รายงานพิเศษ (ตอนที่ 2) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67 (2/3)

By : Zhang Taehun

MOU44 คือการที่ไทยยอมรับการลากเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาจริงหรือ?

นอกจากเรื่องเสียเกาะกูดให้กัมพูชาแล้ว ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ อาณาเขตและผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งเป็นเหตุผลของฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 อาทิ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กวันที่ 4 พ.ย. 2567 ก่อนหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจะแถลงข่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยอ้างว่า ได้ฟังคำชี้แจงจากบุคคลท่านหนึ่งที่เป็นคณะทำงาน MOU 44 แล้วบอกได้อย่างเต็มปากว่าเคลียร์ทุกเรื่อง เว้นแต่การกำหนดเส้นไหล่ทวีปเป็นการอ้างสิทธิของกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ เฉพาะเส้นนี้ที่แปลกใจ ฝ่ายไทยไปยอมรับได้อย่างไร ซึ่งไทยไม่เคยยอมรับตั้งแต่ปี 2515 จนมาบันทึกใน MOU 44

นพ.วรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ต้องถามคือการอ้างสิทธิในเส้นไหล่ทวีปต้องมีเหตุผล แม้จะอ้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่กฎหมายระหว่างประเทศยอมรับ เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูดก็ไม่สมเหตุผล เพราะประวัติศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย เส้นที่เล็งจากจุดสูงสุดของเกาะกูด ก็เพื่อกำหนดหลักหมุดที่ 73 ซึ่งเป็นเขตแดนทางบกไม่ใช่ทางทะเล

ปัญหาที่นำไปสู่พื้นที่ทับซ้อนที่มีขนาดใหญ่เท่ากับจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง ยะลา นราธิวาสและปัตตานี รวมกัน 26,000 ตร.กม. ก็เกิดจากการที่ฝ่ายเราไปยอมรับว่าเขาอ้างสิทธิ ซึ่งเป็นการอ้างสิทธิที่ตามใจชอบ ยังไม่นับรวมเงื่อนไขใน MOU 44 ที่บ่งบอกว่าไทยเสียเปรียบเรื่องดินแดนในอนาคต นี่คือจุดที่ต้องทบทวน MOU 44 เพราะจะนำไปสู่ปัญหาทุกอย่าง รวมทั้งดินแดนทางทะเล ส่วนของทะเล ผืนทราย และทรัพยากรโดยรอบเกาะกูดด้านประชิดกัมพูชา เกาะกูดเราจะเหลือแค่เกาะ แต่รอบเกาะด้านประชิดกัมพูชากลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนนพ.วรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในบทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ปัญหาและพัฒนาการ” ฉบับเต็ม ในหน้า 6-12 สุรเกียรติ์ บรรยายไว้ว่า กัมพูชาได้ประกาศเขตไหล่ทวีปแต่ฝ่ายเดียวครั้งแรกเมื่อวันที่6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) แต่เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศนั้นไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงไม่ยอมรับ ต่อมารัฐบาลกัมพูชาประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในอ่าวไทย ลงนามโดย ลอนนอล ประธานาธิบดีของกัมพูชาในขณะนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) 

โดยการประกาศเขตไหล่ทวีปในครั้งนี้มีพื้นที่ประมาณ 16,200 ตารางไมล์ เขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นเริ่มต้นจากจุด A ซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ 73 จากนั้นเส้นเขตไหล่ทวีปลากไปทางทิศตะวันตกเฉียงลงใต้เล็กน้อย ผ่านกึ่งกลางเกาะกูดเลยออกไปในอ่าวไทย ถึงประมาณกลางอ่าว แล้วหักลงทางใต้ไปเกือบสุดอ่าวไทย จึงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โอบล้อมเกาะฟูกว๊อกของเวียดนาม แล้ววกขึ้นทางเหนือเข้าบรรจบฝั่งที่จุด B ซึ่งอ้างว่าเป็นจุดเขตแดนของเวียดนาม-กัมพูชาที่ริมฝั่งทะเล ดัง รูป 1

