สื่อยุคใหม่หลังโควิด “ความถูกต้องสำคัญกว่าความเร็ว”

บทความ

ครบรอบ 23 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติยืนหยัดทำหน้าที่ท่ามกลางความท้าทายใหม่ “หมอประเวศ”​ แนะกระบวนทัศน์ใหม่ในการสื่อสาร สื่อ​ต้องมีความรู้ในเรื่องที่ซับซ้อน ​เสนอมีเครื่องมือเชิงสถาบันสนับสนุนการทำงาน ขณะที่เวทีเสวนา ย้ำ บทบาทสื่อยุควิกฤตโรคระบาดไม่ใช่แค่นำเสนอข้อเท็จจริงแต่ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนด้วย เชื่อการทำงานสื่อยุคใหม่ต้องทำงานเป็นทีม ความถูกต้องต้องสำคัญกว่าความเร็ว

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ​สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 23 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า ที่ผ่านมาสภาการฯ ได้กำกับดูแลการทำหน้าที่หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ของสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับที่ร่วมกันร่างขึ้น โดยในโอกาสครบรอบ 23 ปี เป็นอีกปีที่มีความท้าทายเรื่องภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีโรคระบาดทั่วโลก ทำให้การทำหน้าที่สื่อเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ความยากลำบากของสื่อที่จะรักษามาตรฐาน และยึดมั่นจริยธรรมได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นหน้าที่สภาการฯ ว่าจะดูแลสมาชิกจะทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องรอบด้านอยู่ในกรอบจริยธรรม

จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “บทบาทและจริยธรรมสื่อในภาวะโรคระบาด” โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นผู้แสดงปาฐกถาพิเศษ โดยระบุว่า การระบาดของ โควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพราะเรื่องสุขภาพคือทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องโรงพยาบาล สังคมไทยหลัง โควิด-19 ต้องมีการปรับตัวเพราะสังคมไทยยังติดอยู่กับวัฒนธรรมอำนาจ ซึ่งมีองค์ประอบ สามอย่าง คือ 1.คิดเชิงอำนาจ 2.สัมพันธภาพเชิงอำนาจ และ 3.โครงสร้างอำนาจ ทำให้ประเทศไทยติดอยู่ตรงนี้บินไม่ขึ้น แม้แต่เรื่องประชาธิปไตย 88 ปี มาแล้วประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลานเพราะมีวัฒนธรรมอำนาจ ดังนั้นหลังโควิด-19 เราต้องปรับตัว​

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นคลื่นที่น่ากลัวและยากที่สุด คลื่นลูกแรกคือสงครามเก้าทัพ 2.มหาอำนาจตะวันตกเข้ามาล่าเมืองขึ้น 3.ความขัดแย้ง คอมมิวนิสต์​ ​และ 4.วิกฤตแห่งการซับซ้อนเป็นคลื่นที่ยากที่สุดคือเราไม่รู้ว่าศัตรูเป็นใครอยู่ไหน มีความซับซ้อน สิ่งที่เกิดขึ้นแห่งหนึ่งไปส่งผลกระทบถึงอีกที่หนึ่ง​ด้วยความซับซ้อน

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ในระบบที่มีความซับซ้อน การใช้เงิน ​อำนาจ วาทกรรม บริภาษกรรม หรือใช้ความรู้สำเร็จรูป ล้วนแต่ไม่ได้ผล สิ่งที่จะทำให้ได้ผลคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ​ โดยจะเห็นว่าระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำเป็นปัญหาที่คนไม่ค่อยพูดถึง เพราะการท่องจำไม่ได้ทำให้เรียนรู้ความจริงของประเทศ ดังนั้น 100 กว่าปี จึงนำไปสู่การผลิตคนที่ไม่มีความรู้ความจริงประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่สำคัญในช่วงต่อจากนี้ กระบวนการทัศน์ใหม่ในการสื่อสาร สื่อจำเป็นต้องรู้เข้าไปในเรื่องที่ซับซ้อนต้องเข้าไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่าง ๆ นำเรื่องที่ซับซ้อนมาคลี่ให้สาธารณะเข้าใจ

