เข้าใจ‘การทำงานของสมอง’ รู้ทัน‘อคติทางความคิด’ ปรับวิธี‘ฟัง-พูด’ลดอุณหภูมิความรุนแรงด้วยสื่อสารสร้างสันติ

กิจกรรม

1 ก.ย. 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับเพจเฟซบุ๊ก “Understand : ห้องนั่งเล่นของหัวใจ”และ Clazy Cafe’ จัดกิจกรรมอบรม Workshop “ไขปริศนาสมอง: รู้ทันกลไกความคิด พิชิตการสื่อสาร”ณ ห้อง Connext A ชั้น 3 อาคาร The Season Mallสนามเป้า กรุงเทพฯ ชวนทำความเข้าใจการทำงานของสมอง ซึ่งมีผลต่อคำพูดและการกระทำที่แสดงออกของตัวเราว่าจะนำไปสู่การสื่อสารที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงหรือช่วยสร้างสันติ โดยคณะวิทยากรจากเพจ “Understand : ห้องนั่งเล่นของหัวใจ” ซึ่งมีทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา และนักกิจกรรมที่สนใจประเด็นด้านสุขภาพจิต

บทเรียนแรก คือ การทำงานของระบบประสาท1.การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส (Sensory) 2.การประมวลผลของสมอง (Process หรือ Integrate) และ 3.การแสดงออกหรือพฤติกรรม (Behavior) ซึ่งก็คล้ายกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ ที่มีการป้อนข้อมูล (Input) ประมวลผล (Process) และออกมาเป็นผลลัพธ์ (Output)

แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ คือ มีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้การตีความ (Perception) ของสมองต่อสิ่งที่ประสาทสัมผัสได้รับรู้มาผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง โดยสมองมีการทำงานที่เรียกว่า การประมวลผลจากบนลงล่าง (Top-Down Process)” หมายถึง สมองมีชุดข้อมูลบางอย่างเตรียมไว้แล้วว่าจะตีความสิ่งที่ได้รับรู้นั้นอย่างไร ซึ่งช่วยให้การทำงานของสมองรวดเร็วขึ้นและใช้พลังงานน้อยลง โดยชุดข้อมูลที่สมองเตรียมไว้ล่วงหน้านั้นก็มาจาก ประสบการณ์ ที่แต่ละคนที่พบเจอมาในชีวิต หรือ ความเชื่อ-คุณค่า ที่คนนั้นยึดถือ

และเมื่อดูโครงสร้างการทำงานของสมองมนุษย์พบว่าส่วนใหญ่อยู่กับ ระบบอัตโนมัติ คือ สมองของสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilian Brain) เกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณ กับสมองส่วนลิมบิก (Limbic Brain) เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้มนุษย์ตัดสินใจได้รวดเร็วในสถานการณ์ที่ต้องเอาชีวิตรอด ในขณะที่สมองอีก 1 ส่วนที่เหลือ คือ สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex Brain) เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ ซึ่งสมองสวนนี้ก็ยังทำงานผิดพลาดได้ 

ดังนั้น มนุษย์ก็ต้องรู้เท่าทันว่าตนเองกำลังรับรู้และกำลังคิดอะไร (Metacognition)” หมายถึงการตั้งสติ ถอยกลับมามองการทำงานของสมองว่าเหตุใดเราจึงคิดหรือเชื่อเช่นนั้น ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือ อคติเชิงความคิด (Cognitive Bias)” ที่มีเป็นจำนวนมาก โดยในกิจกรรมนี้ยกตัวอย่างมาเพียงบางรูปแบบที่พบได้บ่อยๆ คือ 1.มองอะไรแบบสุดโต่งไม่มีตรงกลาง (Black & White หรือ  All or Nothing Thinking) เช่น คำพูดว่า หากไม่ทำให้ดีที่สุดก็อย่าทำเสียเลยดีกว่า หรือหากสอบเข้าคณะนี้ไม่ได้ชีวิตก็หมดความหมาย เป็นต้น

