ชาวปาเลสไตน์จ้างนักแสดง ‘แกล้งตาย-เจ็บ’ ในศึกกาซาจริงหรือ?
ธีรนัย จารุวัสตร์
สมาชิกเครือข่าย Cofact Thailand
ขณะที่ภาพข่าวความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาได้รับการตีแผ่ไปทั่วโลก แต่โลกโซเชียลมีเดียกลับเต็มไปด้วยคลิปที่อ้างว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตชาวปาเลสไตน์เป็นเพียงการ “จัดฉาก” เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากชาวโลก หรือที่เรียกกันในวงการสื่อว่า ทฤษฎีสมคบคิด “Pallywood”
หากใครจำกันได้ หลังจากที่กองทัพรัสเซียรุกรานยูเครนในต้นปี 2022 และเริ่มมีรายงานว่าประชาชนยูเครนจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย พิธีกรข่าวของช่อง “ททบ. 5” ในประเทศไทย ได้นำคลิปวิดิโอหนึ่งมาเผยแพร่ออกอากาศ โดยระบุว่าเป็นการจับผิด “ศพ” ชาวยูเครนที่ถูกทหารรัสเซียสังหาร แต่ “ศพ” กลับขยับเขยื้อนได้ ดูเหมือนเป็นการ “จัดฉาก” ซะมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฎว่าวิดิโอดังกล่าวเป็นคลิปจากเหตุการณ์การประท้วงสภาวะโลกร้อน ซึ่งนักกิจกรรมได้แสดงท่าทางเป็นศพเท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครนเลย และในเวลาต่อมา ได้มีหลักฐานและภาพข่าวประชาชนยูเครนที่ถูกคร่าชีวิตโดยกองทัพรัสเซียปรากฎสู่สายตาชาวโลกอย่างล้นหลาม จนไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป การกล่าวหาในทำนองว่ายูเครน “จัดฉาก” ผู้เสียชีวิตเพื่อป้ายสีรัสเซีย จึงค่อยๆเงียบหายไป…
เวลาผ่านมาปีกว่า วาทกรรมดังกล่าวกลับขึ้นมาแพร่หลายในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง แต่เปลี่ยนบริบท
จากสงครามในยูเครน สู่สงครามในฉนวนกาซาและอิสราเอล จากที่เคยพุ่งเป้าจับผิดว่าชาวยูเครน “จัดฉาก” หรือแกล้งตาย กลายมาเป็นการกล่าวหาว่าชาวปาเลสไตน์กำลังใช้ “นักแสดง” สวมบทบาทเป็นผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการโจมตีของกองทัพอิสราเอล ซึ่งในปัจจุบัน ข้อมูลจากทางการกาซาระบุว่าชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10,000 ราย ตั้งแต่กองทัพอิสราเอลเริ่มปิดล้อมและถล่มฉนวนกาซา หลังฮามาสก่อเหตุสังหารประชาชนในอิสราเอลจำนวนมากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
ตัวอย่างเช่น คลิปที่อ้างว่าชายคนหนึ่งที่สูญเสียขาในโรงพยาบาลกาซ่า กลับกลายว่ายังมีขาอยู่ในวันถัดมา หรืออ้างว่าศพเยาวชนในกาซาขยับเขยื้อนตัวได้ หรืออ้างว่ามีนักแสดงชาวปาเลสไตน์ปรากฎตัวในคลิปการโจมตีของอิสราเอลหลายครั้ง ฯลฯ
ทั้งหมดเหล่าเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดที่เรียกว่า “Pallywood” ซึ่งเป็นการรวมกันของคำว่า “Hollywood” กับ “Palestine” เพื่อที่จะสื่อว่า ภาพและข่าวความสูญเสียในปาเลสไตน์นั้น เป็นการจัดฉากขึ้นเพื่อตบตาชาวโลก มีการใช้นักแสดงหรือวางบทบาทกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ต่างจากการถ่ายภาพยนตร์ Hollywood
ที่น่ากังวลคือทฤษฎีสมคบคิดเช่นนี้ถูกส่งต่อในโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง แม้แต่ทางการอิสราเอลและสำนักข่าวจำนวนหนึ่ง (รวมถึงสื่อไทยอย่างน้อยหนึ่งแห่ง) ก็หยิบมาเผยแพร่ต่อ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดแต่เคลือบแคลงใจต่อวิกฤติมนุษยธรรมในกาซาขณะนี้อย่างแพร่หลาย ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญและ factcheckers จำนวนมากได้พิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่มีมูลความจริง
จากปาเลสไตน์ สู่กลุ่มขวาจัดอเมริกัน