นอกจากนี้ สื่อมวลชนเป็นสถาบันของสังคมชนิดหนึ่งที่ต้องการอิสระ โดยหลักจริยธรรมเดิมในบริบทใหม่สื่อต้องมีสัมมาวาจา ​​พูดเป็นความจริง มีที่มา มีที่อ้างอิง ใช้ ปิยะวาจา พูดถูกกาลเทศะ พูดแล้วเกิดประโยชน์ รวมทั้งต้องการเครื่องมือเชิงสถาบันเสริมสร้างสมรรถนะและสถานภาพของสื่อมวลชน โดย 1 มีพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยสื่อมวลชน ส่งเสริมความสามารถสื่อมวลชน สนับสนุนการทำข่าวสืบสวนสอบสวน 2. ให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พิจารณาสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน 3. ภาคธุรกิจสนับสนุนการจัดตั้ง “มูลนิธิเพื่อสื่อมวลชน” หรือ “สถาบันส่งเสริมสื่อมวลชน” 4. กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาให้การสนับสนุน

ส่วนเวทีเสวนา เรื่อง​ “บทบาทและจริยธรรมสื่อในภาวะวิกฤตโรคระบาด” นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรับมือโรคติตต่ออันตรายทุกคนต้องลงเรือลำเดียวกัน ถ้าเราอยากให้ตัวเราปลอดภัยต้องทำให้สังคมปลอดภัยก่อนเราก็จะปลอดภัยไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิดแบบเดียวกันรวมถึงสื่อมวลชนด้วย สิ่งแรกที่มักเกิดขึ้นเวลามีโรคใหม่คือการสร้างภาพความน่ากลัว มีการหยิบคำว่า ตาย มฤตยู ถามว่าเหมาะสมไหมเราก็ไม่ควรเขียนภาพให้ศัตรูน่ากลัวเกินไปจนทำตัวไม่มีเหตุผล เช่น การสร้างความรังเกียจผู้ป่วยแบบไม่มีเหตุผล

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ในภาวะฉุกเฉินการสื่อสารความเสี่ยงต้องสื่อว่าคือความเสี่ยงคืออะไร เป็นผลมาจากการประเมินความเสี่ยง ว่าความเสี่ยงเกิดกับใครที่ไหน อีกด้านเรื่องความ​เสี่ยงสูง หรือ ความเสี่ยงต่ำ ไม่สำคัญเท่ากับการจัดการความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนสื่อกระแสหลักมีความสำคัญ แต่ปัจจุบันมีสื่อใหม่เกิดขึ้นมาก ผู้ส่งสารเป็นใครก็ได้ รอบนี้จะเห็นว่ามีคนที่เป็นใครไม่รู้ออกมาพูดก็เป็นข่าวได้ถ้าตรงกับประเด็นที่สังคมอยากจะฟัง ในช่วงเหตุการณ์ถ้ำหลวงกับเหตุการณ์นี้คล้ายกันคือระบบบัญชาการเหตุการณ์ถูกนำมาใช้ให้ข่าวเป็นพลังที่มีความสำคัญ

ทั้งนี้ การให้ข้อมูลต้องยึดหลัก Be First ข่าวร้ายภาครัฐต้องบอกคนแรก เช่นมีคนไข้คนแรกต้องเป็นภาครัฐบอกก่อนไม่ใช่เกิดข่าวลือก่อนแล้วมาบอกทีหลัง บางกรณีที่ออกมาให้ข่าวช้าเกินไป Be Right ถูกต้องชัดเจน บอกประเด็นสำคัญก่อนประเด็นสำคัญรองลงไปทีหลัง Be Credible ต้องพูดความจริงด้วยความซื่อสัตย์ ไม่จงใจบิดเบือนข้อมูล ซี่งการรวมศูนย์ข้อมูลที่เดียวถือเป็นเรื่องที่ดี ​อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าไทยจะไม่มีโอกาสกลับมามีผู้ป่วยอีกและแม้จะเจอคนไข้ติดเชื้ออีกไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เราต้องพร้อมรับมือเป็นฟืนเปียกไม่ติดไฟง่ายคือคงระดับการป้องกันไว้ ​รวมทั้งสร้างสมดุลการแก้ปัญหา ไม่ใช่ทำบางเรื่องสุดโต่งเกินไป ต้องดูผลประโยชน์ระยะสั้นและระยะยาวของประชาชน

