เปิดผลวิจัย‘ข้อความอันตราย’บนโลกออนไลน์ กระทบสิทธิมนุษยชน ห่วงลุกลามรุนแรง
25 เม.ย. 2566 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) FHI 360 มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ และภาคี จัดเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 25 หัวข้อ “ตรวจสอบข้อความอันตรายบนโลกออนไลน์” โดยเป็นวงเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Cofact โคแฟค และเพจภาคีองค์กรร่วมจัด
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า เวทีนักคิดดิจิทัล ( Digital Thinkers Forum) โดยจัดขึ้นทั้งรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ครั้งนี้เวทีนักคิดดิจิทัล (Digital Thinkers Forum)ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุยระดมความคิดเห็นถึงผลกระทบของข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่มีต่อพลเมืองในยุคดิจิทัล ทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพ, สุขภาวะ ความรู้ความเข้าใจ, ความถูกต้อง-ไม่ถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร ,เนื้อหาที่ส่งผลกระทบในด้านลบ และวิธีการจัดการรับมือกับข่าวลวง
“โดยเฉพาะในยุคที่เราต้องเรียนรู้ร่วมกับ AI อยู่ในยุคอัลกอริทึม (algorithm) ยุคของสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ทุกท่านคงจะได้เห็นผลทั้งด้านบวกและด้านลบมาแล้ว ที่ผ่านมาเราก็มีฟอรั่มแบบนี้ พูดคุยกันมาเรื่อยๆ เพื่อที่จะกระตุ้นให้สังคมได้เห็นความสำคัญและเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย” สุภิญญา กล่าว
สก็อต อารอนสัน (Scott Aronson) Chief of Party, Networks for Peace, FHI 360 กล่าวถึง “ข้อความ หรือถ้อยคำอันตราย” (Dangerous Speech) ว่าเป็นประเด็นสากลไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ผลกระทบในแง่ลบทั้งการบั่นทอนบรรทัดฐานของสังคมประชาธิปไตย บั่นทอนสื่อ ไปจนถึงขั้นเลวร้ายที่สุดคือนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งข้อความหรือถ้อยคำอันตรายก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศเช่นกัน
“ถ้อยคำอันตรายมีอยู่ในสังคมไทย แต่อาจจะยังไม่รู้ในระดับร้ายแรงเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ฉะนั้นตอนนี้อาจเป็นจังหวะที่ต้องทำงานหนักเพื่อทำความเข้าใจว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร และอาจจะต้องดำเนินการ ( Take Action )ในขณะนี้ ปัญหาของถ้อยคำอันตรายมันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก มีแง่มุมทั้งสังคม การเมือง มีแง่มุมเรื่องของเทคโนโลยีที่ต้องทำความเข้าใจและหาทางแก้ไข จึงจำเป็นมากที่ต้องทำงานแบบร่วมมือกันกับหลายฝ่าย เพื่อดึงความเชี่ยวชาญจากทุกฝ่าย มาหาทางแก้ที่เหมาะกับสังคมไทยมากที่สุด” อารอนสัน กล่าว
สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องการตรวจสอบข้อความอันตรายในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ทำงานร่วมกับ Patani Forum , Boonmee Lab และ Trends Digital ว่า เริ่มศึกษาประเด็นข้อความหรือถ้อยคำอันตรายมาได้ประมาณ 1-2 ปี เพื่อที่จะดูว่าในการสนทนากันบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงนั้นมีลักษณะอย่างไร ซึ่งก็มีหลากหลายประเด็น อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน, มุมมองที่เกี่ยวกับศาสนา นำไปสู่การสรุปบทเรียนซึ่งน่าจะใช้ได้กับช่วงนี้ที่จะการเลือกตั้งรวมถึงหลังการเลือกตั้งไปแล้ว
