ภาพเอไอดาราดังฮอลลีวูด-ผู้นำโลกเล่นสงกรานต์ไทย : อวย..ป่วน..เอามัน หรือใครกันได้ประโยชน์
กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาโคแฟค รายงาน
ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวเน็ตได้นำภาพชุดเล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่สร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ เอไอ (Artificial Intelligence- Ai) ของเหล่าดาราดังฮอลลีวูด อย่าง ทอม ครูซ, เดอะ ร็อค, โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์, ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ คิอานู รีฟส์และผู้นำโลกที่เป็นข่าวทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศอยู่บ่อยๆ อาทิ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประธานาธิบดี คิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส รวมถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเมตา และอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลาและสเปซ เอ็กซ์ มาแชร์กันอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งทางห้องสนทนาเปิดและแชทกลุ่มปิดต่างๆ เช่น ในไลน์ เป็นต้น
ดูเผินๆ ภาพเหล่านี้ถูกส่งต่อกันมา เพื่อความบันเทิงและดูสนุก โดยต้นทางมีเจตนาที่จะอวดผลงานกันระหว่างนักสร้างสรรค์ภาพโดยเอไอว่าใครสร้างได้สมจริงหรือสวยงามสร้างสรรค์กว่ากัน เหมือนเช่นภาพเอไอคนเล่นสงกรานต์อื่นๆที่ไวรัลอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อของคนรับสารอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบัญชีผู้ใช้งานในโลกโซเชียลส่วนใหญ่ที่แชร์ภาพชุดนี้ จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นภาพเอไอและให้เครดิตเจ้าของภาพ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้รับสารทุกคนจะเข้าใจได้ว่า การที่บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกเหล่านี้จะเดินทางมาประเทศไทยโดยไม่เป็นข่าว หรือจะไปเที่ยวเล่นสงกรานต์ตามที่สาธารณะอย่างเปิดเผยตัวตนโดยไม่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก หรือหากเดินทางมาจริง ก็คงหลีกเลี่ยงการเปิดเผยตัวตนในคนหมู่มาก นอกจากจะมีช่างภาพปาปารัสซี่มือดีแอบถ่ายภาพในอิริยาบถส่วนตัวไว้ได้
หากเราดูในบริบทของปฏิบัติการณ์ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ใครได้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือการตลาด จากการที่ภาพเหล่านี้ถูกแพร่กระจายไปในโลกออนไลน์ และใครบ้างคือกลุ่มเป้าหมายของการเผยแพร่ภาพเหล่านี้
เส้นทางการเผยแพร่ของภาพชุดนี้เป็นอย่างไร
โคแฟคได้ตรวจเช็คแหล่งที่มาของภาพชุดนี้เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2567 ใน Google search พบภาพชุดดังกล่าวมาจากห้องสนทนากลุ่มเปิดในเฟซบุ๊กชื่อ AI CREATIVES THAILAND โดยผู้ใช้งานชื่อ Jithsarana Opt ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเจ้าของภาพ ได้โพสต์ภาพชุดผู้นำโลกเล่นสงกรานต์ ไว้ในกลุ่มเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2567 พร้อมคำอธิบายว่า ต้องการเห็นผู้นำประเทศเหล่านี้ในอิริยาบทที่สนุกสนาน ดูไม่เครียดเหมือนในข่าว โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามากดชอบกว่า 3,400คน แสดงความเห็น 169 ข้อความ และแชร์ 636ครั้ง ส่วนภาพเอไอชุดดาราฮอลลีวูด ก็มีคนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ไม่แพ้กัน โดยมากดชอบประมาณ 1,000 คน แสดงความเห็น 75 ข้อความและแชร์ 289 ครั้ง
ภาพชุดดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางเพราะนอกจากจะดูสวยงามแล้ว ยังมีมุมมองที่น่าสนใจ จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงและพากันแชร์ภาพชุดนี้ในโลกโซเชียล โดยผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบางรายได้เข้ามาซักถามเจ้าของภาพว่าใช้โปรแกรมเอไออะไรสร้างภาพออกมาได้สวยงามและเหมือนจริง หรือเป็นภาพลิขสิทธิ์หรือไม่ บางรายก็ขอภาพไปใช้ฟรี หรือนำโพสต์ต่อ โดยให้คำบรรยายภาพแตกต่างกันไป มีอิงการเมืองบ้าง เช่น ผู้ใช้งานฟซบุ๊กชื่อ Tui July ได้บรรยายภาพว่า หยุดสงคราม.. เล่นสงกรานต์… หรือบัญชีผู้ใช้งานติ๊กต่อกnong_1688 ได้พาดหัวคลุมเครือประหนึ่งว่าบุคคลเหล่านั้นมาเล่นสงกรานต์เมืองไทยจริง
