‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’(และมิจฉาชีพอีกหลายรูปแบบ) ไฉนคนไทย(และอีกหลายชาติทั่วโลก)หลงเชื่อ?

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

Think-Piece by Digital Thinkers
บทความนักคิดดิจิตอล
โดย Windwalk_Jupiter

เป็นภัยสังคมยุคนี้จริงๆ สำหรับ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพที่โทรศัพท์มาหลอกลวงผู้คน อ้างว่าไปพัวพันกับการกระทำผิดกฎหมายบ้าง หรือมีพัสดุตกค้างบ้าง หรืออะไรอีกหลายอย่างที่สุดท้ายปลายทางคือทั้งขู่ทั้งปลอบให้เหยื่อหลงเชื่อโอนเงิน อีกทั้งการติดตามจับกุมก็ทำได้แสนยากเย็นเพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่นิยมตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศหนึ่งแล้วโทรศัพท์ไปหลอกเหยื่ออีกประเทศหนึ่ง ซึ่งก็ต้องบอกว่าปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่พบได้ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยหากนำคำว่า “Phone Scams” ซึ่งแปลว่า การหลอกลวงทางโทรศัพท์ ไปค้นหาบนอินเตอร์เน็ต จะพบข่าวสารและบทความที่พูดถึงเรื่องนี้อยู่มากมาย

เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ CNBC สหรัฐอเมริกา เคยเสนอข่าว Americans lost $29.8 billion to phone scams alone over the past year เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ระบุว่า ชาวอเมริกัน 1 ใน 3 ยอมรับว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางโทรศัพท์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ประมาณปี 2563) หลายคนยังระบุด้วยว่า มิจฉาชีพอ้างว่าโทรศัพท์มาจากกรมสรรพากรบ้าง หรือจากบริษัทประกันภัยที่รับทำประกันรถยนต์บ้าง

ข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานของ Truecaller ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ที่สามารถระบุผู้โทร, บล็อกการโทร, ส่งข้อความแฟลช, บันทึกการโทร, แชท & วอยซ์โดยใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งยังพบอีกว่า จำนวนเงินที่ถูกหลอกต่อรายนั้นเพิ่มขึ้นด้วย เฉลี่ยอยู่ที่ 502 เหรียญสหรัฐ หรือราว 16,000 บาท สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลครั้งแรกในปี 2557 

Ofcom หรือหน่วยงานกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมของอังกฤษ (เหมือนกับ กสทช. ของไทย) เผยแพร่รายงาน 45 million people targeted by scam calls and texts this summer เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 เป็นการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างในเมืองผู้ดี แล้วพบว่า ร้อยละ 61 ของประชากรอายุ 75 ปีขึ้นไป เคยมีประสบการณ์พบโทรศัพท์หลอกลวงจากมิจฉาชีพ ชี้ให้เห็นว่า ผุ้สูงอายุยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ 

นอกจากนี้ ร้อยละ 53 ของประชากรที่ถูกสำรวจ ให้ข้อมูลว่า ในรอบ 3 เดือนล่าสุดก่อนตอบแบบสอบถาม ได้รับโทรศัพท์ที่มีลักษณะน่าสงสัยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทางโทรศัพท์บ้าน และร้อยละ 43 รายงานว่า ได้รับโทรศัพท์ที่มีลักษณะน่าสงสัยทางโทรศัพท์มือถือ และแม้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะไมได้สนใจหรือกดบล็อก แต่ก็มีร้อยละ 2 ของกลุ่มตัวอย่างที่ถูกสำรวจ หลงเชื่อและทำตามที่มิจฉาชีพบอก ซึ่งหากนำมาคำนวณทางสถิติ จะเท่ากับมีประชากรจริงเกือบ 1 ล้านคน ที่เสี่ยงตกแป็นเหยื่อเสียทั้งเงินทองและสุขภาพจิต

