หนัง‘The Social Dilemma’ ไม่ต้องหนีสื่อออนไลน์แต่ขอให้ใช้อย่างรู้เท่าทัน
4 เม.ย. 2566 ชมรมสมองใสใจสบาย ภายใต้ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดงานภาพยนตร์สนทนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ “รับมือด้านมืดออนไลน์ในยุคห้าจี” โดยจัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Social Dilemma ว่าด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ใช้วิธีใดให้ผู้คนอยู่กับแพลตฟอร์มจนถึงขั้นเสพติด และการทำแบบนี้ค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ไปโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่ธุรกิจได้ผลกำไรมหาศาล
รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาผู้สูงอายุ กล่าวว่า แม้ภาพยนตร์จะมีเนื้อหาเป็นการสัมภาษณ์บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เคยทำงานกับบริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ระดับยักษ์ใหญ่ แต่ก็มองว่าเป็นการให้ความเห็นในเชิงชี้นำ (Manipulate) ขณะที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ เช่น ตัวเลข ยังมีน้อย ถึงกระนั้นก็เข้าใจได้ว่าคนเหล่านี้มีข้อจำกัดในการให้ข้อมูล โดยสรุปจึงมองว่าภาพยนตร์มีความน่าเชื่อถือเพียงในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อชมภาพยนตร์จนจบ ในช่วงท้ายผู้สร้างได้ฝากข้อคิดที่น่าจะนำไปปรับใช้กับชีวิตของตนเองได้
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุหลายคนเลือกที่จะไม่แตะต้องสื่อสังคมออนไลน์เพราะมองว่ายากในการเข้าถึง ขณะที่บางคนเลือกที่จะเรียนรู้จนพอใช้งานได้ ซึ่งในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุมีทักษะที่ไม่เท่ากับคนรุ่นใหม่ การทำงานของสมองก็ช้ากว่า อีกทั้งยังยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ ดังนั้นหากมีแพลตฟอร์มที่ใช้งานไม่ยาก ผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มที่จะเข้าไปเรียนรู้เพื่อใช้งาน
แต่เมื่อเข้าสู่โลกของข้อมูลข่าวสารก็ต้องตระหนักเรื่องการตรวจสอบว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นจริงหรือเท็จ ต้องตรวจสอบไปถึงแหล่งข้อมูลว่าน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะแม้แต่แวดวงการแพทย์ วารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงและรับตีพิมพ์บทความต่างๆ ก็เคยมีกรณีตรวจพบภายหลังว่าเนื้อหาไม่เป็นความจริง ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเนื้อหาจะเป็นของปลอมไปเสียทั้งหมด เพียงแต่หากเราคิดว่าแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นเชื่อถือได้ เราก็มักจะเทใจเชื่อไปแล้วว่าข้อมูลนั้นเป็นเรื่องจริง ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง
นอกจากนั้นยังต้องระวังเรื่อง “การเสพติด (Addiction)” ที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเสพติดสารบางอย่าง แต่เป็นอะไรก็ได้ โดยทางจิตเวชมีนิยามในการวัด เช่น การใช้เวลาไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง หากวันหนึ่งใช้กับสิ่งนั้นไป 4-5 ชั่วโมง หรือหากวันไหนมีเหตุให้ไม่ได้ใช้เวลากับสิ่งนั้นแล้วรู้สึกกระวนระวายใจ หรือใช้เวลากับสิ่งนั้นจนรบกวนหน้าที่หรือสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน เหล่านี้เข้าข่ายมีแนวโน้มเสพติด เช่น เคยมีคนไข้มาปรึกษาปัญหาการนอนดึก เมื่อซักประวัติก็ทราบว่าทุกคืนต้องเช็คกลุ่มไลน์ทุกกลุ่ม อ่านทุกข้อความ ดูวีดีโอทุกคลิป