“มีการสร้างกระแสจำนวนมากเพื่อการเลือกตั้ง แต่บทเรียนคือกระแสมันไม่ได้หมดไปพร้อมการเลือกตั้ง ถ้าเราดูในสหรัฐอเมริกา หรือในหลายๆ ประเทศ จริงๆ กระแสมันอาจจะโหดขึ้นหลังเลือกตั้งด้วยซ้ำเพราะมันจะมีฝั่งที่ได้และไม่ได้ สังคมอาจจะต้องดูว่าจะจัดการความคาดหวังที่ไปกันคนละทาง และความเชื่อที่ต่างกันมากๆ ออนไลน์ที่ Build (ปั่นกระแส) กันขึ้นมาอย่างไร” ผอ.สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น กล่าว
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปาฐกถาเรื่อง “การรับมือกับข้อความอันตรายออนไลน์ ในมุมมองของสิทธิมนุษยชน” ในตอนหนึ่งระบุว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยผู้รายงานพิเศษตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย เผยแพร่รายงานเมื่อปี 2563 ฉายภาพความรุนแรงของ “การทรมานทางจิตวิทยา (Psychological Torture)”ว่ามีองค์ประกอบ 5 ประการ
1.สร้างความทุกข์ทรมานกับเหยื่ออย่างแสนสาหัส
2.เป็นไปโดยเจตนา
3.มีจุดประสงค์ต้องการลงโทษหรือทรมานอย่างชัดเจน
4.เป็นการทำให้เหยื่อรู้สึกไร้อำนาจ และ
5.เป็นการกระทำที่มีวิธีการมุ่งโจมตีย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่ออย่างเป็นระบบ
ซึ่ง “การระรานทางออนไลน์ (Cyberbullying)” ก็สามารถใช้เป็นวิธีการทรมานทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เช่น มีการเตรียมภาพตัดต่อ ใช้ถ้อยคำปลุกปั่นสร้างกระแสให้เหยื่อถูกสังคมมองในแง่ลบ เพื่อให้สังคมมองว่าในเมื่อเป็นคนไม่ดีดังนั้นจะใช้ความรุนแรง คุกคามล่วงละเมิดอย่างไรก็ได้ อีกทั้งยังทำให้เหยื่อรู้สึกไร้อำนาจเพราะผู้เผยแพร่ภาพหรือข้อความนั้นเป็นอวตารหรือไม่มีตัวตน แม้จะแจ้งความแต่ก็ติดตามผู้กระทำได้ยาก
“บางคนอาจคิดว่าการมีจิตใจเข้มแข็งจะทำให้เหยื่อหลุดพ้นความทรมานได้ แต่คนที่เจอปัญหานี้ด้วยตัวเอง พบว่าไม่ว่าจะมีจิตใจเข้มแข็งมากเพียงใดก็เป็นการยากที่จะหลุดพ้นทางจิตใจจากการถูกตีตราหรือถูกพิพากษาจากสังคมไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อถูกทำให้เป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ เหยื่อหลายคนมีปัญหาซึมเศร้า เผชิญอาการ PTSD หลายคนหนีหายจากสังคมไปเลย และอีกหลายคนก็คิดอยากจบชีวิตตัวเอง สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ข้อมูลข้อความหรือรูปภาพต่างๆ ที่ถูกนำมาสร้างความเกลียดชัง มันยังจะอยู่ในโลกโซเชียล และใครก็สามารถนำกลับมาใช้ได้เสมอ” อังคณา กล่าว
สำหรับผลการศึกษาเรื่องการตรวจสอบข้อความอันตรายในสื่อสังคมออนไลน์ ที่นำมาเผยแพร่ในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่เรื่องราวระหว่างผู้นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามในประเทศไทย ใช้เวลาเก็บข้อมูลประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งมีข้อค้นพบ 5 ประการ
1.แม้ไทยไม่มีความขัดแย้งทางศาสนาโดยตรง แต่ก็พบการใช้ถ้อยคำอันตรายที่เกี่ยวกับศาสนา โดยพบแทบทุกสัปดาห์ ทั้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในภาพรวมทั่วประเทศ และระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมุสลิม ในพื้นที่ 3 จังหวัดขายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)