แนวคิด Pallywood เริ่มปรากฎขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ระหว่างการลุกฮือครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึดครองเขตเวสต์แบงก์และกาซาโดยกองทัพอิสราเอล
การลุกฮือ (หรือที่เรียกว่า intifada) ดังกล่าวประกอบด้วยทั้งการประท้วงและการใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายในอิสราเอล นำไปสู่การโต้ตอบอย่างรุนแรงจากกองทัพอิสราเอล ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะพลเรือน ภาพข่าวความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์เริ่มปรากฎขึ้นในสื่อมวลชนต่างประเทศหลายแห่ง กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล
เหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก คือวิดิโอข่าวเหตุการณ์สองพ่อลูกชาวปาเลสไตน์ที่พยายามซุกตัวในมุมถนนแห่งหนึ่ง เพื่อหลบการต่อสู้กันระหว่างทหารอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ก่อนที่ทั้งสองพ่อลูกจะถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทีมข่าวระบุว่าเป็นฝีมือทหารอิสราเอล สร้างความโกรธแค้นไปทั่วในปาเลสไตน์และนานาประเทศ
สองพ่อลูกชาวปาเลสไตน์ Jamal และ Muhammad al-Durrah ขณะพยายามหลบกระสุนปืนท่ามกลางการต่อสู้กันระหว่างทหารอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เมื่อปี 2000 ที่มา: France 2
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนหนึ่งในสหรัฐฯ เริ่มตั้งคำถามต่อวิดิโอดังกล่าวว่าเชื่อถือได้จริงหรือไม่ โดยได้หยิบยกข้อสังเกตต่างๆมาวิจารณ์ เช่น ดูเหมือนคลิปมีการตัดต่อ, มุมกล้องไม่ได้แสดงเหตุการณ์ทั้งหมด, ลำดับเหตุการณ์ไม่ตรงกับคำให้การของพยาน ไปจนถึงกระทั่งว่า สองพ่อลูกในข่าวไม่ได้เสียชีวิตจริง แต่อาจจะเป็นการ “จัดฉาก” ขึ้นเท่านั้น
แนวคิดนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เป็นการตั้งข้อสังเกตกับข่าวเหตุการณ์เดียว กลายเป็นการตั้งคำถามกับภาพและข่าวความสูญเสียอื่นๆของชาวปาเลสไตน์ด้วย พร้อมโจมตีว่าสื่อมวลชนหลายแห่งสมคบคิดกันเพื่อจัดฉากป้ายสีอิสราเอล หรือจ้างนักแสดงปาเลสไตน์มาแกล้งตายเพื่อจะได้ภาพข่าวที่ต้องการ เป็นที่มาของคำว่า Pallywood
กระแส Pallywood เริ่มลดลงไปบ้างหลังการกำเนิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยให้ประชาชนผู้เสพข่าวทั่วโลกได้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆในปาเลสไตน์กับตาตัวเองโดยตรง แต่องค์ประกอบบางส่วนในแนวคิด Pallywood ได้วิวัฒนาการกลายเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆ ที่มักจะเผยแพร่ในกลุ่มขวาจัดอเมริกันในเวลาต่อมา
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อมีเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงหรือสังหารหมู่ในอเมริกา กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งมักจะเผยแพร่ข้อกล่าวหาว่า การกราดยิงต่างๆนั้นเป็นเพียงการ “จัดฉาก” โดยหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างจำกัดสิทธิ์การครอบครองอาวุธปืนหรือลิดรอนเสรีภาพประชาชน
