จาก‘สัปดาห์รู้เท่าทันสื่อ’สู่‘เดือนการฟังแห่งชาติ’ ทักษะ‘ตระหนักรู้ใจตน-ฟังคนอย่างมีคุณภาพ’สำคัญในยุคดิจิทัล

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)ในวันที่ 21 ต.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในหัวข้อ “จากสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ MIDL สู่เดือนการฟังแห่งชาติ”

โดยคุณญาณี เริ่มต้นด้วยการอธิบายคำว่า “MIDL” ที่หมายถึง Media Information Digital Literacy เป็นการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในยุคปัจจุบันและอนาคตที่เครือข่ายหลายๆ ประเทศเห็นความสำคัญของทักษะนี้  ทางองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) จึงได้จัดสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อในเดือนตุลาคมของทุกปีในระดับสากล ส่วนแต่ละประเทศก็จะจัดงานภายในประเทศตนเอง  สำหรับประเทศไทย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค. 2567 ณ อาคาร KX Knowledge Xchange (สถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี) นอกจากนั้นจะมีกิจกรรมกระจายในต่างจังหวัดด้วย จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2567 โดยภาคีเครือข่าย มีรูปแบบกิจกรรมทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยวัตถุประสงค์ของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ ในระดับสากลมุ่งเน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานสร้างทักษะเท่าทันสื่อ การเฝ้าระวังสื่อ การป้องกันภัยจากสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน

จุดสำคัญคือ ประเทศไทยเองยังขาดการบูรณาการในการขับเคลื่อนเรื่องทักษะเท่าทันสื่อ  ดังนั้นงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อที่จัดขึ้นจึงเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อคนทำงานขับเคลื่อนด้านของ MIDL ในประเทศ ให้มารวมกันแล้วได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้เชื่อมโยงงานกัน มีโอกาสได้ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย

สำหรับงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ เจ้าภาพหลักคือสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี อีกทั้งยังมี 30 เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จะมารวมตัวกันสร้างพื้นที่ที่มีความหลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมร้อยกัน

คุณญาณี เล่าต่อไปว่า หากย้อนกลับไปราว 10 กว่าปีก่อน เรื่องการรู้เท่าทันสื่อจะแตกต่างกับในปัจจุบันอย่างมาก เช่น ยุคนั้นจะเน้นเรื่องสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความซับซ้อนของสื่อมากขึ้น ข้อดีคือได้ใช้ประโยชน์ทั้งการเรียนรู้ ความบันเทิง การเชื่อมความสัมพันธ์ แต่ก็ต้องระวังภัยคุกคามที่เข้ามา เช่น ภัยต่อเด็กและเยาวชน เรื่องเพศ การพนันออนไลน์ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การระรานทางออนไลน์ (Cyberbullying) ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ซึ่งนอกจากรู้เท่าทันแล้วต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียว โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของภาคพลเมือง ให้คนทั่วไปซึ่งทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือเป็นพลเมืองที่เท่าทันสื่อและใช้สื่ออย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเอง หรือยกระดับขึ้นไปกว่านั้นคือการเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์สื่อออกไปยังชุมชนหรือสภาพแวดล้อมที่คนคนนั้นอยู่ได้ด้วย  

และเนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดังนั้นสัญลักษณ์ของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ จึงออกแบบมาสค็อตของงานคือ “A (m) I” ที่พ้องกับคำว่า “Ami” ที่แปลว่า เพื่อน ในภาษาฝรั่งเศส ให้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับ แมงมุม สื่อถือการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ โดยเริ่มจากตนเองก่อน เช่น เมื่อจะใช้สื่อต้องตระหนักรู้ถึงความรู้สึกในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร หรือก็คือ มีสติ ก่อนตัดสินใจโต้ตอบหรือสื่อสารกลับไป 

“ที่สำคัญคือ งานนี้จะไม่ใช่คนทำงานที่เป็นผู้ใหญ่ จะมีเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นพลเมืองในยุคที่ดิจิทัลที่ขับเคลื่อนแล้วก็ใช้สื่อเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในชุมชนในพื้นที่ของเขา ฉะนั้นถ้าเราดูจากวาระของงาน โดยเฉพาะในวันแรกที่มีตัวแทนทั้งจาก UNESCO แล้วก็จะมีผู้แทนที่เป็นเยาวชนคนหนุ่ม-สาว ได้เป็นผู้พูดหลัก ที่จะเข้ามาพูดถึงการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI ในการสร้างสรรค์ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แล้วก็การรู้เท่าทันทั้งโลกภายในและโลกภายนอก”

จากงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ หรือ MIDL Week สู่ เดือนการฟังแห่งชาติ ที่มีธนาคารจิตอาสา และทีมงานเพจความสุขประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มชักชวนเครือข่ายเข้ามาร่วมกิจกรรม ที่มาที่ไปของงานนี้เนื่องจากการฟังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความสัมพันธ์ในทุกระดับให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่คนพูดหรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ กันมาก แต่ฟังกันไม่เป็น แม้กระทั่งการฟังเสียงความต้องการ คุณค่าและความรู้สึกภายในของตนเอง รวมถึงการฟังผู้อื่นที่มาพูดคุยกับเรา ซึ่งการฟังอย่างมีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญและต้องเป็นทักษะ

“คนปัจจุบันมีความเหงาโดดเดี่ยวเยอะ และยิ่งเรามาใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลหรือโลกออนไลน์เยอะมากๆ เราอยู่กับมือถือ อยู่กับโน้ตบุ๊กต่างๆ มันทำให้คุณภาพของความสัมพันธ์นั้นมันค่อยๆ ถอยลงไป คุณภาพมันไม่ดีเพราะเราอยู่กับอะไรที่มันไม่ใช่คน เราไม่มีโอกาสได้วางมือถือหรืออุปกรณ์สื่อสาร ได้สื่อสารแบบมนุษย์กับมนุษย์ นี่คือช่องว่างของปัญหาหรือความสัมพันธ์”

คุณญาณี กล่าวว่า การฟังเป็นทักษะที่ต้องใช้การฝึกฝน อย่างข้อแรกที่เป็นหลักคือ การอยู่กับคนตรงหน้าแบบ 100%” ไม่มีการทำอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นใช้โทรศัพท์มือถือ รับประทานอาหาร ขับรถ ฯลฯ  ประการต่อมาคือ คนเรามักฟังแล้วตกร่องเช่น ฟังแล้วสอดแทรก ไม่ว่าตั้งคำถาม แนะนำ ตัดสิน ฯลฯ ซึ่งบางทีอีกฝ่ายอาจต้องการเพียงการระบาย อีกประการหนึ่ง เท่าทันอารมณ์ของตนเอง” รู้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไรขณะฟัง หากสามารถฝึกทักษะการรับฟังได้ดี ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งกับตนเองและคนรอบข้างดีขึ้น 

ทั้งนี้ ในส่วนของกิจกรรมสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ (MIDL Week) ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน Child and Youth Media Institute” ซึ่งนอกจากการเข้าร่วมทางออนไซต์แล้ว บางกิจกรรมยังสามารถรับชมได้ทางออนไลน์ เช่น กิจกรรมบนเวทีใหญ่  หรือในแต่ละห้องย่อยก็จะมีภาคีเครือข่ายร่วมถ่ายทอดสด ขณะที่กิจกรรมเดือนแห่งการฟังแห่งชาติ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ความสุขประเทศไทย

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-