ทำนาย 8 ข่าวลวง-ความเข้าใจผิด ในการเลือก สว.2567

“ระบบที่ซับซ้อน” “ระเบียบที่ไม่ชัดเจนและเข้าใจยาก” และ “ความทรงจำที่ทับซ้อนกับการเลือกตั้ง สส.” เป็นปัจจัยที่ทำให้ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) วิเคราะห์ว่าการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในช่วง 2 เดือน นี้ (11 พฤษภาคม – 2 กรกฎาคม 2567) จะมีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดและข่าวลวงเกิดขึ้นไม่น้อย

“ผมคิดว่าข่าวลวงที่เกิดขึ้นในการเลือก สว. อาจจะไม่ได้เกิดจากการตั้งใจปล่อย แต่เกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นผลพวงจากระบบที่ซับซ้อน เข้าใจยาก…ยิ่งเข้าใจยาก ความเข้าใจผิดก็ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย” รัชพงษ์ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการโคแฟคเมื่อ 15 พฤษภาคม 2567 โดยวิเคราะห์จากการศึกษากฎหมายและระเบียบว่าด้วยการเลือก สว. 2567 อย่างละเอียดและจากการติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายมิติ

ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact check) มีการแบ่งข้อมูลข่าวสารเป็น 3 ประเภทตามเจตนาการผลิตและเผยแพร่ ได้แก่ misinformation คือ ข้อมูลผิด ที่ผู้สร้างหรือเผยแพร่เชื่อว่าเป็นความจริงโดยบริสุทธิ์ใจไม่มีจุดประสงค์ร้าย disinformation คือ ข้อมูลเท็จ ที่ผลิตและเผยแพร่โดยเจตนาร้าย เพื่อสร้างความเสียหาย ถ้าเป็นไปเพื่อการโจมตีทางการเมืองเรียกว่า political disinformation และ malinformation คือ ข้อมูลจริงที่เผยแพร่โดยมีเจตนาสร้างความเสียหาย เช่น การปล่อยข้อมูลส่วนบุคคล ภาพหลุด คลิปหลุด ข้อความสนทนาส่วนตัว

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จากไอลอว์ วิเคราะห์ว่าในการเลือก สว. เราจะเจอกับข้อมูลเท็จที่เกิดจากความเข้าใจผิดมากกว่าข่าวลวงที่จงใจปล่อยโดยเจตนา

หากเป็นไปตามที่รัชพงษ์วิเคราะห์ สิ่งที่เราจะเจอมากที่สุดในการเลือก สว. ครั้งนี้คือข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเข้าใจผิดของผู้คน หรือ misinformation แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการจงใจเผยแพร่ political disinformation เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองบางอย่าง

ต่อไปนี้คือข่าวลวงและข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด 8 ประเด็น ที่รัชพงษ์ทำนายว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนของกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ 200 คน  

ข่าวลวง #1: ห้ามผู้สมัคร สว. แนะนำตัวว่าเป็นผู้สมัคร

กฎหมายบอกว่า: ผู้สมัครแนะนำตัวเองได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 ซึ่งระบุว่าผู้สมัครสามารถบอก ชี้แจง หรือแจกเอกสารแนะนำตัวเพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จักได้ โดยเอกสารแนะนำตัวต้องมีความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 ระบุข้อมูลส่วนตัว รูปถ่าย กลุ่มที่ลงสมัคร หมายเลขผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติและประสบการณ์ในการทำงาน แต่ในการเผยแพร่เอกสานมีข้อห้าม เช่น

  • ห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวด้วยการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ และห้ามแจกในสถานที่เลือก สว.
  • ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณาทางดิจิทัล
  • ห้ามแนะนำตัวโดยการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ข่าวลวง #2: ห้ามผู้สมัคร สว. แนะนำตัวในโซเชียลมีเดีย

กฎหมายบอกว่า: เดิมที กกต. ห้ามผู้สมัครแนะนำตัวในโซเชียลมีเดียจริง โดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 เมษายน 2567 ระบุว่าผู้สมัครแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ “โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัว” และ “เผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น” ซึ่งหมายความว่าการแนะนำตัวว่าตัวเองเป็นผู้สมัคร สว. ในช่องทางสาธารณะ โซเชียลมีเดีย หรือการแนะนำตัวในที่สาธารณะนั้นทำไม่ได้

แต่ต่อมา กกต. ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 แก้ไขข้อห้ามดังกล่าว โดยระบุว่า “ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัว ซึ่งประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นด้วยก็ได้”