2.เหมารวม (Over Generalization) เช่น อกหักจากคนคนหนึ่งแล้วก็บอกว่าชาตินี้คงไม่มีใครมารักมาชอบตนเองอีกแล้ว หรือเห็นคนไทยคนหนึ่งแซงคิวก็สรุปเอาว่าคนไทยเป็นชนชาติที่ไร้ระเบียบวินัย3.เลือกมองเพียงบางสิ่งจนละเลยภาพรวม (Mental Filter) เช่น แม้ผลการเรียนในภาพรวมจะอยู่ในเกณฑ์ดีมากแต่จิตใจก็เอาแต่คิดวนเวียนอยู่กับ 1-2 วิชาที่ไม่ได้เกรด A จนรู้สึกเครียดหรือซึมเศร้า หรือไปพูดต่อหน้าคนหมู่มาก แม้ผู้ฟังส่วนใหญ่จะตั้งใจฟังแต่ใจก็ไปจดจ่ออยู่กับคนเพียง 1-2 คนที่นั่งหลับ แล้วก็คิดว่าตนเองนำเสนอได้ไม่ดี

4.บิดเนื้อหาจากเชิงบวกหรือกลางๆ เป็นเชิงลบ (Disqualify Positive) เช่น วันหนึ่งจำเป็นต้องลางาน มีเพื่อนร่วมงานโทรศัพท์มาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็คิดไปว่าคงแค่ถามไปตามหน้าที่ ไม่มีใครห่วงใยตัวเราจริงๆ 5.ขยายความเรื่องราวให้ใหญ่เกินจริง (Magnification) หรือตื่นตระหนกวิตกกังวลมากเกินไป เช่น มีผื่นขึ้นที่แขนได้เพียง 3 วัน ก็คิดไปก่อนแล้วว่าต้องเป็นโรคมะเร็งผิวหนังแน่ๆ

6.มองเรื่องราวเล็กกว่าความเป็นจริง (Minimization) ซึ่งตรงกันข้ามกับ Magnificationโดยการคิดแบบ Minimization นี้มักพบในผู้ที่มีปัญหาการใช้ยาเสพติด เช่น คิดว่าใช้แค่นิดเดียวไม่เห็นเป็นอะไร แต่ก็ทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดซ้ำๆ 7.คิดไปเองราวกับสามารถอ่านใจคนอื่นได้ (Mind Reading) เช่น ส่งข้อความในกลุ่มไลน์แล้วไม่มีคนตอบก็คิดว่าคนอื่นๆ คงรำคาญตนเอง หรือนั่งเรียนอยู่แล้วอาจารย์มองหน้าก็คิดไปว่าอาจารย์คงกำลังดูถูกว่าเราโง่แน่ๆ ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอีกฝ่ายคิดกับเราแบบนั้นจริงหรือไม่แต่ก็ตัดสินไปแล้ว

8.คาดเดาไปก่อนว่าสถานการณ์ต้องเป็นแบบนั้นแน่ๆ โดยที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ (Fortune Telling) เช่น เชื่อมั่นว่าหาเอาเงินไปซื้อล็อตเตอรี่งวดนี้จะได้รวยเป็นเศรษฐีแน่นอน หรือเข้าไปเรียนได้เพียงวันแรกก็คิดแล้วว่าตนเองไม่มีทางเรียนจบ ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่าง Fortune Telling กับ Mind Readingคืออย่างแรกเป็นการด่วนสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ ส่วนอย่างหลังเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 

และ 9.ใช้อารมณ์นำก่อนแล้วค่อยหาเหตุผลมารองรับ (Emotional Reasoning) เช่น ใจอยากได้สิ่งของสักอย่างหนึ่งแล้วสมองค่อยหาเหตุผลต่างๆ นานา ทำให้ตนเองเชื่อว่าจำเป็นต้องซื้อสิ่งนั้น หรือมองคนหนึ่งว่าต้องเป็นคนไม่ดีแน่ๆ เพราะคนนั้นเคยทำให้ตนเองโกรธ ทั้งนี้ ต้องย้ำว่า “Cognitive Bias หรืออคติเชิงความคิด ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือไม่ดี แต่ต้องมีให้ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์” เพราะการทำงานของ Cognitive Bias นั่นเกี่ยวข้องกับการเอาชีวิตรอด เช่น ในสถานการณ์ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง

การฝึกตนเองให้รู้เท่าทันความคิดเพื่อลดการตัดสินใจแบบมีอคติหรือด่วนสรุป สามารถสรุปเป็น 4 ข้อ ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ “F.A.S.T.ประกอบด้วย 1.Fact เรื่องที่คิดอยู่นั้นตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่? 2.Alternative เรื่องที่คิดอยู่นั้นมองได้เพียงด้านเดียว หรือยังมองในแง่มุมอื่นๆ ได้อีก? 3.So What เรื่องที่คิดอยู่นั้นเป็นประโยชน์หรือไม่? และ 4.Toll เรื่องที่คิดอยู่นั้นจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง? 