เท่านั้นยังไม่พอ ยังกล่าวหาด้วยว่าบรรดาเหยื่อกราดยิงและครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นเพียงนักแสดงเฉพาะกิจ (crisis actors) ที่เล่นบทบาทตบตาสื่อและประชาชน สร้างความเจ็บปวดให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังเช่นในเหตุกราดยิงโรงเรียนประถม Sandy Hook เมื่อปี 2012 จนครอบครัวเหยื่อเหตุกราดยิงครั้งนั้นถึงกับรวมตัวฟ้องร้องนาย Alex Jones เจ้าของสำนักข่าวแนวขวาจัดรายใหญ่ ซึ่งมีบทบาทในการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว จนชนะคดีในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ทฤษฎีสมคบคิดในลักษณะเดียวกันยังกลับมาปรากฎขึ้นในช่วงสั้นๆ หลังเหตุการณ์กองทัพรัสเซียทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ในเมือง Mariupol ประเทศยูเครน เมื่อต้นปี 2022 ซึ่งกลุ่มชาตินิยมและสื่อในสังกัดรัฐของรัสเซียพยายามบิดเบือนว่า ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็น “นักแสดง” ที่ยูเครนจัดฉากขึ้น เป็นต้น
เมื่อ ‘Mr. FAFO’ ระบาดมาถึงสื่อไทย
การสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาสรอบล่าสุด ได้ทำให้กระแส Pallywood กลับมาแพร่ระบาดในสังคมออนไลน์อย่างไม่ต้องสงสัย ท่ามกลางกระแสข่าวบิดเบือนจำนวนมากเกี่ยวกับสงครามกาซาที่กระจายอยู่เต็มโซเชียลมีเดีย มีทั้งเพื่อสร้างและทำลายความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของคู่ขัดแย้งบนความเข้าใจผิดของผู้เสพย์ข้อมูล
ตัวอย่างหนึ่งซึ่งมักจะปรากฎอยู่บ่อยๆ คือชายชายปาเลสไตน์คนหนึ่งที่กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่สนับสนุนรัฐบาลอิสราเอล ระบุว่าเป็น “นักแสดง” มากบทบาท เป็นทั้งทหารฮามาส สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้บาดเจ็บจากการโจมตีของอิสราเอล แม้กระทั่งศพผู้เสียชีวิต
ชายคนนี้ได้รับฉายาจากกลุ่มขวาจัดอเมริกันว่า “Mr. FAFO” ซึ่งเป็นคำแสลงอเมริกันหมายถึงคนที่รนหาที่ตาย (Fuck Around, Find Out – FAFO) ข่าวนี้ได้กระจายออกจากโซเชียลมีเดียของกลุ่มขวาจัดไปสู่สังคมออนไลน์ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว รวมถึงแอคเคาท์ทวิตเตอร์ทางการของรัฐบาลอิสราเอลด้วย โดยระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า Mr. FAFO คนนี้เป็นหลักฐานปฏิบัติการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของชาวปาเลสไตน์
ในกรณีประเทศไทย พบข้อมูลบิดเบือน คลิปปลอม เกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่มีคนดูหลายล้านวิวในโซเชียลมีเดียไทยด้วยกัน ส่วนในภาพรวมของสื่อมวลชนไทยจะเน้นการรายงานข่าวหรือข้อมูลการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮามาสจากแหล่งข้อมูลทางการหรือสำนักข่าวต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ จะมีบางสื่อที่รายงานโดยให้น้ำหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง เช่นกรณี เว็บไซต์ของช่อง Bright TV ได้หยิบยกเรื่องของ Mr. FAFO มาเผยแพร่ต่อ โดยเนื้อข่าวตอนนี้ระบุว่า:
“ทั้งนี้ ท่ามกลาง Saleh Aljafarawi นามแฝงของนาย FAFO ที่บงการอย่างสิ้นหวังและวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิดและการกล่าวอ้างทางโซเชียลมีเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มฮามาสใช้กลยุทธ์การโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจและฉายภาพอิสราเอลว่าเป็นผู้กดขี่ กลไกที่น่าละอายอย่างหนึ่งของฮามาสก็คือการอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 500 รายในโรงพยาบาลฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ชี้ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่านี่ไม่ใช่การโจมตีทางอากาศของอิสราเอล แต่เป็นจรวดที่ยิงผิดจากในฉนวนกาซา
