช่วยกันดูแล โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ให้ถูกหลอกลวงและตกเป็นเหยื่อของมิจจี้ หรือ มิจฉาชีพ อีกต่อไป”ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไตรมาสที่ 1 เดือน ปี 2567 พบว่าประชาชนแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 400,000 ราย มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 60,000 ล้านบาท สูงสุด 3 ประเภทที่มักโดนหลอก ได้แก่ 1.ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการ 41.94% 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน12.85% 3.หลอกให้กู้เงิน 10.95% บางคนเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตต้องสูญไป ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องจับมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ผ่านมาทาง ธปท.และสถาบันการเงินได้ยกระดับการป้องกันภัยออนไลน์ผ่านมาตรการต่างๆ ด้วยการใช้นวัตกรรมในแก้ปัญหาให้รวดเร็ว รัดกุม และมีความเท่าทันภัยการเงินที่หลากหลาย แต่ปราการสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนตื่นตัวและรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ ซึ่ง ธปท. สสส. โคแฟค และภาคีเครือข่ายได้มาร่วมกันเป็นกระบอกเสียงและผลักดันให้การสร้างภูมิคุ้มกันภัยการเงินเป็นนโยบายที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค(ประเทศไทย) กล่าวว่า รายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยประจำปี 2567 โดยบริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก (GASA) และ ScamAdviser พบว่าคนไทย 1 ใน 3 หรือราว 39% สูญเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก ถือว่าเป็นการถูกหลอกลวงบ่อยขึ้น มิจฉาชีพหลอกลวงสำเร็จในเวลาสั้น และโอกาสได้เงินคืนน้อยลง ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา พบรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อคนไทย หลายภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด เพื่อลดความเสียหาย โดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และสิ่งสำคัญคือ การกระตุ้นให้ประชาชนมีความพร้อมในการรับมือภัยมิจฉาชีพในยุคดีพเฟค
“รายงานความเสี่ยงโลก 2024 (Global Risk Report 2024) ระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จและข่าวลวงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นความเสี่ยงสำคัญอันดับหนึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า และไปถึงอีก 10 ปี (ปี 2577) โดยทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเนื้อหาหรือตัดต่อภาพที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน และนำไปสู่รอยร้าวทางสังคมหรือความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกคนตรวจสอบข่าวก่อนแชร์ ป้องกันการถูกหลอกลวง สามารถเข้าใช้งานได้ ที่เว็บไซต์ cofact.org และทาง Line แชตบอทโคแฟค @cofact ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” น.ส.สุภิญญา กล่าว
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค(สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะต่อสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้มีมาตรการป้องกันและการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคที่เผชิญปัญหาภัยออนไลน์เพิ่มขึ้น ได้แก่ การจัดให้มีมาตรการหน่วงเงิน (Delay Transaction) เพื่อให้ผู้บริโภคมีระยะเวลาในการตรวจสอบการโอนเงิน การออกมาตรการให้ธนาคารคืนเงินผู้เสียหายที่ประสบเหตุภัยอาชญากรรมทางการเงินที่รวดเร็วและเต็มจำนวนเงินที่สูญเสีย เพื่อคืนความรับผิดชอบกลับไปยังธนาคารในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพผู้รับฝากเงินซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงจากภัยอาชญากรรมการหลอกลวงทางการเงิน และสุดท้าย คือ ภาครัฐจะต้องจัดทำแพลตฟอร์มแจ้งเตือนภัยเบอร์ต้องสงสัยที่เข้าข่ายภัยมิจฉาชีพเพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์โดยเร็ว