รูป 1 และรูป2

กัมพูชาไม่เคยอ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูด

ประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในอ่าวไทยนั้น เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดนั้นเป็นการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะกูดหรือไม่ แผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาในครั้งนั้นเป็นเพียงแผนที่โดยสังเขปที่กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ใช้ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) แต่หากพิจารณากฤษฎีกาที่ 439/72/PRK ที่แผนที่ผนวกเป็นแผนที่เดินเรือขนาดมาตรฐานของกรมอุทกศาสตร์ฝรั่งเศส แสดงเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทั้งหมด ลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล ลงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) จะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปไม่ได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูด ดัง รูป 2

จากรูปที่ 2 เห็นได้ว่าเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากจากจุด A บริเวณชายฝั่งมายังเกาะกูดนั้น เส้นได้มาหยุดอยู่บริเวณขอบของเกาะกูดด้านตะวันออก และเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกออกไปกลางอ่าวไทยไม่มีการลากเส้นผ่านเกาะกูดแต่อย่างใด นอกจากนั้นหากสังเกตบริเวณเส้นทางทิศตะวันตกจะเห็นอักษรภาษาอังกฤษกำกับว่า “Koh Kut (Siam)” ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย

หลังจากนั้นประเทศกัมพูชาได้ประกาศกฤษฎีกากำหนดทะเลอาณาเขตของกัมพูชา หมายเลข 518/72/PRK ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2515 โดยประกาศกฤษฎีกาดังกล่าวมีแผนที่แนบท้ายและลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล โดยประกาศกฤษฎีกาดังกล่าวจะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างว่าได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดหรือไม่ ตาม รูปที่ 3

รูป 3 และ รูป4

เมื่อพิจารณาแผนที่แนบท้ายประกาศทะเลอาณาเขต มีการลากเส้นจากจุด A มายังจุด E1 โดยการลากเส้นดังกล่าวเป็นเส้นเดียวกับเส้นกำหนดเขตไหล่ทวีป ตรงจุด E1 จะมีเครื่องหมายบวก (++++) ทอดชิดกับขอบเกาะกูดด้านตะวันออกลงมาทางใต้จนถึงจุด E2 ที่ปลายเกาะกูดด้านใต้เครื่องหมายบวกตามเครื่องหมายในแผนที่หมายความถึง เขตแดนระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่า การลากเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นเป็นการลากเส้นจากจุด ยังเกาะกูด โดยหยุดอยู่บริเวณขอบของเกาะกูดด้านตะวันออก และเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกออกไปกลางอ่าวไทย ไม่ได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดอย่างที่เข้าใจกัน

ดังนั้น กัมพูชาก็ไม่เคยอ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูด ประเทศไทยต่างหากที่มีอธิปไตยเหนือเกาะกูดตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 ซึ่งระบุว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม” กรณีการลากเส้นของกัมพูชาที่ลากเส้นจากจุด A ไปยังเกาะกูดนั้น เส้นดังกล่าวกัมพูชาได้อ้างสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หนังสือสัญญาไทยฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ. 1907) ซึ่งมีสัญญาต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับดินแดนกัมพูชาของฝรั่งเศส 

ซึ่งข้อ 1 ของสัญญาต่อท้ายนี้ได้ระบุว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแล” ว่าเป็นข้อความที่กำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา โดยวิธีการลากเส้นจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดตรงไปยังเส้นเขาพนมกระวานแล และถือว่าเส้นที่ลากดังกล่าวเป็นเส้นแบ่งเขตทะเลซึ่งมีผลผูกมัดไทย

กัมพูชาได้ตีความหนังสือสัญญาในลักษณะตีความตามตัวอักษร โดยอ้างว่าข้อความดังกล่าวเป็นการแบ่งเขตทางทะเล แต่ถ้าหากพิจารณาเจตนารมณ์ของหนังสือสัญญาและสัญญาต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขตแล้ว จะเห็นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่รัฐบาลฝรั่งเศสทำขึ้นเพื่อคืนดินแดนทางบกที่เคยยึดไปจากประเทศไทย โดยไม่มีข้อความใดที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนทางทะเล การที่สัญญาแนบท้ายระบุเส้นเขตแดนเริ่มจากทะเลนั้นไม่ได้หมายความว่า ภาคีมีเจตนาแบ่งเขตทางทะเล แต่เพียงแสดงว่าแนวเขตหันทิศจากทะเลไปสู่ผืนแผ่นดินมิใช่จากผืนแผ่นดินมายังทะเล 