ในขณะเดียวกัน ทางเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริง Fact Crescendo Thai ซึ่วอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร Fact Crescendo ประเทศอินเดีย ที่ได้รับการรับรองจาก International Fact Checking Network (IFCN) ได้ติดตามตรวจสอบที่มาของภาพชุดนี้เช่นกัน โดยสรุปไว้ในรายงานเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 ว่าเป็นภาพเอไอที่มาจากเฟซบุ๊กกลุ่มดังกล่าว ไม่ใช่ภาพที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง และยังเชื่อมโยงให้เห็นถึงภาพเอไอเกี่ยวกับการเล่นสงกรานต์อื่นๆ ว่าเป็นภาพที่มีมาจากสมาชิกของเฟซบุ๊กกลุ่มนี้อีกด้วย นอกจากนี้ผู้ตรวจสอบข้อมูลของเว็บฯ ยังได้แคปจอโพสต์ของบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ ประเทศกูมี อินฟลูเอนเซอร์การเมืองที่มีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน (326k) ที่แสดงความเห็นไปในทำนองแปลกใจว่ามีคนเชื่อว่าภาพชุดนี้เป็นภาพเหตุการณ์จริงด้วยหรือ
AI CREATIVES THAILAND เป็นกลุ่มห้องสนทนาเปิด ที่ก่อตั้งได้ประมาณหนึ่งปี ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มกว่า 500,000 คน (508k) เทียบเท่ากับเป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับmacro โดยมีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกนำภาพเอไอมาแชร์เพื่อประชันความสร้างสรรค์และสวยงามกัน หรือเปิดโอกาสให้อวดผลงานกันเต็มเผื่อมีลูกค้าสนใจจ้างงาน
ภาพในคลังภาพของกลุ่มมีทั้งภาพพุทธศิลป์ ภาพแฟนตาซีในวรรณคดี การ์ตูนอานิเมะ ภาพผู้หญิงออกแนวเซ็กซี่ และมีภาพล้อเลียนการเมือง เสียดสีสังคม ปะปนอยู่บ้าง ล่าสุดสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งได้นำภาพเอไอที่เป็นภาพแกะสลักหน้าคล้ายประธานาธิบดีปูติน และมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก บนกำแพงปราสาทหินแบบขอมของกัมพูชา มาโพสต์ โดยพูดทีเล่นทีจริงว่า ชาติก่อนทั้งสองคนน่าจะเป็นคนเขมร ซึ่งเป็นการล้อเลียนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงบนโลกออนไลน์ระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชานับตั้งแต่กัมพูชาอ้างว่ามวยไทยมีต้นกำเนิดมาจากศิลปะการต่อสู้ของชาวกัมพูชามาแต่โบราณ
เมื่อปลายปี 2566 กลุ่มคลังภาพเอไอกลุ่มนี้ได้ถูกพูดถึงเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้แจ้งตำรวจไซเบอร์ให้ตรวจสอบกลุ่มนี้เพราะมีพฤติกรรมหมิ่นพุทธศาสนา โดยภาพเอไอที่เป็นปัญหาคือภาพชุดพระซิ่งรถจักรยานยนต์ และ พระเล่นกีตาร์ที่สมาชิกของกลุ่มได้นำมาโพสต์ไว้ กรณีดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างทั้งในสื่อสังคมออนไลน์และในสื่อมวลชน มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงตั้งคำถามในแง่กฎหมายว่าจะเอาผิดได้หรือไม่เนื่องจากเป็นรูปที่สร้างขึ้นโดยเอไอ แต่ส่วนใหญ่จะมองว่าภาพดังกล่าวว่าเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าจะทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย เพราะความเสื่อมของศาสนามีอยู่ก่อนนานแล้ว โดยมีสาเหตุมาจากคนในศาสนาเองซึ่งเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ แต่เข้าทำนองว่าจัดการอะไรไม่ได้
อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้งานในกระทู้พันทิปรายหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยในเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าเขาถูกขับออกจากกลุ่มเพราะวิพากษ์วิจารณ์งานในกลุ่มมากเกินไป โดยโปรยว่า แอดมินกลุ่ม (ซึ่งมีสามคน) ปล่อยปละละเลยทำให้ห้องสนทนาที่สร้างกันมาจนมีสมาชิกว่าสี่แสนคน กลายเป็นห้องสนทนาที่ toxic และหากรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ก็ให้เลิกกลุ่มหรือทำเป็นกลุ่มปิดไปเลย
