‘2572’นับถอยหลัง‘ทีวีดิจิตอล’สิ้นสุดใบอนุญาต ‘โทรทัศน์ภาคพื้นดิน’จำเป็นแม้คนดูน้อยลง

25 มิ.ย. 2568 รายการ Cofact Live Talk ทางเพจเฟซบุ๊ก Cofact โคแฟค ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ชวนพูดคุยในประเด็น “โทรทัศน์ไทย ครบ 70 ปี ไปต่อหรือพอแค่นี้” โดย ณตภณ ดิษฐบรรจง บรรณาธิการบริหาร THE F1RST (เดอะ เฟิร์สท์) เล่าถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์ช่วงเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิตอลตั้งแต่ในปี 2555 มีการจัดทำแผนแม่บทการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล มีข้อถกเถียงเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ

กระทั่งเกิดการประมูลใบอนุญาตในปี 2556 โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้รับเงินประมูลไป 5 หมื่นล้านบาท แต่ละช่องได้เตรียมการออกอากาศ และออกอากาศจริงในวันที่ 24 พ.ค. 2557 อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นยุครัฐบาลรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทีวีดิจิตอลบางช่อง เช่น Voice TV โดนจับตามองและถูกแทรกแซง เนื่องจากนำเสนอข่าวไม่ตรงกับนโยบายของ คสช. มากนักในเวลานั้น
ในปี 2557 ยังเป็นปีแรกที่เริ่มใช้กฎ Must Have และรายการที่มีปัญหาคือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งทาง RS ได้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดไว้เมื่อหลายปีก่อนหน้าจะมีกฎ Must Have เกิดขึ้น แต่ กสทช. บอกว่าต้องถ่ายทอดให้ครบทุกนัดตามกฎ Must Have เรื่องนี้เป็นคดีความฟ้องร้องในศาลและ RS เป็นฝ่ายชนะ และเกิดบรรทัดฐานใหม่ คือ กฎ Must Have ของ กสทช. สามารถบังคับใช้ได้ แต่การบังคับใช้ต้องไม่มีผลย้อนหลัง
อย่างไรก็ตาม คสช. ได้ใช้งบประมาณ 427 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ที่เก็บเงินจากผู้ประกอบการทุกรายทั้งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม เพื่อให้คนไทยได้ชมฟุตบอลโลกครบทุกนัด ในปีเดียวกัน กสทช. ยังต้องขึ้นศาลสู้คดีกับช่อง 3 ที่ยังคงออกอากาศช่อง 3 อนาล็อก ไม่ยอมนำมาออกอากาศคู่ขนานกับช่อง 3HD (หรือช่อง 33) ทำให้เวลานั้นช่อง 3 มี 4 ช่องคือช่อง 3 (อนาล็อก) ช่อง 13 (Family) ช่อง 28 (SD) และช่อง 33 (HD)
ซึ่งเหตุผลที่ไม่ยอมออกอากาศคู่ขนานในตอนแรก เนื่องด้วยช่อง 3 อ้างว่าเป็นคนละนิติบุคคลกัน กระทั่งในวันที่ 10 ต.ค. 2557 การเจรจาจบลงด้วยการที่ช่อง 3 ยอมออกอากาศผังรายการช่องอนาล็อกคู่ขนานกับช่อง 3HD จากนั้นในปี 2558 ThaiTV กับ Loca เป็น 2 ช่องแรกในช่องทีวีดิจิตอลที่ขอยุติการออกอากาศกลางคันเพราะไม่สามารถจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 ได้ ต่อมาในวันที่ 1 มี.ค. 2564 ศาลตัดสินให้ ThaiTV ชนะคดี ดังนั้น กสทช. ต้องคืน Bank Guarantee ที่ยึดมาให้กับทาง ThaiTV ทั้งหมด
อนึ่ง เมื่อ ThaiTV เปิดเรื่องการคืนใบอนุญาต ส่งผลให้ผู้ประกอบการอีกหลายรายทำบ้าง จนวันที่ 11 เม.ย. 2562 คสช. ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ได้เปิดช่องให้คืนใบอนุญาตและงดเว้นการชำระค่าใบอนุญาตอีก 2 งวดสุดท้าย จากที่ต้องแบ่งชำระทั้งหมด 6 งวด โดยกลุ่มที่คืนใบอนุญาตมี 7 ช่อง คือ 3Family 3SD MCOT Family Voice TV Spring26 Spring19 และ Bright TV ยื่นมาในวันที่ 10 พ.ค. 2562 ซึ่งการยื่นต้องมีแผนเยียวยาผู้ชมและพนักงานด้วย
