รายงานพิเศษ: โลกออนไลน์โกรธเกลียดกันขนาดไหนในความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชารอบล่าสุด

กองบรรณาธิการโคแฟค
27 มิถุนายน 2568
โคแฟคชวนสำรวจวาทกรรมและภูมิทัศน์ทางอารมณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชาก่อนและหลังการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหารไทยและกัมพูชาที่ชายแดนใกล้ช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568
แม้ปัญหาการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณช่องบก อันสืบเนื่องมาจากปมขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนจะยังไม่นำไปสู่สภาวะสงครามอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ทว่าร่องรอยของบทสนทนาและอารมณ์บนโลกโซเชียล รวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่ท้าทายและดุดัน แผงด้วยอารมณ์โกรธ เกลียดและกังวลและปลุกปั่นด้วยแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งในห้วงเวลาดังกล่าว สามารถบ่มเพาะความเกลียดชัง ทลายความอดกลั้นต่อการสนับสนุนส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรถาพทางการเมืองของไทยได้
การทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังบทสนทนาและพฤติกรรมการสื่อสารในโลกโซเชียลของผู้ใช้งานเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการออกแบบกลไกเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของอารมณ์สาธารณะ และอาจช่วยในการพัฒนาแนวทางสื่อสารในช่วงวิกฤตที่มีความซับซ้อนทั้งทางอารมณ์และข้อมูล
ทีมนักวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลดิจิตอลของนีโอ โมเมนตัม* ได้เก็บรวบรวมการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม X ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม ถึง 11 มิถุนายน พ.ศ. 2568** โดยใช้ keywords ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนไทย กัมพูชา และได้จำแนกบทสนทนาออกเป็น 10 หัวข้อที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

ผลการเก็บข้อมูล พบข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศรวมทั้งสิ้น 49,127 ข้อความ จำนวนข้อความแตะระดับสูงสุดในช่วงวันที่ 3–9 มิ.ย. โดยเฉพาะในวันที่ 4 มิ.ย. พบข้อความมากกว่า 6,000 ข้อความภายในวันเดียว และในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์สำคัญหลายประการ ได้แก่ การที่รัฐสภากัมพูชามีมติยื่นเรื่องข้อพิพาทต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (2 มิ.ย.) การออกแถลงการณ์ของรัฐบาลไทย (4 และ 5 มิ.ย.) รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายของนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมาธิการการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร อาทิ ข้อเสนอ “10 ข้อยุทธศาสตร์ชนะโดยไม่ต้องรบ” เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทผ่านแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง
และในที่ 5 มิ.ย.ยังพบความเคลื่อนไหวหลากหลายบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งจากภาครัฐ โดยกองทัพบกได้เปิดแคมเปญ “#ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด” เพื่อแสดงจุดยืนในการปกป้องประเทศ และจากภาคประชาชน เช่น กลุ่มทะลุแก๊ซ (Thalugaz) ที่เคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก “#NoWarThaiCambodia” และ “#สันติสู่ชายแดน” เพื่อสื่อสารจุดยืนด้านสันติภาพและสนับสนุนแนวทางการเจรจา สถานการณ์ในช่วงนี้จึงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เข้มข้นในพื้นที่ออนไลน์ โดยมีทั้งแนวคิดเชิงชาตินิยม ข้อเสนอในกรอบการทูต และการรณรงค์เพื่อสันติภาพดำเนินไปควบคู่กัน
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยฯยังพบข้อความที่สะท้อนอารมณ์เชิงลบ(Negative Sentiment) ในสัดส่วนที่สูงถึง 32,698 ข้อความ (66.5%) ซึ่งข้อความจำนวนมากจัดอยู่ในประเภทที่สะท้อนความเกลียดชัง (Hate speech) ที่มีศักยภาพในการขยายระดับความขัดแย้งและลดพื้นที่ของการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวิกฤตทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ปริมาณข้อความเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังเหตุการณ์ปะทะ และสัมพันธ์กับเหตุการณ์ระดับนโยบาย
จำนวนข้อความในช่วง 30 วันแรกของสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำในช่วงต้น ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายหลังวันที่ 28 พ.ค. 2568 ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ปะทะที่บริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี โดยจำนวนข้อความเพิ่มสูงสุดในช่วงวันที่ 3–9 มิ.ย. 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแถลงท่าทีจากทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชา รวมถึงการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย การเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ออนไลน์ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพในการสะท้อนระดับความตึงเครียดทางสังคมในลักษณะที่ใกล้เคียงกับเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง

