โคแฟค’เปิดตัวเครือข่ายระดับภูมิภาค ขยายแนวร่วมตรวจสอบข่าวลวงสู่ท้องถิ่น

Editors’ Picks

วันที่ 7 ธ.ค. 2564 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น, มูลนิธิฟรีดริซเนามัน,อีสาน Cofact, อันดามัน Cofact, อุบลคอนเนก, สมาคมผู้บริโภคสงขลา, เชียงรายพะเยาทีวี, ตราดทีวี , สมาคมสื่อสารมวลชนจังหวัดตราด และ Deep South Cofact  จัดแถลง “เปิดตัวเครือข่ายตรวจสอบความจริงระดับภาค”  เพื่อขยายการทำงานการตรวจสอบข่าวให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น 

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า โคแฟคเป็นแพลตฟอร์มภาคประชาสังคม ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากโคแฟคไต้หวัน ด้วยเชื่อว่าโลกออนไลน์นั้นมีข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายหลากหลายไหลเวียน แต่ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมีทั้งข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความผิดพลาดอย่างไม่ตั้งใจ ไปจนถึงการตั้งใจเพื่อให้เกิดผลจากข้อมูล ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้ตื่นรู้

“ในรอบปี 2563 โคแฟคได้ไปตระเวนในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปพบปะพูดคุยกับภาคีต่างๆ แล้วทางการทำงาน โคแฟคก็ได้ประสานเชื่อมโยงในกิจกรรมต่างๆ ทางออนไลน์บ่อยครั้งมาก วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่โคแฟคจะเปิดตัวเครือข่ายซึ่งจะทำงานร่วมกันตรวจสอบความจริง” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ย้อนไปในครั้งที่โคแฟคประเทศไทยก่อตั้งขึ้น วันนั้นมีภาคีเครือข่ายร่วมกันเพียง 8 องค์กร แต่ปัจจุบันมีมากกว่า 39 องค์กรที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุที่มองเห็นปัญหาข้อมูลข่าวสารไหลบ่าโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 และ สสส. ก็ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานของโคแฟค

โดยเป้าหมายของโคแฟคคือการพัฒนาให้ทุกคนมีทักษะในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร (Fact Checker) ตอบโจทย์ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาโคแฟคได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาไว้ 5 ระดับ 1.ระดับบุคคล ต้องมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อและตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร 2.ระดับสังคม-วัฒนธรรม ลดอคติความเชื่อ และสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารความจริงร่วมกัน 3.ระดับโครงสร้าง ขับเคลื่อนงานในทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ สื่อมวลชน การศึกษา และภาคประชาชน เพื่อให้เอื้อต่อการสร้างกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 4.ระดับประเทศ สร้างฐานข้อมูลกลางที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้โดยสร้างความร่วมมืออกับทุกเครือข่าย และ 5.ระดับชุมชน ธรรมชาติของข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวลวงนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งระดับสังคมและชุมชนหรือท้องถิ่น โดยที่แต่ละชุมชนจะมีข้อมูลข่าวสารแตกต่างกันไปตามบริบทของในพื้นที่นั้นๆ เช่น ภัยพิบัติ ก็จะเห็นข่าวลวงที่วนเวียนอยู่ในพื้นที่ การเกิดกลไกตรวจสอบข่าวลวงในระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงกัน จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบข้อมูลข่าวลวงและข้อเท็จจริงในบริบทของพื้นที่ และช่วยคลี่คลายปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารได้อย่างมาก

“ความโดดเด่นของงานโคแฟคซึ่งเป็นเอกลักษณ์จริงๆ จะมีอยู่ 3 ด้าน ซึ่งก็สอดคล้องกับการทำงานขับเคลื่อนของ สสส. และภาคีเครือข่าย คือการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงภาคประชาสังคม-ภาคประชาชน โดยการพัฒนาทักษะพลเมืองในยุคดิจิทัล ใช้ Big Data และเทคโนโลยีภาคพลเมืองบนฐานของปัญญาร่วม หรือ Wisdom of the Crowd มาช่วยด้านการสานพลังเครือข่าย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานที่โดดเด่นของการทำงานเครือข่ายโคแฟค เนื่องจากทุกคนเป็นเจ้าของร่วมหรือในพื้นที่หรือชุมชนสาธารณะนี้ แล้วมีการสานต่อ ขยายผลการทำงานให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ” นางญาณี กล่าว 

นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้ง Ubon Connect จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของเครือข่ายใน จ.อุบลราชธานี มาจากการรวมตัวของคนที่สนใจเรื่องภัยพิบัติผ่านแพลตฟอร์ม Open Chat ในปี 2562 ซึ่งปีนั้น จ.อุบลราชธานี เผชิญสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรง จากนั้นในปี 2563 เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้ก่อตั้ง Open Chat ในประเด็นโควิด-19 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะ และเมื่อโคแฟคเข้ามาสนับสนุน ก็ต้องเพิ่มเติมการตรวจสอบข่าวลวงขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากใน Open Chat หรือในเพจแล้วยังทำเป็นรายการ เรื่องจริงมันเป็นอย่างไร อย่างโรงเรียนอนุบาลอุบลฯ ติดโควิด ผู้ร่วมกฐินหลวงติดโควิด เราไล่มาเลย เพจนี้ว่าอย่างนี้ ชาวบ้านว่าอย่างนี้ แล้วเรื่องจริงมันเป็นอย่างไร ก็บอกเรื่องจริงที่เราตรวจสอบ หรือกรณีโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์จะมีโครงการขึ้นมา เราตรวจสอบกับโรงพยาบาลแล้วว่าไม่จริง ก็เป็นเพจในอุบลฯ เหมือนกัน หรือกรณีสามเณรแต่งหญิง ภาพเก่าเอามาแชร์กันในช่วงนี้ จริงๆ มันเป็นภาพเก่าไม่ใช่ตอนที่เขาเป็นสามเณร” นายสุชัย กล่าว

ผศ.ดร. ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงปี 2563-2564 การทำงานร่วมกับโคแฟคเน้นสร้างเครือข่ายนักเรียน-นักศึกษา เช่น จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checker) การส่งทีมเข้าแข่งขัน FACTkathon พัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อพลเมืองฐานราก เป็นต้น ส่วนเป้าหมายในปีต่อไป มีเป้าหมายร่วมกับโคแฟค 3 ประการคือ 

1.พัฒนาศูนย์ข้อมูลตรวจสอบข่าวลวงในภูมิภาค โดยเชื่อมโยงเยาวชนกับกลุ่มคนต่างวัย 2.ขยายฐานข้อมูลโคแฟคโดยเพิ่มเติมข่าวลวงที่พบในระดับภูมิภาคมากขึ้น และ 3.พัฒนาทักษะการตรวจสอบข้อมูลให้กับเครือข่ายพลเมือง ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้ กลุ่มหลักที่ทำงานด้วยยังคงเป็นนักศึกษาซึ่งเป็นจุดแข็งเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ โดยอบรมเพิ่มเติมเรื่องการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน โดยร่วมกับสื่อมวลชนระดับท้องถิ่น ก่อนลงพื้นที่ไปทำงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และประชาชนฐานรากในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 

“รูปแบบการทำงานเราจะมีการถ่ายทอดติดตั้งองค์ความรู้เรื่องการตรวจสอบข้อมูล การใช้แพลตฟอร์มโคแฟค การสร้างเนื้อหาร่วมกัน โดยจะมีการวัดผลทั้งก่อนและหลัง ทั้งกลุ่มของนักศึกษาและกลุ่มของประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากท้องถิ่น เราก็จะใส่เพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนจากภาคเหนือเข้าไปอยู่ในระบบโคแฟคไม่ต่ำกว่า 20 ชิ้น รวมถึงผลิตเนื้อหาจากข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือนเพื่อสร้างการรู้เท่าทัน” ผศ.ดร.ณภัทร กล่าว

นายชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการพะเยาทีวี ทีวีชุมชน จังหวัดพะเยา กล่าวว่า พะเยาทีวีเป็นสื่อท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีประชาชนส่งข้อความมาสอบถามเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง เช่น การเดินทางข้ามจังหวัด การพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งด้วยความที่อยู่ในชุมชนก็ทำให้ได้เห็นปัญหาข่าวลวง เช่น ไปบอกว่าบุคคลนั้นหรือร้านนี้พบการติดเชื้อ ซึ่งแม้ต่อมาพบว่าไม่เป็นความจริงแต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว 