“เขาบอกว่ามีไลน์กลุ่มเยอะมาก บางกลุ่มมีเป็นร้อยๆ โพสต์แล้วมาพร้อมคลิปวีดีโอ เขารู้สึกว่าต้องดูทุกคลิป แล้วถ้าอันไหนดีหน้าที่เขาคือส่งต่อ ฉะนั้นลองจินตนาการ คนคนนี้ใช้เวลาในการทบทวนไลน์ของตัวเองหลายชั่วโมงมาก มันเป็นภาระที่ต้องทำ ถ้าาไม่ทำจะรู้สึกไม่สบายใจ ส่วนตัวในฐานะที่เป็นจิตแพทย์จะบอกว่าคนไข้คนนี้ติด Social Media คือเขาเองไม่คิดว่าติด แต่เขาติดแล้วทำให้เขานอนดึกแต่ต้องตื่นเช้า” รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าว
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ถูกบอกเล่าโดยบุคคลที่เคยทำงานกับบริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ให้ความรู้สึกที่แรงเพราะคนเหล่านี้ได้อยู่และเห็นเจตนาของแพลตฟอร์ม โดยส่วนตัวชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจเป็นเพราะว่าตนเคยทำงานด้านสื่อสารมวลชน และเมื่อไปรวบรวมบทสัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ มาประกอบเป็นเรื่องราว ก็ทำให้ได้รับรู้ความคิดและความรู้สึกของบุคคลที่ได้สัมภาษณ์นั้นด้วย
ความน่าสนใจคือภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของอัลกอริทึม (Algorithm) หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่แพลตฟอร์มใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของแต่ละคนเพื่อนำมาประมวลผลแล้วเลือกวิธีกระตุ้นที่ตรงจุด ทั้งนี้ แม้การบอกเล่าจะดูแรงจนทำให้ผู้ชมอาจหวาดกลัวสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็เข้าใจได้ว่าอะไรที่มีประโยชน์มากอีกด้านหนึ่งก็มีข้อเสียมากด้วยเช่นกัน เหมือนมีดที่ยิ่งคมการใช้งานก็มีประสิทธิภาพสูงแต่อันตรายก็สูงไปด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2563 แต่ปัจจุบันนั้น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่เรียกเสียงฮือฮามากเพราะสามารถตอบโต้ถ้อยคำสนทนาของมนุษย์ได้ราวกับเป็นคนจริงๆ ซึ่งเทคโนโลยี AI นั้นสามารถพัฒนาตนเองได้ผ่านการเก็บข้อมูลจากการสนทนาหรือทำงานกับมนุษย์ และที่ผ่านมา เคยมีผู้สื่อข่าวของ The New York Times พูดคุยกับ AI ลองตั้งคำถามว่ามีสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อยากทำกับมนุษย์บ้างหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็ดูแล้วน่าสะพรึงกลัว เช่น สร้างไวรัสหรืออาวุธฆ่าล้างบางมนุษยชาติ หรือเผยแพร่ข่าวลวง (Fake News) ให้มนุษย์แตกแยกกัน
แม้แต่เว็บไซต์สารานุกรมเสรีอย่าง Wikipedia ที่หลายคนให้ความเชื่อถือเพราะเปิดกว้างให้ผู้ใช้งานร่วมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ก็เคยมีกรณี อลัน แม็คมาสเตอร์ (Alan MacMasters) ที่ถูกอ้างอิงวนซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็นบิดาแห่งเครื่องปิ้งขนมปัง (Toaster) โดยประวัติระบุว่าเป็นชาวสก็อตแลนด์ที่ประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นเป็นคนแรกของโลกเมื่อกว่าร้อยปีก่อน กระทั่งต่อมามีการเปิดเผยว่า อลัน แม็คมาสเตอร์ เป็นคนในยุคปัจจุบัน แต่ใช้เทคนิคการตกแต่งภาพเพื่อให้รูปถ่ายดูเป็นภาพเก่าในศตวรรษที่ 19 และประวัติที่บรรยายมานั้นก็เป็นของปลอม