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อเสนอของยูเนสโกที่เผยแพร่การนำเสนอของมูลช่วง​โควิด -19 ระบุว่าควรยึดหลักวารสารศาสตร์แห่งความจริงปราศจากความลำเอียง และความกลัว อย่างไรก็ตาม บทบาทการของสื่อทำได้ดีระดับหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา แม้ก่อนมี ศบค. มีความสับสนอยู่บ้าง แต่หลังมีการรวมศูนย์ข้อมูลทำให้ทิศทางออกมาไปทางเดียวกันแต่อาจถูกวิจารณ์เรื่องจริยธรรมมากว่าความจริง มีการตีตรา สร้างความเกลียดชัง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามว่าสื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเพียงพอหรือยัง ซึ่งจะเห็นสื่อหลักพยายามอยู่บฐานข้อเท็จจริง แต่ข่าวลวงออกส่วนมากมาจากสื่อออนไลน์ ดังจะเห็นว่า เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ก็จับมือการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญการเสนอข่าวคือข้อเท็จจริง แต่การจะสรุปว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริงก็ยังต้องตรวจสอบ ​ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายของสื่อเองที่ต้องคัดสรร ซึ่งเสนอว่าสื่อควรมีฝ่ายเช็คข้อเท็จจริงมากขึ้นซึ่งแม้จะทำอยู่แล้วแต่ทุกองค์กรควรมีผู้เชี่ยวชาญ เข้าใจเทคโนโลยี อีกทั้งหน้าที่สื่อ ไม่ใช่แค่เสนอข้อเท็จจริง แต่สื่อมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถามแทนเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน ​ด้วย

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องเฟคนิวส์ ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด เป็นเรื่องที่คุมได้ยากเพราะอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่จากที่ผ่านมาทางคณะนิเทศฯ ได้จับมือกับเวอร์คพ้อยต์ ทำข้อมูลดาต้า เจอนอลิซึม ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความถูกต้องของข้อมูล เพราะหากมีคนมาท้วงว่าสิ่งที่ทำมาผิดย่อมกระทบความน่าเชื่อถือ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในยุคนี้ไม่ใช่ต้องเร็วแต่ต้องถูกต้อง

นอกจากนี้ การทำงานของนักข่าวในยุคปัจจุบันต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมทั้ง ดีเวลลอปเปอร์ ​กราฟฟิกดีไซเนอร์ ​แต่คนที่จะเช็คข้อเท็จจริง เลือกประเด็น เขียนพาดหัว ก็ยังต้องเป็นนักข่าว ทั้งนี้ สิ่งที่สื่อกำลังจะต้องทำต่อไปคือ การนำเสนอข่าวเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ได้รับผลกระทบจากช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอะไรที่จะล้มบ้าง อย่างที่เห็นสื่อต่างประเทศเริ่มหันมาเสนอข้อมูลนอกเหนือจากประเด็นเรื่องตัวเลขผู้บาดติดเชื้อเสียชีวิต ในแต่ละวัน

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตแม้ทุกคนจะสื่อข่าวได้ง่ายขึ้น แต่การทำงานของสื่อมืออาชีพกับข้อมูลข่าวสารที่มีความซับซ้อน จะไม่ใช่เรื่องที่นักข่าวจะทำคนเดียว​แต่ต้องทำงานเป็นทีม ทั้ง นักวิชาการ โปรแกรมเมอร์ อย่างไรก็ตาม ทิศทางในอนาคตต้องหานิยามของความเป็นสื่อกับสื่อมือาชีพ เพื่อให้สื่อมืออาชีพยังเข้าถึงสิทธิเช่นสิทธิเข้าถึงข้อมูล ​

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาองค์กรสื่อได้รวมตัวเข้าไปช่วยทำให้สถานการณ์ดีขั้น ทั้งช่วงแรกที่ข้อมูลต้นทางจากภาครัฐยังสับสน และยังมีความเป็นการเมืองจึงได้เสนอข้อเสนอให้นักการเมืองถอยออกไปในการให้ข่าว เป็นการให้ข่าวบนพื้นฐานทางการแพทย์ และเป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นพ้องกันและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อีกด้านที่ผ่านมาสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดสถานการณ์ตามความจริงเท่านั้นแต่ยังส่งต่อกำลังใจใช้พลังบวก เอาชนะพลังลบความตื่นตัวความหวาดระแวง ​ทั้งหมดจะเป็นภูมิคุ้มกันหากเกิดการระบาดระลอกสองก็ไม่เป็นไร

….

ขอบคุณที่มา http://www.presscouncil.or.th/archives/5432