ทั้งนี้ สิ่งที่พะเยาทีวีต้องการทำงานร่วมกับโคแฟค มี 3 ประเด็นซึ่งพบสถานการณ์ในพื้นที่ คือ 1.ศาสนาและความเชื่อ เช่น ความแตกต่างระหว่างคณะสงฆ์ฝั่งประเทศเมียนมา คณะสงฆ์ที่กรุงเทพฯ และคณะสงฆ์ใน จ.พะเยา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 2.กฎหมายและเทคโนโลยี เช่น การซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์แล้วถูกหลอก หรือประเด็นด้านสุขภาพ และ 3.ข่าวสถานการณ์ต่างๆ ทีเกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ภาพหรือข่าวเก่าที่ถูกนำมาแชร์วนใหม่ ไปจนถึงประกาศเชิญชวนต่างๆ ที่พบในชุมชน

“พะเยาทีวีมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งคณะสงฆ์ ปราชญ์ ด้านกฎหมายตอนนี้เราก็ทำงานร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะมีเรื่องเทคนิคที่ชาวบ้านต้องการความรู้ ส่วนอื่นๆ ที่เราทำร่วมอยู่แล้วคือเครือข่ายแหล่งข่าว และคณะสื่อสารสื่อใหม่ของมหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ นายกสมาคมสื่อสารมวลชน จังหวัดตราด กล่าวว่า ด้วยบทบาทการทำงานสื่อมา 30 ปี จึงต้องกลายเป็นที่พึ่งของประชาชนเมื่อมีข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จไปโดยปริยาย อาทิ เรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี คือเรื่องหาดทรายดำใน จ.ตราด มีความเชื่อกันว่าใครไปนอนให้ร่างกายหมกทรายจะสามารถรักษาโรคได้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงความเชื่อไม่ใช่ความจริง หรือมีชุมชนแห่งหนึ่ง เชื่อกันว่าชายหนุ่มไปอยู่กินกับหญิงสาวได้ก่อนหากไม่พอใจค่อยเลิกทีหลัง นี่ก็เป็นความเชื่อ เป็นต้น

“เราจะมีเวทีตรวจสอบความจริง 3 เวที เวทีกับสมาคมสื่อ เวทีกับสภาเด็กและเยาวชน และเครือข่ายประชาชนและสมาคมผู้ปกครองจังหวัดตราด อันนี้คือสิ่งที่ศูนย์ตรวจสอบความจริงของจังหวัดตราด จะมีการดำเนินการในต่อไป” นายกสมาคมสื่อสารมวลชน จังหวัดตราด กล่าว

รศ.ดร.สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ อาจารย์หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ในปี 2563 โคแฟคเคยจัดเวทีสัญจรภาคตะวันออก ซึ่งได้เชิญมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกมาเข้าร่วม ส่วนการตรวจสอบข่าวลวงเป็นการบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนวิชาการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) โดยคัดเลือกนิสิต 40 คน มาเป็นคณะทำงานซึ่งมีคณาจารย์ 4 ท่านเป็นพี่เลี้ยง 

โดยหัวข้อที่สนใจ คือโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การขยายตัวของอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว หรือประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการปะทะกันของข้อมูลข่าวสารจากฝ่ายต่างๆ โดยจุดเด่นที่สำคัญคือความเข้มแข็งของเครือข่าย ตั้งแต่นักวิชาการในมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์จังหวัด ไปจนถึงภาคประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วม

“นอกจากการตรวจสอบแล้ว เรายังมีพื้นที่ในการผยแพร่ข่าวที่ตรวจสอบมาแล้วว่าความจริงมันคืออะไร เราจะมีเว็บไซต์ภาควิชานิเทศศาสตร์ของเราในการเป็นช่องทางเผยแพร่หลัก อีกอันหนึ่งเราจะจัดเวทีหลังจากการทำงานแล้ว เป็นเวทีขยายการทำงานเพิ่มมากขึ้น จาก 30-40 คนที่คัดเลือกมา ไปสู่นิสิตทั้ง ม.บูรพา และในเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพรรรณี และมหาวิทยาลัยศรีปทุม อีกประเด็นคือจะมีการพัฒนาทีมทำงานของเราด้วย ให้เขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงที่มากขึ้นและเข้มข้นขึ้น” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว 

ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครอง ผู้บริโภคภาคใต้ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้บริโภคทั่วไป มีการอบรมการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้กับอาสาสมัครแกนนำชุมชน เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ สอนกันตั้งแต่การเก็บหลักฐานภาพหน้าจอ การจัดเก็บข้อมูลในกลุ่มไลน์ การค้นข้อมูลเก่า ซึ่งพบว่าสมาชิกเครือข่ายจำนวนมากเป็นผู้สูงวัย อายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลเพราะเชื่อว่ามีคนคัดกรองมาให้แล้วก่อนแชร์มาถึงตนเอง

แต่การสร้างเครือข่ายที่สามารถแทรกซึมไปตามกลุ่มไลน์ ซึ่งอาสาสมัครแต่ละคนจะอยู่ในหลายกลุ่มเพราะต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ก็ช่วยให้จัดการกับข่าวลือต่างๆ ทั้งเรื่องโควิด-19 และความขัดแย้งในพื้นที่ได้ตั้งแต่หน้างาน ทั้งนี้ ยังมีทีมผู้ประสานงานคอยนำข้อมูลจากกลุ่มไลน์มาแปลงเพื่อเก็บในโปรแกรมเอ็กเซล และจะถูกส่งไปให้อาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ช่วยวิเคราะห์ให้ตามหลักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นพลเมืองดิจิทัล มีทักษะรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ควบคู่ไปกับการรู้เท่าทันประเด็นสุขภาพ (Health Literacy) 

“ช่วงหนึ่งจะมีข่าวสารเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรต่างๆ กระชายขาวปั่นแล้วกินได้เลย ก็มีข้อควรระวังซึ่งเราจะต้องควบคู่ไปกับการรักษาทางเลือกของทางโควิดด้วย ซึ่งสมุนไพรก็มีส่วนอยู่เยอะ ดังนั้นเราจะรักษาสมดุลในเรื่องของข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กับสิ่งที่ชาวบ้านจะต้องแสวงหาเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นเนื้อเรื่องหลักในการที่เราจะทำคู่กันไป” ภญ.ชโลม กล่าว

นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายอันดามันโคแฟค , เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เครือข่ายอันดามันโคแฟค เคยได้รับการอบรมในเวทีโคแฟคสัญจรภาคใต้ มีจังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ เข้าร่วม และทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนของ 3 จังหวัด ร่วมด้วยเครือข่าย อสม. และเครือข่ายผู้สูงอายุ อาทิ ที่ จ.กระบี่ มีหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุ จะตรวจสอบอย่างไรให้รู้ความจริงอย่างชัดเจน ส่วนที่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต มีการรวมตัวกันผ่านกลุ่มไลน์ เพื่อตรวจสอบข่าวและกระจายข้อมูลที่ถูกต้องในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน 

อนึ่ง การทำงานของเครือข่าย จ.ภูเก็ต ให้ความสำคัญกับประเด็นผู้สูงอายุถูกมิจฉาชีพหลอกลงทุน จึงร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดวิทยากรมาร่วมพูดคุยในรายการ “สุขสันต์วันเสาร์” ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนต่างๆ ว่าต้องตรวจสอบก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น การลงทุนนั้น ก.ล.ต. รับรองหรือไม่ หรือเป็นแชร์ลูกโซ่ 

 “สิ่งที่เราจะตรวจสอบนั้นมีอยู่ 3 ด้าน ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เอาภาพเก่ามาเวียนซ้ำ อันนี้เยอะมาก หรือด้านสุขภาพซึ่งก็สอดคล้องกับที่สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคเขาทำอยู่ เรื่องยา เรื่องสมุนไพร เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งหลาย แล้วก็ด้านเศรษฐกิจ อันนี้สำคัญมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุจะตกเป็นเป้าหมาย เช่น เชิญชวนให้ลงทุน ลงหุ้นโน่นนี่ ซึ่งมีอยู่มาก นายเจริญ กล่าว

ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ยังมี 2 วิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข่าวลวงมาร่วมให้มุมมอง โดย นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ. อสมท. กล่าวว่า แนวคิดที่เคยพูดคุยกันเมื่อ 2-3 ปีก่อน วันนี้ถูกนำไปขยายผลอย่างมากในการสร้างนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องรอส่วนกลาง อีกทั้งนำจุดแข็งของตนเองมาผสมผสาน วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยหวังให้คนในพื้นที่ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม ข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์

“สิ่งที่แต่ละท่านทำก็ได้ทำจากความถนัดของตัวเอง ทำจากเครือข่ายที่มี ทำจากเป้าหมายที่มีอยู่แล้วและนำมาขยายผลต่อ ผมคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการแก้ปัฐหาข่าวปลอม-ข้อมูลเท็จในพื้นที่ แล้วก็สามารถช่วยป้องกันภัยเฉพาะหน้าได้ทันที” นายพีรพล กล่าว 

ขณะที่ นายธนภณ เรามานะชัย Trainer, Google News Initiative (GNI) กล่าวว่า จากที่รับฟังผู้ตรวจสอบข้อมูลทุกภูมิภาค พบว่าต้องการเทคโนโลยีตรวจสอบภาพว่าเป็นเหตุการณ์ในอดีตแต่ถูกแชร์วนซ้ำ หรือเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ ดังนั้นหากในอนาคตมีการจัดอบรมกันอีกในระดับภูมิภาคก็น่าจะเน้นประเด็นนี้มากขึ้นเพราะเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย รวมถึงเพิ่มเติมในส่วนกระบวนการทำงานตรวจสอบที่เข้าใจง่ายและเข้าใจตรงกันทั้งเครือข่าย

ซึ่งหากเป็นคนทำงานด้านสื่อหลายคนจะเข้าใจกระบวนการตรวจสอบ อีกทั้งรู้จักบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวสามารถติดต่อขอให้ช่วยอธิบายข้อมูลต่างๆ ได้ แต่หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานนี้ แม้เห็นข้อมูล ดูแล้วมั่นใจว่าไม่ใช่เรื่องจริงแต่ไม่รู้จะไปหาอะไรมายืนยันแล้วจะทำอย่างไร เช่น ทักษะการติดต่อสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบว่าคนคนนั้นมีตัวตนจริง อยู่ในเหตุการณ์จริง ตลอดจนการแยกแยะระหว่างข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น จะใช้วิจารณญาณอย่างไร

บางอย่างที่เป็นข้อมูลความคิดเห็น เช่น ความคิดเห็นด้านการเมือง หรือข้อมูลความคิดเห็นที่มาจากบุคคลคนหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์หรือคุณวุฒิที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้น เช่น เป็นแพทย์แต่ไม่ใช่แพทย์ด้านโรคติดต่อ แต่มาให้ข้อมูลด้านโควิด บางอย่างมันเป็น Process ที่จะต้องมาวิเคราะห์ว่าอะไรคือ Dis หรือ Misinformation (ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือข้อมูลบิดเบือน) ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่า Process เหล่านี้น่าจะมีประโยชน์กับเครือข่าย นายธนภณ กล่าว 

ปิดท้ายด้วย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง (โคแฟค ประเทศไทย) (COFACT Thailand) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า นอกจาก 7 เครือข่ายที่มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ยังมีเครือข่ายอีสานโคแฟคที่ทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ Deep South Cofact ที่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จุดเริ่มต้นในครั้งนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายเพิ่มเติม และต้องขอบคุณ สสส. ที่เห็นความสำคัญของการสร้างความเข็มแข็งของสุขภาพพลเมืองในการตร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง

“สิ่งที่เราจะทำกันในปีหน้าก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น นอกจากทุกท่านจะได้นำเสนอผลงานและลงลึกในการร่วมกับพี่น้องประชาชนในการรับมือกับปัญหา ซึ่งอาจจะมีการระบาดของโรคระบาดรอบใหม่หรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ รวมทั้งเราอาจจะมีความเข้มข้นทางการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น แล้วก็อาจจะมีปัญหาใหม่ๆ ตามมา โดยเฉพาะตอนนี้หน้าหนาว ฝุ่น PM อะไรต่อมิอะไรซึ่งเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ซึ่งก็เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ควรให้ความสนใจ แล้วก็น่าจะเป็น Theme ที่คาบเกี่ยวกันในแต่ละพื้นที่ที่นำเสนอ” น.ส.สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-