เมื่อคนไร้เสียงลุกขึ้นมาส่งเสียงจากการทำงานแสวงหาความจริงร่วม ในงาน Trusted Media Summit APAC 2022

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 Google News Initiative ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จัดการประชุม Trusted Media Summit APAC 2022 ประจำประเทศไทย ซึ่งมีเจตจำนงในการรวมตัวของคนทำงานด้านสื่อ เพื่อค้นหาแนวทางและการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ข่าวออกไป และทำให้ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย โดยอีกช่วงที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือช่วง Voice of the Voiceless: เสียงสะท้อนจากภาคสังคมในการแสวงหาความจริงร่วม ซึ่งเป็นการรวมพลังเสียงของภาคประชาสังคมและคนที่ไม่ได้มีโอกาสเปล่งเสียง ให้มีพื้นที่เพื่อส่งเสียงไปยังสื่อมวลชน นักการศึกษา และนักวิชาการให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสื่อสารประเด็นอื่นๆ มากขึ้น

เริ่มต้นด้วย กมล หอมกลิ่น – อีสานโคแฟค เริ่มต้นกล่าวว่า เสียงของคนไร้เสียงมีอยู่จริง แต่เราพยายามที่จะสร้างผู้บริโภคที่รู้เท่าทันสื่อและเป็นนักสื่อสารไปพร้อมๆ กันได้ เราเจ็บปวดเหลือเกินเวลาที่ไปตามชุมชนต่างๆ เห็นผู้สูงวัยใช้โทรศัพท์มือถือเล่นไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ของเขา และจากที่เขาเคยเชื่อรัฐบาลในวันนั้น วันนี้เขาเชื่อโทรศัพท์มือถือ แต่เขาก็โดนหลอกอยู่ดี ผมคิดว่าวันนี้ถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาร่วมกันทำงาน มันเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่น้อยกว่าการเมือง เพราะสื่อก็มีทั้งข่าวลวง และการหลอกหลวง นั่นคือความจำเป็นที่เราต้องออกมาทำงาน ย้ำว่าทุกคนจงเชื่อว่าเราสามารถดึงคนที่ไร้เสียงขึ้นมาเป็นผู้บริโภคได้ในที่สุด

เชลศ ธำรงฐิติกุล – ผู้ใหญ่บ้านชุมชนหนองหญ้าไซ กล่าวว่า ชุมชนของตนเองนั้นทำวิทยุชุมชนในกลุ่มประเภทไม่แสวงหาผลกำไร เน้นการทำวิทยุเพื่อเข้าถึงชุมชนและสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ควรรับทราบให้ประชาชนในพื้นที่ สิ่งสำคัญในการทำวิทยุคือการส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันในทุกๆ เรื่อง โดยการสร้างคุณค่าให้กับสื่อนั้นใช้เวลามามากกว่า 19 ปี เราใช้เครื่องมือวิทยุชุมชนในการส่งเสริมให้ประชาชนออกมาตรวจสอบข่าวลวง เพื่อปกป้องตนเองและครอบครัว รวมถึงการใช้ประเพณีในการส่งเสริมและหนุนเสริมร่วมกันสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงสื่อใหม่ ยิ่งเราสามารถสร้างและทำหน้าที่สื่อชุมชนอย่างเข้มแข็ง ก็จะยิ่งได้รับความร่วมมือมากขึ้นเท่านั้น

มะรูฟ เจะบือราเฮง – Digital4Peace (Deep South Cofact) กล่าวว่า ความรุนแรงในสังคมแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือความรุนแรงโดยตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เราในฐานะของคนทำสื่อจะทำอย่างไรที่ทำให้เขามีพลังในการออกไปใช้ชีวิตและไม่ต้องพบเจอกับความรุนแรงทั้ง 3 ประเภทได้ เช่น การที่ประชาชนสามารถใช้เครื่องมือในการแบ่งปันสื่อ และสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้ด้วยมือของเขาเอง ซึ่งการสร้างสรรค์สื่อให้ทรงพลังไม่ได้เกิดได้แค่คนเดียว แต่เกิดขึ้นจากหลากหลายพลังร่วมกัน

กฤษณเดช โสรส – สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย กล่าวต่อว่า เรามีความเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุถ้าเขาได้รับการเรียนรู้ที่ดี และในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกหลอกหลวงในเรื่องสุขภาพเช่นเดียวกัน โดยผมและภาคีเครือข่ายและ สสส. ได้ริเริ่มการจัดหลักสูตร “สูงวัยเท่าทันสื่อ” เพื่อวิเคราะห์สื่อและสร้างการรู้เท่าทันสื่อ โดยได้กลั่นออกมาเป็น 3 ข้อที่เป็นคาถาป้องกันข่าวลวง คือจำเป็นไหมในการนำเสนอ หาข้อมูลมาประกอบการู้เท่าทัน และเดือดร้อนใครไหมในการนำเสนอข่าว โดยจากการอบรมนี้จะส่งผลทำให้เกิดการเฝ้าระวังสื่ออย่างน้อย 20 จังหวัดๆ ละ 20 คน รวมกันประมาณ 400 คน

อิงฟ้า ชัยยุทธศุภกุล – ผู้แทน Girls in Tech Detecthron กล่าวว่า สื่อในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าสมัยก่อน แต่ด้วยความที่ง่าย เราก็ต้องระมัดระวังในการค้นหาข้อมูลมากขึ้นเหมือนกัน ซึ่งเราในฐานะผู้เสพสื่อก็ต้องใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ข่าวลุงพลที่สื่อมีการกระพือในการนำเสนอจนหลุดจากต้นทางที่ควรนำเสนอ สิ่งนี่เองทำให้ตนเองรู้สึกว่าสื่อไม่ได้มีความซื่อตรงขนาดนั้น กลับกันตนเองยังตั้งคำถามว่าจริยธรรมสำคัญอย่างไรในวันที่เรตติ้งก็สำคัญเช่นกัน

พระมหานภันต์ สนติภทโท – มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) กล่าวปิดท้ายในงานว่า เราเวลาทำเรื่องดีๆ สื่อมักจะไม่สนใจ และพอเราไม่ระวังเรื่องสันติภาพกับเสรีภาพ ก็อาจจะส่งผลต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ ฉะนั้น Trusted Media ในความหมายที่แท้จริงคือมันไม่มีอยู่จริง เพราะมันสร้างปัญหาจากการที่เรามัวแต่สนใจว่าแบรนด์ไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน วันนี้เรามีแต่ Trusted Mindset คือตั้งหลักก่อนที่จะเชื่อมั่นอะไรก็ตาม ใช้หลักกาลามสูตร 10 ประการในการรู้เท่าทันตนเองและสื่อได้ แน่นอนว่าทุกท่านสามารถช่วยกันได้ในการสร้างสันติภาพและการรู้เท่าทันสื่อให้ได้