บทเรียนต่อมาคือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)” หรือการฟังอย่างใส่ใจ โดยวิทยากรสรุป 4 เรื่องที่คนเรามักเผลอคิด-เผลอทำขณะฟัได้แก่ 1.เผลอแนะนำ หลายคนฟังแล้วก็เผลอคิดไปตามประสบการณ์ของตนเองแล้วก็แนะนำว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง 2.เผลอถามแทรก จริงอยู่ที่เราฟังแล้วก็อยากถามเพื่อให้เข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น แต่ก็ต้องดูจังหวะให้ดีเพราะบางทีอีกฝ่ายกำลังจะพูดอยู่แล้วแต่เราไปถามแทรกเสียก่อน อาจทำให้ข้อมูลที่จะได้รับบิดเบี้ยวไป หรืออีกฝ่ายอาจรู้สึกว่าเราไม่ตั้งใจฟังก็ได้ 

3.เผลอแย่งซี เช่น มีคนกำลังเล่าเรื่องๆ หนึ่ง แต่มีคนอื่นๆ พูดขึ้นมาว่าเหมือนกัน ทำให้คนที่อยากจะสื่อสารไม่ได้สื่อสาร และคนที่อยากรู้ข้อมูลที่คนนั้นจะเล่าก็ไม่ได้รู้ และ 4.เผลอด่วนตัดสิน เพราะ Cognitive Bias ทำให้เราด่วนสรุปไปว่าเรื่องมันต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน โดยทั้ง 4 ข้อนี้ ทำแล้วอาจส่งผลต่อการรับรู้ที่ผิดพลาด นั่นหมายถึงเสียตั้งแต่สมองรับข้อมูลเข้ามาแล้ว ซึ่งส่งผลต่อการประมวลผลหรือตีความ

และบทเรียนที่ 3 ซึ่งเป็นบทเรียนสุดท้ายของกิจกรรมในครั้งนี้คือ การสื่อสารเพื่อสร้างสันติหรือสื่อสารอย่างไรจะลดบรรยากาศที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง โดยเริ่มจากยกตัวอย่างคำพูดที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ เช่น หัวหน้าบอกลูกน้องว่า คุณทำงานผิดตลอด แก้อีกก็ผิดอีก อย่างนี้เมื่อไรจะเสร็จ ทำไมไม่ดูแผนกอื่นเขาบ้าง ทำให้ดีกว่านี้หน่อย ซึ่งพูดแบบนี้ไปลูกน้องก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าตนเองทำผิดตรงไหนและควรแก้ไขอย่างไรให้ถูก

แต่หากหัวหน้าเปลี่ยนวิธีการพูดโดย 1.สังเกตเช่น บอกลูกน้องว่า ผมเห็นคุณแก้งานบ่อยๆ” โดยที่ไม่ต้องใช้ถ้อยคำในเชิงต่อว่าด่าทอ 2.บอกความรู้สึก เช่น บอกว่า “ผมกังวล แล้วก็อธิบายว่าที่กังวลก็เพราะกลัวงานจะเสร็จไม่ทันกำหนด3.บอกความต้องการ เช่น บอกว่า ผมต้องการให้คุณได้รับการสนับสนุน แทนการใช้ถ้อยคำทำนองชี้นิ้วสั่ง และ 4.ร้องขอ เช่น ในกรณีที่ยังไม่รู้ว่าลูกน้องได้ลองแก้ไขมาแล้วกี่วิธี-อะไรบ้าง หัวหน้าอาจบอกว่า ถ้ามีปัญหาอะไรอยากให้ช่วย ผมอยากให้คุณบอกได้เลยนะ เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อหาทางออก เป็นต้น

 จากการอบรมครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าแม้เราจะได้รับข้อมูลมาเพียงพอและรู้เท่าทันความคิดของตนเองแล้วก็ตาม  แต่หากสื่อสารไม่ถูกย่อมไม่ก่อเกิดประโยชน์กับตนเองและคนรอบข้าง  

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-