ปี 2563 เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การเรียนการสอนต้องทำผ่านระบบทางไกล รัฐบาลได้ประสานกับทาง DLTV ซึ่งเป็นมูลนิธิการศึกษาทางไกล ขอ 15 ช่องของ DLTV มาออกอากาศชั่วคราวในทีวีดิจิตอลเป็นเวลา 6 เดือน และในปีนี้ยังมีการเกิดขึ้นของช่อง ALTV4 ซึ่งยังคงออกอากาศมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นในปี 2564 มีมติจาก กสทช. ที่อนุญาตให้ช่อง 5 เปลี่ยนจากเดิมช่องเลข 1 ใช้ช่องเลข 5 เป็นช่องเดียวในประเทศไทย และได้เปลี่ยนเรียบร้อยแล้ว
ในปี 2565 กสทช. ต้องใช้งบฯ 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ให้กับทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปร่วมกับภาคเอกชน จ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในปีดังกล่าว ที่มีราคาประมูลถึง 1,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ กสทช. ถูกฟ้อง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 เม.ย. 2568 ศาลตัดสินยกฟ้องกรรมการ กสทช. 4 คนในคดีนี้ จากนั้นในวันที่ 26 มี.ค. 2567 สมาคมทีวิดิจิตอล ยื่นคัดค้านการประมูลคลื่น 3500MHz เนื่องจากเป็นคลื่น C-Band ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน 10 ล้านครัวเรือน
ตามด้วยวันที่ 7 เม.ย. 2567 กสทช. มีมติถอดฟุตบอลโลกออกจากกฎ Must Have แต่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2568 และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้ไปยื่นหนังสือกับ กสทช. เพื่อศึกษาอนาคตทีวีดิจิตอลภายใน 60 วัน ส่วนมุมมองอนาคตโทรทัศน์ไทย 1.โทรทัศน์ภาคพื้นดินยังมีความจำเป็น เพราะถือเป็นสาธารณูปโภคของประเทศ
อย่างในญี่ปุ่น กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลมีการเตือนภัยพิบัติและบูรณาการกับทุกภาคส่วน ในขณะที่ประเทศไทยต้องมาเรียกร้องให้ทำระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) ทั้งที่ทีวีดิจิตอลทำได้ง่ายกว่า และในเวลานั้นก็มีผู้ประกอบการหลายรายพยายามทำ แต่ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล อาจพลาดไปในการทำทีวีดิจิตอลให้เป็นสาธารณูปโภค
2.โทรทัศน์ไทยต้องไปต่อ แต่จะไปอย่างไร? มีแนวคิดที่ กสทช. คงจะทำไปประมาณหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เป็นรูปธรรม คือ OTT หรือแพลตฟอร์มระดับชาติ ซึ่งหากจะทำต่อไปก็ต้องให้ทีวีดิจิตอลเข้าไปอยู่ในนั้นเป็นบริการพื้นฐาน แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการเองก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าที่อยู่ได้เป็นเพราะเนื้อหาหรือสถานี อย่างในอดีตที่โทรทัศน์ในไทยมีเพียง 6 ช่อง โมเดลหนึ่งคือแบ่งเวลาให้คนอื่นมาเช่าออกอากาศ แต่ปัจจุบันทำแบบนั้นไม่ได้แล้วเพราะความเสี่ยงมีมาก ในขณะที่การถือลิขสิทธิ์ (IP) เนื้อหาจำเป็นและสำคัญในการต่อยอด เช่น ละคร
“สุดท้ายทุกคนก็อยากไปต่อ เพียงแต่จะไปต่อในท่าไหน ผมว่าอย่างไรก้ต้องกลับมาทำการบ้านกันพอสมควร ต้องยอมรับว่าจนถึง ณ วินาทีนี้ กสทช. ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าหลังปี 2572 (ปีที่ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลจะหมดอายุ) จะไปไหน? แล้วสิ่งที่ กสทช. เคยอุดหนุนค่า MUX คุณรู้หรือเปล่าว่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลหมดก่อนใบอนุญาตทีวีหลายเดือนเลยนะ แล้วถ้าปี 2571 โครงข่ายพวกนี้หมดใบอนุญาตแล้วเอาอย่างไรต่อ?” ณตภณ กล่าว