การที่สัญญาแนบท้ายระบุให้ใช้จุดยอดเขาสูงสุดของเกาะกูดเป็นหลักในการกำหนดเขตแดน ก็เพื่อใช้เล็งกับสันเขาพนมกระวาน เนื่องจากในการปักปันเขตแดนจำต้องอาศัยจุดเด่นในทางภูมิศาสตร์ที่มั่นคงเป็นหลัก ดังนั้น เส้นตรงที่เล็งระหว่างยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดกับสันเขาพนมกระวานจะต้องถือว่าเป็นเส้นสมมติ (Imaginary Line) ที่ใช้สำหรับกำหนดที่ตั้งของจุดเริ่มต้นของแนวเขตแดนทางบก การถือว่าเป็นเส้นแบ่งเขตทางทะเลจึงไม่ถูกต้องนัก 

ในขณะที่ประเทศไทยได้มีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 โดยยึดหลักเขตแดนที่ 73 เป็นจุดเริ่มต้นในการลากเส้นเขตทางทะเลออกไปในอ่าวไทยเช่นเดียวกับประเทศกัมพูชา แต่เป็นการลากเส้นลงไปจากจุด 1 ที่ละติจูดเหนือ11°39´.0 ลองติจูดตะวันออกที่ 102°55´.0 ไปยังจุด 2ที่ละติจูดเหนือ 09°48´.5 ลองติจูดตะวันออก 101°46´.515

ซึ่งจะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยลากลงระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง (Koh Kong) ของกัมพูชาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทยดังกล่าวถือเป็นการสงวนสิทธิของประเทศไทยตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958 (และได้รับการรับรองโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982) เหนือเขตพื้นที่ไหล่ทวีปตามที่ได้ประกาศไว้ดัง รูป 4”

ภาพที่ 1 และ 2 : แผนที่กัมพูชาลากเส้นเขตแดนทางทะเลซึ่งมีข้อขัดแย้งกับไทย

เมื่อไปดูสาระสำคัญคือ MOU เมื่อปี 2544 หรือ MOU44 ซึ่งมีชื่อเต็มว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา โดยผู้แทนฝ่ายไทยคือ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ส่วนผู้แทนฝ่ายกัมพูชาคือ สก อัน  (บางแหล่งเขียนว่า ซก อาน) รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา

หนังสือ ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุเนื้อหาของ MOU ดังกล่าว ไว้ในหน้า 240-241 ดังนี้ 

1.ภาคีผู้ทำสัญญาพิจารณาว่าเป็นที่พึงปรารถนาที่จะทำข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้ในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน

2.เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน

(ก)จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ

(ข) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย

เป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

3.เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อ 2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากแต่ละประเทศแยกต่างหากกัน

คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคมีหน้าที่รับผิดชอบ สำหรับการกำหนด

(ก) เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม รวมถึงพื้นฐานซึ่งยอมรับกันในการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และ

(ข) การแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ระหว่างเขตที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งใช้บังคับ

4.คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคจะประชุมกันโดยสม่ำเสมอเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็ว คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคอาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นว่าเหมาะสม

5.ภายใต้เงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา

อดีตรมต.ตปท.ยืนยัน กรอบMOU44รักษาผลประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่การยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลตามกัมพูชาอ้าง

บทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ” ในหน้า 27-40 สุรเกียรติ์เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ อธิบายประโยชน์ที่ฝ่ายไทยได้รับจาก MOU44 ดังนี้ 