ที่ประเทศญี่ปุ่น เว็บไซต์ nippon.com ขององค์กรพัฒนาเอกชน Nippon Communications Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว เผยแพร่รายงาน Specialized Fraud Cases in Japan Increase for First Time in Four Years วันที่ 4 มี.ค. 2565 อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (NPA) ที่ว่าด้วยการฉ้อโกงรูปแบบพิเศษ (Specialized Fraud) หมายถึงพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่สร้างความไว้วางใจกับเหยื่อโดยที่ไม่ต้องเจอหน้ากัน จนเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้ โดยการหลอกลวงทางโทรศัพท์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็จดัอยู่ในมิจฉาชีพกลุ่มนี้

ข้อมูลจาก NPA พบว่า ในปี 2564 คดีฉ้อโกงรูปแบบพิเศษเพิ่มขึ้น 911 คดี หรือร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปีของแดนซามูไร อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่สูญเสียให้กับมิจฉาชีพในปีดังกล่าวอยู่ที่ 2.78 หมื่นล้านเยน หรือราว 7.2 พันล้านบาท น้อยกว่ามี 2563 อยู่ 710 ล้านเยน หรือราว 185 ล้านบาท ถึงกระนั้น ตำรวจญี่ปุ่นก็ยังมองว่าสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง และผู้สูงอายุยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ

รูปแบบในการหลอกลวงที่ชาวญี่ปุ่นมักพบตามรายงานดังกล่าว อันดับ 1 มิจฉาชีพอ้างว่าสามารถช่วยค่ารักษาพยาบาลหรือค่าเบี้ยประกันภัย (Refund Fraud) อันดับ 2 การแอบอ้างเป็นสมาชิกในครอบครัว ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้มีคำเรียกเฉพาะเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “Ore Ore Sagi” แปลว่า “it’s me, it’s me scams (นี่ฉันเอง , ฉันคือมิจฉาชีพ) ส่วนอันดับ 3 การหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรกดเงินสดของผู้สูงอายุ แล้วส่งบัตรปลอมให้เจ้าของไป

เว็บไซต์หอสมุดแพทย์แห่งชาติอเมริกัน (National Library of Medicine) เผยแพร่บทความวิชาการ Who Is Next? A Study on Victims of Financial Fraud in Japan เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ซึ่งเขียนโดยนักวิชาการ 4 ท่าน คือ โยชิฮิโกะ คาโดยะ (Yoshihiko Kadoya) วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา , มอสตาฟา ไซเดอร์ ราฮิม ข่าน (Mostafa Saidur Rahim Khan) วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา , จิน นารุโมโตะ (Jin Narumoto) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์จังหวัดเกียวโต และ ซาโตชิ วาตานาเบ (Satoshi Watanabe) ศูนย์วิจัยและศึกษาวิทยาศาสตร์ครบวงจร มหาวิทยาลัยจังหวัดอากิตะ ว่าด้วยปัญหาการฉ้อโกงในญี่ปุ่น

ซึ่งในตอนหนึ่งของบทความดังกล่าว ระบุว่า แม้จะพบรูปแบบการฉ้อโกงที่หลากหลาย เช่น การหลอกให้เหยื่อเข้าร่วมลงทุนประเภทต่างๆ การตลาดทางโทรศัพท์ การฉ้อโกงการชำระเงินทางออนไลน์ ฯลฯ แต่สำหรับสังคมญี่ปุ่น ดูเหมือนการแอบอ้างเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือ Ore Ore Sagi จะเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ อ้างว่าเป็นลูกหลาน หากเหยื่อหลงเชื่อก็จะโอนเงินไปให้ 

เว็บไซต์ The Conversation องค์กรสื่อไม่แสวงหาผลกำไรที่เน้นนำเสนอบทความทางวิชาการ เผยแพร่บทความเรื่อง Five psychological reasons why people fall for scams – and how to avoid them เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2561 ซึ่งเขียนโดย พอล ซีเกอร์ (Paul Seager) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล แลงคาเชียร์ เมืองเพรสตัน ประเทศอังกฤษ กล่าวถึง 5 เทคนิคทางจิตวิทยาที่มิจฉาชีพนำมาใช้ประกอบกันเพื่อหลอกเหยื่อ ได้แก่

