2566‘ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A’ป่วยแล้วอาการรุนแรงกว่า‘โควิด’จริงหรือ? Special Report 17/66
“เฟคนิวส์ อย่าแชร์!! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีอาการอาเจียน ปัสสาวะราดเฉียบพลัน รุนแรงกว่าโควิด-19 กรมควบคุมโรคเผยข้อมูล” นี่คือข้อความถูกแชร์บนโลกออนไลน์ และมีผู้ส่งมาฝากให้ผู้เขียนช่วยค้นหาหน่อยว่าเป็นจริงหรือไม่? ซึ่ง ณ วันที่ผู้เขียนได้รับและลองค้นหาข้อมูล (วันที่ 16 ต.ค. 2566) เบื้องต้นพบรายงานจาก ศูนย์ต่อค้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าเป็น “ข่าวปลอม” อย่าแชร์
โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ แจ้งเตือนเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2566 อ้างอิงข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อคำเตือนโดยระบุว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะมีอาการปวดหัว อาเจียน ฉี่แตกเฉียบพลันอย่างรุนแรง และมีความรุนแรงมากกว่าโควิด-19 ทุกสายพันธุ์นั้น ข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้อง ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้อธิบายว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza H1N1) จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม เจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ บางรายอาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ส่วนโรคโควิด-19 มีลักษณะทางระบาดวิทยาคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดตามฤดูกาล โดยอาการของโรคโควิด-19 คือมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจสามารถแพร่ติดต่อได้รวดเร็ว “อาการป่วยคล้ายกัน ไม่ได้มีความรุนแรงมากกว่ากัน แต่คล้ายกันตรงที่กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ เด็ก หากติดเชื้ออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้” เช่น ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น โดยการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่โดยปกติแพทย์จะพิจารณาให้ยาโอเซลทามิเวียร์ในกลุ่มคนที่มีอาการรุนแรง หรือมีไข้สูง หรือคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
บทความ “ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu)” โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่า ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมี 3 ชนิด (type) คือ A, B และ C ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด
เชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อย (subtype) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ชนิดย่อยของไวรัส A ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในคนที่พบในปัจจุบันได้แก่ A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ส่วนไวรัสชนิด B ไม่มีแบ่งเป็นชนิดย่อย ปัจจุบันสามารถพบ hemagglutinin (H) ที่แตกต่างกันถึง 15 ชนิด และ neuraminidase (N) 9 ชนิดของไวรัสชนิด A
แต่มีเพียง H1N1 และ H3N2 ที่พบติดเชื้อในคนบ่อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแอนติเจนที่เกิดได้บ่อยทำให้มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นต่างสถานที่และต่างระยะเวลา ดังนั้นจึงต้องมีระบบการเรียกชื่อเพื่อป้องกันความสับสน คณะผู้เชี่ยวชาญได้กำหนดให้เรียกชื่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามหลักสากลทั่วโลกดังนี้ ชนิดไวรัส/ชื่อเมืองหรือประเทศที่พบเชื้อ/ลำดับสายพันธุ์ที่พบในปีนั้น/ปี ค.ศ.ที่แยกเชื้อได้/ชนิดย่อยของ H และ N เช่น A/Sydney/5/97(H3N2), A/Victoria/3/75/(H3N2)
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
โดยผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน
บทความ “โรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่” โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป
โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ส่วนไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดจากการเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น rhinovirus, adenovirus เป็นต้น โดยไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอและการจามของผู้ป่วย เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันตามอายุ โดยในกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นจะมีอาการของไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร ส่วนในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง
สำหรับ “กลุ่มเสี่ยง” ที่เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการรุนแรง เช่น หญิงมีครรภ์ , เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี , บุคคลที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป , ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย มะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วน “ภาวะแทรกซ้อน” ที่อาจพบได้ในกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อ แบ่งเป็นภาระแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ
ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและให้นอนพักผ่อน ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัส โอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
สำหรับ “วิธีป้องกันการติดเชื้อ” ได้แก่ 1.ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย 2.ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น 3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ 4.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
และ 5.ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ในการผลิตวัคซีนแต่ละปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน และเนื่องจากระยะก่อโรคสั้น จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันโรค ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยปัจจุบันกรมควบคุมโรค ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฟรี ป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ ครอบคลุมสายพันธุ์แพร่ระบาดตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก (WHO)
สำหรับ “โรคโควิด-19” หรือ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นตระกูลของไวรัสที่ก่อให้อาการป่วยตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงมาก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) เป็นต้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์
เชื้อดังกล่าวก่อให้เกิดอาการป่วยระบบทางเดินหายใจในคน และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ โดยเชื้อไวรัสนี้พบครั้งแรกในการระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปลายปี 2019 (2562) ผู้ติดเชื้อจะอาการทั่วไป ได้แก่ อาการระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบาก ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดออักเสบ ไตวาย หรืออาจเสียชีวิต
วันที่ 9 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่คำแนะนำ “รู้ทัน ป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์” ระบุอาการต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อ คือ “อาการเบื้องต้น” เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส กับ “อาการอื่นๆ ที่พบได้ และควรเฝ้าระวัง” เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ มีผื่นขึ้น
“การระบาดของโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?” ย้อนไปวันที่ 28 ม.ค. 2566 นพ.จักกพัฒน์ วนิชานันท์ เขียนบทความ “โควิด-19 ยังไม่ไปไหน ไข้หวัดใหญ่ก็ต้องระวัง” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถติดต่อระหว่างคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัสละอองฝอยของน้ำมูกและเสมหะ ผ่านการไอหรือจาม
ปัจจุบันโรคโควิด-19 ยังถือว่ามีความชุกสูงแต่ความรุนแรงของโรคลดลง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคทั้งจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ “ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อโรคทั้ง 2 ชนิดร่วมกันได้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น” โดย อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ไอ เจ็บคอ คัดจมูกหรือมีน้ำมูก มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบเหนื่อย เมื่อมีภาวะปอดอักเสบ
วันที่ 10 พ.ค. 2566 กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากประเทศไทยเวลานั้นกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยหนักและอาจถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ได้แก่ 1.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน 2.ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย 3.ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
4.ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6.โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งทั้ง 7 กลุ่มดังกล่าว ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหากติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน จึงแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19
วันที่ 19 ส.ค. 2566 สำนักข่าว Hfocus ซึ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพ รายงานโดยอ้างถึง กรมควบคุมโรค ที่ชี้แจงกรณีประชาชนข้อกังวลว่า เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และสภาพร่างกายมีความบกพร่องหลายส่วน ทำให้เวลาติดเชื้อไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ หรือติดเชื่ออื่นๆ หรือมีโอกาสเจ็บป่วย แล้วอาการรุนแรงมากขึ้น
