‘The Social Dilemma’ หนังสะท้อนด้านมืดสังคมออนไลน์  ถึงเวลาพรรคการเมืองชูนโยบายสาธารณะ คุ้มครองสิทธิดิจิทัล ส่งเสริมพลเมืองเท่าทัน 

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

18 มี.ค. 2566 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) Netflix และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมสนทนา หัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์” จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง The Social Dilemma และกิจกรรมเสวนาหลังภาพยนต์ร่วมกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีการถ่ายทอดสดการเสวนาผ่านเฟซบุ๊กเพจ “หอภาพยนตร์ Thai Film Archive” นอกเหนือจากการจัดงานแบบ On Site ที่หอภาพยนตร์ ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ย่านศาลายา จ.นครปฐม

สุภิญญากล่าวว่า ส่วนตัวแล้วตนยังไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อน แต่เคยดูสารคดีข่าวรวมถึงอ่านหนังสือที่เป็นเรื่องราวทำนองเดียวกัน จึงไม่แปลกใจกับเนื้อหาของภาพยนตร์ซึ่งเป็นการสะท้อนผ่านมุมมองที่ห่วงใยสังคมและอาจจะดูเหมือนมองโลกในแง่ร้าย แม้เนื้อหาจะดูหนักหน่วงแต่ในตอนท้ายผู้สร้างภาพยนตร์ก็ให้ข้อสรุปว่ายังไม่ถึงขั้นที่จะต้องเลิกใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่เราจะใช้ให้ปลอดภัยอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้กัน

หากย้อนไปเมื่อราวๆ 15-20 ปีก่อน ผู้คนต่างคาดหวังว่าอินเตอร์เน็ตจะเข้ามาเปิดพื้นที่แห่งความเป็นประชาธิปไตย หลายคนก็ต้องการปกป้องเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ตและไม่อยากให้รัฐปิดกั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนกลุ่มเดียวกันก็ได้มองเห็นด้านมืดของอินเตอร์เน็ตและพยายามบอกว่าต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาทั่วทั้งโลก เช่น ข่าวลวง (Fake News) หรือข้อมูลบิดเบือน (Disinformation)

จากการทำงานของโคแฟคในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เห็นได้ชัดว่าข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มีผลต่อการตัดสินใจของผู้คน อาทิ การฉีดวัคซีน การป้องกันตนเองจากโรค เราได้เห็นทั้งข้อมูลบิดเบือน รวมถึงข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation) อยู่บนพื้นที่สื่อออนไลน์จำนวนมาก และการตัดสินใจเชื่อข้อมูลเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบถึงชีวิตของคนได้ 

ขณะที่ข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง แม้สื่อสังคมออนไลน์จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกแยกแบ่งขั้วเลือกข้างทางการเมืองขึ้นในสังคม แต่ก็มีแนวคิด 2 รูปแบบที่ยังถกเถียงกัน ฝั่งหนึ่งมองว่าการปล่อยให้คนทะเลาะกันบนโลกออนไลน์อาจช่วยลดโอกาสที่คนจะออกไปลงไม้ลงมือทำร้ายกันในโลกจริง แต่อีกฝั่งก็กังวลว่าหากปล่อยให้มีการแสดงออกกันบนโลกออนไลน์มากเกินไปอาจลุกลามออกไปสู่การมีเรื่องกันในโลกจริงได้ โดยสรุปแล้ว สุภิญญามีความเห็นว่า ผลกระทบในด้านสุขภาพที่เกิดจากข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่น่ากังวลกว่า

