รายงานพิเศษ (ตอนที่ 3) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(3/3)

By : Zhang Taehun

ไทยจำเป็นต้องยกเลิก MOU44 หรือไม่?

ในช่วงที่มีการถกเถียงเรื่อง MOU44 ในฝ่ายที่กังวลกับบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว บางส่วนอ้างว่า รัฐบาลไทยสมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2552-2554) ได้ยกเลิกไปแล้ว อาทิ รายงานข่าว ย้อนมติ ครม. ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน” ของ นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 1 พ.ย. 2567 อ้างความเห็นของ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่า ครม.อภิสิทธิ์ มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2552 ให้ยกเลิก MOU44 

“จริงอยู่ที่ว่าการยกเลิก MOU 2544 จนปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างแน่นอน และยังมีผลจนถึงปัจจุบันหากยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของทุกกระทรวงจะดำเนินการไปในหลักการอื่นโดยฝ่าฝืนต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 จะทำต่อไปได้อย่างไร ยกเว้นเสียแต่ว่ามีการขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีเสียใหม่ จริงหรือไม่?” ปานเทพ กล่าวในโพสต์เฟซบุ๊ก

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าปัจจุบัน MOU44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 2567 ตามรายงานข่าวของ ThaiPBS ที่ระบุว่า ประเด็นยกเลิก MOU 44 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในปี 2552 ซึ่งเสนอให้ยกเลิก เพราะขณะนั้นไม่มีความคืบหน้า และ ครม.รับในหลักการ แต่ได้ขอให้มีพิจารณาให้รอบคอบและได้หารือกับที่ปรึกษาทีมต่างชาติ และประชุมคณะกรรมการพิเศษที่เป็นภาคี และหน่วยงานด้านความมั่นคง อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงพลังงาน รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา 

โดยปี 2557 ได้ข้อสรุปว่า MOU 44 ยังมีประโยชน์ที่จะนำไปสู่การเจรจา จึงเสนอ ครม.ให้ทบทวนมติ ครม.ปี 2552 ว่าเรื่องนี้ต้องใช้ MOU 44 ต่อ ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ยังขอให้กรอบ MOU 44  เป็นพื้นฐานในการเจรจาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาลก็ยอมรับและหลักการยังเหมือนเดิม

นอกจากนั้น รายงานข่าว “‘บิ๊กป้อมประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม” โดยสำนักข่าวอิศรา วันที่ 4 ต.ค. 2564 อันเป็นยุคสมัยของรัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลานั้นมีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) เพื่อพิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area-OCA) รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เป็นการประชุมลับ จึงไม่มีการแถลงผลการประชุมกับสื่อ แต่ทางสำนักข่าวอิศรา สรุปร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (OCA) ที่เสนอให้ที่ประชุม JTC ฝ่ายไทย พิจารณา กำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาไว้ 3 ประเด็น ได้แก่

1.การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร

2.การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เมื่อปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งประกอบด้วย การเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ

3.ในการดำเนินการเจรจาให้ใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ตามที่ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว

รวมถึงในวันที่ 5 พ.ย. 2567 รายงานข่าว กษิต อัดแรง พวกปลุกเสียเกาะกูด เล่ายิบเหตุรบ.มาร์ค ยกเลิก MOU44 แต่ไม่สำเร็จ-หนุนเจรจาต่อ โดย นสพ.มติชน อ้างคำกล่าวของ กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ระบุว่า เหตุที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัดสินใจยกเลิก MOU 44 มาจากการที่ ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาในขณะนั้น ได้ตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทย เป็นที่ปรึกษากัมพูชา 

ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นเห็นว่าการกระทำของนายฮุนเซนนั้น ไม่น่ารัก ไม่เป็นมิตร และแทรกแซงกิจการภายในของไทย รัฐบาลขณะนั้นจึงต้องการแสดงออกว่าไม่พึงพอใจ ด้วยการยกเลิก MOU 44 แล้วก็ต้องการบอกกับอดีตนายกฯ ทักษิณด้วยว่า การกระทำดังกล่าวไม่น่ารักเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อมีมติ ครม.ออกมา ก็ต้องมีกระบวนการต่างๆ เพื่อจะนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศก็ดำเนินการอยู่ 

“แต่ว่ารัฐบาลในขณะนั้นก็ยุบสภาพ้นจากตำแหน่งไป ก็เท่ากับว่าเรื่องนี้ยังค้างอยู่ โดยผ่านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กระทั่งรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ก็เท่ากับว่า MOU 44 ยังมีชีวิตอยู่ และล่าสุด นายกฯ แพทองธารก็ได้ยืนยันว่า MOU 44 ยังมีชีวิต และยังอยู่ในการเตรียมการที่จะแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยต่อไป” กษิต กล่าว

จากข้อมูลที่รวบรวมมาข้างต้น จึงสรุปได้ดังนี้ 1.เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ที่ระบุไว้ชัดเจน 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ทำขึ้นในปี 2544 หรือ MOU44 ยังไม่ใช่ข้อตกลงที่ฝ่ายใดจะยอมรับเส้นเขตแดนหรือผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้าง ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการเจรจาผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะส่งตัวแทนเข้ามา อีกทั้งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ยังต้องมาผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไทย 

และ 3.ปัจจุบัน MOU44 ยังไม่ถูกยกเลิก และรัฐบาลชุดล่าสุดภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ก็กล่าวชัดเจนว่าไม่ยกเลิก โดยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ได้ย้อนถามว่า “ถ้ายกเลิกแล้วได้อะไร” ซึ่งการยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศอาจคิดไม่เหมือนกันได้ เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็ต้องมีข้อตกลงเพื่อมาพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การรักษาความสงบของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นใน MOU นี้ เปิดให้ทั้งสองประเทศพูดคุยกัน ซึ่งหากไทยยกเลิกอาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ไม่มีประโยชน์ใดๆ

หลังจากนี้ก็ต้องรอติดตามกันว่า คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ในฐานะคณะผู้แทนฝ่ายไทยไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชานั้นจะมีใครบ้าง? การเจรจาจะเริ่มต้นเมื่อใด? และผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร?

———————

อ้างอิง

https://www.thaipost.net/hi-light/683187/ (ย้อนมติครม.ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน : ไทยโพสต์ 1 พ.ย. 2567) 

https://isranews.org/article/isranews-news/103045-gov-JTC-thailand-Cambodia-OCA-Dialogue-framework-news.html (‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม : สำนักข่าวอิศรา 4 ต.ค. 2564)

https://www.matichon.co.th/politics/news_4883301 (กษิต อัดแรง พวกปลุกเสียเกาะกูด เล่ายิบเหตุรบ.มาร์ค ยกเลิก MOU44 แต่ไม่สำเร็จ-หนุนเจรจาต่อ : มติชน 5 พ.ย. 2567)

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/89854 (นายกรัฐมนตรี ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีการยกเลิก MOU 44 เตรียมตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย คุย กัมพูชา ยืนยันรัฐบาล รักษาผลประโยชน์ให้คนไทย : Thaigov 4 พ.ย. 2567)


(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 1) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(1/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report50-67-1/

(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 2) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67 (2/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report-2-3/