‘กลุ่มชาติพันธุ์-ชนพื้นเมือง’เรื่องใกล้ตัวทุกคน ลดอคติ-สร้างความเข้าใจสังคมทำได้ไม่ต้องรอนโยบาย
9 ส.ค. 2567 รายการ Cofact Live Talk โดยภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) รับชมผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ร่วมพูดคุยกับ วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ นักวิชาการอิสระที่ขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมในเขตภาคเหนือตอนบน โดยนำประเด็น “มายาคติและเรื่องเล่าที่ส่งผลต่อกลุ่มชาติพันธุ์ (Myths and misleading stories towards the indigenous)”มาสนทนาเนื่องในโอกาสวันสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง 9 สิงหาคม ของทุกปี
วิสุทธิ์ ฉายภาพสถานการณ์สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งมองในแง่กฎหมายหรือนโยบายมีการพัฒนา เช่น มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือปฏิบัติการทางสังคม หมายถึงคนไทยมีมุมมองต่อคนพื้นเมืองอย่างไรบ้าง เช่น มีความเข้าใจผิดอะไรที่ยังมีอยู่
หากย้อนไปในยุคก่อนจะมีรัฐชาติเกิดขึ้น เราต่างก็เป็นชนพื้นเมืองโดยอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นอาณาจักรกระจัดกระจายกันไป ตามป่าตามเขาบ้าง ในพื้นที่ราบบ้าง
“ในทางนโยบาย-กฎหมาย ได้เคลื่อนไปตามกระแสโลก โลกขยับไปอย่างไรบ้าง ประธานาธิบดีหลายๆ ประเทศก็เป็นชนพื้นเมือง เราจะเห็นความเคลื่อนไหวงานเรื่องชนเผ่าทั่วโลกเลย ไทยเราก็เป็นหนึ่งในกระแส คือบางทีเราต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มันถูกเชื่อมโยงกับความเป็นสากล มันทำให้ประเด็นพวกนี้ในประเทศไทยเริ่มมีการขยับในเชิงนโยบาย การเมือง หรือสัดส่วนของกรรมการต่างๆ ที่มีกลุ่มชนพื้นเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่การเมืองรวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เป็นองค์กรสาธารณะ แม้แต่ ThaiPBS สื่อสาธารณะ ก็ยังมีสภาผู้ชมที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชนพื้นเมือง ทำให้เริ่มมีกลุ่มต่างๆ แทรกเข้าไปอยู่ในนโยบายปฏิบัติ”
อย่างในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 9 กลุ่มชาติพันธุ์ เริ่มเข้าไปอยู่ในวิธีคิดการจัดกลไกของภาคประชาชน ส่วนภาครัฐอาจเริ่มในบางองค์กรที่เป็นองค์กรอิสระที่เริ่มมีสัดส่วนตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดนโยบายที่มีความคืบหน้า เช่น เรื่องคนอยู่กับป่า การจัดการทรัพยากร การจัดการแรงงาน เป็นต้น
ขณะที่ในภาคปฏิบัติ จะเห็นกลุ่มชนพื้นเมืองเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ เช่น ที่ว่าการอำเภอ ครู อสม. มีแม้กระทั่งเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมถึงประชาชนในพื้นที่คุ้นเคยกับอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวกะเหรี่ยงสามารถสวมเสื้อผ้าที่แสดงอัตลักษณ์ของตนเอง ในพื้นที่สนามบิน สถานีขนส่งหรือตลาด โดยที่ไม่ต้องกังวลใจ อย่างไรก็ตาม หากนั่งรถโดยสารออกไปนอกพื้นที่อาจถูกถามเป็นพิเศษบ้าง ก็จะมีที่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ หรือเสื้อคลุมแบบชาวลาหู่ที่สามารถใส่ขึ้นเครื่องบินได้ เป็นเรื่องของการสร้างการยอมรับในอัตลักษณ์ของชนพื้นเมือง
โดยทั่วไปแล้ว สำหรับประชาชนไมได้มีปัญหาอะไรมาก แต่จะมีประเด็นแทรกเข้ามาเรื่องการแย่งชิงประโยชน์ทรัพยากรหรือมีความขัดแย้ง ซึ่งหากหาจำเลยไม่ได้อาจหาใครสักคนเป็นแพะ ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเหตุใดสังคมไทยชอบแพะ เราต่างคนต่างก็เป็นแพะคนละมาก-คนละน้อย อาจไม่รู้ก็ได้แต่เหมือนเราพยายามหาถูก-หาผิด พอเป็นแบบนี้ก็กลายเป็นสังคมที่ลงกันไม่ได้
