คอลเซ็นเตอร์ We Watch เจอคำถาม-ได้เบาะแสอะไร ในการเลือก สว.2567
นอกจากการตั้งคณะทำงานจับตาและสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุด “กติกาซับซ้อนที่สุดในโลก” ของเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย หรือ We Watch อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ We Watch คือการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน-แจ้งเบาะแสทุจริต รวมถึงไขข้อสงสัยของผู้สมัคร สว. และประชาชนทั่วไปในช่วงการเลือก สว. ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567
นับเป็นการทำงานของภาคประชาชนคู่ขนานไปกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เปิด “สายด่วน กกต. 1444” ให้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือก สว.
“เราตั้งศูนย์นี้มาไม่ใช่เพราะไม่ไว้ใจ กกต. แต่เราเปิดมาเพื่อความรวดเร็วในการรับเรื่องหรือตอบคำถามปัญหาต่างๆ ที่ผู้สมัคร สว. พบเจอได้ทันท่วงที” นนทวัฒน์ เหลาผา ตัวแทนจาก We Watch กล่าวถึงการทำงานของสายด่วนภาคประชาชนเพื่อตอบคำถามและรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการเลือก สว. 2567 ทางโทรศัพท์หมายเลข 02-114-3189
นอกเหนือไปจากการทุจริตหรือทำผิดกฎหมายว่าด้วยการเลือก สว. แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บั่นทอนและทำลายความชอบธรรมของกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ก็คือการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด (misinformation) และข้อมูลที่เจตนาสร้างความเสียหาย (disinformation) ซึ่งโคแฟคมองว่าการเปิดสายด่วนให้ข้อมูลและตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือก สว. ของ We Watch มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขความเข้าใจผิดและการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือก สว.
นนทวัฒน์ให้ข้อมูลว่า Call Center ของ We Watch รับเรื่องร้องเรียน-คำถามเกี่ยวกับการเลือก สว. ทั้งหมด 218 กรณี เกือบทั้งหมดคือ 210 กรณี เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจกฎกติกาการสมัคร อาทิ คุณสมบัติผู้สมัคร ข้อห้ามต่าง ๆ ในการสมัคร รวมทั้งคำถามเกี่ยวกับสถานที่สมัคร
ที่เหลืออีก 18 กรณี เป็นการแจ้งเบาะแส/ร้องเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติในช่วงการเลือก อาทิ ถูกหลอกให้ร่วมวงล็อบบี้ของผู้สมัคร มีโพยให้เลือกผู้สมัคร และการซื้อเสียง
คำถาม-ความสับสนเรื่องการรับสมัคร
ประเด็นที่มีผู้สอบถามเข้ามามากที่สุด คือ ความไม่เข้าใจเรื่องการสมัคร สว. เช่น สอบถามว่าตัวเองมีสิทธิ์สมัครไหม คุณสมบัติครบถ้วนไหม ขั้นตอนสมัครทำอย่างไร เป็นต้น
นนทวัฒน์มองว่า ไม่แปลกที่ผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกเป็น สว. จะไม่เข้าใจเรื่องคุณสมบัติการสมัคร เพราะนอกจากจะเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกภายใต้กติกานี้แล้ว กกต. ยังออกมาอธิบายทำความเข้าใจล่าช้า และระยะเวลาที่เปิดรับสมัครก็มีเพียง 5 วัน
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2560 ระบุว่า กกต. มีอำนาจประกาศวันรับสมัครได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ให้มีการเลือก สว. ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 พ.ค. 2567 กกต. จึงประกาศวันรับสมัครเป็นวันที่ 20-24 พ.ค. 2567 นับระยะเวลาตั้งแต่มี พ.ร.ก. ถึงวันรับสมัครราวหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น
“ผมเข้าใจว่า กกต. มีการชี้แจงขั้นตอนการสมัคร แม้จะบอกผ่านสื่อ แต่ช้ามาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาให้ทำการสมัครเพียงแค่ 5 วัน ซึ่งไม่เปิดรับสมัครวันเสาร์-อาทิตย์อีกต่างหาก ตรงนี้ทำให้ผู้ที่สนใจสมัครเตรียมตัวไม่ทัน จนเสียสิทธิ์ในการสมัคร” นนทวัฒน์กล่าว