2.ในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้อยคำอันตรายมักปรากฏหลังปฏิบัติการของรัฐ ในลักษณะสนับสนุนปฏิบัติการนั้น เช่น มองว่าผู้ต้องสงสัยที่เสียชีวิตหรือถูกจับกุมควบคุมตัวนั้นสมควรแล้ว ซึ่งจะแตกต่างกับในต่างประเทศที่ถ้อยคำอันตรายมักเกิดขึ้นก่อนในลักษณะปลุกปั่นยั่วยุแล้วจึงนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
3.ความแตกต่างของผู้ใช้ถ้อยคำอันตรายระหว่างกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธ-มุสลิมในภาพรวมทั่วประเทศ กล่าวคือ กรณีแรกจะเป็นเพจเฟซบุ๊กที่ไม่ทราบต้นตอ (Anonymous) หรือเรียกกันว่า “เพจอวตาร” ในขณะที่กรณีหลังจะเป็นเพจเฟซบุ๊กที่ตั้งชื่อแบบประกาศอย่างเป็นทางการ เช่น เพจปกป้องศาสนาพุทธ
4.ชาวพุทธโดยทั่วไปในประเทศไทย “ไม่ซื้อแนวคิด” แบบพุทธชาตินิยม ไม่สนใจการประโคมข่าวที่ทำให้ชาวพุทธเกิดความหวาดกลัวชาวมุสลิม มองว่าถ้อยคำบางคำไม่ควรได้รับการยอมรับอีกทั้งยังมีการโต้แย้งกันเองในกลุ่มชาวพุทธด้วย และ
5.ในประเทศไทย กลุ่มศาสนิกชนมีการจัดการกันเองภายใน ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ใม่เกิดความขัดแย้งทางศาสนารุนแรงเหมือนในต่างประเทศ เช่น เมื่อมีชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเผยแพร่ข้อความที่ต้องการสร้างความเกลียดชังชาวมุสลิม ก็จะมีชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่งออกมาโต้แย้ง
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยยังยกตัวอย่าง “การดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้ถ้อยคำอันตรายสร้างความเกลียดชังในระดับลุกลามจนเกิดความรุนแรงทางกายภาพ”
กรณีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งช่วงหนึ่งพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ในช่วงแรกๆ มีการเผยแพร่ข้อความสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ต่อชาวเมียนมาบนพื้นที่ออนไลน์ บางข้อความอ้างย้อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงสมัยอยุธยา แต่เมื่อทาง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในช่วงแถลงข่าวประจำวันว่าไม่ควรเหยียดเชื้อชาติ ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังนั้นก็ลดลงไปมาก
ในช่วงท้ายมีการให้ความเห็นโดยวิทยากร 4 ท่าน อาทิ สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบัน Hate Speech หรือถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง แพร่กระจายไปทุกอนูของสังคม ไม่ว่าการเมือง ศาสนา บันเทิง ฯลฯ จนกลายเป็นสังคมแห่งความเกลียดชัง เพราะแต่ละคนก็เลือกที่จะเชื่อชุดข้อมูลตามแต่ที่เชื่อแล้วสบายใจ และผลักคนเห็นต่างให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม ส่วน Dangerous Speech คือขั้นกว่าของ Hate Speech คือก้าวข้ามจากความไม่ตระหนักหรือความคึกคะนอง ไปเป็นความจงใจให้เกิดความรุนแรงขึ้น
“การใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทุกวันนี้ คือเครื่องมือสื่อสารถูกเอามาเป็นเป้าหมาย ถ้าทางธุรกิจก็เพื่อทำการตลาด (Marketing) สร้างแบรนด์ สร้างความนิยม ประชาสัมพันธ์ สร้างกิจกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือสื่อสารออนไลน์มันถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่าย นำมาสร้างความเกลียดชัง ใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเป้าหมาย หรือใช้เป็นเครื่องมือในการระราน-รังแก (Bully) ข่มขู่คุกคาม ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากมายาคดีที่เราอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้อย่างยาวนาน” สรวงมณฑ์ กล่าว
ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสาและความสุข กล่าวว่า ประเด็นถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง) Hate Speech และ ถ้อยคำอันตราย (Dangerous Speech) อยากให้มองลึกลงไปถึงภายในจิตใจ ผู้กระทำอาจทำไปเพราะคุ้นชินกับสิ่งที่เคยพบมา เช่น มองเห็นความรุนแรงแล้วคิดว่าเป็นวิธีที่ทำได้และทำต่อเนื่องมาจนเคยชิน เพื่อแก้หรือหลบความรู้สึกบางอย่างในจิตใจ เช่น ความโกรธ ความผิดหวัง ความกลัว ซึ่งเป็นความท้าทายของคนทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญา
“ทำอย่างไรจะให้เขาเห็นว่ายังมีโอกาส มีหนทางอื่น อย่างการปกป้องพระพุทธศาสนามันมีหลากทางที่จะทำได้ อะไรมันคือใช่ อะไรมันคือไม่ใช่ อีกประเด็นที่อยากรู้คือ ที่บอกว่ามีองค์กรรัฐ NGOs ปัจเจกบุคคล มีกลุ่มไหนที่พูดถึงแบบไหนอย่างไรบ้าง เพราะมันจะบอกด้วยเช่นกันว่าแต่ละกลุ่มเขามีวิธีที่เขาใช้จนเคยชินจนกลายเป็นสิ่งที่ไม่รู้ตัวและกลายเป็นถ้อยคำอันตราย (Dangerous Speech) ได้อย่างไร แล้วเราจะได้เห็นว่าจะช่วยเขาทำอย่างเป็นเป้าหมายที่ดีตามตั้งใจของเขา สิ่งที่มันกระทบกับจิตใจเขา แล้วเขาอยากดูแลตัวเองเขาทำได้อย่างไรบ้าง” ธีระพล กล่าว
วศินี พบูประภาพ สื่อมวลชน จากสำนักข่าว Today กล่าวว่า สื่อดิจิทัลแม้จะเปิดโอกาสให้คนได้พูดคุยกันมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกิด Echo Chamber หรือปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน หมายถึงแต่ละคนเลือกที่จะได้ยิน-ได้เห็นแต่ชุดความคิดที่ตนเองเชื่อ ดังนั้นผลการศึกษาครั้งนี้เผยแพร่ได้ถูกเวลา แต่ความท้าทายคือการเก็บข้อมูลเพราะถ้อยคำอันตราย ( Dangerous Speech) นอกจากจะมาในรูปแบบตัวอักษรแล้วยังมีที่เป็นคลิปวีดีโอด้วย และคลิปวีดีโอยาวๆ ก็อาจจะมีเพียงช่วงสั้นๆ หากไม่ดูจนจบก็ไม่สามารถตรวจจับได้
“ยังมีในรูปแบบของ Meme ของ Gag ต่างๆ อาจจะมาในรูปแบบของการ์ตูนไม่กี่ช่อง หรือบางทีแค่ภาพเดียวที่มันเป็น Meme มาแล้วมีการเผยแพร่กันไป บางทีอาจจะไม่ Get (เข้าใจ) สำหรับคนที่อยู่นอกวงสังคม คือในสังคมมันมีการ เข้ารหัส (Encode)และถอดรหัส (Decode )ระหว่างกัน หรืออย่างเนื้อหาดัก มันอาจจะไม่ขยายวงกว้าง ในแง่ของคนทั่วไปอาจจะเข้าใจ แต่ในแง่หนึ่งมันทำหน้าที่ของมันในการ ปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรง (Radicalize) กลุ่มที่มีการ Encode รหัสภาษาเหล่านี้เข้าไปอยู่แล้ว” วศินี ระบุ
พระมหานภันต์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (IBHAP) กล่าวปิดงานเสวนา แสดงความเป็นห่วงการสื่อสารด้วยถ้อยคำอันตรายในพื้นที่ปิด เช่น การสนทนาผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ เพราะข้อจำกัดของเทคโนโลยีปัจจุบันที่ตรวจจับได้เพียงเนื้อหาที่เผยแพร่ในพื้นที่เปิดเป็นสาธารณะเท่านั้น จึงฝากเป็นการบ้านถึงผู้วิจัยด้วยว่าจะทำอย่างไร
“การที่ข้อความอันตรายบนโลกออนไลน์วันนี้มันอันตรายและน่ากลัว นอกจากมันจะผลักคนให้ตกอยู่ในอันตรายจากอคติความกลียดชัง การทำให้เกิดการทำร้ายทำลายกันแล้ว ตัว Dangerous Speech เองทำให้คนกลายเป็น Dangerous People (บุคคลอันตราย)) และอันนี้ถ้าเรายังไม่เข้าใจและไม่เห็นภาพของการร่วมมือกันจริงจัง อาตมาอยากเห็น Digital Thinkers Forum ผลักไปสู่เรื่องของ Digital Collaboration คือให้ร่วมมือกันจริงจัง” พระมหานภันต์ ฝากทิ้งท้าย
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-