1.การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เจรจา ถือว่ายังไม่เป็นการผูกพันประเทศไทยว่าจะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเหนือพื้นที่ทับซ้อน หรือต้องกำหนดเส้นเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาแต่อย่างใด เพราะเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเจรจาหลักการทั้งสองเรื่องว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นและจุดยืนอย่างไร เพื่อจะให้บรรลุถึงข้อตกลง ซึ่งหากมีจุดยืนที่สอดคล้องที่จะนำ ไปสู่ข้อตกลงกันได้แล้วแต่ละฝ่ายก็ต้องดำ เนินการตามขั้นตอนของกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหากในอนาคต

การมีคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคขึ้นมาทำหน้าที่เจรจา จะทำให้ฝ่ายไทยสามารถรับทราบถึงจุดยืนต่าง ๆ ของฝ่ายกัมพูชาได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านกฎหมายและด้านการแบ่งผลประโยชน์เหนือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อที่จะได้ให้ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานได้ร่วมกันวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงแนวทางของความร่วมมือระหว่างกันอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะต้องมีการพิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียในแต่ละทางเลือกของไทย ตลอดจนการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจา 

ซึ่งแตกต่างจากการเจรจาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาก่อนการจัดทำบันทึกความเข้าใจนี้ ที่ไม่มีการเสนอท่าทีของฝ่ายตนในเรื่องวิธีการและหลักการการกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ชัดเจนและเป็นทางการ ซึ่งทำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยไม่สามารถกำหนดท่าทีและจุดยืนทั้งทางกฎหมายและทางเศรษฐศาสตร์ร่วมกันอย่างจริงจัง

2.บันทึกความเข้าใจนี้ทำให้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดจากการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ (ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน) อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าอันอาจนำ ไปสู่ข้อขัดแย้งที่รุนแรงจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่กระทบต่อความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างทั้งสองประเทศระหว่างกัน สามารถแก้ไขร่วมกันได้ด้วยการเจรจาแบบสันติวิธี และแยกเป็นเอกเทศจากปัญหาความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ โดยให้นำความเห็นหรือท่าทีที่แตกต่างกันในเรื่องการลากเส้นเขตทางทะเลและการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนนั้น มาสู่เวทีของการเจรจาทางด้านเทคนิค หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการแปรข้อขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ (turn conflict into cooperation) ซึ่งก็เป็นวิธีการในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศในเรื่องทับซ้อนทางทะเลที่ประเทศจำนวนมากในโลกปัจจุบันใช้กัน

3.บันทึกความเข้าใจนี้ได้ผูกประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Area) หรือที่บันทึกความเข้าใจนี้เรียกว่า พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) กับการเจรจาเส้นแบ่งเขตทางทะเล (Maritime Boundary Delimitation) เอาไว้ด้วยกัน โดยได้ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการเจรจาทั้งสองเรื่องนี้จะแยกต่างหากจากกันมิได้ (Indivisible Package) กล่าวคือจะต้องเจรจาพร้อมกันไป ซึ่งฝ่ายไทยแม้จะเห็นว่าการสำรวจและขุดเจาะน้ำ มันและก๊าซธรรมชาติก็เป็นความประสงค์ของฝ่ายไทยที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางด้านอุปทาน (Security of Supply) และต้องการกระจายการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Diversity of Sources of Supply) ในอ่าวไทยและทะเลอันดามันก็ตาม 

แต่ผลประโยชน์ที่สำคัญของไทยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ความชัดเจนในจุดเริ่มของการลากเส้นเขตทางทะเล ดังนั้น ในแง่มุมของการเจรจาแล้ว ฝ่ายไทยจึงได้อาศัยความต้องการของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการเร่งรัดการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วม เป็นปัจจัยในการผลักดันให้การเจรจาเส้นเขตทางทะเลมีความคืบหน้าและเป็นที่ตกลงกันได้ของทั้งสองฝ่ายโดยเร็วเช่นกัน

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ หากไม่มีการผูกประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมกับการเจรจาพื้นที่ที่ต้องการแบ่งเส้นเขตทางทะเลเอาไว้ให้ต้องดำเนินการเจรจาควบคู่กันไปแล้ว ก็มีข้อห่วงกังวลว่ากลุ่มเศรษฐกิจการเมืองอาจเข้ามามีบทบาทและผลักดันจนทำให้การตกลงในเรื่องการพัฒนาร่วมเกิดขึ้นได้โดยง่าย โดยอาจทำให้ฝ่ายไทยต้องสูญเสียอำนาจต่อรองในการเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนกับกัมพูชา

สุรเกียรติ์ อ้างถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไทย (ฉบับ 2540 ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ และฉบับ 2550 ในขณะที่เขียนบทความนี้) โดยอธิบายว่า.. 

การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางด้านน้ำ มันและก๊าซธรรมชาติ โดยไม่กระทบต่อเรื่องเส้นเขตแดนนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีการเจรจาเส้นเขตทางทะเลนั้น แม้จะเป็นเพียงการตกลงกันเกี่ยวกับจุดที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลากเส้นเขตทางทะเล ก็จะถือว่าเป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ด้วยเหตุนี้ การผูกประเด็นการเจรจาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรเหนือพื้นที่พัฒนาร่วมเอาไว้กับเรื่องการเจรจาแบ่งเส้นเขตแดนโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้ดังที่ระบุไว้ในข้อ 2วรรค 2 ของบันทึกความเข้าใจนั้น จึงมีผลทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถที่จะรวบรัดทำการตกลงที่มีผลเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์เหนือทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

เพราะแม้จะมีการตกลงในรายละเอียดของการแบ่งปันผลประโยชน์จนเสร็จสิ้นแล้วก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้เกิดผลใดๆ ในทางปฏิบัติได้ เนื่องจากจะต้องนำความตกลงเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์เหนือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วม เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบควบคู่กับความตกลงเกี่ยวกับการกำหนดเส้นเขตทางทะเล

หมายเหตุ : สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็กำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 โดยอยู่ในมาตรา 178 ระบุว่า 

มาตรา 178 (วรรคสอง) หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

นอกจากนั้นยังกำหนดเพิ่มเติมในส่วนของการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากร ซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (มาตรา 224) และเป็นการอธิบายความในส่วนนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 (มาตรา 190) ให้ชัดเจนขึ้นด้วยว่า

มาตรา 178 (วรรคสาม) หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 178 (วรรคสี่) ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย

4.แผนผังกำหนดเขตพื้นที่พัฒนาร่วมและเขตพื้นที่ที่ต้องแบ่งเส้นเขตแดนซึ่งจัดทำแนบท้ายบันทึกความเข้าใจนี้ เป็นสิ่งที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม และผู้เชี่ยวชาญด้านเขตทางทะเลของฝ่ายไทย ได้ให้ความสำคัญในการเจรจามาโดยตลอด กล่าวคือ ฝ่ายไทยต้องการยืนยันจุดยืนที่กำหนดให้เส้นแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาต้องลากออกจากหลักเขตแดนที่ 73 เพื่อให้เขตพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Area) ไม่ครอบคลุมอาณาเขตที่กว้างขวางเกินไป และยืนยันจุดยืนว่าเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของไทย ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907

สุรเกียรติ์ ยังอ้างไว้ในบทความด้วยว่า ในการเจรจาก่อนการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้(MOU44) ฝ่ายกัมพูชาตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจนถึงระดับสูงได้กล่าวถึงเกาะกูดว่าอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาอยู่เนืองๆ มีครั้งหนึ่งในช่วงระหว่างการเจรจาบันทึกความเข้าใจนี้ ตนเคยพูดกับผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของกัมพูชาว่า “ถ้าเส้นเขตทางทะเลลากจากฝั่งและผ่ากลางเกาะกูดแล้ว ในทางปฏิบัติก็คงจะแปลกดี เพราะคนไทยขึ้นบนเกาะกูดจากฝั่งไทย ถ้าจะลงมาเล่นน้ำ อีกฝั่งของเกาะต้องถือพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง) มาด้วย” 

และครั้งหนึ่งในการหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้กล่าวกับตนว่า “กัมพูชาจะยกเลิกข้อเรียกร้อง (Claims) ที่ถือว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชากึ่งหนึ่ง และถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย คือ จะยกอธิปไตยเหนือเกาะกูดให้ไทย แต่อย่าเพิ่งประกาศ เพราะจะเกิดปัญหาทางการเมืองภายในกัมพูชาได้” 