1.คุณช่วยเกาหลังให้ฉัน (You scratch my back) วิธีนี้แปลแบบไทยๆ ประมาณว่า เขามีน้ำใจก็ควรรับไว้โดยมิจฉาชีพจะเข้ามาชักชวนให้เหยื่อนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อการลงทุน โดยใช้การโน้มน้าวให้เหยื่อเชื่อว่ามิจฉาชีพคือผู้มาช่วยเหลือเหยื่อจากปัญหาหรืออุปสรรคบางอย่าง ดังนั้นเหยื่อจึงไม่ควรปฏิเสธแต่ควรรับน้ำใจนั้นไว้ 

2.ฝูงเล็มมิงบนหน้าผา (Like lemmings off a cliff) วิธีนี้แปลแบบไทยๆ ประมาณว่า ใครๆ เขาก็ทำกัน มีผลการศึกษาพบว่า หากคนคนหนึ่งเชื่อว่าคนอื่นๆ ทำพฤติกรรมสักอย่างหนึ่ง ตนเองก็จะทำบ้างเพราะคิดว่าทำไปก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร และการตัดสินใจทำแบบนั้นจะยิ่งง่ายขึ้นหากคนคนนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันและคลุมเครือ เช่น หากมิจฉาชีพอ้างว่าร้อยละ 75 ของบุคคลประเภทเดียวกับเหยื่อเลือกสมัครลงทุนหรือวางแผนการเงินแบบนี้ เหยื่อก็มีแนวโน้มหลงเชื่อ แม้บางส่วนในจิตใจจะสงสัยอยู่บ้างก็ตาม

3.ก้าวเล็กๆ (Little steps) วิธีนี้แปลแบบไทยๆ ประมาณว่า เกี้ยวพาราสี-ตอดเล็กตอดน้อย คนเรานั้นพอทำอะไรไปแล้วมักจะทำสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอ และบางครั้งการหยุดทำอาจบั่นทอนความภูมิใจในตนเอง มิจฉาชีพใช้จุดนี้ค่อยๆ ชวนเหยื่อพูดคุยกับเหยื่อไปเรื่อยเปื่อย จากคำถามแรกๆ ที่ดูไม่มีอะไร เมื่อเหยื่อเริ่มคุ้นชิน (และมีความสุข) กับการพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักกัน มิจฉาชีพก็จะเริ่มรุกหนักด้วยการถามคำถามที่เป็นข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับการฝากเงินที่ธนาคาร หากถึงขั้นนี้แล้วเหยื่อยอมตอบสักคำถามหนึ่งก็มักจะตอบคำถามอื่นๆ ตามไปด้วย เพราะคนเราต้องการความรู้สึกว่าตนเองมีนิสัยชอบช่วยเหลือและสุภาพ

4.กลัวพลาด (FOMO : Fear Of Missing Out) ธรรมชาติของคนเรามักกลัวพลาดบางสิ่งที่คิดว่าสำคัญไป โดยเฉพาะหากสิ่งนั้นถูกระบุข้อจำกัดหรือเงื่อนไขด้านเวลาไว้ชัดเจน ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้จุดนี้มาหลอกลวงเหยื่อ เช่น โทรศัพท์ไปบอกว่ามีข้อเสนอทางการเงินบางอย่าง ซึ่งต้องรีบตกลงในเวลาที่กำลังสนทนากันอยู่นี้ หากวางสายแล้วก็จะมาขอใช้สิทธิ์ทีหลังไม่ได้อีก หลายคนเจอแบบนี้ก็กลัวพลาดแล้วก็ตกเป็นเหยื่อ

และ 5.สร้างความรู้สึกดี (They seemed so nice) ธรรมชาติคนเรามักรู้สึกดีหรือชอบบุคคลที่มีลักษณะนิสัย ภูมิหลัง หรืออะไรบางอย่างที่คล้ายกัน ดังนั้นมิจฉาชีพจะพยายามทำเหมือนว่ามีลักษณะร่วมกับเหยื่อให้มากที่สุด เช่น แกล้งถามวันเกิดเหยื่อซึ่งเมื่อเหยื่อตอบมิจฉาชีพก็จะบอกว่าเป็นวันเกิดของตนเองเช่นกัน จากนั้นเมื่อเหยื่อเริ่มรู้สึกไว้ใจมิจฉาชีพมากขึ้น มิจฉาชีพก็จะค่อยๆ ถามคำถามหรือร้องขอให้เหยื่อทำบางอย่างตามแผนการหลอกลวงที่วางไว้