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยังได้ชี้แจงสื่อมวลชนเรื่องการแก้ไขระเบียบแนะนำตัวผู้สมัครเมื่อ 14 พฤษภาคม ว่า

“กกต. ได้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้มีส่วนรับรู้และเข้าถึงข้อมูลของผู้สมัคร คือ ผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ว่าแพลตฟอร์มใด ๆ เช่น ติ๊กต็อก ยูทูป อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ท่านสามารถแนะนำตัวได้ ประชาชนก็จะสามารถเห็นท่านได้ เข้าถึงข้อมูลท่านได้จากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์…นั่นหมายความว่าประชาชนสามารถรับรู้ เข้าถึงและติดตามตรวจสอบผู้สมัครได้สองช่องทาง คือ เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Smart Vote ของ กกต. ซึ่งจะเปิดเผยรายชื่อและประวัติของผู้สมัครทุกคน อีกช่องทางหนึ่งคือ รับรู้ข้อมูลเหล่านี้จากผู้สมัครทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์”

ภาพประชาสัมพันธ์การเลือก สว. 2567 จากเฟซบุ๊ก กกต.

ข่าวลวง #3: สมาชิกพรรคการเมือง ต้องลาออกอย่างน้อย 5 ปี ถึงสมัคร สว. ได้

กฎหมายบอกว่า: พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 ระบุลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. ไว้หลายข้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงสมัครหรือไม่สมัคร สว.

ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามทางการเมือง มาตรา 14 (21) ระบุว่าผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 5 ปี นั่นหมายความว่า ทันทีที่การลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองมีผล บุคคลผู้นั้นก็ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อนี้ สามารถสมัครรับเลือก สว. ได้

สำหรับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ พ.ร.ป. ฉบับนี้กำหนดให้ต้อง “เว้นวรรค” ไม่น้อยกว่า 5 ปี ถึงจะมีคุณสมบัติสมัคร สว. ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง (หัวหน้าพรรค, เลขาธิการ, เหรัญญิก, นายทะเบียน, กรรมการบริหารอื่น, หัวหน้าและกรรมการสาขา, ตัวแทนประจำจังหวัด ตำแหน่งอื่น ๆ ในของบังคับของแต่ละพรรค) 

*ตรวจสอบสถานะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้จากเว็บไซต์ กกต.ได้ ที่นี่

ข่าวลวง #4: ย้ายทะเบียนบ้านไม่ถึง 2 ปี ขาดคุณสมบัติ สมัคร สว. ไม่ได้ 

กฎหมายบอกว่า: พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 13 (4) ระบุว่า “ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังต่อไปนี้

  • เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่รับเลือก
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันที่สมัคร
  • ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันที่สมัคร
  • เคยทำงานหรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา

รัชพงษ์อธิบายว่า เมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครมีลักษณะ “อย่างใดอย่างหนึ่ง” จึงหมายความว่า ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่ถึง 2 ปี ไม่สามารถลงสมัครในอำเภอที่ทะเบียนบ้านนั้นอยู่ได้ก็จริง แต่ยังสามารถลงสมัครในอำเภอที่เกิด หรืออำเภอที่ทำงานอยู่/อำเภอที่เคยทำงาน/อำเภอที่เคยมีชื่อในทะเบียนบ้าน/อำเภอที่เคยศึกษาอยู่ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี ได้

ข่าวลวง #5: เคยไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขาดคุณสมบัติ สมัคร สว. ไม่ได้

กฎหมายบอกว่า: ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ได้แจ้งเหตุในระยะเวลา 2 ปี ก่อนถึงวันรับสมัคร สว. กล่าวคือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565-พฤษภาคม 2567 เท่านั้น จึงไม่มีสิทธิสมัคร สว. การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไม่มีผลให้ถูกจำกัดสิทธิลงสมัคร สว.

