จับตา‘เลือกตั้ง2566’ไม่จบแค่วันหย่อนบัตร หวั่นปฏิบัติการข่าวสารกระทบผลโหวต-ก่อความรุนแรง
26 เม.ย. 2566 ที่ รร.เซาท์เทิร์นแอร์พอร์ต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการจัดเสวนา Open Forum หัวข้อ “ทำไมต้องมีการตรวจสอบข้อมูลทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566” พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Cofact โคแฟค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาศักยภาพการเป็นวิทยากรผู้ให้การอบรมเพิ่อเครือข่ายพลเมืองนักตรวจสอบข้อมูลทางการเมือง-สังคมและการเลือกตั้ง” จัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ระหว่างวันที่ 26-28 เม.ย. 2566
ชุติกาญจน์ สุขมงคลไชย เจ้าหน้าที่โครงการ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งล่าสุดนี้ (วันที่ 14 พ.ค. 2566) จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องมือของพรรคการเมืองและนักการเมืองในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย หรือก็คือฐานเสียง โดยการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ (ปี 2562) พรรคอนาคตใหม่ ได้ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง จนมีตัวแทนของพรรคได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภา ด้วยคะแนนนิยมเป็นอันดับ 3
อีกทั้งยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปี 2563 อีกด้านหนึ่งก็ต้องจับตาขั้วอำนาจเดิมที่คะแนนนิยมลดลง ว่าจะใช้กลไกที่เคยวางไว้เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบในการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง เช่น ข้าราชการประจำ กฎหมาย ขณะเดียวกันในพื้นที่ออนไลน์ยังเกิดสภาวะสงครามข่าวสาร ที่พรรคการเมืองหรือฐานเสียงใช้เนื้อหาซึ่งรวมถึงข้อมูลบิดเบือน หรือมีการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO-Information Operation) ปลุกปั่นความรุนแรง จึงไม่เอื้อให้พื้นที่ออนไลน์เป็นการแข่งขันเชิงนโยบายของพรรคการเมือง แต่นอกจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มฐานเสียงที่เป็นผู้สนับสนุนแล้ว ยังมีข้อมูลที่ถูกผลิตโดยภาคธุรกิจเอกชน เช่น บริษัทประชาสัมพันธ์ (PR) บริษัทด้านการตลาดดิจิทัล ที่เข้ามารับงานจากพรรคการเมือง (Outsource) ประเด็นที่น่าคิดคือ ในขณะที่การดำเนินการของพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำกับดูแล แล้วบริษัทเอกชนเหล่านี้มีกรอบกำกับดูแลด้วยหรือไม่
ยังมีความท้าทายอีกประเด็นหนึ่ง คือเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งหลายคนมักมองกันเฉพาะวันลงคะแนน แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือการมองการเลือกตั้งให้เห็นเป็นรูปแบบของกระบวนการ หมายถึงการมองตั้งแต่วันเริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง วันลงคะแนนเสร็จแล้ว และอาจต้องดูจนถึงการจัดตั้งรัฐบาล เพราะรูปแบบของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือการใช้ชุดข้อมูลบิดเบือน จะถูกออกแบบมาให้สอดรับกับแต่ละช่วงจังหวะของกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งการเผยแพร่ข้อมูลผ่านกลุ่มสนทนาในแอปพลิเคชั่นต่างๆ (เช่น Line) ไปจนถึงโพลที่น่าสงสัยเรื่องวิธีการสำรวจ