“อันนี้เป็นประเด็นหนึ่ง ตอนนี้อยู่กันสบาย แต่เมื่อใดก็ตามเกิดเหตุอะไรขึ้นมาเขาก็จะโยนไปให้คนบางกลุ่ม ที่เป็นกลุ่มชนที่ Underclass หมายถึงมีสถานะต่ำกว่า ซึ่งอาจจะไม่ใช่ชนพื้นเมืองก็ได้ แต่หมายถึงวิธีคิดที่ว่าคนที่โง่ๆ จนๆ เจ็บๆ พูดไม่ชัด หรือดูป้ำๆ เป๋อๆ อะไรแบบนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องของการอคติต่อชนพื้นเมืองเสียทีเดียว เพราะว่ามันเหมือนกับถ้าคุณเป็น Underclass อาจไม่ใช่ชนเผ่าก็ได้ อาจจะโดนตีตราลงไปว่ากระทำผิดนั้นแต่ถ้าหากเป็นชนพื้นเมือง เหมือนมีแบรนด์อันหนึ่งที่ทำให้เขาง่ายที่จะถูกกล่าวโทษได้ง่ายขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนไทยไม่ดี แต่มันมีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่เป็นเช่นนั้น”
วิสุทธิ์ ขยายความในประเด็นนี้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์มักกลัวคนแปลกหน้า ทั้งคนพื้นเมืองและคนเมืองบางทีก็กลัวกันและกัน สมัยแรกๆ ที่ลงพื้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็วิ่งหนีเพราะไม่เคยเห็นหน้าตน บางหมู่บ้าน 30-40 ปี ไม่เคยมีคนที่พูดภาษาไทย แต่เมื่อเจอกันนานๆ ก็คุ้นเคยกันมากขึ้น แต่ตัวแปรสำคัญอยู่ที่กลไกการกำกับดูแลอำนาจ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันอยู่ มีกลุ่มที่ได้และเสียประโยชน์ โดยกลุ่มที่เสียประโยชน์มักเป็นกลุ่มที่แสดงตัวว่าเป็นชนพื้นเมือง แต่ชนพื้นเมืองเองก็ไม่เหมือนในอดีต คือมีความหลากหลาย จึงเป็นประเด็นที่ซับซ้อนกว่าเดิม
เมื่อถามถึง “มายาคติ” ที่กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมอง นักวิชาการผู้นี้ ชี้หลายเรื่องที่ยังคงปรากฏในปัจจุบัน ได้แก่
1.ความสกปรกมอมแมม ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อโดยเฉพาะในสมัยก่อน แม้จะมีส่วนจริงแต่ก็อธิบายได้จากเงื่อนไขบริบทของพื้นที่ เช่น การหาน้ำอาจทำได้ลำบาก อากาศหนาวเย็น แต่ระยะหลังๆ ชนพื้นเมืองก็ปรับตัวไปมากเรื่องสุขอนามัย แต่ในทางกลับกัน คนในเมืองหรือคนรุ่นใหม่ ก็มองว่าเหตุใดคนบนดอยจึงแข็งแรงกว่า ดังนั้นมายาคติเรื่องความสกปรกมอมแมมหรือเรื่องกลิ่นก็ค่อยๆ หายไป อาจมีบ้างเรื่องการล้อเลียนในการเล่นตลก แต่ก็ไม่ค่อยเจอ กลายเป็นมีความน่ารักเข้ามาแทน เช่น เด็กน้อยแก้มแดงเนื้อตัวมอมแมม แต่ยอมรับว่าเหายังเป็นปัญหาอยู่ บนดอยเหาค่อนข้างดุ แม้กระทั่งเด็กโรงเรียนนานาชาติจากในเมืองไปทำกิจกรรมเข้าค่ายก็ยังติดเหา จึงเป็นเรื่องของพื้นที่ หากเข้าใจก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
2.ยาเสพติด จริงอยู่ที่ยาเสพติดจะมีปัญหาระบาดทั่วประเทศ แต่กลุ่มชาติพันธุ์มักถูกมองแบบเหมารวมว่าสุ่มเสี่ยงจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจากเหตุปัจจัย เช่น อยู่ใกล้พื้นที่ชายแดน อยู่ใกล้แหล่งยาเสพติด ทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กจะถูกเน้นย้ำเรื่องยาเสพติดมากเพื่อระวังตนเอง ทั้งที่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ก็อยากจะเรียนด้านอื่นๆ ที่เหมือนกับเด็กในเมือง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสิทธิด้านการศึกษาด้วย เพราะเด็กชนพื้นเมืองจะถูกแทรกแซงด้วยภาพจำหรือตีตราว่าสุ่มเสี่ยงกับปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ แต่ก็ไม่เคยมีการประเมินว่านโยบายแบบนี้มีประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์อย่างไร