เห็นได้ชัดว่า นอกเหนือจากการทำสงครามกับฮามาส เฮาซี และฮิซบอลเลาะห์แล้ว อิสราเอลยังต้องต่อสู้กับสงครามข้อมูลที่บิดเบือน/บิดเบือนด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม หากได้มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะพบว่านาย Saleh มีอาชีพเป็นอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเทอร์ชื่อดังในกาซาตั้งแต่ก่อนเริ่มสงครามแล้ว โดยเขาได้เผยแพร่คลิปวิดิโอ สตอรี่ และผลงานเพลงจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศอื่นๆทั่วโลก อีกทั้งยังทำงานอาสาเป็นเจ้าหน้าที่ให้แก่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกาซาด้วย (จึงเป็นที่มาของภาพนาย Saleh ในเครื่องแบบโรงพยาบาล)
มิได้มีเจตนาแฝงตัวเป็นบุคคลหลากหลายอาชีพแบบที่เข้าใจกัน และไม่เคยอ้างตัวว่าเป็นผู้บาดเจ็บจากเหตุโจมตีของอิสราเอล
นอกจากนี้ บางภาพที่นำมายำรวมกันและอ้างว่าเป็น Mr. FAFO ไม่ใช่ภาพของนาย Saleh ด้วยซ้ำ ดังเช่นภาพด้านขวามือที่ปรากฎข้างบนนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นภาพของ Mohammad Zendeq ชาวปาเลสไตน์อีกคนหนึ่ง ที่บาดเจ็บจากปฏิบัติการทางทหารโดยกองทัพอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ (ไม่ใช่ฉนวนกาซา) ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม หรือก่อนหน้าสงครามกาซารอบล่าสุดเสียอีก
ด้านทีมข่าว AFP Fact Check ในประเทศไทย ได้พิสูจน์แล้วว่า ภาพ “ศพ” ที่หลายคนอ้างว่าเป็น Mr. FAFO แกล้งตายนั้น จริงๆแล้วเป็นภาพเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่แต่งชุดประกวดงานวันฮาโลวีนในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ต่างหาก
นอกจาก Mr. FAFO แล้ว ข่าวบิดเบือน Pallywood เช่นนี้ยังปรากฎขึ้นในอีกหลายรูปแบบ เช่น เอาคลิปเบื้องหลังการถ่ายภาพยนตร์ในเลบานอน มาอ้างว่าชาวปาเลสไตน์กำลังแต่งหน้าและแต้มสีเลือด ให้ดูเหมือนว่าบาดเจ็บจากการโจมตีของอิสราเอล, เอาภาพนักกิจกรรมในประเทศอียิปต์นอนแกล้งตายเพื่อประท้วงรัฐบาล มาอ้างว่าชาวปาเลสไตน์แต่งกายเป็นศพ เพื่อหลอกตาสื่อมวลชน เป็นต้น
เครื่องมือทางจิตวิทยา?
แน่นอนว่าคำถามหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในใจหลายคนคือ ผู้ที่เผยแพร่และปั่นกระแส Pallywood เช่นนี้ มีจุดประสงค์เพื่ออะไร
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลไว้ว่า ผลกระทบหนึ่งจากทฤษฎีสมคบคิด Pallywood คือจะค่อยๆทำให้ประชาชนที่รับข่าวสารเกี่ยวกับสงครามกาซาเกิดความเคลือบแคลงใจ และเริ่มคิดว่าสื่อหรือโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์ไม่น่าเชื่อถือ จนทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเท็จ” ค่อยๆเลือนลงไป ทั้งที่มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงวิกฤติมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในกาซา
ดังที่ Sam Doak นักวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวบิดเบือน ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Rolling Stone ว่าแนวคิดเช่นนี้เสี่ยงทำให้ผู้ที่รับชมข่าวสารมีทัศนคติเชิงลบต่อชาวปาเลสไตน์ เพราะปักใจเชื่อว่าชาวปาเลสไตน์พยายามหลอกลวงประชาชนทั่วโลก และมองว่าข่าวเกี่ยวกับความสูญเสียของพลเรือนปาเลสไตน์เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น
“นี่คือการลดทอนความเป็นมนุษย์” Doak กล่าวสรุป
ข้อมูลสำหรับอ่านเพิ่มเติม
No, Palestinians Are Not Faking the Devastation in Gaza | Rolling Stone
Clip shows teenager in West Bank hospital, not faked injuries in Gaza | AFP Fact Check
A thread on Pallywood conspiracy theory | Matt Binder
พบข้อมูลบิดเบือน คลิปปลอม เกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส มีคนดูหลายล้านวิวในโซเชียลมีเดียไทย I BBC Thai