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะจริงๆ แล้วภูมิคุ้มของร่างกายสามารถแยกแยะได้ มีความจำเพาะต่อเชื้อโรค เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็จะป้องกันเฉพาะไข้หวัดใหญ่ หรือฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก็ป้องกันเฉพาะโควิด แต่จะมีภูมิคุ้มกันบางส่วนที่เป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่อาจจะป้องกันหลายโรคพร้อมกัน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะช่วยเหลือกัน คือช่วยร่างกายให้กำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะบอกว่าฉีดวัคซีน หรือเคยติดโควิดมาก่อนแล้วจะมีผลให้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือเชื้ออื่นรุนแรงขึ้นนั้นไม่จริง
“มันไม่มีข้อมูลที่สะท้อนไปในทางนั้น เพราะความรู้ที่ชัดเจน และรับรู้ในวงกว้าง ก็ยังเป็นเรื่องความจำเพาะ ไม่ได้มีผลอะไร แล้วอย่าลืมว่า โควิดเป็นโรคที่มีการระบาดทั่วโลก หากมีปัญหาก็มีปัญหาทั่วโลก ไม่ใช่จะมีปัญหาแค่ในประเทศไทย ซึ่งก็ยังไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ประเทศอื่นออกมาให้ข้อมูลในแนวนี้ อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกัน เป็นความรู้สากล หากมีปัญหานี้ประเทศอื่นก็น่าจะมีการพูดคุย หรือมีความกังวลในเรื่องนี้เหมือนกัน ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาการระบาดของโรคโควิดรุนแรงนักเมื่อเทียบกับประเทศแถบตะวันตก หรืออเมริกา หากมีปัญหาอย่างที่ว่าก็ต้องเกิดก่อนในประเทศที่มีการระบาดมาก” นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (19 ส.ค. 2566)
ยังมีคำอธิบายเพิ่มเติมจากรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กรณ๊หลายคนที่เคยติดโควิด แล้วเกิดการติดเชื้อหวัดจึงรู้สึกว่าตัวเองมีอาการหนักกว่าเดิม แต่จริงๆ แล้ว การติดเชื้อหวัดต่างๆ แล้วอาการรุนแรงมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงบ้าง ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ 2-3 ปัจจัย อันแรกคือตัวผู้รับเชื้อเอง คนที่ร่างกายแข็งแรง โอกาสจะมีอาการรุนแรงก็จะน้อย คนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก กลุ่มที่มีโรคประจำตัวหลายโรค โอกาสที่จะมีอาการมากก็เยอะ ปัจจัยที่ 2 คือเชื้อที่ระบาด ซึ่งตอนนี้ (สิงหาคม 2566) ที่ระบาดในไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเยอะ คือเชื้อ H1N1 ซึ่งเป็นเชื้อที่เจอมาตั้งแต่ปี 2009 ปีนี้ก็เป็นปีที่ 14 แล้ว ซึ่งทราบกันดีว่า เป็นเชื้อที่ไม่ได้ก่อความเสียหายรุนแรงอะไร
ประกอบกับปัจจัยที่ 3 คือ หากฉีดวัคซีนป้องกันก็จะทำให้ติดแล้วมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย ทั้งนี้ ประเทศไทยปลอดไข้หวัดใหญ่อยู่ 2 ปี เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 แล้วคนมีการป้องกันตัวกันอย่างเข้มข้น สวมหน้ากากกันทั้งประเทศ จึงเป็นการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ไปด้วย แต่ไข้หวัดใหญ่ก็เริ่มกลับมาเมื่อปี 2565 ที่เริ่มลดมาตรการในประเทศตามความเสี่ยงที่ลดลง แล้วปีนี้ก็มีการระบาดมากขึ้น หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ความรุนแรงไม่ได้แตกต่างไปจากอดีต
ในวันที่ 25 ก.ย. 2566 Hfocus รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า หลังจากประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 ประชาชนเลือกสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ พบว่าแนวโน้มของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ เพิ่มสูงขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า การสวมหน้ากากอนามัยสามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างดี
“แม้สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้จะพบผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.9 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.002 เฉพาะสัปดาห์ที่ 10-16 กันยายน มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 12,000 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง”” นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (25 ก.ย. 2566)
ปลัดกระทรวงสาธาณสุข ยังอธิบายความแตกต่างด้านอาการของไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 คือ โรคโควิด-19 อาการมักมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย อาจมีหายใจลำบาก ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง น้ำมูกใส เบื่ออาหาร
ในวันที่ 2 ต.ค. 2566 สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ว่า ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ลดลง แต่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่ยังระบาดหนัก คือ 1.อยู่ในรอบการระบาดฤดูฝน 2.การสวมหน้ากากอนามัยลดลง ไม่เหมือนในอดีตที่มีโควิดระบาด และ 3.ปริมาณความเข้มข้นของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในร่างกายที่มีมากกว่าโควิด เนื่องจากผลพวงของการติดเชื้อโควิดที่ผ่านมา “คนอาจมีภูมิคุ้มกันโควิด แต่ไม่มีภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่” ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นกลไลการแข่งขันธรรมชาติของเชื้อไวรัส