น้ำมะนาวโซดารักษามะเร็งเป็นเคสที่น่าสนใจ จากตอนแรกเราก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่เนื่องจากตอนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งแล้วก็เลยเข้าใจว่าทำไมถึงมีผล คือมันไม่ได้มีผลในการรักษาโรคมะเร็ง แต่คนป่วยมะเร็งจะปากขมเพราะฤทธิ์ยา อย่างตัวเองตอนได้รับคีโมบำบัดก็ไม่อยากกินอะไร แต่บางทีก็อยากกินน้ำมะนาวโซดาให้สดชื่นเท่านั้นเอง แต่มันถูกขยายผลไปจนเวอร์ ซึ่งก็มีคนดื่มน้ำมะนาวเยอะจนต้องไปหาหมอเพราะกรดไหลย้อน อันนี้หมอเล่าให้ฟังว่าต้องถามประวัติผู้ป่วยสูงอายุว่าทำไมเป็นกรดไหลย้อน ซึ่งก็คือดื่มโซดามะนาวเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ ฉะนั้นก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ถ้าเราเชื่อโดยที่ไม่ได้กลั่นกรอง 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องอิทธิพลของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน จนมีคำกล่าวว่าในยุคนี้ข้อมูลมีค่าราวกับน้ำมัน และมีข้อเสนอว่าควรมีการเก็บภาษีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานกับแพลตฟอร์มเหมือนกับภาษีการใช้น้ำประปาหรือไฟฟ้า รวมถึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในประเทศไทยคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือกฎหมาย PDPA ที่ได้รับแนวทางมาจากกฎหมายแบบเดียวกันของสหภาพยุโรป (EU) และปัจจุบันใกล้จะครบ 1 ปีของการบังคับใช้แล้ว ดังนั้น ควรประเมินว่าสถานการณ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นดีขึ้นหรือแย่ลง และทำอย่างไรกฎหมายจะคุ้มครองได้อย่างจริงจังขึ้น

แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็พึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านี้และต้องจ่ายเงินให้เพราะไม่เช่นนั้นผู้รับสื่อก็จะมองไม่เห็นเนื้อหา อีกทั้ง ยังมีปัญหาการผลิตเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพ เช่น Clickbait หรือการยั่วยุให้กดเข้าไปอ่าน ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้ขยายตัวจากสตาร์ทอัพกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเหนือรัฐ เรื่องนี้จริงๆ แล้วภาครัฐของไทยควรมีบทบาทในการเจรจาต่อรองกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็ติดปัญหาว่าประชาชนชาวไทยไม่เชื่อมั่นในภาครัฐ หากรัฐจะเรียกตัวแทนแพลตฟอร์มไปหารือก็จะถูกมองว่ารัฐต้องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เนื่องจากที่ผ่านมา ภาครัฐของไทยมักแสดงท่าทีจริงจังขึงขังหากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่ไม่ค่อยมีท่าทีแบบเดียวกันหากเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค คนส่วนใหญ่จึงไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา หรือ EU ประชาชนยังค่อนข้างเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของรัฐในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพราะมีการรักษาสมดุลระหว่างความรับผิดชอบของเอกชนกับหลักการสิทธิมนุษยชน ทำให้มีเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการให้ภาครัฐจะไปเจรจากับแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ทำอย่างไรที่เราจะสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลให้ได้ก่อน แล้วรัฐบาลมาเป็นปากเป็นเสียงของสาธารณะได้ ถ้าเรามีรัฐบาลที่เชื่อมั่นได้ เราก็จะมีตัวแทนที่จะต่อรองได้ วันนี้มีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มีสภาองค์กรของผู้บริโภค มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่มีอำนาจต่อรองมากขนาดไหน มันก็ยาก สื่อมวลชนจะมารวมกันมันก็ยาก เราไม่ได้กุมอำนาจรัฐ เราไม่ได้มีอำนาจบอกว่าถ้าคุณไม่ทำเราจะเก็บภาษีคุณ จะดำเนินการไม่ให้คุณทำธุรกิจ ซึ่งอำนาจนี้มันเป็นอำนาจทางปกครองที่รัฐมี ดังนั้นสิ่งที่เราอยากเห็นคือถ้าเรามีรัฐที่ไว้ใจได้ ยึดหลักกฎหมายและใช้กฎหมายที่ควรจะเป็นอย่างยุติธรรมเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ มันก็จะทำให้สถานการณ์ในไทยดีขึ้นระดับหนึ่ง การเลือกตั้งที่จะมาถึงพรคการเมืองต่างๆควรมีนโยบายสาธารณะในเรื่องสิทธิพลเมืองยุคดิจิทัล และ ส่งเสริมการรู้เท่าทันของพลเมือง 

