‘ข่าวลวง’ใครก็อาจเผลอแชร์ได้ แนะวิธีเตือนอย่างไรไม่ทำให้อาย ‘เมตตา’ดีแล้วแต่ต้องรู้เท่าทัน..ลดเสี่ยง‘มิจฉาชีพ’
รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)วันที่ 1 ต.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ ซาเวียร์, O.S.U ผู้อำนวยการศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมระดับชาติ ในหัวข้อ “สูงวัยยุคเอไอ รับมือข้อมูลข่าวสารอย่างไรให้ปลอดภัยและส่งเสริมสันติ” ณ ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมระดับชาติ อ.สามพราน จ.นครปฐม เนื่องในโอกาส “วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons)” 1 ตุลาคม ของทุกปี
การพูดคุยเริ่มด้วยเรื่องของ “การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างวัย” ซึ่ง ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ กล่าวว่า ในแวดวงของนักบวชก็จะมีคนหลายช่วงวัย ตั้งแต่อายุน้อย อายุกลาง ไปจนถึงสูงอายุ โดยตามธรรมเนียมไทย เราจะคิดถึงกันและกันเสมือนคนในครอบครัว ช่วยเหลือดูแลกัน บางคนอาจไม่เก่งหรือทำไม่ค่อยเป็นในเรื่องเทคโนโลยี รุ่นน้องก็จะช่วยเพื่อให้เท่าทันต่อเหตุการณ์
“ถึงแม้จะเป็นนักบวชก็ไม่ใช่ว่าเราต้องไม่ติดตามข่าวสาร ไม่รู้จักเลยว่าอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ทำอะไรกัน หรือระเบิดเพจเจอร์อะไรอย่างนี้ เราก็ต้องมีความรู้ที่จะเข้าใจสถานการณ์โลกว่าไปถึงไหน ก็ต้องติดตามข่าวสาร แล้วก็ในแวดวงของคนที่อายุน้อยก็จะช่วยเหลือพี่ๆ ที่อาจจะช้านิดหน่อย แต่ต้องช่วยเขา แต่พี่ๆ บางคนก็เก่งกว่าอีกนะ ซิสเตอร์ที่เป็นฝรั่ง ยังคล่องแคล่วที่จะใช้อุปกรณ์อะไรได้เก่ง แต่เดี๋ยวนี้คนไทยก็ใช้ได้”
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่พบคือ “ผู้สูงอายุมีแนวโน้มถูกหลอกง่ายและหลงเชื่อง่าย” ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมถึงระมัดระวังก่อนจะแชร์อะไรออกไปในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งก็มีความท้าทายอยู่ว่า “จะเตือนอย่างไรที่จะไม่ทำให้คนที่แชร์อะไรแปลกๆ รู้สึกอาย” โดยซิสเตอร์ได้ยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนเก่งมาก หลังเรียนจบก็ไปเป็นครูอยู่ต่างจังหวัด เพื่อนคนนี้ปกติจะระมัดระวังเรื่องการแชร์ข่าวมาก
กระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนคนดังกล่าวได้แชร์ข่าวเข้ามาในกลุ่มไลน์ บอกว่ามีพายุใหญ่ถล่มกรุงปารีสของฝรั่งเศสช่วงก่อนเริ่มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีภาพหอไอเฟลสั่นไหว บ้านเรือนถูกลมพัดปลิว ซึ่งตนก็คิดอยู่ในใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ จึงลองตรวจสอบดูว่ามีสำนักข่าวใดบ้างในเวลานั้นที่ลงข่าวพายุถล่มฝรั่งเศส ก็ไม่พบว่ามีแต่อย่างใด มีแต่เพียงข่าวฝนตกเล็กน้อย โดยตอนแรกก็ว่าจะพิมพ์ไปบอกเพื่อนในกลุ่มหลัก แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้เพื่อนอาย จึงเลือกที่จะทักไปบอกในไลน์ส่วนตัวว่าข่าวที่แชร์มาอาจไม่ใช่เรื่องจริง
เพราะเท่าที่ลองค้นหาดู ไม่มีสื่อมวลชนใหญ่ๆ สำนักใดเลยที่นำเสนอข่าวนี้ ทั้งที่ปารีสเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงแถมยังอยู่ในช่วงที่เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกอีก หากเกิดเหตุการณ์อะไรแรงๆ สื่อต้องนำเสนอข่าวอย่างแน่นอน และเพื่อนของซิสเตอร์ ก็ยอมรับว่าแชร์เรื่องนี้ต่อมาอีกทอดหนึ่งและลบข่าวนั้นที่แชร์ในกลุ่มไลน์หลักออก ซึ่งแม้ข่าวลวงในเรื่องนี้ไม่เกิดผลร้าย แต่ในบางเรื่องก็เป็นอันตรายได้ เช่น มีคนโทรศัพท์มาหลอกว่ามีพัสดุติดค้างบ้าง อ้างว่าญาติไม่สบายให้โอนเงินไปช่วยบ้าง