“เราเข้ามาดูการเลือกตั้งเป็นพิเศษเพราะรู้สึกว่าตั้งแต่การชี้นำ ความพยายามสร้างการชี้นำทั้งหมดตลอดกระบวนการ สุดท้ายแล้วเรากังวลเรื่องความรุนแรงในโลกกายภาพที่อาจจะเกิดขึ้น คนรุ่นใหม่ที่ไปโหวตแล้วเขาไม่ได้พรรคที่เขาเลือกมาเป็นรัฐบาล มันอาจทำให้เขากลับมาสู่ท้องถนนใหม่อีกครั้ง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เขาเลือกพรรคของเขาเข้ามาแล้วเขาก็ไม่ได้เพราะเขาได้คะแนนน้อย เขาก็อาจจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ก็อาจจะเกิดการปะทะกัน” ชุติกาญจน์ กล่าว
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวว่า เมื่อย้อนไปดูการเลือกตั้งในปี 2562 จะพบว่ามีการกำหนดไว้แล้ว เช่น การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือวิธีการนับคะแนน แต่จะกำหนดได้มาก-น้อยเพียงใดก็อยู่ที่ประชาชน เพราะประชาชนก็ไม่ได้อยู่นิ่งแต่หาทางต่อสู้กับระบบที่ไม่เห็นด้วย ผลการเลือกตั้งจึงออกมาแบบไม่เบ็ดเสร็จ อีกทั้ง กกต. ยังถูกประชาชนตั้งคำถามอย่างมากในเวลานั้น เพราะมองว่าระบบการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม
ขณะที่ในการเลือกตั้งปี 2566 อยู่ภายใต้กติกาใหม่คือบัตรเลือกตั้งที่เปลี่ยนจากใบเดียวเป็น 2 ใบ ผลที่เกิดขึ้นคือพรรคการเมืองขนาดเล็กมีแนวโน้มหายไป แต่ในทางรัฐศาสตร์มองว่าบ้านใหญ่จะมีอิทธิพลมากขึ้น ทั้งนี้ ระบบบัตร 2 ใบแม้จะมีความง่ายคือประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบ่งแบ่งเขต แต่ก็มีความยากอยู่ที่หมายเลขของพรรคการเมืองกับผู้สมัครสังกัดพรรคนั้นๆ ในแต่ละเขตไม่เหมือนกัน ทำให้ประชาชนต้องจำทั้งหมายเลขพรรคการเมืองสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหมายเลขผู้สมัครสำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต
ส่วนการที่พรรคการเมืองเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ออนไลนไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม อย่างหนึ่งที่เชื่อมั่นได้คือประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นอิสระจะไม่เอาด้วยกับความไม่จริง ต่อให้มีการรับจ้าง-รับงาน แต่ความไม่จริงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถโกหกกันได้ และเมื่อประชาชนเห็นว่าไม่จริงก็พร้อมจะต่อต้านสิ่งที่ไม่จริงนั้น สิ่งนี้คือข้อดีของพื้นที่ออนไลน์ที่ให้เสียงประชาชนได้ตั้งคำถามและตรวจสอบ
“ผมเกรงว่าหลังจากการเลือกตั้ง ถ้าผลของการเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศ การรวมจัดตั้งรัฐบาลที่มันไม่ตรงไปตรงมาหรือทำให้ประชาชนผิดหวัง และการมี สว. (สมาชิกวุฒิสภา) 250 โหวตไปไม่ตามเสียงประชาชน ผมคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์การชุมนุมและความรุนแรงเกิดขึ้น การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่เห็นความรุนแรงช่วงการเลือกตั้ง แต่หลังการเลือกตั้งความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้น อยากฝากทิ้งไว้ว่าหลังจากการเลือกตั้งเราจะรับมืออย่างไร” รศ.เอกรินทร์ กล่าว
ภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส กล่าวว่า การตรวจสอบการเลือกตั้งในกรอบของกฎหมายจะเป็นการตรวจสอบคนทำหน้าที่ คือเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กกต. และการตรวจสอบพรรคการเมืองหรือผู้เข้าสู่กระบวนการทางการเมือง ซึ่งสิ่งที่คาใจมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า คือการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในการร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง ที่ถอยหลังไปจากเดิมนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยระบบรวมศูนย์มาจากสวนกลาง ในขณะที่คนในพื้นที่มีบทบาทน้อย แม้กระทั่งภาคประชาสังคมที่ร่วมตรวจสอบก็ยังมาจากส่วนกลาง ซึ่งสามารถดูข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมที่ กกต. ประกาศให้เข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งได้จากเว็บไซต์ของ กกต. ในขณะที่การเลือกตั้งก่อนปี 2562 คนในพื้นที่สามารถรวมกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้งได้ ซึ่งล่าสุด บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่เพิ่งเผยแพร่ไป เปิดหัวข้อท้าทายว่า หาก จ.