อีกด้านหนึ่ง สุภิญญา ยังกล่าวถึงการทำงานของอัลกอริทึม (Algorithm) ของสื่อสังคมออนไลน์ ที่พยายามคาดเดาว่าผู้ใช้งานแต่ละคนชอบหรือสนใจอะไร ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานหยุดใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้เพราะเจอแต่สิ่งที่ชอบและไม่อยากหยุดใช้จนกลายเป็นการเสพติด (Addiction) จนใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าก็เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่บริษัทคงไม่คิดว่าจะสามารถทำเงินได้มากมายขนาดนี้ อันที่จริง ก็ไม่ได้ต่างจากสื่อดั้งเดิมที่พยายามผลิตเนื้อหาให้ตรงกับผู้บริโภค เช่น การที่คนชอบดูละครหลังข่าวเพราะวางโครงเรื่องได้ถูกจริตกับคนในยุคนั้น เพียงแต่สื่ออินเตอร์เน็ตทำให้ทรงพลังมากขึ้นกว่าสื่อโทรทัศน์เพราะสามารถเชื่อมร้อยกันได้หมด สามารถแพร่กระจาย (Viral) และมีความถี่ในการเสนอข้อมูลให้เห็นได้ซ้ำๆ กล่าวคือ การดูละครยังมีวันที่เห็นตอนจบของเรื่อง แต่สื่อออนไลน์เมื่อพบว่าผู้ใช้งานมีการใช้งานน้อยลงก็จะส่งเนื้อหาบางอย่างมาให้เห็นเพื่อกระตุ้นให้ใช้งานมากขึ้นโดยไม่ได้มีมนุษย์มานั่งเฝ้าติดตาม แต่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่นับวันจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้นปัจเจกชนแต่ละคนก็ต้องรู้เท่าทันด้วย เริ่มจากการตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนและอย่าเพิ่งเชื่อในทันที โดยเฉพาะเมื่อเจอเนื้อหาที่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น เนื้อหาที่ตรงกับสิ่งที่เรากำลังคิดหรืออารมณ์ที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความเกลียด ความชอบ ก็มีแนวโน้มที่จิตเราจะปรุงแต่งไปในทางนั้นและเชื่อว่าต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน หลักการตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนนี้ใช้ได้ตั้งแต่การป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพอย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไปจนถึงการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารทางการเมือง 

โดยสรุปคือ ให้ใช้หลักอุเบกขาในการรับข้อมูลข่าวสารเพื่อที่จะหาข้อมูล ไม่เอาอารมณ์ไปใส่กับเรื่องราว มีวิธีคิดที่เปิดกว้าง เผื่อใจไว้เสมอและไม่อินกับเรื่องใดๆ จนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่เริ่มจากจิตใจ นอกนั้นต้องเริ่มหาตัวช่วย เช่น เพิ่มเป็นเพื่อนกับไลน์โคแฟค เพื่อที่จะไว้เช็คข่าว คุยกับกลุ่มเพื่อน สร้างชุมชน รับฟังข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย 

อย่างที่เขาแนะนำในหนังว่าเขาติดตามคนที่เขาไม่เห็นด้วยในทวิตเตอร์ เพื่อที่จะให้ออกจาก Echo Chamber ก็คือห้องแห่งเสียงสะท้อน เหมือนกับเราอยู่ในห้องนี้แล้วทุกคนพูดเหมือนกันหมด แล้วเราก็คิดว่าคนข้างนอกพูดเหมือนกับเราด้วย ซึ่งอันนี้ Social Media ทำให้เราไม่รู้ตัว เราไม่รู้เลยว่าเราถูกออกแบบมาว่าให้เราคิดอย่างไร เราอาจจะคิดว่าทำไมวันนี้มีแต่คนสนใจข่าวดาราคนนี้ เราก็อาจจะคิดว่าคนทั้งโลกสนใจข่าวดาราคนนี้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันก็เป็นเรื่องเราอาจจะต้องออกมาจากฟองสบู่ที่เราถูกกำหนดในมือถือ

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง The Social Dilemma เป็นภาพยนตร์แนวสารคดี เผยแพร่ครั้งแรกในระบบ Streaming ของ Netflix เมื่อปี 2563 เป็นผลงานของ เจฟฟ์ ออร์โลวสกี (Jeff Orlowski) เล่าเรื่องระหว่างนักแสดงในบทบาทผู้คนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตัดสลับกับการสัมภาษณ์บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เคยทำงานกับบริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งมาเปิดเผยว่าบริษัทเหล่านี้ใช้วิธีการอะไรให้ผู้คนอยู่กับแพลตฟอร์มจนถึงขั้นเสพติด และการทำแบบนี้ก็ค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ไปโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่บริษัทแพลตฟอร์มก็มีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้นทั้งด้านบวก และ ด้านลบ ทำให้เกิดสภาวะ หรือความย้อนแย้งในการใช้งาน และ กำกับดูแล 

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-