ก็อย่าเพิ่งไปทำตามทันที เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เช่น ควรโทรศัพท์ไปสอบถามบุคคลที่ถูกอ้างถึงว่าขณะนี้อยู่สุขสบายดีหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีนักบวชท่านหนึ่ง ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นญาติบอกว่ามีสมาชิกในครอบครัวป่วยและหลงเชื่อโอนเงินไปให้ กระทั่งมารู้ในภายหลังว่าถูกหลอกเพราะเมื่อติดต่อกลับไปทางบ้านแล้วได้ทราบว่าทุกคนสบายดีไม่มีใครเป็นอะไร หรือบางครั้งเหตุก็เกิดจากความเมตตา อาทิ มิจฉาชีพเปิดรับบริจาคโดยหลอกลวงว่าจะนำไปใช้จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนแบบนี้คือข่าวลวงที่ก่อให้เกิดผลร้าย แต่ถึงจะเป็นข่าวลวงที่ไม่ก่อให้เกิดผลร้ายก็ไม่ควรแชร์
“ในพระคัมภีร์ พระเจ้าก็บอกว่าเราเป็นหนทาง เป็นความจริง เป็นชีวิต ฉะนั้นสิ่งใดที่มันเป็นเรื่องหลอกลวง ปลอม เท็จ เราก็ไม่ควรที่จะแพร่ขยายให้ออกไปมากๆ มันอาจจะเกิดผลร้ายหรือผลดีแต่ก็ไม่ควรจะแพร่ขยายข่าวลวง มันก็มีวิธีง่ายๆ ที่ศึกษามาจากที่เขาจะแนะนำเรา บทความที่แชร์มามีความน่าเชื่อถือไหม? มีสำนักข่าวรองรับหรือเปล่า? เขียนโดยหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นฉบับนี้ หรือสำนักข่าวระดับชาติ CNN AP รอยเตอร์ AFP หรือมีอะไรที่รองรับ เราถึงจะพอเชื่อได้ว่าเป็นความจริง หรือแม้แต่เดี๋ยวนี้ข่าวลวงพวกนี้ก็พยายามหารองรับนะ เหมือนไปหาเครดิตมาว่าอาจารย์ท่านนี้ท่านโน้น ลงข่าวแบบนี้ ซึ่งมันดูน่าเชื่อถือมากเลย แต่จริงๆ มันเป็นข่าวปลอม”
ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ ยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเวลานั้นมีการแชร์ข่าวที่อ้างถึงนักวิชาการในต่างประเทศบางท่านออกมาบอกว่าฉีดแล้วจะเป็นอันตรายต่างๆ นานา ก็สอบถามไปยังผู้รู้ จึงได้ทราบว่าจะมีกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนที่คอยยุยงผู้คนให้เห็นว่าวัคซีนเป็นของอันตราย หรือแม้เราจะไม่ใช่คนในแวดวงการแพทย์ ก็สามารถคิดได้ว่าหากวัคซีนไม่ดีเหตุใดรัฐบาลทั่วโลกจึงอนุญาตให้ใช้ได้เพื่อควบคุมโรคระบาด ดังนั้นก็จะต้องตั้งหลักกันว่าเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารอะไรมาก็จะต้องตรวจสอบและหาความรู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
อนึ่ง การหลงเชื่อข่าวลวงแล้วแชร์ต่อ หรือตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ มักมาจากอารมณ์ความรู้สึกในใจ เช่น ความอยากได้อยากมี ความกลัว แม้จะมีความพยายามในการสื่อสารแจ้งเตือนให้ระมัดระวังแต่ก็ยังพลาดกันได้ โดย ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ ยกตัวอย่าง “การหลอกลวงประเภทโฆษณาชวนเชื่อเรื่องทำงานหรือลงทุนเพียงเล็กน้อยแต่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินก้อนโต” ซึ่งอยากให้คิดไว้เป็นพื้นฐานก่อนว่า “ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หรือง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องออกแรง” ดังนั้นต้องตั้งหลักให้ดี
อย่างตนที่เคยทำงานพัฒนาสังคมด้านการส่งเสริมบทบาทสตรี ซึ่งก็จะต้องทำโครงการต่างๆ ทำให้บางครั้งจะมีคนทักมาแนะนำให้ลองติดต่อกับคนนั้นคนนี้โดยระบุว่าบุคคลดังกล่าวพร้อมให้ทุนสนับสนุน และผู้แนะนำก็อ้างว่าเพิ่งได้รับทุนมาเหมือนกันพร้อมกับบอกด้วยว่าซิสเตอร์ศรีพิมพ์อยู่ในรายชื่อด้วย ซึ่งตนก็งงเพราะไม่เคยติดต่อกับแหล่งทุนที่ถูกอ้างถึงนั้นเลย แม้จะอยากได้เงินมาใช้ในโครงการ แต่เมื่อลองคิดให้ดีแล้วเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นความจริง
