7 วิธีจับผิดข่าวลวง สงครามยูเครน-รัสเซีย COFACT Special Report #19
English Summary
During the Russia invasion of Ukraine, many researchers have seen misinformation and disinformation across social platforms. Many of them come from hacked or newly created accounts from pro-Kremlin users. A disinformation researcher from Stanford University and her team share what they watch when they analyze social media posts and other online reports related to Russia invasion of Ukraine.
ตลอดกว่าสามสัปดาห์ที่กองทัพรัสเซียบุกโจมตียูเครน สงครามอีกด้านที่รุนแรงไม่แพ้กันคือสงครามข่าวสาร มีการนำเสนอข่าวบิดเบือน และข้อมูลชวนเชื่อจำนวนมาก ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์จริง รวมทั้งยังสร้างความขัดแย้ง ทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งเป็นข้อมูลที่เกิดจากการแชร์ผ่านสื่อโซเชียล เชอร์บี กรอสแมน นักวิจัยด้านความปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยสแตนเฟิร์ด สหรัฐฯ แนะนำ 7 วิธีจับผิดข่าวลวง ข่าวหลอกที่เกี่ยวข้องกับสงครามยูเครน-รัสเซีย เพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของขบวนการสร้างข้อมูลชวนเชื่อต่างๆ
1. ระมัดระวังข้อมูลจากชื่อบัญชีปลอม หรือบัญชีที่ถูกแฮก
เมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าพบขบวนการแฮกเกอร์ในเบรารุสทำการโจรกรรมชื่อบัญชีโซเชียลของผู้ใช้งานในยูเครน แฮกเกอร์เหล่านี้จะใช้บัญชีที่โจรกรรมมาโพสเนื้อหา รูปภาพ และวีดีโอที่ระบุว่าทหารยูเครนยอมรับความพ่ายแพ้ และมอบตัวกับกองทัพรัสเซีย
วิธีสังเกตว่าชื่อบัญชีโซเชียลที่ติดตามอยู่น่าเชื่อถือหรือไม่ ให้สังเกตว่าบัญชีนั้นมีผู้ติดตามมากน้อยเท่าไร ส่วนใหญ่ถ้าเป็นบัญชีที่ตั้งขึ้นมาไม่นาน จะมีจำนวนเพื่อน หรือผู้ติดตามไม่มาก หรือตรวจสอบชื่อบัญชีบริเวณ URL หรือแถบที่แสดงชื่อเว็บไซต์ ชื่อผู้ใช้งานที่ถูกโจรกรรมมา หรือเป็นบัญชีที่ถูกตั้งขึ้นโดยขบวนการเหล่านี้มักจะเป็นชื่อที่ยาวๆ อ่านไม่รู้เรื่อง และมีตัวอักษรแปลกๆ เช่น @ หรือ # ในชื่อ ควรหลีกเลี่ยงที่จะแชร์ข้อมูลจากบัญชีเหล่านี้
2. ข้อมูลที่มีการแอบอ้างแหล่งข้อมูลที่ไม่ชัดเจน
เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์สืบสวนสอบสวน Bellingcat ตรวจสอบพบกระบวนการของสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียเผยแพร่รายงานว่ารัฐบาลยูเครนเป็นผู้จัดฉากเหตุระเบิดอาคารบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก หากเราไม่ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวเหล่านี้ให้ถี่ถ้วน เราอาจจะหลงเชื่อว่าข่าวดังกล่าวเป็นเหตุการณ์จริง
วิธีการตรวจสอบที่ดีที่สุด ก็คือการตรวจสอบว่ามีข่าวประเภทเดียวกันในสื่ออื่นๆ หรือไม่ หากข่าวที่ได้มาจากเว็บไซต์ข่าวของรัสเซียเพียงอย่างเดียว ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวลวง หรือข่าวเท็จ และอย่าลืมตรวจสอบว่าเว็บไซต์ หรือสำนักข่าวที่กำลังอ่านอยู่มีใครเป็นผู้สนับสนุน หรือมีกลุ่มทุนใดอยู่เบื้องหลัง อาจจะลองค้นหาชื่อสำนักข่าวนั้นผ่านวิกิพีเดีย หรือกูเกิล
3. เนื้อหาเก่าที่นำมาดัดแปลงแล้วนำเสนอใหม่
