สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในยุโรปและสหรัฐฯ ล่าสุด จะกระทบไทยหรือไม่? Cofact Special Report #8
Cofact Special Report 8
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในยุโรปและสหรัฐฯ ล่าสุด จะกระทบไทยหรือไม่?
English Summary
Many countries in Europe and the US have been facing the newest surge of COVID-19. Some countries such as Germany and Austria face the highest daily new cases ever. Most of the new cases come from the unvaccinated population and those who had their last COVID vaccine shot more than 6 months ago. This prompts many countries to put more restrictions back, including partial lockdown and mask mandate. The new COVID surge worries many countries that have loosened restrictions, and now they are watching Europe closely on how they handle the situation. In this article, we also answer some of the questions on misinformation about the latest COVID surge in Europe and why the vaccine booster shot may be the solution to solve this crisis.
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐฯ ประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกระลอก บางประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ประชาชนจะฉีดวัคซีนเยอะแล้วก็ตาม ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาสถานการณ์ล่าสุดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงตามระยะเวลาที่ฉีดว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้หรือไม่
คำถาม: สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุดในประเทศแถบตะวันตกเกิดจากอะไร?
คำตอบ: แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในยุโรป และสหรัฐฯ ระบุตรงกันว่า สาเหตุการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่อัตราการฉีดวัคซีนที่เริ่มต่ำลง ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่เริ่มลดลงในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และอากาศที่เริ่มหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ประชาชนใช้เวลาในอาคารมากขึ้น เมื่อประชาชนจำนวนมากอาศัยในพื้นที่ปิดร่วมกันเป็นเวลานานๆ ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็มีมากขึ้นกว่าในช่วงฤดูร้อนที่ประชาชนมักจะใช้ชีวิตกลางแจ้ง หรือในพื้นที่โล่งมากกว่า
คำถาม: ยอดผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรป และสหรัฐฯ มาจากโควิดสายพันธุ์ใหม่หรือไม่?
คำตอบ: ไม่ใช่ ผู้ป่วยโควิด-19 ในยุโรป และสหรัฐฯ ณ ขณะนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า
คำถาม: ประเทศเหล่านี้ล้วนมีอัตราการฉีดวัคซีนสูง แล้วทำไมยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดจึงสูงเช่นนี้?
คำตอบ: ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในยุโรป และสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาที่ไปในแนวทางตรงกันว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนในประเทศเหล่านี้ฉีดไปตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีในตอนนี้ผ่านมากว่า 6 เดือนแล้ว ประสิทธิภาพของวัคซีนจะเริ่มลดลง ทำให้ภูมิคุ้มกันของพวกเขาลดลงตามมา ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุดจำนวนหนึ่งเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมานานกว่า 6 เดือน แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว
คำถาม: ดังนั้นการฉีดวัคซีน 2 เข็มก็ไม่ได้ช่วยให้เราไม่ติดหรือไม่ป่วยจากโควิด-19?
คำตอบ: ไม่จริง การฉีดวัคซีนครบเข็ม หรือครบตามจำนวนที่ผู้ผลิตยากำหนด ยังคงช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และอาการป่วยหนักจากโควิด-19 อยู่ แต่ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มจะเริ่มลดลงหลังจากฉีดไปได้ 6 เดือน ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ฉีดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
สำหรับประเทศไทยเอง ประชาชนส่วนใหญ่เพิ่งจะได้รับการฉีดเข็มที่สอง และเข็มที่สามสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย หากเราเทียบกับผลการศึกษาในสหรัฐฯ และยุโรป ก็พอจะสรุปได้ว่าการระบาดระลอกใหม่ในไทยอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง
คำถาม: ในยุโรป และสหรัฐฯ มีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนชนิดใดบ้าง?
คำตอบ: เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA อนุญาตให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยไฟเซอร์ และโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่สามให้กับประชากรผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศ ขณะที่ในสหภาพยุโรปก็อนุญาตให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา
คำถาม: ในยุโรป และสหรัฐฯ มีมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างไร?
คำตอบ: เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ออสเตรียเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกมาตรการล็อกดาวน์ห้ามประชาชนออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ทั้งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากออสเตรียเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มียอดผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มียอดการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจึงมองว่าการล็อกดาวน์ 10 วันเพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ดีที่สุด หลังจากครบกำหนดแล้วรัฐบาลจะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้นที่จะออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะไม่อนุญาตให้เข้าใช้บริการร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และบริการสาธารณะต่างๆ
ขณะที่เยอรมนี และอิตาลี และประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ยังไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่จะบังคับใช้เฉพาะกับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือผู้ที่ไม่มีผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ โดยประชาชนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าใช้บริการร้านอาหาร สถานบันเทิง ผับ บาร์ และสถานออกกำลังกายในร่ม มาตรการลักษณะนี้ยังใช้ในเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ บางเมือง เช่นนครนิวยอร์ก และซานฟรานซิสโก
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หลังจากสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปเริ่มอนุญาตให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนผู้ใหญ่ทั้งหมดแล้ว ก็น่าจะช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงในอีกไม่นาน
คำถาม: การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในยุโรป และสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการเปิดประเทศของไทยอย่างไร?
คำตอบ: ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐฯ เดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่พวกเขาต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบสองเข็ม หรือครบตามจำนวนโดสที่บริษัทผู้ผลิตยากำหนด นอกจากนี้พวกเขาจะต้องมีผลตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมงจึงจะสามารถเดินทางมาไทยได้ เมื่อเดินทางมาถึง นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องได้รับการตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง เท่ากับว่าภายในระยะเวลา 3-4 วัน พวกเขาจะต้องโดนตรวจหาเชื้อถึง 2 ครั้ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่าเป็นวิธีที่เข้มงวด และปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการล็อกดาวน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดในยุโรป ก็อาจเป็นไปได้ที่ประชาชนบางส่วนอาจจะเลื่อนแผนการเดินทางออกไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศของตนจะดีขึ้น
ที่มา:
https://www.cnbc.com/2021/11/19/austria-announces-national-lockdown-as-covid-cases-surge.html
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com