‘โคแฟค’ผนึกกำลัง‘เจริญเคเบิลทีวี’ เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องด้านการดูแลสุขภาพ

Editors’ Picks

27 พ.ย. 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ห้อง 201 อาคารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ มีการแถลงข่าวความร่วมมือในการรณรงค์ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพ และความร่วมมือระหว่าง ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กับ บริษัท เจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวอร์ค จำกัด พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในยุค 4จี – 5จี ทุกคนรับรู้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยสื่อดั้งเดิมหรือสื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์ในการแก้ไขข่าวหรือนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งวันนี้ก็ถือเป็นโอกาสดี ต้องขอขอบคุณบริษัทเจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวิร์ค จำกัด ที่มาร่วมมือกับโคแฟค รวมถึง สสส. ในการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องการตรวจสอบข้อมูลข้อมูลข่าวสาร 

“มีคุณเพชรี พรหมช่วย ซึ่งหลายท่านคงคุ้นหน้า ก็เคยอยู่ช่อง 3 ก็มาช่วยผลิตรายการ ‘รู้มั้ย by Cofact’ ซึ่งเป็นรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องสำหรับผู้สูงอายุ  ซึ่งจะนำไปออกอากาศที่เจริญเคเบิลด้วย และอาจจะมีรายการอื่นๆ เพิ่มเติม ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราได้มาแถลงความร่วมมือในวันนี้ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับสมาชิกเจริญเคเบิลได้ดูรายการที่เป็นประโยชน์แน่นอน ท่านใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็ติดตามทางยูทูบ โคแฟคได้” สุภิญญา กล่าว

วิชิต เอื้ออารีวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า การนำรายการมาออกอากาศทางเคเบิลทีวี เป็นทางเลือกให้กับผู้รับสื่อ   เพราะว่าสื่อทุกวันนี้มาจากหลายแหล่ง เจริญเคเบิลทีวี ทำหน้าที่ช่วยเผยแพร่ ออกครั้งแรกคนอาจไม่สนใจ แต่ออกบ่อยๆ คนเริ่มเห็น-เริ่มฟังว่าพูดเรื่องอะไร ตอนหลังคนก็จะรู้ จึงน่าจะนำหลักนี้มาใช้กับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องด้านสุขภาพ

“จริงๆ อยากจะได้รายการค่อนข้างเยอะ หลายคนอาจมองว่า Content พวกนี้ ถ้าเป็นคนทำรายการเขาจะรู้ว่ามันช้ำ แต่จริงๆ ในมุมของพวกเรา รายการประเภทนี้มันเป็นรายการที่ทันสมัยเสมอและเป็นประโยชน์อย่างมาก ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวอร์ค จำกัด กล่าว

เพชรี พรหมช่วย ผู้ผลิตรายการ รู้มั้ย by Cofact” กล่าวว่า ที่มาของรายการนี้ คือ  อยากให้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้จริงได้ด้วย เพราะการมีความรู้แต่ใช้ในชีวิตประจำวันไมได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ซี่งรายการนี้เหมาะกับผู้สูงอายุ ที่ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ

ไม่อยากเรียกว่าผู้สูงวัย เราเรียกว่าอายุที่เพิ่มขึ้น อายุที่มากขึ้น ชีวิตของเราก็ต้องดีขึ้น เพื่อที่จะรับมือกับตัวเองให้ได้ ดังนั้น รู้มั้ย’ จะบอกเรื่องราวที่เราสนใจ เพราะเราไม่เคยทำสื่อโซเชียลมาก่อน แต่พอฟังไอเดียจากโคแฟคแล้วมันใช่ ก็ต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่เราสนใจ และทางโคแฟคเองก็มีข้อมูลที่เครือข่ายของโคแฟค ให้ข้อมูลมาว่าอยากจะรู้เรื่องอะไรมากขึ้น เราในฐานะเป็นสื่อก็ไปสัมภาษณ์แล้วก็นำมาย่อยเพื่อเผยแพร่ เพชรี กล่าว

นอกจากนี้ยังมีการอบรมการใช้นวัตกรรมโคแฟค เพื่อการตรวจสอบข้อมูลสุขภาพ เช่น ไลน์แชทบอท @Cofact ตัวช่วยตรวจสอบข้อมูลจริง-ลวง เนื่องจากเป็นแชทบอทที่เปิดใช้งานมาได้ระยะหนึ่งแล้วจึงมีฐานข้อมูลมากพอสมควร ซึ่งสิ่งที่สังเกตเห็นได้ประการหนึ่ง คือข่าวลวงจำนวนไม่น้อยมักจะถูกแชร์วนซ้ำกลับเข้ามาในระบบ จึงสามารถใช้แชทบอทนี้ค้นหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนได้ นอกจากนั้นยังมี ไลน์โอเพนแชท ซึ่งเป็นกลุ่มสนทนาของผู้สนใจตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารก่อนตัดสินใจแชร์ต่อ รวมถึงมีทีมแอดมิน Cofact ช่วยค้นหาข้อมูลให้

ในช่วงท้าย ดร.พิมพ์รภัส ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดิชเนามัน (ประเทศไทย)กล่าวปิดงาน ระบุว่า เราพยายามหาโอกาสทำงานกับผู้สูงอายุมานานมากแล้ว และกิจกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้อยากให้โคแฟคดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ อย่างกิจกรรมฝึกอบรมการตรวจสอบข้อมูลจริง-ลวง ตนรู้สึกประทับใจที่เห็นความตื่นตัวและความอยากรู้ จึงหวังว่าจะมีโอกาสได้มีกิจกรรมแบบนี้อีก

อันนี้เป็นก้าวแรกที่ได้มาเห็นและอยากจะสนับสนุนให้ดำเนินการต่อ แล้วตัวเองได้เรียนรู้ด้วย จริงๆ โคแฟคตั้งแต่ทำกันมาก็พยายามทำความเข้าใจว่าเราจะใช้เครื่องมือ หรือทำให้คนทุกๆ กลุ่มในสังคมสามารถที่จะตื่นตัวและตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่เช้าได้อย่างไร ตื่นเช้าขึ้นมาก็ดูก่อน อะไรที่มันมีข่าวแพร่กระจายบ้าง แล้วเรามาเช็คให้ชัวร์ที่โคแฟคได้ ดร.พิมพ์รภัส กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-