ช่วงนี้เราจะเห็นการแชร์ภาพเหตุการณ์ในยูเครนผ่านสื่อโซเชียลอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะภาพสะเทือนขวัญต่างๆ เช่นภาพระเบิด ภาพผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ดังเช่นที่เราเคยนำเสนอไปในบทความที่แล้ว หลายครั้งภาพเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต อาจจะเคยเกิดขึ้นที่ยูเครนมาก่อน หรืออาจจะเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในยูเครน
วิธีการตรวจสอบที่ดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าภาพที่เห็นเป็นภาพเหตุการณ์จริง ให้ใช้วิธีการค้นหาภาพย้อนกลับ (Reverse Image Search) ด้วยเซิร์จเอนจิ้นต่างๆ เช่น กูเกิล, ปิง (Bing) หรือ ยานเดกซ์ (Yandex) ลองกดเซฟภาพเหล่านั้น หรือใช้ฟังค์ชั่นสกรีนช็อตบนคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ จากนั้นไปที่เว็บไซต์ที่มีระบบค้นหาภาพย้อนกลับ อัพโหลดภาพเหล่านั้นลงไป ระบบก็จะแสดงผลภาพที่ใกล้เคียงกัน และแหล่งที่มาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาพดังกล่าว
นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเจ้าของบัญชีที่โพสภาพเหล่านั้น ด้วยการเข้าไปใน About เพื่อดูว่าเขาเป็นใคร มีผู้ติดตามมากน้อยแค่ไหน เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ หรือไม่ มีตัวตนจริงหรือเปล่า และอย่าลืมที่จะดูโพสต่างๆ ที่เจ้าของบัญชีเคยโพส เพื่อพิสูจน์ว่าเขาเป็นคนที่ทำงานในพื้นที่จริง ไม่ใช่เป็นผู้ใช้งานทั่วไป หรือเป็นชื่อบัญชีปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโพสเนื้อหาลวงโดยเฉพาะ
4. การปลอมแปลงภาพ
นอกจากการนำภาพเก่ามาเล่าใหม่แล้ว เราจะเห็นคนอีกกลุ่มที่ใช้วิธีการปลอมแปลง ตัดต่อภาพ หรือใช้ระบบสมองกลต่างๆ ตัดต่อภาพโปรไฟล์ และเนื้อหาต่างๆ ที่แชร์บนหน้าเพจ เพื่อหลบเลี่ยงการถูกจับ เริ่มแรกเราอาจจะใช้วิธีค้นหาภาพแบบย้อนกลับเหมือนกับข้อที่แล้ว บวกกับการจับสังเกตจุดต่างๆ บนภาพ เช่น หน้าคนในภาพดูบิดเบี้ยว ตำแหน่งของใบหูสลับทาง ต่างหูดูไม่สมประกอบ หรือตัวหนังสือบนเสื้อกลับด้าน เป็นต้น ทั้งนี้วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการดูเนื้อหาย้อนหลังของผู้โพสว่าเป็นการสร้างบัญชีขึ้นมาเพื่อใช้โพสเนื้อหาสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่หรือไม่ สร้างบัญชีนี้มานานแค่ไหน และมีตัวตนจริงหรือไม่ โดยเข้าไปอ่านรายละเอียดของโปรไฟล์
5. รายงานที่ไม่ได้รับการยืนยัน
เนื้อหาของข่าวที่นำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยูเครนก็สำคัญ หากเนื้อหาที่ถูกแชร์มาไม่ได้ระบุว่ามาจากแหล่งใด มีใครที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ มีผู้สื่อข่าว หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลตามภาพที่เห็นจริงๆ หรือไม่ หากเราเจอข้อมูลที่ปราศจากที่มาที่ชัดเจน หรือยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ เราไม่ควรเชื่อข่าวนั้น ควรเช็คว่ามีสำนักข่าวขนาดใหญ่ หรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือได้และไม่ได้อยู่ข้างรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งรายงานตรงกับข้อมูลที่เราได้มาจริงๆ เสียก่อน จึงค่อยเชื่อหรือแชร์ ที่สำคัญ ข้อมูลเหล่านั้นควรมาจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และนักข่าวภาคสนามที่เกาะติดรายงานสถานการณ์ในพื้นที่จริงๆ