ทีม We Watch ยังได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการดำเนินงานที่ล่าช้าในวันรับสม้ครอีกด้วย โดยผู้ร้องเรียนระบุว่าผู้สมัครต้องต่อแถวยาวนับร้อยคน เมื่อถึงเวลาปิดรับสมัครในวันนั้น มีผู้สมัครเสร็จสิ้นเพียงไม่กี่คน
ข้อสงสัยเรื่อง “คุณสมบัติต้องห้าม”
ประเด็นเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร สว. ที่มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามกับ We Watch มีดังนี้
1. การย้ายที่ทำงานสามารถสมัคร สว. ได้หรือไม่ เนื่องจากกติกาของ กกต. ระบุว่า “ต้องเคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันที่สมัคร”
นนทวัฒน์ยกตัวอย่างคุณสมบัติที่ กกต. กำหนดว่าต้องมีประสบการณ์การทำงานในกลุ่มอาชีพนั้นไม่น้อยกว่า 10 ปี มีผู้สนใจสมัคร สว.คนหนึ่งสอบถามว่า เขาทำงานก่อสร้างที่อำเภอหนึ่งรวม 3 ปี แล้วย้ายไปทำงานก่อสร้างที่อำเภออื่นรวม 7 ปี นับว่าประกอบอาชีพเดียวกัน 10 ปีหรือไม่ และใครจะเป็นผู้ลงนามรับรอง
“จริงๆ สมัครได้ ซึ่งก็เป็นอาชีพเดียวกัน แต่แค่ย้ายสถานที่ทำงาน และเรื่องการเซ็นรับรอง กกต. ระบุว่าใครรับรองก็ได้ แต่ถ้ารับรองเป็นเท็จ คนรับรองคนนั้นก็มีความผิด”
ทั้งนี้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ระบุว่า ผู้รับรองและพยานไม่จำเป็นต้องเป็นนายจ้างหรือสมาคมวิชาชีพหรือผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มนั้น ๆ แต่เป็นใครก็ได้ที่สามารถยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริง โดยต้องลงลายมือชื่อพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับรองและพยาน
2. การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 14 (21) ระบุว่าผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
มีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ We Watch ว่าเขาเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจริง แต่ทำเรื่องลาออกแล้ว แต่วันที่ไปสมัคร สว. กลับพบว่าฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของ กกต. (https://party.ect.go.th/checkidparty) ไม่อัพเดท ทำให้เขาหมดสิทธิการสมัคร
3. การไม่ไปเลือกตั้งท้องถิ่น
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 47 ที่ระบุว่า ผู้มีสิทธิสมัคร สว. “ต้องไม่เป็นบุคคลผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ระบุว่า คนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกตั้งซ่อมจะถูกจำกัดสิทธิลงสมัคร สว. เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธินั้น
Call Center ของ We Watch ได้รับแจ้งจากผู้สมัคร สว. คนหนึ่งว่าถูกตัดสิทธิ์เพราะไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากเขาไม่รู้ว่ามีการจัดการเลือกตั้งซ่อม
4.การแนะนำตัวผู้สมัครผ่านสื่อ
อีกเรื่องที่มีคนโทรเข้ามาสอบถาม We Watch จำนวนมากคือเรื่องการแนะนำตัวผู้สมัครผ่านสื่อออนไลน์
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 ระบุว่าผู้สมัครสามารถบอก ชี้แจง หรือแจกเอกสารแนะนำตัวเพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จักได้ โดยเอกสารแนะนำตัวต้องมีความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 ระบุข้อมูลส่วนตัว รูปถ่าย กลุ่มที่ลงสมัคร หมายเลขผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติและประสบการณ์ในการทำงาน
“คนโทรศัพท์มาถามว่า กระดาษ A4 นี้ เอามาจากไหน ต้องไปเอาที่ กกต. หรือไม่ หรือเอามาเขียนเอง หามาเองและเขียนเองหรือไม่ คนก็งงว่าการแนะนำตัวควรจะทำอย่างไร บางคนบอกว่า ระเบียบมันยากเกินไป วุ่นวาย สับสน ไม่สมัครหรอก” นนทวัฒน์ จาก We Watch กล่าว