ไอลอว์อธิบายว่า ระยะเวลา 2 ปี นี้มีที่มาจาก ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 47 ที่ระบุว่า ผู้มีสิทธิสมัคร สว. “ต้องไม่เป็นบุคคลผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ระบุว่า คนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกตั้งซ่อมจะถูกจำกัดสิทธิลงสมัคร สว. เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธินั้น

*ตรวจสอบรายละเอียดผู้ไม่ไปใช้สิทธิและผู้แจ้งเหตุจำเป็นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจากเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยได้ ที่นี่

ข่าวลวง #6: ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าสถานที่เลือก สว. ในทุกกรณี

กฎหมายบอกว่า: ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ห้ามผู้สมัครนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่อาจใช้เพื่อติดต่อสื่อสารหรือบันทึกภาพหรือเสียงเข้าไปในสถานที่เลือก สว. โดยจะต้องส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ก่อนเข้าไปลงคะแนน แต่อนุญาตให้ผู้สมัครที่เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อช่วยในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกหรือลงคะแนน สามารถนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ดังกล่าวเข้าไปในสถานที่เลือกได้

ข่าวลวง #7: บัตรลงคะแนนจะเป็นบัตรเสีย ถ้าใส่หมายเลขไม่ครบทุกช่อง

กฎหมายบอกว่า: ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 กำหนดให้การเลือก สว. มี 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ แต่ละระดับจะมีการเลือก 2 ขั้น ขั้นแรกคือเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือ “เลือกกันเอง” ขั้นสองคือเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน หรือ “เลือกไขว้” ผู้มีสิทธิเลือกจะต้องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้ที่ต้องการเลือกเป็นเลขอารบิกลงในบัตรลงคะแนนเลือก สว. ช่องละ 1 หมายเลข

การเลือกกันเองในระดับอำเภอและระดับจังหวัด ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันไม่เกิน 2 คน ส่วนในระดับประเทศ เลือกได้ไม่เกิน 10 คน โดยโหวตให้ตัวเองได้ แต่โหวตให้คนใดคนหนึ่งเกิน 1 คะแนนไม่ได้

การเลือกไขว้ในระดับอำเภอและระดับจังหวัดจังหวัด แต่ละสายจะมี 3-5 กลุ่ม ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ที่ในสายเดียวกันกลุ่มละไม่เกิน 1 คน ส่วนในระดับประเทศให้เลือกได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะโหวตให้กันหรือโหวตให้ตัวเองไม่ได้

รัชพงษ์มองว่าความซับซ้อนของระบบการเลือกและระเบียบที่เข้าใจยากนี้อาจทำให้ผู้สมัคร สว. ที่มีสิทธิลงคะแนน เข้าใจผิดว่าจะต้องเลือกผู้สมัครให้ครบเต็มจำนวนหรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องใส่หมายเลขให้ครบทุกช่องในบัตรลงคะแนน แต่ในความเป็นจริง ระเบียบ กกต. ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องลงคะแนนให้ครบทุกช่อง นั่นหมายความว่า ในการเลือกกันเอง ผู้สมัครอาจโหวตให้ตัวเองคนเดียว โดยไม่โหวตให้คนอื่นก็ได้ หรือในการเลือกไขว้ อาจโหวตให้ผู้สมัครไม่ครบทุกกลุ่มหรือไม่ครบทั้ง 5 คนในการเลือกระดับประเทศก็ได้

“สมมติว่าผมเป็นผู้สมัครในกลุ่มการศึกษา ในขั้นเลือกไขว้ ผมต้องเลือกผู้สมัครในกลุ่มศิลปินที่เข้ารอบมาซึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเพราะทำงานคนละวงการ ถ้าผมไม่อยากสุ่มลงคะแนนให้คนที่ผมไม่รู้จัก ก็ไม่จำเป็นต้องเลือก ปล่อยว่างไว้ได้ ไม่เป็นบัตรเสีย ให้ลงคะแนนโหวตคนที่เราต้องการเลือกจริง ๆ” รัชพงษ์อธิบาย 

ระเบียบ กกต. ข้อ 104 และ 105 กำหนดลักษณะการลงคะแนนที่ไม่ให้นับเป็นคะแนนและบัตรเสียไว้ดังนี้

ข้อ 104 ลักษณะการลงคะแนนที่ไม่ให้นับเป็นคะแนนสำหรับช่องหมายเลขนั้น (ซึ่งไอลอว์เรียกว่า “บัตรดีบางส่วน” คือให้นับคะแนนในส่วนที่ลงคะแนนถูกตามที่กำหนด)

  • เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ไม่มีสิทธิรับเลือก
  • ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเป็นเลขอารบิก
  • ลงคะแนนมากกว่า 1 หมายเลขใน 1 ช่อง
  • ไม่ได้เขียนหมายเลขลงใน “ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร” แต่หมายเลขใดที่เขียนในช่องที่กำหนดไว้ ให้นับเป็นคะแนนได้