6. มิจฉาชีพ
ในช่วงวิกฤติต่างๆ เรามักจะเห็นการขอรับบริจาคเงินจากหลายหน่วยงานที่อ้างว่าจะนำเงินเหล่านี้ไปบริจาคให้กับผู้ประสบภัย ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เราจะเห็นหลายเว็บไซต์ประกาศรับบริจาคเงิน อาจจะเป็นทั้งเงินสด และเงินดิจิทัล (คริปโต) หลายบัญชีมีการปลอมแปลงโดยทำหน้าเพจ และกราฟฟิกคล้ายกับเว็บไซต์ของรัฐบาลยูเครน ก่อนจะตัดสินใจโอนเงิน หรือบริจาคเงินให้กับเว็บไซต์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินสด หรือคริปโต ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเว็บเหล่านี้เป็นเว็บอย่างเป็นทางการหรือไม่ เช่น หากเป็นเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลยูเครน ชื่อโดเมน หรือตัวอักษรที่ต่อท้ายชื่อเว็บ จะต้องขึ้นต้นด้วย .gov.ua หากเป็นการโพสขอรับเงินบริจาคผ่านสื่อโซเชียล ควรมาจากชื่อบัญชีที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นบัญชีของรัฐบาลยูเครนจริงๆ สังเกตจาก Verified Account หรือเครื่องหมายถูกต่อท้ายชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์
ปัจจุบันมีหน่วยงานระดับนานาชาติที่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และชาวยูเครนที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ (UN) และกาชาดสากล (Red Cross) เราสามารถบริจาคเงินผ่านหน่วยงานเหล่านี้ได้
7. คำชวนเชื่อจากสื่อที่สนับสนุนรัฐบาล
การรู้เท่าทันว่าสื่อที่เรากำลังอ่านอยู่เป็นสื่อเสรี หรือสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤติ เราจะเห็นสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลนำเสนอเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และรัฐบาลมักจะใช้ช่องทางนี้ในการเผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อ (Propaganda) ให้กับผู้ที่สนับสนุนตน เราจะสังเกตเห็นได้ชัดว่า การรายงานข่าวเกี่ยวกับสงครามในยูเครนของรัสเซียจะแตกต่างจากการนำเสนอข่าวของสื่อประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้นเราต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบข่าวจากแหล่งที่มาหลายๆ แหล่ง รวมทั้งตรวจสอบว่าข่าวที่เรากำลังอ่านอยู่นั้นมาจากสำนักข่าวเสรี ที่ทำงานโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำของรัฐบาลหรือไม่ เช่น หากข่าวที่เรากำลังอ่านอยู่มาจาก RT หรือ Sputnik เราอาจจะอย่าพึ่งตกลงเชื่อเนื้อหาเหล่านั้นโดยทันที เนื่องจากสองสำนักข่าวนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลรัสเซีย เป็นต้น
ปัจจุบันผู้ให้บริการสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ จะมีตัวอักษรกำกับเนื้อหาที่มาจากสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม ส่วนติกตอก (TikTok) ยังไม่มีฟังค์ชั่นดังกล่าว
ที่มา: https://news.stanford.edu/2022/03/03/seven-tips-spotting-disinformation-russia-ukraine-war/
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com