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากถามว่าโทรทัศน์ไทยยังมีอนาคตหรือไม่ ในมุมคนทำทีวีมองว่าไม่ว่าผู้ชมจะรับชมผ่านช่องทางใด ในฐานะผู้ผลิตก็ต้องไปให้ถึง อย่างในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ร้อยละ 65 – 70 ดูช่องโทรทัศน์แบบดั้งเดิมผ่านดาวเทียม ขณะที่การรับชมผ่านภาคพื้นดินเหลือเพียงร้อยละ 15 จากเดิมเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีการประมูลทีวีดิจิตอลใหม่ๆ มีผู้รับชมผ่านภาคพื้นดินร้อยละ 30 ซึ่ง กสทช. คาดการณ์ว่าจะทำให้เป็น 100% ได้แบบยุคทีวีอนาล็อกที่คนส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์ผ่านเสาอากาศ
แต่ในความเป็นจริง การรับชมโทรทัศน์ผ่านภาคพื้นดินลดลงเนื่องจากมีช่องทางใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น IPTV อินเตอร์เน็ตทีวี และปัจจุบันคือ OTT ซึ่งหากดูตามแผนภูมิทัศน์สื่อที่สมาคมฯ เคยทำไว้ ใช้ปีปัจจุบันโดยยึดตัวเลขจาก Nielsen จะพบว่าผู้รับชมช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอยู่ที่ร้อยละ 65 – 70 รับชมผ่านภาคพื้นดินที่ร้อยละ 15 และอีกเกือบร้อยละ 20 รับชมผ่านออนไลน์ แต่หากคาดการณ์ไปอีก 4 ปี จนถึงสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 ดาวเทียมอาจไม่เพิ่มขึ้นแต่อยู่เท่าเดิม ขณะที่ภาคพื้นดินจะลดลงเหลือร้อยละ 10 ส่วนออนไลน์อาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 30
ดังนั้นอนาคตของโทรทัศน์จึงอยู่ที่ระบบ Streaming หรืออยู่ที่ OTT แต่ในแง่ผู้ผลิตคือผลิตให้ออกได้ทุกๆ ช่องทาง อนาคตก็ต้องไปตามผู้บริโภคว่ารับชมแบบไหน ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรตลาดหรือผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนด อย่างทุกวันนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลแบบเดิมมองถึงอนาคต ว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ชมในส่วนของ Streaming รับชมทีวีดิจิตอลที่ทำได้ เพราะตรงนั้นมีคนดูอยู่มาก
ซึ่งก็ได้พูดคุยกับทาง กสทช. ว่ามีการศึกษาแนวทางนี้ไว้ เมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 หากมีการต่อใบอนุญาตหรือประมูลใบอนุญาตใหม่ จะเพิ่มช่องทางนี้เข้าไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ การส่งสัญญาณภาคพื้นดินยังคงมีอยู่ แต่ผู้รับชมสะดวกรับชมผ่าน OTT หรือในการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีผู้ประกอบการโครงข่ายยอมรับว่าการทำให้คนรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้นขาดการสร้างแรงจูงใจ แรกๆ มีแจกกล่อง แต่หลังๆ ไม่มีการโฆษณา ไม่มีการบอกว่ารับได้ ผลคือคนหันไปรับชมผ่านช่องทางอื่น
แต่หากผู้ประกอบการโครงข่ายและ กสทช. ให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้กับประชาชนว่าช่องทางนี้รับชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คือช่วงแรกๆ โครงข่ายยังไม่สมบูรณ์ แต่ปัจจุบันแม้โครงข่ายสมบูรณ์คนก็หันไปใช้ Smart TV ที่สามารถรับชมรายการต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ คือคนยังดูโทรทัศน์แต่ไม่รู้ว่าตนเองดูผ่านช่องทางใด ซึ่งตนมองว่าคงยังไม่ถึงขั้นยกเลิกการออกอากาศภาคพื้นดิน เพียงแต่การออกอากาศในช่องทางนี้คุ้มหรือไม่ที่จะขยายให้เต็มพื้นที่ เพราะคนรับเขาไปเลือกรับในแบบอื่น