ข้อความส่วนใหญ่สะท้อนอารมณ์เชิงลบ โดยเฉพาะในหัวข้อที่เชื่อมโยงกับการเมืองและความมั่นคง
• ร้อยละ 66.5 ของข้อความทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่ม Negative Sentiment โดยเฉพาะในหัวข้อ การเมืองภายในประเทศ(Domestic Politics) อธิปไตย พื้นที่และดินแดน (Sovereignty and Territorial) และอัตลักษณ์และวัฒนธรรม (Identity and Culture)
• ข้อความในหัวข้อ การเมืองภายในประเทศ (Domestic Politics)จำนวนมากหยิบยกสถานการณ์ชายแดนไปใช้ในการโต้แย้งหรือสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลโดยเฉพาะผ่านการตั้งคำถามต่อท่าทีและการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร
• ในขณะที่หัวข้อ อธิปไตย พื้นที่และดินแดน มักสะท้อนความรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ
• ในหัวข้อ อัตลักษณ์และวัฒนธรรม พบข้อความที่โจมตีความเชื่อหรือวิถีชีวิตของทั้งสองฝ่าย ไปจนถึงการปฏิเสธความเป็นไปได้ของวัฒนธรรมร่วม ซึ่งอาจนำไปสู่การเสริมสร้างอคติและทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มอื่นในระดับสังคม

Hate Speech ปรากฏในปริมาณมาก โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่สะท้อนอคติและการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
จากการเก็บข้อมูล พบข้อความในกลุ่ม Negative Sentiment มากกว่าครึ่งหนึ่งมีลักษณะที่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มของ Hate Speech
• ระดับ 1 ที่พบมากที่สุด (59.89%) ซึ่งสะท้อนการใช้ถ้อยคำหยาบการดูถูกสติปัญญา หรือการสร้างความเป็นอื่นระหว่างกลุ่ม โดยเฉพาะต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และผู้ที่มีความเห็นต่างในประเด็นการเมือง
• ระดับ 3 (32.71%) สะท้อนรูปแบบของการสื่อสารที่อิงภาพจำทางลบ การแปะป้าย และการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ทัศนคติเชิงเกลียดชังสามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้าง
• ระดับ 4 (5.92 %) ซึ่งแสดงออกถึงการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ หรือความเป็นพลเมือง
• ระดับ 2 (0.89%) มีลักษณะของการคุกคามหรือล่วงละเมิดแบบเจาะจงบุคคลซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในระดับปัจเจก
• ระดับ 5 (0.59%) ที่มีความรุนแรงสูง เช่น การยุยงให้ใช้ความรุนแรงหรือทำให้ความรุนแรงดูเป็นสิ่งชอบธรรม ปรากฏในสัดส่วนน้อย แต่การปรากฏของข้อความในลักษณะดังกล่าวยังคงเป็นสัญญาณที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากอาจมีผลต่อการยกระดับความตึงเครียดหรือสร้างความเข้าใจผิดในระดับสาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อบริบทของข้อความเหล่านี้แทรกซึมอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิม
จากผลการวิเคราะห์นี้ ชัดเจนว่าการปะทุของอารมณ์ในพื้นที่ออนไลน์ช่วงเหตุการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการแสดงความไม่พอใจเท่านั้น หากแต่สะท้อนถึงการเคลื่อนตัวของอารมณ์สาธารณะไปสู่การสื่อสารที่มีลักษณะเป็น HateSpeech ในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะในรูปแบบที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ และตอกย้ำอคติต่อกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
ความรุนแรงของถ้อยคำที่ปรากฏเหล่านี้จึงไม่เพียงเป็นภาพสะท้อนของบรรยากาศทางอารมณ์ในช่วงวิกฤต หากยังอาจกลายเป็นปัจจัยเร่งที่ส่งผลต่อท่าทีและพฤติกรรมของผู้คนในโลกจริง หากไม่มีแนวทางจัดการหรือการเฝ้าระวังที่เหมาะสมและต่อเนื่อง

หัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่ชายแดน แต่ข้อความจำนวนมากมีลักษณะในเชิงลบ
• หัวข้อที่มีจำนวนข้อความมากที่สุดคือ “Life and Humanity (วิถีชีวิต และความเป็นมนุษย์)” (48.47%) ซึ่งครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน แต่ ข้อความจำนวนมากในกลุ่มนี้กลับแสดงอารมณ์เชิงลบ เช่น ความกลัว ความไม่มั่นคง หรือความรู้สึกไม่สบายใจต่อสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คน การตีความเหตุการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนผ่านกรอบของความเปราะบาง ความสูญเสีย หรือความทุกข์ร่วม จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้หัวข้อนี้กลายเป็นศูนย์รวมของความรู้สึกในช่วงเวลาวิกฤต และยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นชายแดนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความมั่นคงในระดับรัฐเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับมิติของชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่โดยตรง
• ในขณะเดียวกัน หัวข้อ “Domestic Politics (การเมืองภายในประเทศ)” (15.27%) และ “Sovereignty and Territorial(อธิปไตย พื้นที่และดินแดน)” (15.19%) ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหัวข้อแรกมีสัดส่วนข้อความเชิงลบสูงที่สุด (73.94%) โดยข้อความเหล่านี้สะท้อนการวิพากษ์วิจารณ์ต่อท่าทีหรือการตัดสินใจของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดน ทั้งในแง่ของความเหมาะสม การสื่อสารต่อสาธารณะ และแนวทางการดำเนินนโยบาย นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประเด็นชายแดนเป็นจุดตั้งต้นในการแสดงความเห็นต่อประเด็นการเมืองภายในประเทศที่กว้างขึ้น เช่น บทบาทของกองทัพ หรือจุดยืนหรือท่าทีของรัฐบาล ส่วนหัวข้อที่สองสะท้อนการแสดงออกถึงความห่วงใยต่ออธิปไตยและเขตแดนของประเทศ โดยเฉพาะในลักษณะที่เน้นการยืนยันสิทธิของไทยเหนือพื้นที่พิพาท เช่น การอ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือแผนที่ การใช้ถ้อยคำในเชิง “ต้องไม่ยอมอ่อนข้อ” หรือ “ไม่เสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว” รวมถึงการแสดงความไม่พอใจต่อการดำเนินการของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นฝ่ายรุกรานหรือท้าทายอธิปไตยไทย ขณะเดียวกันก็ปรากฏการวิจารณ์บุคคลหรือกลุ่มในประเทศที่ถูกมองว่า “อ่อนข้อ” หรือ “ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ” ทำให้หัวข้อนี้กลายเป็นพื้นที่ของการสื่อสารที่อ่อนไหวและเต็มไปด้วยการให้ความหมายเชิงอารมณ์ต่อคำว่า “แผ่นดิน” และ “ศักดิ์ศรีของชาติ”
• แม้พื้นที่ออนไลน์จะเต็มไปด้วยความตึงเครียดทางอารมณ์ แต่ยังมีเสียงเรียกร้องสันติภาพอย่างต่อเนื่อง ในหัวข้อ “PeaceBuilding (การสร้างสันติภาพ)” ซึ่งมีสัดส่วน 7.85% โดยเนื้อหาเหล่านี้ประกอบด้วยข้อเสนอที่เน้นการใช้การเจรจา กลไกทวิภาคี ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการหลีกเลี่ยงความรุนแรง รวมถึงการแสดงความห่วงใยต่อประชาชนทั้งสองประเทศ การปรากฏของข้อความเหล่านี้ แม้จะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับข้อความเชิงลบโดยรวม แต่สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ออนไลน์ยังคงเปิดช่องให้กับการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์และการแสวงหาทางออกโดยสันติ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบทั้งในระดับนโยบายและการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดและลดการปะทะกันของอารมณ์ในช่วงวิกฤต
• หัวข้อ “Pro-War and Call for Violence (การเรียกร้องสงครามและการใช้ความรุนแรง)” แม้จะมีข้อความอยู่ในสัดส่วนเพียง 0.07% แต่มีนัยสำคัญ เนื่องจากแสดงให้เห็นการใช้ถ้อยคำที่เรียกร้องหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรง เช่น การแสดงความยินยอมต่อการทำสงคราม การมองว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือการประณามแนวทางสันติภาพว่าอ่อนแอ ข้อความเหล่านี้แม้มีจำนวนไม่มาก แต่ควรได้รับความสนใจเชิงนโยบายและการสื่อสารสาธารณะ เนื่องจากมีศักยภาพในการหล่อเลี้ยงเรื่องเล่าที่สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง

พฤติกรรมของผู้ใช้งานสะท้อนบทบาทเชิงรุกในการกำหนดทิศทางการสนทนา และการเคลื่อนไหวเชิงอารมณ์
การวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์ระหว่างสถานการณ์ตึงเครียดชายแดนไทย–กัมพูชา พบว่า มีกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสูงอย่างชัดเจนในช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1–9 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณข้อความในระบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้งานเหล่านี้มีลักษณะการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ทั้งในด้านจำนวนโพสต์ การใช้แฮชแท็ก การกล่าวถึงผู้ใช้งานอื่น (mention) และท่าทีทางอารมณ์ที่แสดงผ่านข้อความ

• ผู้ใช้งานที่มีจำนวนโพสต์สูงและมีความถี่ โดยบางบัญชีมีบทบาทสูงในการโพสต์ แสดงความคิดเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ปริมาณข้อความเพิ่มสูงขึ้น บัญชีเหล่านี้ส่วนใหญ่มีข้อความในเชิงลบ แต่มีลักษณะการสื่อสารที่ต่อเนื่อง และใช้ฟังก์ชันของแพลตฟอร์ม เช่น การใช้ hashtag หรือ mention เพื่อกระจายข้อความในวงกว้าง
• กลุ่มสื่อกระแสหลักเช่น ThaiPBSNews, naewna_news, PPTVHD36 และ newroom44 ทำหน้าที่ในการรายงานข่าวในลักษณะเป็นกลาง และยังมีผู้ใช้งานอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามผลักดันข้อเสนอเชิงบวก ซึ่งแม้จะมีบทบาทน้อยกว่าในเชิงปริมาณ แต่เป็นเสียงสำคัญในการรักษาสมดุลทางอารมณ์ในช่วงวิกฤต

• แม้ภาพรวมของข้อความในช่วงเวลาดังกล่าวจะโน้มเอียงไปในทางลบ แต่ยังพบผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทในการผลิตและเผยแพร่ข้อความเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง เช่น VoiceTVOfficial, SocialgazeTh, Goodstxxxxx, Tkhaxxxxxและ panyxxxxx ข้อความจากผู้ใช้งานกลุ่มนี้มักเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง สนับสนุนการเจรจา และแสดงความห่วงใยต่อประชาชนในพื้นที่ชายแดนแม้จำนวนโพสต์จะน้อยกว่ากลุ่มที่แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจน แต่บทบาทของพวกเขามีความสำคัญในฐานะเสียงทางเลือกที่พยายามถ่วงดุลความตึงเครียด และรักษาพื้นที่สำหรับการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์
โดยสรุป พฤติกรรมของผู้ใช้งานในสถานการณ์วิกฤตนี้แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของหลายกลุ่มที่มีบทบาทแตกต่างกันอย่างชัดเจน บางกลุ่มผลิตข้อความอย่างเข้มข้นในเชิงวิพากษ์ บางกลุ่มทำหน้าที่เป็นสื่อกระจายข้อมูล ขณะที่บางกลุ่มพยายามผลักดันข้อเสนอเชิงบวกหรือสันติภาพ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.neomomentum.com หรือติดต่อได้ที่ contact@neomomentum.co
*Neo Momentum เป็น เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการให้บริการข้อมูล การวิจัย และการพัฒนา โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven) มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อน (social enterprise) จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและมีประสบการณ์ในการศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมการสื่อสารทางการเมืองในช่วงการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและเยาวชนไทยเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและสังคม ช่วงปี 2020-2021
**ข้อมูลชุดแรกเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหา อารมณ์และพฤติกรรมของผู้ใช้งานในห้วงความตึงเครียดขัดแย้งตามแนวชายแดนและข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ปะทุขึ้นมายับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2568 ภายใต้โครงการวิจัย ชื่อ Why is there so much anger?: Exploring emotional landscapes and online narratives amid Thai-Cambodian tensions