“บางทีคนที่เข้ามาเป็นซิสเตอร์จากออสเตรเลีย ที่เราไม่ติดต่อกันมาตั้งหลายปี บางทีคนพวกนี้ก็ไปแฮ็กแล้วก็ให้เรามาเป็นเพื่อนใหม่ จะเจอสิ่งแปลกๆ เหล่านี้ จนเดี๋ยวนี้เวลามีซิสเตอร์ที่มาขอเป็นเพื่อนอีกครั้ง เรารู้สึกว่าเราก็เคยเป็นเพื่อนไปแล้วทำไมมาขอเป็นเพื่อนอีก ก็คิดว่าน่าจะเป็นอะไรแปลกๆ ก็เลยคิดว่าก็ต้องตั้งหลัก ต้องมีสติ คิดว่าต้องตั้งหลักดีๆ ใครจะมาให้สตางค์เราเปล่าๆ ถ้าเขาไม่มีผลประโยชน์อะไร เราไม่ได้เคยไปเกื้อกูลอะไรเขา จะมาให้เราเปล่าๆ หรือ? หรือถ้าเขาเห็นผลงานเราเขาก็ต้องติดต่อมาอย่างปกติ ไม่ใช่มาอยู่ในออนไลน์อะไรที่แปลกๆ คือถ้าเห็นอะไรแปลกๆ ก็เอ๊ะก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปเลย ยอมไปเป็นเหยื่อของเขา”
ทั้งนี้ การถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพเกิดได้กับคนทุกวัยและทุกระดับสติปัญญา หรือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างมีกรณีนักบวชชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ถูกมิจฉาชีพอ้างว่าตกเครื่องบินอยู่ที่กรุงลอนดอนของอังกฤษแถมยังถูกล้วงกระเป๋า ขอให้โอนเงินไปช่วย ท่านก็โอนไปโดยไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดจึงไม่รู้ว่าปลอม อีกทั้ง “มิจฉาชีพรู้ว่าจะหลอกได้จากความรู้สึกเมตตาสงสาร” โดยคนทุกศาสนาหรือคนไทย มักถูกมองว่าเป็นคนมีเมตตา มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้นการมีเมตตามีได้ แต่ก็ต้องมีหลักว่าต้องรู้เท่าทัน
แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากชั่งใจว่าตรวจสอบไม่ได้จริงๆ แต่เงินจำนวนนั้นอาจไม่มากนัก ไม่ถึงกับเดือดร้อน หรือไปพบเห็นซึ่งหน้า มีคนบอกว่าตกรถหรือเจ็บป่วยเข้ามาขอความช่วยเหลือ เป็นเรื่องก้ำกึ่งที่เราไม่ทราบว่าคนคนนั้นจะหลอกหรือไม่ หากคิดว่าช่วยได้ก็ถือว่าเป็นการทำบุญ จะหลอกหรือไม่ก็ถือว่าเราได้บุญแล้วที่ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน บางเรื่องก็อาจไม่ต้องคิดมาก อะไรช่วยได้ก็ช่วยไปเพื่อมนุษยธรรม
หรือในบางกรณี “การแจ้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอาจเป็นการช่วยเหลือที่ดีกว่า” เช่น มีกรณีขบวนการค้ามนุษย์นำเด็กมานั่งขอทานอยู่ริมถนน เป็นความลำบากใจที่มุมหนึ่งหากให้เงินก็เท่ากับส่งเสริมขบวนการเหล่านี้ แต่หากไม่ให้เงินเด็กก็จะถูกทำร้ายร่างกายเพราะหาเงินไม่ได้ตามเป้า ทางออกคือเมื่อพบเห็นเด็กขอทานควรแจ้งหน่วยงาน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันการค้ามนุษย์ เพื่อให้นำตัวเด็กไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัย
ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ ยังยกตัวอย่าง “การหลอกให้รัก (หรือเชื่อใจ) ทางออนไลน์ ก่อนล่อลวงไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ” เช่น ผู้กระทำผิดใช้ภาพบุคคลอื่นสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วทักไปพุดคุย เมื่อเหยื่อเกิดความไว้วางใจก็จะบอกให้ออกมาเจอกัน อย่างมีกรณีนักเรียนหญิงมีคนทักมาทางเฟซบุ๊ก นัดไปเจอกันที่นั่นที่นี่ แต่เด็กสาวยังมีสติ ชวนเพื่อนไปด้วยกัน ก่อนจะพบว่าอีกฝ่ายที่มาหน้าตาไม่เหมือนกับรูปที่ใช้ในเฟซบุ๊ก จึงกลายเป็นประสบการณ์ว่าในโลกออนไลน์ก็มีแบบนี้ คือคุยกันอยู่นานก่อนที่จะรู้ว่าหลอกลวง
“แต่ก็มีบางกรณีที่เป็นจริงอยู่เหมือนกัน มีบางคนที่ค่อยๆ มารู้จักกัน แต่ต้องมีการคุยให้พบปะจริงจังแล้วก็มีผู้ที่รู้เห็น หมายความว่าเราไม่ถูกล่อลวงไปโดดเดี่ยวไม่สามารถมีใครช่วยเราได้ คิดว่าต้องมีความระมัดระวังในโลกสื่อออนไลน์ปัจจุบันนี้”
หมายเหตุ : ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1243241216723843/
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-