มองกระแส ‘เกลียดกลัวอิสลาม’ ลดได้ เริ่มจากแยกแยะระหว่าง‘ศาสนา-ผู้นับถือ’ บวกรู้เท่าทัน ‘สื่อ-ใจตนเอง’

Editors’ Picks

เข้าสู่เดือนกันยายนของทุกปี หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีการรำลึกถึงคือ “9/11” ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ กลางมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 ซึ่งนอกจากจะนำความสูญเสียของผู้คนจำนวนมากในเหตุการณ์นั้นแล้ว ยังทำให้กระแส “เกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia)” เกิดขึ้นและลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่หลังจากนั้นอีก 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) ที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ชาวมุสลิมถูกมองอย่างเหมารวมว่านิยมความรุนแรง

รายการ “Cofact Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 ชวนพูดคุยกับ กิติพัฒน์ ชื่นสุขจิตต์ ผู้สื่อข่าวภาคภาษาอังกฤษ จาก Thai PBS World ในประเด็น “Disinfo & Islamophobia: Do facts overcome fear? Then whats else?” กันที่ “มัสยิดฮารูณ” ย่านบางรัก-เจริญกรุง หนึ่งในมัสยิดเก่าแก่ในกรุงเทพฯ

กิติพัฒน์ เริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ของมัสยิดฮารูณ ซึ่งก่อตั้งโดย โต๊ะฮารูณ บาฟาเดน อพยพมาจากดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก มีผู้คนบนเกาะต่างๆ บริเวณนั้น เช่น ชวา สุมาตรา อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นจำนวนมาก มัสยิดหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (ปี 2371) ในยุคแรกเป็นอาคารไม้ ต่อมาบุตรชายของโต๊ะฮารูณ เห็นว่าอาคารเริ่มทรุดโทรม จึงก่อสร้างอาคารหลังใหม่ทำจากปูน ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นหลักฐานว่า ประเทศไทยอยู่กันแบบสงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรมมาหลายร้อยปีแล้ว

ด้วยความที่มีพื้นเพเป็นมุสลิมและเติบโตในกรุงเทพฯ กิติพัฒน์ เล่าว่า ชีวิตวัยเด็กถือว่าโชคดีที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์ความเกลียดกลัวอิสลามจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน โดยตั้งแต่ช่วงประถม – ม.ต้น เรียนในโรงเรียนของชาวคริสต์ ขณะที่  ม.ปลาย เรียนที่โรงเรียนวัดของชาวพุทธ แต่สุดท้ายก็มาเจอในช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งเรียนหลักสูตรนานาชาติ ได้พบกับเพื่อนนักศึกษาจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากนักศึกษาที่มาจากยุโรป ซึ่งไม่เข้าใจอิสลามและมองว่าอิสลามไม่เป็นมิตร

“สมมติคุณอยู่ที่สนามบิน แล้ววิทยุก็แจ้งเข้ามาว่ามีคนน่าสงสัยเข้ามา ต้องระวัง แล้วขณะเดียวกันก็มีคน 3 คนเดินเข้ามา คนแรกเป็นฝรั่งตะวันตกเดินถือกระเป๋าใหญ่เข้ามา คนที่สองหน้าจีนๆ เลย เอเชียเดินถือกระเป๋าใหญ่เข้ามา คนที่สามหน้าอาหรับมาเลย มีหนวดเครา เดินถือกระเป๋าใหญ่เข้ามา อันนี้คุณจะกลัวใคร? คนที่มีความรู้เท่าทันเรื่องนี้อยู่แล้วเขาก็อาจแยกแยะได้ แต่ต้องยอมรับว่าอีกหลายๆ คนเขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจตรงนี้ เขายังติดภาพจำกับมุสลิมหัวรุนแรงที่ถูกสร้างภาพลักษณ์จากข่าวที่มันเผยแพร่ในโลกออนไลน์” กิติพัฒน์ ยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม กระแสเกลียดกลัวอิสลามไม่ได้เพิ่งมาเกิดหลังเหตุการณ์ 9/11 แต่สามารถย้อนไปได้ไกลถึงยุค “สงครามครูเสด” ความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมเมื่อเกือบ 1,000 ปีก่อน ถึงกระนั้น อยากให้ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “อิสลาม” ที่เป็นชื่อของศาสนา กับคำว่า “มุสลิม” ที่หมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่ง “คำสอนในศาสนาอิสลามนั้นดีอยู่แล้ว..แต่ไม่ได้หมายความว่ามุสลิมทุกคนจะเป็นตัวอย่างที่ดี” แต่คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าถึงสื่อที่อธิบายในลักษณะนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลามถูกนำไปเชื่อมโยงกับความรุนแรง

และแม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีกระแสเกลียดกลัวอิสลามรุนแรงเท่าโลกตะวันตกที่มีประวัติศาสตร์ร่วมตั้งแต่สงครามครูเสดมาจนถึงเหตุการณ์ 9/11 แต่ชาวไทยก็ต้องรู้เท่าทันตนเอง รู้ทันเหตุการณ์ที่จะมากระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก (Trigger) แต่ความท้าทายคือ “แม้จะเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงชัดเจนแล้ว..แต่คนก็ยังเลือกเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ” สำหรับตนเองในฐานะคนทำงานสื่อ ทำได้เพียงทำหน้าที่ให้ดีที่สุดด้วยการค้นหาข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ เป็นเรื่องน่ายินดีที่โคแฟคเข้าไปทำงานกับชุมชนมากขึ้น เพื่อให้การรู้เท่าทันสื่อลงไปถึงระดับชาวบ้าน ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลขาวสารที่ถูกตรวจสอบแล้ว” 