ซึ่งแม้ตนจะเห็นว่าข้อเรียกร้องเหนือเกาะกูดกึ่งหนึ่งนั้นจะไม่มีฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ แต่ข้อเรียกร้องนั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถเรียกร้องกันได้ เพราะในกฎหมายระหว่างประเทศ การเรียกร้องสิทธิกับการมีสิทธินั้นเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น ในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น เมื่อคู่เจรจายอมถอนข้อเรียกร้องก็ย่อมถือเป็นสิ่งที่ดีนอกจากนั้น ยังนำ ไปสู่การที่ฝ่ายกัมพูชายินยอมให้มีแผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจที่แสดงให้เห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยอีกด้วย

ถึงแม้ว่าบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดของการเจรจาที่จะมีผลผูกพันทั้งสองประเทศเกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลกัมพูชาในปัจจุบันได้ยอมรับอย่าเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประเทศไทยมีอธิปไตยเหนือเกาะกูด ดังนั้น แผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจนี้จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยพอใจ เพราะแสดงถึงความคืบหน้าในการเจรจาจุดเริ่มต้นของการลงเส้นเขตทางทะเลจากหลักเขตแดนทางบกที่ตรงกับจุดยืนของไทย และเส้นที่ลากนั้นได้ยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด และยังยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือทะเลอาณาเขตรอบๆเกาะกูดอีกด้วย

5.บันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ลงนามโดยผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969และนับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่สามารถเจรจาเพื่อให้รัฐบาลกัมพูชายอมรับอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก ถึงการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของไทย ตามประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 อันก่อให้เกิดเขตทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชาที่ได้ประกาศเขตไหล่ทวีปไปก่อนหน้านี้ 

โดยบันทึกความเข้าใจนี้ได้ระบุว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการตกลงในเรื่องสิทธิเรียกร้องทางทะเลในเขตที่จะมีการกำหนดเส้นเขตทางทะเล หรืออีกนัยหนึ่งคือ ในช่วงที่อยู่ระหว่างการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมและเขตพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตทางทะเลตามข้อ 2 (aหรือ ก) และ (b หรือ ข) นั้น ข้อความต่างๆ ที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจนี้ก็ดี และการดำ เนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ก็ดีจะไม่มีผลกระทบต่อข้อเรียกร้องสิทธิทางทะเลของทั้งสองประเทศ ซึ่งอยู่ในข้อ 5 ของ MOU44

สุรเกียรติ์ ย้ำว่า บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายไทย เพราะเป็นการที่ฝ่ายกัมพูชายอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ฝ่ายไทยก็มีข้อเรียกร้องสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล และในระหว่างการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ตกลงกันนี้ และสิ่งที่ไม่อาจตกลงกันได้ก็จะไม่กระทบต่อสิทธิเรียกร้องต่างๆ ที่ฝ่ายไทยมีอยู่มาก่อน 

ดังนั้น ข้อตกลงข้อ 5 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ฝ่ายไทยได้โน้มน้าวฝ่ายกัมพูชาจนยอมเห็นชอบให้มีบทบัญญัตินี้ในบันทึกความเข้าใจ ย่อมเป็นข้อป้องกันสถานะทางกฎหมายของไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนกว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงกันทั้งในเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วมและเรื่องเส้นแบ่งเขตทางทะเล ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับ 2540 และ 2550 (รวมถึงฉบับ 2560) ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้

6.บันทึกความเข้าใจนี้ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ 3 (b หรือ ขว่า การเจรจาที่จะนำไปสู่การกำหนดเขตทางทะเลนั้น จะต้องกระทำโดยอยู่ภายใต้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นจุดยืนที่ประเทศไทยยึดถือมาโดยตลอด และเป็นการผูกมัดฝ่ายไทยเองด้วย ว่าในการเจรจาตกลงอย่างไรนั้นต้องเป็นไปตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลทำให้ทุกฝ่ายในขณะนั้นและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ต้องผูกพันตามแนวทางและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดไว้