วันที่ 5 ต.ค. 2566 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เปิดเผยว่า พบการระบาดของไข้หวัดใหญ่แซงหน้าโควิด-19 มา 2 เดือนแล้ว และแนะนำว่า ขอแนะนำให้คนที่ปีนี้ ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นใหม่และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้ไปรับวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นใหม่และไข้หวัดใหญ่อย่างละ 1 เข็ม ซึ่งสามารถให้วัคซีนพร้อมกันได้
โดยสรุป ณ วันที่ 16 ต.ค. 2566 ผู้เขียนพยายามค้นหา แล้วพบว่า 1.มีสื่อหรือหน่วยงานใดที่แจ้งเตือนว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีอันตรายรุนแรงกว่าโควิด-19 บ้างหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ยังไม่พบ” การรายงานดังกล่าว โดยมีเพียงกรมควบคุมโรค ที่ชี้แจงว่าปี 2566 สายพันธุ์ที่ระบาดคือสายพันธุ์ A รหัส H1N1 ที่พบมาตั้งแต่ปี 2009 (2552) และไม่ได้มีรายงานว่าอันตรายมากขึ้น 2.ทั้งอาการของโควิด และไข้หวัดใหญ่ ไม่มีการกล่าวถึง “ปัสสาวะฉับพลัน” แต่ในส่วนของการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีอาการท้องเสีย-ถ่ายเหลวเกิดขึ้นได้
และ 3.สาเหตุไข้หวัดใหญ่ระบาดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการป้องกันโรคลดความเคร่งครัดลง ซึ่งในช่วงที่มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ถูกใช้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากปิดปาก-จมูก จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก็พลอยลดลงไปด้วย นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ปริมาณความเข้มข้นของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในร่างกายที่มีมากกว่าโควิด เนื่องจากผลพวงของการติดเชื้อโควิดที่ผ่านมา คนอาจมีภูมิคุ้มกันโควิด แต่ไม่มีภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่
โดยแนวทางป้องกันโรค ได้แก่ สวมหน้ากากเมื่อมีอาการป่วยเพื่อลดการแพร่เชื้อ ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัด (หรือหากเข้าไปก็ควรสวมหน้ากาก) สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโควิด-19!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://www.facebook.com/photo/?fbid=312436614742018&set=a.245025068149840 (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะมีอาการปวดหัว อาเจียน ฉี่แตกเฉียบพลันอย่างรุนแรง และมีความรุนแรงมากกว่าโควิด19 ทุกสายพันธุ์ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 13 ต.ค. 2566)
https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13 (ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu) : กรมควบคุมโรค)
https://www.pidst.or.th/A709.html (โรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ : สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย)
https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/faq_more.php (โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) : กรมควบคุมโรค , หมายเหตุ : เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน และยังไม่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยต่างๆ)
https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/info496_covid19/ (รู้ทัน ป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ : กรมอนามัย 9 พ.ค. 2566)
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/covid-19_hasnt_gone_anywhere-influenza_must_be_careful/ (โควิด-19 ยังไม่ไปไหน ไข้หวัดใหญ่ก็ต้องระวัง : รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 28 ม.ค. 2566)
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/191005/ (กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 ในช่วงฤดูฝน แนะกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนปีละ 1 ครั้ง : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
https://www.hfocus.org/content/2023/08/28225 (คร.เผยป่วย “ไข้หวัดใหญ่” สูงขึ้น 3 เท่า ไม่มีข้อมูลยืนยัน “โควิด” ทำหวัดใหญ่รุนแรง : Hfocus 19 ส.ค. 2566)
https://www.hfocus.org/content/2023/09/28493 (โรคทางเดินหายใจพุ่ง! หลังปชช.ผ่อนคลายการสวมแมสก์ สธ.เผยอาการแตกต่าง 3 โรค “โควิด19-ไข้หวัดใหญ่-RSV” : Hfocus 25 ก.ย. 2566)
https://www.thaipbs.or.th/news/content/332338 (ติดเชื้อ “ไข้หวัดใหญ่” พุ่งสะสม 216,600 คน สวนทางโควิดขาลง : ThaiPBS 2 ต.ค. 2566)
https://www.pptvhd36.com/health/news/4119 (หมอมนูญเผยข้อมูลระบาดวิทยา ก.ย.66 พบไข้หวัดใหญ่แซงหน้าโควิด : PPTV 5 ต.ค. 2566)