ข้อ 105 ลักษณะของบัตรลงคะแนนที่นับเป็นบัตรเสียทั้งใบ

  • บัตรปลอม
  • บัตรที่ไม่ได้รับจากกรรมการประจำสถานที่เลือก
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความอื่นนอกจากหมายเลขผู้สมัคร
  • บัตรที่ไม่ได้ลงคะแนน
  • บัตรที่มิอาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้ผู้สมัครหมายเลขใด
  • บัตรที่ลงคะแนนให้ผู้ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
  • บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเกินจำนวนที่กำหนด
  • บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนน
  • บัตรที่ไม่นับเป็นคะแนนเพราะมีลักษณะตามข้อ 104 และในบัตรนั้นเลือกผู้สมัครเพียงคนเดียว

ข่าวลวง #8: รณรงค์ให้คนลงสมัคร สว. เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

กฎหมายบอกว่า: พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 ระบุว่าการจูงใจให้ผู้อื่นลงสมัคร สว. หรือจูงใจให้ผู้สมัครลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด เป็นความผิดตามกฎหมายหากเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

  • ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
  • แนะนำตัวด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริง
  • เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
  • หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถหรือชี่อเสียงของผู้ใด

รัชพงษ์กล่าวว่า ตามกฎหมายนี้ แคมเปญ “สมัครเพื่อโหวต/สมัครเพื่อเปลี่ยน” ของไอลอว์ที่เชิญชวนให้คนมาลงสมัคร สว. จึงไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการกระทำใด ๆ ข้างต้นเพื่อจูงใจให้คนไปสมัคร

นายแสวง เลขาธิการ กกต. ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องนี้อย่างชัดเจนเมื่อ 14 พฤษภาคม ว่า “การรณรงค์ก็เหมือนการเชิญชวน ไม่ได้ผิดอะไรครับ รณรงค์ไม่ได้บอกว่าใครมีอาชีพอะไร ทำได้ทั้งนั้น แต่อย่าไปช่วยเหลือหรือช่วยแนะนำตัว ซึ่งผิดระเบียบการแนะนำตัว”

ปล่อยข่าวลวงทำลายชื่อเสียงผู้สมัครคู่แข่ง?

นอกจาก 8 ข่าวลวงและความเข้าใจผิดที่คิดว่าจะเกิดขึ้นแล้ว โคแฟคชวนรัชพงษ์วิเคราะห์ต่อไปว่า การปล่อยข่าวลวงเพื่อทำลายชื่อเสียงของผู้สมัครคนอื่น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง สส. จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเขาให้ความเห็นว่า ไม่น่ามีมากนักเพราะการทำลายชื่อเสียง/ภาพลักษณ์/ความน่าเชื่อถือของผู้สมัครคนอื่น หรือ “character assassination” ต่อสาธารณะนั้น อาจไม่มีผลในการเลือก สว. ซึ่งเป็นการเลือกกันเองแบบปิดของผู้สมัคร

“การปล่อย fake news เพื่อทำลายชื่อเสียงหรือความน่าเชื่อถือของผู้สมัคร ไม่ได้ส่งผลมากเหมือนการเลือกตั้ง สส. เพราะในการเลือกตั้ง สส. ประชาชนคือคนที่ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัคร การรับรู้ของสาธารณชนจึงมีผลต่อการลงคะแนน แต่การเลือก สว. เป็นการเลือกของผู้สมัครด้วยกันเอง ดังนั้นเขาคงไม่เสียเวลาในการไปปล่อยข่าวว่าคนนั้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าผู้สมัครต้องการได้คะแนนด้วยวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาคงเลือกที่จะยกหูโทรศัพท์แล้วซื้อเสียงหรือเสนอผลตอบแทนให้ผู้สมัครคนอื่น ไม่จำเป็นต้องไปปล่อยข่าวลวง ทำลายกันในทางสาธารณะ”

แม้คาดว่าจะเกิดขึ้นน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย

“ถ้าจะมีการปล่อยข่าวลวงทำลายชื่อเสียงกัน ก็น่าจะเกิดขึ้นหลังจากวันปิดรับสมัคร (24 พ.ค.) และ กกต. ประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว.ทั้งหมดแล้ว ถึงตอนนั้น เราจะรู้ว่าผู้สมัครมีใครบ้าง แล้วก็อาจจะมีการถกเถียงถึงคุณสมบัติของแต่ละคน ว่าใครเหมาะสม-ไม่เหมาะสมอย่างไร” รัชพงษ์ให้ความเห็น

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

อ่านเพิ่มเติม