ขณะที่ เคนเน็ธ ฟรอนด์ลิช (Kenneth Freundlich) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาคลินิก เขียนบทความ Why So Many People Fall For Scams เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ Morris Psychological Group บริษัทรับให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2564 อ้างถึง โรบิร์ต ซัลดินี (Robert Cialdini) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Influence: The Psychology of Persuasion (หนังสือเล่มนี้มีฉบับแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อ “กลยุทธ์โน้มน้าวและจูงใจคน”) ได้อธิบาย 6 เทคนิคด้านจิตวิทยา ที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวงเหยื่อ ได้แก่

1.ตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocity) คนเรามีแนวโน้มจะตอบแทนคนอื่นที่มอบบางสิ่งบางอย่างให้ อาทิ เคยมีการศึกษาพบว่า การที่ร้านอาหารให้มินต์หลังลูกค้ารับประทานอาหารเสร็จ มีโอกาสที่ลูกค้าจะให้ทิปพนักงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เป็นต้น

2.ทำอะไรแล้วต้องทำอย่างสม่ำเสมอ (Consistencoy) คนเราต้องการได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้อื่น จึงพยายามทำให้ตนเองเป็นเช่นนั้น ทำให้มีแนวโน้มที่คนเราจะปฏิบัติตามคำพูดหรือการกระทำเดิมที่ทำไปแล้วก่อนหน้า อีกทั้งเมื่อคนเราเลือกทำสิ่งใดแล้ว ก็มักจะทำต่อไปเพื่อให้น้ำหนักกับการตัดสินใจนั้น มิจฉาชีพสามารถใช้จุดนี้เริ่มจากการร้องขอสิ่งเล็กน้อยที่ดูไม่สำคัญกับเหยื่อ แล้วค่อยๆ ขยับก้าวล่วงไปยังสิ่งที่สำคัญของเหยื่อต่อไป

3.ทำตามกระแสสังคม (Social Proof) : เมื่อคนเราเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจก็มักจะมองไปรอบๆ เพื่อหาคำแนะนำว่าควรทำเช่นไร และแม้บางคนจะเชื่อมั่นในตนเอง แต่ความคิดเห็นที่เป็นฉันทามติของสังคมก็ยังมีโอกาสโน้มน้าวใจได้อยู่มาก ยิ่งมีคนทำสิ่งใดมากขึ้นเท่าไร คนก็จะยิ่งเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วมากขึ้นเท่านั้น

4.สร้างความเชื่อถือ (Liking) : แม้คนเรามักยอมตกลงทำอะไรบางอย่างร่วมกับคนที่ตนเองรู้สึกดีด้วยมากกว่าคนแปลกหน้า แต่คนแปลกหน้าก็สามารถโน้มน้าวให้ทำแบบเดียวกันได้หากสามารถทำให้อีกฝ่ายเชื่อถือ ซึ่งมิจฉาชีพที่ก่อเหตุด้วยการปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่น เช่น สร้างบัญชีปลอม ก็มักจะใช้ประวัติแอบอ้างเป็นญาติสนิทมิตรสหายของเหยื่อ เพื่อกระตุ้นเร้าให้เหยื่อมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับบัยชีปลอมนั้น

5.วางตนเป็นผู้มีอำนาจ (Authority) คนเรามีแนวโน้มจะทำตามคำสั่งหรือคำขอของผู้มีอำนาจหรือผู้เชี่ยวชาญ เรื่องนี้มีผลการศึกษาจาก สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงจากการทดลองเรื่องการถูกกดันให้ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ ด้วยการให้ทีมงานไปอยู่ในห้องหนึ่ง แล้วผู้เข้าร่วมทดลองอยู่อีกห้องหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมทดลองจะต้องกดปุ่มสั่งปล่อยกระแสไฟฟ้าช็อตทีมงานที่ตอบคำถามผิด แรกๆ ก็เป็นกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ต่อมาก็ถูกสั่งและกดดันให้เพิ่มความแรงของกระแสไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ และห้ามเลิกกลางคัน 

อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วการทดลองนี้ไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด โดยทีมงานของมิลแกรม (ที่ผู้เข้าร่วมทดลองไม่รู้ว่าเป็นเพียงหน้าม้า แต่เข้าใจว่าเป็นผู้เข้าร่วมทดลองอีกกลุ่ม) แกล้งทำเป็นส่งเสียงร้องโหยหวนและแสดงท่าทีเจ็บปวดทรมานเมื่อผู้เข้าร่วมทดลองกดปุ่ม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิสูจน์ว่าคนเราสามารถทำเรื่องเลวร้ายได้หากรู้สึกหวาดกลัวผู้มีอำนาจ ซึ่งผลการศึกษาชี้เมื่อถูกนำมาประยุกต์กับการหลอกลวง มิจฉาชีพกอาจใช้วิธีอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ต้องการให้เหยื่อดำเนินการตามที่ต้องการอย่างรวดเร็ว เมื่อบวกกับความเร่งด่วน เหยื่อก็อาจหลงเชื่อและทำตามไปด้วยความหวาดกลัว

และ 6.ของมีจำกัด (Scarcity) : เมื่อสิ่งใดเริ่มขาดแคลนคนเราก็มักต้องการสิ่งนั้นมากขึ้น มีการทดลองที่น่าสนใจ เช่น มีการทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเห็นว่าเหลือคุกกี้เพียงไม่กี่ชิ้น พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองสนใจคุกกี้นั้นมากขึ้น มิจฉาชีพสามารถใช้จุดอ่อนนี้เล่นกับจิตใจของเหยื่อในเรื่องของเงื่อนไขเวลาได้ โดยบอกเหยื่อว่าหากไม่รับข้อเสนอตอนนี้ก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว หรือหากไม่ติดต่อกลับภายในเวลาที่กำหนดจะมีผลกระทบบางอย่างตามมา

คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) หน่วยงานภาครัฐของ สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่บทความ How To Avoid a Scam เมื่อเดือน พ.ย. 2563 กล่าวถึงข้อควรระวัง 4 ประการ 1.มิจฉาชีพมักอ้างว่ามาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ (Scammers PRETEND to be from an organization you know) เช่น สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร สถานบริการทางการแพทย์ ไปจนถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ มิจฉาชีพสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อปลอมแปลงหมายเลขโทรศัพท์ได้  เพื่อให้เหยื่อที่เห็นหมายเลขโทรศัพท์บนหน้าจอมือถือของตนเองหลงเชื่อ

2.ไม่มากับปัญหาก็มาให้รางวัล (Scammers say there’s a PROBLEM or a PRIZE)  มิจฉาชีพจะบอกเหยื่อว่าเหยื่อกำลังมีปัญหากับหน่วยงานภาครัฐ หรือมีหนี้ที่ต้องชำระ หรือคนในครอบครัวมีปัญหาเดือดร้อนต้องการใช้เงินด่วน บอกว่าบัญชีธนาคารของเหยื่อมีปัญหาต้องถูกตรวจสอบ หรือแม้แต่บอกว่าคอมพิวเตอร์ของเหยื่อติดไวรัส ในทางกลับกัน บางครั้งมิจฉาชีพก็บอกเหยื่อว่าได้รับรางวัลอะไรสักอย่างแต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้สามารถรับรางวัลนั้นได้

3.กดดันให้ต้องรีบทำตามโดยเร็ว (Scammers PRESSURE you to act immediately) มิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้เหยื่อจดจ่ออยู่กับสิ่งที่มิจฉาชีพกำลังเสนอ โดยไม่เปิดโอกาสให้หันเหความสนใจไปทางอื่น เช่น หากคุยโทรศัพท์อยู่ก็บอกว่าอย่าวางสาย เหยื่อจึงแทบไม่มีเวลาได้ฉุกคิดหรือสืบค้นเรื่องราวที่มิจฉาชีพบอก พร้อมกันนั้น มิจฉาชีพจะกระหน่ำด้วยการข่มขู่สารพัดให้เหยื่อหวาดกลัว อาทิ ขู่ว่าจะจับกุมดำเนินคดี ยึดหรืออายัดใบอนุญาตประกอบอาชีพ เนรเทศออกนอกประเทศ ไปจนถึงบอกว่าหากไม่ทำตามคอมพิวเตอร์ของเหยื่ออาจได้รับความเสียหาย