5. ความสับสนในการเลือกกลุ่มอาชีพ
เรื่องความสับสนในการเลือกกลุ่มอาชีพว่าจะเข้าสมัครกลุ่มไหนใน 20 กลุ่มที่ กกต.กำหนด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้สับสนและโทรมาสอบถามจำนวนมาก
ตัวแทน We Watch กล่าวว่า ผู้สมัครหลายคนสับสนว่าอาชีพของเขานั้น สามารถสมัครกลุ่มอาชีพไหนได้ เช่น อาชีพขายของออนไลน์ เขาจะไปอยู่กลุ่มอาชีพสื่อไหม หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยไหม เพราะอาชีพนี้คาบเกี่ยวกับหลายกลุ่มอาชีพที่สามารถสมัครได้
อีกกลุ่มที่มักมีปัญหาเกิดความสบสันคือกลุ่มข้าราชการ จะเห็นได้ว่ากลุ่มอาชีพอิสระ (กลุ่มที่ 20) เปิดช่องให้ข้าราชการลงสมัครจำนวนมาก
“ไม่แปลกที่ผลการเลือก สว. ที่ออกมาจะมีข้าราชการเยอะ ทั้งในกลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมถึงข้าราชการทั่วไปที่เป็นผู้สูงอายุ เกิน 60 ปีขึ้นไป ก็สามารถลงกลุ่มผู้สูงอายุได้ มันก็มีความสับสนตรงนี้”
เรียกร้อง กกต. เปิดเผยข้อมูล
แม้ สว. ชุดที่ 13 จะปฏิบัติหน้าที่ในสภาแล้วโดยนัดประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธานเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 แต่สังคมยังคงมีคำถาม-ข้อสงสัย-ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการเลือกและคุณสมบัติของ สว. บางคน ซึ่ง We Watch เห็นว่า กกต. ควรเปิดเผยข้อมูลข้อร้องเรียนและความคืบหน้าของการตรวจสอบต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ และสื่อสารกับสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่
“การเลือก สว. ครั้งนี้มีข้อครหามากมาย ทั้งในเรื่องกฎกติกาการเลือกที่ซับซ้อน และเรื่องสำคัญคือคุณสมบัติของ สว. รวมถึงการร้องเรียนเรื่องการซื้อเสียง บล็อกโหวต กกต. ควรเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อสังคมโดยด่วน เพราะสังคมจะได้สิ้นข้อสงสัยในตัว สว. ชุดนี้” นนทวัฒน์ให้ความเห็น
แม้ กกต. จะบอกว่าเรื่องร้องเรียนมีจำนวนมาก หลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาในการรวบรวมหลักฐานและสอบสวน แต่ We Watch มองว่า กกต. ควรเร่งสอบสวนเรื่องร้องเรียน เพราะหากใช้เวลานานกว่านี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำงานของ สว. ทั้งชุด
ขณะเดียวกัน สว. ที่ได้รับเลือกเข้ามาก็ควรมีบทบาทในการผลักดันให้ กกต. เร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนด้วย
นนทวัฒน์ยังเรียกร้องให้ สว. ชุดที่ 13 พิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกติกาการได้มาซึ่ง สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหาร 2557 เพราะเป็นกติกาที่ส่งผลให้เกิดข้อครหาและความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลือก สว. อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“อยากให้ สว. ชุดนี้เร่งแก้ไขหรือยกเลิกกฎกติกาการได้มาซึ่ง สว. แบบเลือกกันเองนี้เป็นอันดับแรก เพื่อให้การเลือกตั้ง สว. สมัยหน้าเป็นการได้ สว. ที่มาจากตัวแทนประชาชนที่แท้จริงจริงๆ” นนทวัฒน์กล่าว
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
- “หมอเกศ” เกศกมล เปลี่ยนสมัย ทำอะไรใน กต.ตร.ทุ่งสองห้อง-บก.น.2-กระทรวงแรงงาน-กมธ.กฎหมาย?
- กกต. ประกาศรับรอง สว.67 กับข้อเท็จจริงเรื่อง “รับรองก่อน สอยทีหลัง”
- สังเกตการณ์ สว.67 สิ่งที่ กกต. บอก กับ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
- เลือก สว. ระดับประเทศ: เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ 153 ผู้สมัครกลุ่มสาธารณสุข
- สว. 2567 กับการถูกตีตราว่า “สว. ชุดจับสลาก”
- ทำนาย 8 ข่าวลวง-ความเข้าใจผิด ในการเลือก สว.2567