7.บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นการเจรจาเพื่อนำไปสู่การเจรจาแนวทางการพัฒนาร่วมและการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมเหนือพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งหากสามารถเจรจาจนได้ข้อยุติโดยเร็วและสามารถนำ เอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ฝ่ายไทยย่อมจะได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมดังกล่าวมากเนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการทางด้านพลังงานและปริมาณพลังงานสำรอง อีกทั้งไทยยังมีความพร้อม มีประสบการณ์และมีศักยภาพในการร่วมลงทุนเพื่อสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และมีบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นของตนเองอีกด้วย

ภาพที่ 3 : สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่ไทย-กัมพูชา ร่วมลงนาม MOU44 และเป็นผู้เขียนบทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ” เผยแพร่ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 ปี 2554 (ขอบคุณภาพจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ)

ในรายงานข่าว “เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ” ของ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5 พ.ย. 2567 ได้สรุปมุมมองจากบทความของ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไว้ว่า MOU44 มีกลไกคุ้มครองผลประโยชน์ของไทยหลายประการ 1.การเจรจาต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 2.ไม่กระทบต่อสิทธิเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายจนกว่าจะมีข้อตกลงสุดท้าย3.ข้อตกลงสุดท้ายต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และ 4.มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคเพื่อศึกษาและเจรจารายละเอียด

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2554 สุรเกียรติ์ ชี้ประเด็นท้าทายไว้ด้วยว่า บริษัทน้ำมันข้ามชาติของประเทศมหาอำนาจได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณตอนใต้ของกัมพูชา ซึ่งบริษัทน้ำมันข้ามชาติของมหาอำนาจหลายประเทศให้ความสนใจและต้องการเข้ามาแสวงประโยชน์จากแหล่งน้ำ มันและก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนผ่านทางรัฐบาลกัมพูชามากขึ้น เพื่อขายให้แก่ประเทศไทยเป็นหลักและกัมพูชาเป็นอันดับรอง 

ซึ่งการพบแหล่งพลังงานและความสนใจของบริษัทข้ามชาติที่มีต่อแหล่งพลังงานในกัมพูชานี้ อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาความยุ่งยากในการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยควรเร่งการเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมๆ ไปกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลในส่วนพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตซึ่งเป็นส่วนบนของพื้นที่ทับซ้อนตามจุดยืนของประเทศไทย

โดยสรุปแล้ว การจะบอกว่า MOU44 คือการที่ไทยยอมรับการลากเส้นเขตแดน (ทางทะเล) ของกัมพูชา อันอาจทำให้ไทยเสียดินแดนได้ จึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะ MOU44 เป็นเพียงบันทึกว่าไทยและกัมพูชา ฝ่ายใดมีมุมมองหรือข้อเรียกร้องอย่างไรบ้าง แต่สิ่งเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการที่ทั้ง 2 ชาติต้องเจรจากันจนกระทั่งได้ข้อสรุป และต้องเจรจากันภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งในกรณีของไทย แม้คณะผู้แทน (คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคจะไปเจรจากันมาแล้ว ก็ยังต้องมาผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา อันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ประกอบกับกลไกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังเพิ่มเติมในส่วนของกผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีช่องทางให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย 

          ​ ——

อ้างอิง

https://www.thansettakij.com/business/economy/611121 (เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ : ฐานเศรษฐกิจ 5 พ.ย. 2567)

https://www.thairath.co.th/news/politic/2823643(“หมอวรงค์” ชี้ ยิ่งฟังคำชี้แจง ต้องยิ่งยกเลิก MOU 44 หากยอม ส่อเสียดินแดน : ไทยรัฐ 4 พ.ย. 2567)

http://textbooksproject.org/wp-content/uploads/books/book_1.pdf (ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)

https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2024/BjcSxq7eTLxq7Qod0I85.pdf (พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ : สุรเกียรติ์ เสถียรไทย , จุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 ปี 2554)


(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 1) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(1/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report50-67-1/

(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 3) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(3/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report-50673-3/