หนึ่งในตัวอย่างข่าวลือ-ข่าวลวง ที่เกี่ยวข้องกับกระแสหวาดกลัวอิสลามในประเทศไทย คือ “ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแชร์ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ นับถือศาสนาอิสลาม แล้วกลายเป็นกระแสขึ้นมา” ซึ่งเรื่องนี้มุมหนึ่งเข้าใจได้ว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยอยากได้ผู้นำประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ แต่อีกมุมหนึ่ง ชาวพุทธและชาวมุสลิมในประวัติศาสตร์ไทย อยู่ร่วมกันมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุรัตนโกสินทร์ อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกีดกันชาวมุสลิม 

“ในมุมสื่อมวลชน เราก็อยากเห็นสังคมไทยมีการรู้เท่าทันสื่อที่มากขึ้น เราต้องทำต่อไป ให้เขารู้ต่อๆ ไปเรื่อยๆ ในข้อมูลเดิมๆ ที่เราอยากจะให้เขารู้ ผมค่อนข้างเปิดกว้างมากในการรับฟังข้อมูลของทุกคน เวลาผมไปสัมภาษณ์ คนที่ไม่ชอบมุสลิมก็มี ผมก็ไม่ได้เกลียดเขานะ เพราะในฐานะสื่อมวลชน เราเปิดใจฟังทุกคนอยู่แล้ว ทุกคนมีความคิดของเขาอยู่แล้ว อย่างมีกลุ่มพุทธที่เขาไม่เอาอิสลามเลย ก็เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นมุสลิม เราก็เปิดใจฟังสิ่งที่เขาคิด ในขณะที่เราก็ต้องนำเสนอความจริงต่อไปแม้ว่าเขาจะมีอคติ ซึ่งผมบอกว่าต่อให้เป็นมุสลิมก็ไม่แปลกอะไร เพราะมุสลิมที่เป็นระดับผู้นำในสยาม ก็มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชแล้ว” กิติพัฒน์ กล่าว

กิติพัฒน์ ย้ำว่า “มุสลิมอยู่ในสังคมไทยมาตลอดและไม่เคยมีการแบ่งแยก แต่เกิดจากกลุ่มที่มีแนวคิดเกลียดและกลัวอิสลาม เข้าใจว่ามาจากความกลัว เช่น กลัวว่าประเทศไทยจะหันไปใช้ระบบกฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) หรือมีภาพจำผูกติดระหว่างศาสนาอิสลามกับกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง อาทิ อัลกออิดะห์ ฮิสบอลเลาะห์ ไอซิส กลุ่มเหล่านี้สามารถถูกยกขึ้นมาปั่นกระแสเกลียดกลัวอิสลามได้ตลอดเวลา แต่ก็ต้องย้ำเรื่องการแยกแยะระหว่างศาสนาอิสลามกับชาวมุสลิม”

นอกจากนั้นต้องรู้เท่าทันผู้เผยแพร่ข้อมูลแต่ละแหล่งด้วยว่ามีแนวคิดอย่างไร เช่น การทำข่าวความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะสามารถสัมภาษณ์นักวิชาการฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพียงฝั่งเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นการบอกเล่าเพียงด้านเดียว (One Sided Story) และทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะข่าวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งควรต้องถูกทำให้รอบด้านและกลมกล่อมในเรื่องเดียว  หรือหากทำให้รอบด้านในเรื่องเดียวไม่ได้ก็ต้องทำอีกเรื่องเสริมขึ้นมาเพื่ออธิบายเพิ่มเติม การพูดคุยกับคนก็เช่นกัน เมื่อเรารู้ว่าคนที่เราคุยด้วยมีแนวคิดอย่างไรแล้ว เราก็ควรที่จะอยากจะรู้ข้อมูลในอีกมุมหนึ่งที่ต่างออกไปด้วย หรือก็คือการรู้จักรับข้อมูลให้รอบด้าน 

หรือแม้แต่สื่อมวลชน จะบอกว่าสื่อเป็นกลางทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะสื่อเลือกข้างก็มีอยู่ ซึ่งไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก เพราะแต่ละสื่อมีอิสระในการเลือกทำสื่อของตนเอง จึงต้องอยู่ที่ผู้รับสารที่จะต้องรู้ว่าสื่อสำนักไหนมีแนวคิดแบบใด “ปัญหาคือ ผู้รับสารมักเชื่อแต่สื่อที่นำเสนอในตนเองอยากฟัง โดยไม่คิดจะเข้าไปหาข้อมูลอีกด้านหนึ่ง” จึงอยากเน้นย้ำความสำคัญเรื่องของการมองให้รอบด้าน ซึ่งในทางกลับกันในหมู่ชาวมุสลิมก็มีกลุ่มที่เกลียดกลัวโลกตะวันตกอย่างไม่มีเหตุผลเช่นกัน”

“อัลกอริทึมของสื่อสังคมออนไลน์ ยังทำให้ผู้คนติดกับดักห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber)” หมายถึงปรากฏการณ์ของห้องที่เมื่อเราอยู่ในนั้นแล้วพูดอะไรออกไปก็จะได้ยินสิ่งที่พูดสะท้อนกลับมา ก็เหมือนกับการข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ที่แต่ละแพลตฟอร์มจะมีอัลกอริทึมคอยจดจำว่าเราค้นหาหรืออยากรู้เรื่องอะไร แล้วนำเสนอสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนเราเชื่อว่าสิ่งนั้นจริงหรือถูกต้องแล้ว “แต่ปรากฏการณ์นี้ก็สามารถเกิดได้จากสังคมออฟไลน์เช่นกัน” หากเลือกพูดคุยเฉพาะแต่กับคนที่คิดเหมือนกันเท่านั้น

หมายเหตุ : ยังมีการสนทนาที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1049142393290054/?locale=th_TH