อนึ่ง ในการประชุมกลุ่มย่อย Road Map TV เมื่อเร็วๆ นี้ทำให้ทุกคนเห็นภาพชัดขึ้น คือไม่ได้พูดถึงว่าสิ้นสุดใบอนุญาตแล้วจะทำอะไร แต่พูดถึงคลื่นความถี่ที่ใช้กับ TV ซึ่งมี 2 คลื่น คือ 1.คลื่น 470 –700 MHz สำหรับภาคพื้นดิน กับ 2.คลื่น 3500 MHz สำหรับ C-Band ซึ่งคลื่น 3500 MHz เป็นที่ชัดเจนว่าหมดใบอนุญาตแล้วทางโทรคมนาคม หรือ กสทช. ก็อยากได้ไปประมูล โดยมีการประชุม 3 ฝ่าย คือไทยคม โทรคมนาคม และทีวีดิจิตอล จะเอาไปก็ได้แต่ต้องมีแผนเปลี่ยนผ่านจาก C-Band เป็น KU-Band
ในขณะที่คลื่นภาคพื้นดินซึ่ง กสทช. ล็อกไว้สำหรับ 48 ช่อง ปัจจุบันมีเพียง 20 – 21 ช่อง แล้วทาง IMT ต้องการเอาไปใช้ส่วนหนึ่ง เพราะใช้ไม่หมดและเป็นย่านความถี่ที่ทั่วโลกใช้ ซึ่งในที่สุดก็ต้องแบ่งออกไป จากนั้นก็ต้องปรับช่องทีวีดิจิตอลกันใหม่ โดยทางสมาคมฯ ทำข้อเสนอไปว่าหากสิ้นสุดใบอนุญาตแล้วความคมชัดควรปรับเป็น HD ทั้งหมด ไม่มี SD อีกต่อไป โดยการปรับหมายถึงต้องใช้ช่องและโครงข่ายที่เหลือ คือ 3 ต่อ 1 เปลี่ยน SD เป็น HD แต่ไม่ต้องสนใจระดับ 4K ซึ่งควรปล่อยให้เป็นภาคสมัครใจของผู้ประกอบการ เพราะไม่ใช่ระดับความคมชัดของโทรทัศน์ที่คนส่วนใหญ่รับชม และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเม็ดเงินลงทุนปรับปรุงให้ได้ขนาดนั้น
แต่การปรับเป็น HD ก็ต้องลดจำนวนช่องลง ซึ่งตอนนี้ช่องทีวีสาธารณะวางไว้ 6-7 ช่อง แต่ช่องเอกชน 15 ช่อง เป็น HD 7 ช่อง แล้วก็เป็น SD ก็จะยุบรวม มี 2 ทางเลือก ยุบเหลือ 10 + 7 หรือเหลือ 6 + 7 แล้วก็ประเมินว่าโครงข่ายที่เหลืออยู่ ที่ใช้ไม่เต็ม สามารถมาใช้กับการส่งของ HD ได้ เพียงพอไม่ต้องลงทุนเพิ่ม อันนี้เป็นแนว ส่วนที่บอกว่าทีวีดิจิตอลควรมีบทบาทมากกว่าแค่ส่งสัญญาณโทรทัศน์ เรื่องนี้ถูกต้อง
แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากการประมูลค่อนข้างสับสน คือช่องไม่ควรประมูลคลื่นความถี่ เพราะช่องบริหารเนื้อหาไม่ใช่คลื่นความถี่ ในขณะที่ใบอนุญาตโครงข่าย กสทช. ให้คลื่นความถี่แต่ไม่ได้ให้เขาทำอย่างอื่นนอกจากส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ทั้งที่คลื่นความถี่ในย่านนั้นทำได้ เช่น การแจ้งเตือนภัยพิบัติ แต่น่าจะเป็นแนวทางที่ กสทช. ฝั่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์กำลังศึกษาอยู่ ว่าหากมีการประมูลครั้งต่อไป แทนที่จะให้ช่องประมูลก็ให้ทางโครงข่ายประมูล ก็จะเป็นการประมูลคลื่นอย่างแท้จริง ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย
“ให้โครงข่ายประมูลแล้วก็ให้เขาทำอะไรมากกว่าการส่งสัญญาณภาคพื้นดิน เพื่อจะได้มีเงิน อย่างน้อยที่สุดทำให้ค่าใช้โครงข่ายทีวีดิจิตอลมันต่ำ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนสาธารณูปโภค เหมือนการไฟฟ้า การประปา ส่งไฟส่งน้ำไปเต็มที่ แต่คนใช้ไม่เต็มอันนั้นก็เป็นเรื่องของคนใช้ แต่แนวคิดคือระบบสาธารณูปโภคคือให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ผมก็คิดว่ามันก็ทำให้ทีวีมีโอกาสฟื้นตัวได้” อดิศักดิ์ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมได้ทาง Link https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1050728880531583/ (ภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันถ่ายทอดสด ตามข้อกำหนดของ Facebook)
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-