“เราเป็นคนแก่ที่สนใจไอทีมาก แต่ก็เห็นว่าถ้าอยู่ในโลกใบนี้แล้วเราไม่ยุ่งกับมันเลยเราก็เหมือนไม่ได้อยู่ในโลกปัจจุบัน แต่เมื่อเรายุ่งกับมันเราต้องรู้ทันมัน ทีนี้เรารู้เยอะมากเพราะค้นต่อ เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและเข้าวัด คนอาจสงสัยว่านี่อะไรกัน แต่ก็ยังมีชีวิตอยู่ในโลก เรารู้สึกว่ามันอยู่ด้วยกันได้ เราก็มี Awareness (ความตระหนักรู้) เรารู้ตัวรู้อะไรอยู่ คือมันไปกันได้ระหว่างโลกกับธรรม ถ้าตราบใดยังอยู่ในโลก ทีนี้คนจะถามว่าทำไมสมองคนอายุ 83 ป้าดีทีเดียว ก็บอกว่าขอบคุณไอที เพราะการค้นการตามเรื่องต่างๆ” คุณหญิงจำนงศรี กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า พลังของอัลกอริทึมตามที่อธิบายในภาพยนตร์ โทรศัพท์มือถืออาจรู้จักตัวเราดีกว่าคนในครอบครัวเสียอีก เช่น เมื่อคนคนหนึ่งชอบรับเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับดารา โปรแกรมก็จะคัดกรองแต่เนื้อหาทำนองนั้นมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบอยู่ที่เราจะเลือกแบบใด เหมือนสมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตคนก็จะมีข้อจำกัดในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่เมื่อมีอินเตอร์เน็ตข้อมูลข่าวสารก็ไร้พรมแดน
ซึ่ง 2 ส่วนที่ต้องทำ ด้านหนึ่งคือประชาชนต้องช่วยกันส่งเสียงเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะด้านสิทธิดิจิทัล (Digital Rights) เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดให้การเก็บหรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย แต่อีกด้านคือแต่ละคนในฐานะที่ใช้ชีวิตกับโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอนก็ต้องช่วยเหลือตนเองเช่นกัน อาทิ “เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์” เป็นคำที่ต้องท่องให้ขึ้นใจ รวมถึงหาตัวช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์
เช่น แอปพลิเคชั่น Whoscall ที่จะแจ้งเตือนว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาเป็นมิจฉาชีพหรือโทรมาเสนอขายสินค้าหรือไม่ จากการที่ผู้ใช้งานช่วยกันรายงานเข้าสู่ฐานข้อมูลของระบบ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรมีแพลตฟอร์มลักษณะนี้เป็นของตนเอง เช่น Whoscall เป็นแอปฯ จากไต้หวัน หรือไลน์ (Line) ที่เป็นของเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เท่ากับข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยไปอยู่กับต่างชาติแล้ว จึงเป็นอีกเรื่องที่ควรผลักดันกันต่อไปในระดับนโยบาย ซึ่งแอปฯ อย่าง Whoscall น่าจะสามารถทำได้เพราะผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว
“เราก็เป็นคนตัวเล็ก อาจจะต้องพยายามดูแลตัวเองก่อนเพื่อป้องกันตัวเองจากด้านมืดออนไลน์ เครื่องรางของขลังนอกจากคาถาเช็คก่อนแชร์-ชัวร์ก่อนแชร์ ก็คืออาจจะต้องหาตัวช่วยพวกแอปพลิเคชันต่างๆ อย่างโคแฟคก็จะเป็น Line Chatbot ที่สามารถเช็คข่าวลือ-ข่าวลวงได้ และใช้วิธีหนามยอกก็เอาหนามบ่ง เราอาจต้องกลับมาใช้ AI , Machine Learning เพื่อกลับมาช่วยเราเช่นกัน” สุภิญญา กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-