จากการเข้าไปสำรวจดูห้องสนทนาดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 ไม่พบภาพชุดที่ถูกแจ้งว่าหมิ่นศาสนา ซึ่งอาจถูกลบออกไปแล้ว และจากการสำรวจเงื่อนไขความเป็นสมาชิกกลุ่มพบว่า เป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เช่น ผู้เป็นสมาชิกใหม่จะต้องเป็นบัญชีผู้ใช้งานมาไม่ต่ำกว่าสามเดือน เมื่อเข้ามาแล้วไม่สามารถโพสต์ข้อความหรือคอมเมนต์ได้จนกว่าจะครบสามวัน อย่างไรก็ตาม โพสต์สแปม รูปโป๊ เปลือย อนาจาร คลิปโป๊ คลิปการพนัน หรือที่ถูก รีพอร์ต จะถูกแอดมินลบทันที และภาพหรือข้อความที่เข้าข่ายหรือไม่แน่ใจว่าผิดกฎหมาย ถือเป็นความรับผิดชอบของคนโพสต์และให้พิจารณาลบออกเองได้
นอกจากนี้ ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ห้องสนทนาดังกล่าว มีการโพสต์ภาพกว่า 8,000ภาพ และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 คน
เจตนา…..ใครได้ประโยชน์
แน่นอนว่าการแชร์ภาพชุดนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายทั้งในโลกออนไลน์หรือโลกที่เป็นจริง และเจ้าของภาพอาจไม่ได้มีเจตนาอะไรมากไปกว่าการได้โปรโมตผลงานของตนเองซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
แต่หากเราใช้เลนซ์การเมืองเข้ามาจับเรื่องนี้ ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ อาจเป็นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในด้านหนึ่งการที่มีข่าวดาราดังออลลีวูดและผู้นำระดับโลกมาเที่ยวเมืองไทยย่อมเป็นการส่งเสริมภาพพจน์ของประเทศตามนโยบายการท่องเที่ยวและซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลทซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำอยู่ กำลังเร่งเครื่องดันอย่างเต็มที่ โดยมุ่งโกยแต้มจากสถิติตัวเลขชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่พุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลอาจถูกโจมตีได้เช่นกันว่าปล่อยข่าวลวงสร้างภาพ หรือถูกมองไปในในเชิงทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาอำนาจฝ่ายอำนาจนิยม
สมมติฐานดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินเลยจากความเป็นจริงในสมรภูมิทางการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 คู่ขัดแย้งทางการเมืองและผู้สนับสนุน ต่างฉวยใช้ข่าวลวงทุกรูปแบบเพื่อสร้างภาพให้ฝ่ายตนเองและทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม โดยประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันข่าวลวง อาจตกเป็นเป้าหมายและถูกชักจูงได้ง่าย และในยุคที่เทคโนโลยีเอไอมีการพัฒนาการไปไกลมากจนจับได้ยาก(Deepfake) ยิ่งทำให้คนทั่วไปไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นภาพเหตุการณ์หรือข้อมูลจริง และอันไหนเป็นภาพเอไอ
ข้อสรุปของโคแฟค
1. โคแฟคส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 และหลักการสิทธิเสรีภาพสากล ตามข้อที่ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนปี2491 แต่การแชร์ภาพที่สร้างขึ้นโดยเอไอ เจ้าของภาพต้องระบุให้ชัดว่าเป็นภาพเอไอและสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไร เพื่อให้ผู้ที่นำไปแชร์ต่อได้เข้าใจเจตนาและบริบทของภาพเหล่านั้นเสียก่อน
2. การเฝ้าระวังและการตั้งข้อสังเกตกับการเผยแพร่ภาพเอไอมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้ขอบเขตของการใช้ภาพเอไอและการใช้อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งรู้เท่าทันผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากภาพเหล่านั้นก่อนจะแชร์ต่อไป ในขณะที่สังคมไทย โดยเฉพาะในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งแพลตฟอร์มและวงการสื่อสารมวลชน ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องจริยธรรมหรือขอบเขตที่เหมาะสมของการใช้เอไอเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการสื่อสารบนโลกออนไลน์