และ 4.แนะนำให้จ่ายเงินผ่านช่องทางพิเศษ (Scammers tell you to PAY in a specific way) มิจฉาชีพอาจบอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริษัทที่รับโอนเงิน หรือเติมเงินใน Gift Card แล้วบอกหมายเลขหลังบัตรกับมิจฉาชีพ หรือบางครั้งอาจจะส่งเช็คให้เหยื่อ โดยที่เหยื่อมารู้ในภายหลังว่าเป็นเช็คปลอม แต่ ณ เวลานั้นเหยื่อก็จะนำเช็คไปฝากเพื่อส่งเงินให้มิจฉาชีพแล้ว

บทความของ FTC ยังแนะนำวิธีลดความเสี่ยงไว้ 1.บล็อกหมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขที่ส่งข้อความที่ไม่ต้องการ โดย FTC มีขั้นตอนให้แจ้งเพื่อทำการบล็อกได้ 2.อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลธุรกรรมทางการเงินตามคำขอที่ไม่ไดคาดหวัง ซึ่งต้องย้ำว่า หากเป็นหน่วยงานภาครัฐของจริงจะไม่ขอข้อมูล เช่น ประกันสังคม บัญชีธนาคาร หรือหมายเลขบัตรเครดิต ส่วนกรณีอ้างว่าเป็นบริษัทเอกชน ให้ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ หรือค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทนั้น อย่าโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ผู้ต้องสงสัยให้ไว้ หรือโทรศัพท์กลับไปยังหมายเลขที่ติดต่อมาหา

3.ธุรกิจที่ถูกกฎหมายจะไม่เร่งเร้าให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการดำเนินการใดๆ ในทันที พวกเขาจะให้เวลาในการตัดสินใจ ส่วนพวกที่เร่งเร้าให้รีบจ่ายเงินหรือขอข้อมูลส่วนบุคคล ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ และ 4.อย่าทำตามวิธีชำระเงินที่อีกฝ่ายกำหนด เช่น มิจฉาชีพจะบอกให้เหยื่อใช้บริการโอนเงิน หรือการโอนผ่าน Gift Card และไม่รับฝากเช็คเพื่อส่งเงินคืนให้บุคคลที่ดูแล้วน่าสงสัย

แต่ท้ายที่สุด..คงต้องกลับมาที่คำว่า สติ คำสั้นๆ ที่แม้จะไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่ก็ต้องหมั่นฝึกไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.cnbc.com/2021/06/29/americans-lost-billions-of-dollars-to-phone-scams-over-the-past-year.html (Americans lost $29.8 billion to phone scams alone over the past year)

https://www.ofcom.org.uk/news-centre/2021/45-million-people-targeted-by-scams (45 million people targeted by scam calls and texts this summer)

https://www.nippon.com/en/japan-data/h01258/ (Specialized Fraud Cases in Japan Increase for First Time in Four Years)

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8283193/ (Who Is Next? A Study on Victims of Financial Fraud in Japan) 

https://theconversation.com/five-psychological-reasons-why-people-fall-for-scams-and-how-to-avoid-them-102421 (Five psychological reasons why people fall for scams – and how to avoid them)

https://morrispsych.com/why-so-many-people-fall-for-scams-by-kenneth-freundlich-ph-d/ (Why So Many People Fall For Scams)

https://thepeople.co/stanley-milgram-experiment/ (สแตนลีย์ มิลแกรม : ทำไมบางคนกล้าทำเรื่องเลวร้ายเพียงเพราะ ‘นายสั่งมา’)

https://consumer.ftc.gov/articles/how-avoid-scam (How To Avoid a Scam)