3.การตัดไม้ทำลายป่า เป็นเรื่องที่โผล่มาเป็นพักๆ เวลามีข่าวเรื่องคนอยู่ในป่าแล้วมีข้อถกเถียงเรื่องป่าไม่ควรมีคนอยู่กับการที่กลุ่มชาติพันธุ์อยู่มาก่อนประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งลึกๆ มาจากวิธีคิดต่อคนที่แตกต่าง แต่แม้ไม่มีประเด็นป่าไม้ก็คงมีประเด็นอื่นมาอีกตราบใดที่ยังมองกลุ่มชาติพันธุ์ว่าไม่เกี่ยวข้องกับคนในเมือง แต่ระยะหลังๆ เรื่องป่าก็ดูจะซาลงไป เพราะมีคนที่ออกมาพูดสร้างความเข้าใจมากขึ้น มีสื่อนำเสนอเรื่องราว มีการมองเห็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็รู้จักวิธีหาความรู้มากขึ้น แต่อาจมีบ้างกับคนที่ยังติดยึดกับวิธีคิดแบบเก่าแล้วยังคลายไม่ได้
“คือมันยากมาก แต่เราก็รู้ว่าไม่เป็นไร มันจะคลี่คลายตามยุคสมัย แต่ประเด็นคือมันจะสร้างลักษณะความเกลียดชังในรูปแบบใหม่ๆ เพราะว่าจุดนี้ตัวประเด็นมันอาจเปลี่ยนไปแล้ว แต่มันยังมีความกลัวอะไรบางอย่าง สมมติเหมือนกับว่าตรงนี้ซึ่งสำคัญมาก การสร้างกระแสขึ้นมามันก็ยังปลุกขึ้นมาได้ เช่น เจอคนอิสราเอลเรามักจะคิดถึงอะไร? มันเหมือนกับว่าทำไมเราคิดภาพนั้นขึ้นมา? ผมก็คุยว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์เขาแต่งงานกันก็มี แต่เผอิญมันเหมือนกับว่าการสร้างการเรียนรู้พวกนี้มันหายไปหรือเปล่า?”
วิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยตั้งคำถามว่าสังคมอย่างนี้เราต้องช่วยกันสื่อสารหรือไม่ เพราะจะรอแต่กลไกเดิม รอคนที่ดูแลงานบริหารหรือนโยบายให้เปลี่ยนลงมานั้นทำไม่ได้แล้วเพราะช้าเกินไป เช่น สมมติตนไปแข่งกีฬาโอลิมปิกได้เหรียญรางวัล ตนอาจนำภรรยาที่เป็นชาวไทยใหญ่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์มาปรากฎตัวออกสื่อด้วย โดยมองว่ามีโอกาสทางสังคมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการรับรู้ นำไปสู่การเรียนรู้และการขับเคลื่อนการยอมรับใหม่ๆ โดยไม่ต้องรอการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย รอพรรคการเมือง รอการเปลี่ยนกลไกระดับกว้างก็ได้ แต่มาจากมือเราทุกคน ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ จากที่ในอดีตการขับเคลื่อนประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองต้องทำผ่านตัวแทน ตามวิถีประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) แต่ปัจจุบันกลายเป็นประเด็นของเราทุกคน และเราสามารถทำได้เพราะเป็นเรื่องที่อยู่กับเราอยู่แล้วเพียงแต่ยังมองไม่เห็น
“เรายังไม่รู้ว่าเป็นชนอะไร แต่เรามีแน่ๆ อาจจะค่อยๆ แกะรอยไป บางคนอาจจะไปหาประวัติที่วัดก็ได้นะ เขาเรียกว่าพับสา หรือปั๊บสา (เอกสารบันทึกของล้านนา) หรือตำนาน มันจะเล่าเรื่องของต้นตระกูลเรา อันนี้ผมยังชี้ชวนว่าทุกคนมีต้นตระกูล ลองไปสืบดูก็ได้ว่าสาแหรกเรามาจากไหนบ้าง? แล้วเราจะสนุกกับมัน เรารู้จักตัวเรามากขึ้นว่าเราไม่ได้เป็นมนุษย์ล่องลอย ซึ่งก็ดีนะ หมายความว่าด้านหนึ่งเราเป็น Individual (ปัจเจกบุคคล) แต่มันจะดียิ่งกว่าถ้าเรารู้ว่าเรามาจากไหน? มันทำให้เราได้พลังเพิ่มเข้ามา” วิสุทธิ์กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกหลายประเด็นใน Cofact Live Talk “Myths and misleading stories towards the indigenous มายาคติและเรื่องเล่าาที่ส่งผลต่อกลุ่มชาติพันธุ์” ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Link https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/470780145913965?locale=th_TH
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-