สงขลา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการให้ใบแดงผู้สมัคร ก็ไม่น่าจะมี กกต. อีกต่อไป ซึ่งก็น่าจะได้ยินกันบ้างแล้ว อาทิ การเก็บบัตรยกหมู่บ้าน การจ่ายเงินรายหัว
“ตรงนี้เรามีคนพร้อมร่วมทำงาน ทุกจังหวัดมีแบบนี้หมด ถ้าเราช่วยกันจัดการตรงนี้จะมีอานิสงส์ต่อประเทศชาติของเราอย่างมาก อีกประการคือเรื่องโพลไม่มีผลต่อการเลือกตั้งเท่าการพนัน วันนี้เริ่มมีการพนันแล้วว่าเขตไหนใครจะได้ อันนี้มีผลต่อคนโหวตมากกว่าโพล และโดยข้อกฎหมาย ก่อน 7 วันเราเปิดเผยโพลไม่ได้ เอ็กซิทโพลก็เปิดเผยไม่ได้ ต้องเปิดเผยหลังปิดหีบไปแล้ว โพลไม่มีผลต่อการหย่อนบัตรเท่ากับการพนัน” ภูวสิษฏ์ กล่าว
ธนิสรา เรืองเดช Punch Up (Data Storytelling Studio) กล่าวว่า จากการรวมกลุ่มทำเว็บไซต์ ELECT เพื่อจับตาการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งได้รับความสนใจเข้ามาใช้งานเป็นวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ ตามมาด้วยการติดตามทั้งการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การโหวตผ่าน-ไม่ผ่านกฎหมายต่างๆ การทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ตลอด 4 ปีของอายุสภาและรัฐบาลชุดล่าสุด เพราะประชาธิปไตยไม่ได้จบเพียงวันเลือกตั้ง ซึ่งก็ทำให้ร่วมทำงานกับ กกต. มากขึ้น มีการพูดคุยกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบปัญหา เช่น ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะถึงวันเลือกตั้งแล้วแต่ยังพบปัญหาการสื่อสารความเข้าใจ อาทิ เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรสีไหนเลือก ส.ส. ประเภทใด หรือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังสงสัยว่าตนเองอยู่ในเขตเลือกตั้งใดซึ่งบางครั้งก็ห่างกันเพียงคนละฝั่งของถนน โดยการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งทำงานในชื่อกลุ่ม WeVis (We Visualize Data for Democracy) จะทำงานใน 2 ส่วน
1.ทบทวนผลงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐสภา เนื่องจากหลายเขตเลือกตั้งมี ส.ส. คนเดิมลงสมัครไม่ว่าจะสังกัดพรรคเดิมหรือไม่ก็ตาม อยากให้ประชาชนในฐานะผู้จ่ายเงินภาษีได้รู้ว่าตลอด 4 ปีในสภาได้เข้าไปทำอะไรบ้าง กับ
2.ให้ความรู้กับประชาชนว่าจะต้องทำอะไรบ้างในวันเลือกตั้ง ทั้งกติกาการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้ง ข้อมูลผู้สมัคร พรรคการเมืองและนโยบาย เป็นการเตรียมข้อมูลให้ค้นหาได้ง่าย
“ล่าสุดมีคนพูดว่าเวทีดีเบตเยอะมาก แต่อยากเห็นที่หนึ่งที่รวมทุกนโยบายของทุกพรรคไว้ให้หน่อยแล้วให้ค้นหาได้ง่าย เราก็เลยคิดว่าจะรอให้สื่อหรือ กกต. ทำ ไม่ทำไม่เป็นไรเดี๋ยวเราทำเอง ก็เพิ่งทำเสร็จ ใช้ชื่อว่า Policy Shop คิดภาพเราเดินเข้าไปร้านสะดวกซื้อแล้วเราสามารถช็อปปิ้งนโยบายที่เราสนใจได้ เช่น อยากดูเรื่องสุขภาพ หรืออยากดูเรื่องระบบป้องกันภัย เวลาไฟไหม้มีเตือนภัย ค้นคำไหนมันก็จะรวมนโยบายของทุกพรรคที่มีแล้วก็เอามาไว้ที่เดียวกัน” ธนิสรา กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-