หมอหัวใจเตือนอินฟลูฯอย่าทำให้คนไข้เสี่ยงด้วยข้อมูลผิด ๆ

ประเด็นสุขภาพ

ในช่วงที่ผ่านมา กระแสต่อต้านยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน (Statin) ได้สร้างความสับสนในสังคม ด้วยข้อมูลที่ระบุว่ายานี้อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต และกล้ามเนื้อ ทำให้หลายคนสงสัยว่า ยาลดไขมันสแตตินเป็น “พระเอก” ที่ช่วยปกป้องหัวใจ หรือเป็น “ผู้ร้าย” ที่ก่อโทษต่อร่างกายกันแน่รายการโคแฟคสนทนา รวมพลคนเช็กข่าว เมื่อวันที่22 กรกฎาคม 2568 ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดมาร่วมไขข้อข้องใจในประเด็นนี้ พร้อมเตือนอินฟลูเอนเซอร์ให้ระวังการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่ออันตรายจากการหยุดยาโดยไม่จำเป็น

รายการร่วมพูดคุยโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT , นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ (หมอหม่อง) หน่วยวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คุณเมย์ คนเช็กข่าว โดยมี สุชัย เจริญมุขยนันท เป็นผู้ดำเนินรายการ

Statin : พระเอกที่ช่วยชีวิตหรือผู้ร้ายที่ต้องระวัง?

นพ.รังสฤษฎ์ หรือ “หมอหม่อง” อธิบายว่า Statin เป็นยาที่มีประโยชน์อย่างมากในการป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหัวใจ เช่น ผู้ที่เคยเจ็บหน้าอก ผ่าตัดบายพาส หรือใส่สเตนต์ ซึ่งยานี้ช่วยลดโอกาสการเกิดซ้ำได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ Statin ยังมีบทบาทในการลดการอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการอุดตันและอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน

แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคหัวใจ การใช้ Statin จะพิจารณาจากระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL (ไขมันเลว), อายุ, เพศ, การสูบบุหรี่, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, และน้ำหนักตัว ซึ่งสามารถคำนวณได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Thai Cardiovascular Risk Score (Thai CV Risk Score) หากความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางถึงสูงการใช้ Statin จะถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

Statin ไม่ใช่ยาที่ใช้พร่ำเพรื่อ ทุกอย่างในวงการแพทย์ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และโทษ โดยอิงจากงานวิจัยที่ปราศจากอคติและหลักฐานเชิงประจักษ์” หมอหม่องย้ำ

โทษของ Statin : มีจริงแค่ไหน?

กระแสต่อต้านยา Statin มักอ้างถึงผลข้างเคียง เช่นอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสลาย หรือผลกระทบต่อตับและไต หมอหม่องชี้แจงว่า ผลข้างเคียงเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริง แต่พบได้น้อยมาก:

– อาการปวดกล้ามเนื้อ : พบในผู้ป่วยประมาณ 10% ซึ่งสามารถจัดการได้โดยการปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนตัวยา

– กล้ามเนื้อสลาย : เป็นภาวะรุนแรง แต่พบเพียง 1-3 รายต่อแสนคน และแพทย์จะเฝ้าระวังด้วยการตรวจค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อ (CPK)

– ผลต่อตับ: อาจพบเอนไซม์ตับสูงขึ้นเล็กน้อยในผู้ป่วยราว 1% แต่ไม่รุนแรง และไม่มีผลกระทบต่อไตแต่อย่างใด

ถ้าความเสี่ยงของผู้ป่วยสูง เช่น มี LDL สูงมาก หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย การใช้Statin เป็นสิ่งจำเป็น เพราะโอกาสเกิดโรคหัวใจหรือหลอดเลือดสมองตีบรุนแรงกว่าผลข้างเคียงมาก หมอหม่องกล่าว

หมอหัวใจติงอินฟลู: อย่าทำให้คนไข้เสี่ยงด้วยข้อมูลคลาดเคลื่อน

หมอหม่องแสดงความเห็นต่อกระแสต่อต้าน Statin ในโซเชียลมีเดียว่า การตั้งคำถามต่อยาเป็นเรื่องดีเพราะช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้และตระหนักถึงการรักษาแต่การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือบิดเบือน อาจทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจหยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงร้ายแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหัวใจ

“ผมอยากให้อินฟลูเอนเซอร์ที่พูดถึง Statin คุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าปล่อยให้ความเคลือบแคลงใจหรือข้อมูลที่ผิดพลาดทำให้คนไข้หวาดกลัวจนหยุดยา เพราะนั่นอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ร้ายแรง” หมอหม่องเตือน พร้อมแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่นเว็บไซต์ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยหรือโรงพยาบาลของรัฐ

ทางเลือกอื่น: ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพียงพอหรือไม่?

คุณเมย์ คนเช็กข่าว ถามถึงความเป็นไปได้ในการลดไขมันเลว (LDL) โดยไม่ต้องพึ่งยา หมอหม่องยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหาร ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่แนะนำอย่างยิ่ง แต่ในบางคนที่ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลมากเกินไปหรือกำจัดได้ไม่ดี (เช่น ผู้ที่มีภาวะ Familial Hypercholesterolemia) การควบคุมอาหารและออกกำลังกายอาจลด LDL ได้เพียง 10-20% ซึ่งไม่เพียงพอในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง

“ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนคุมอาหารดีแค่ไหน LDL ก็ยังสูง เพราะตับสร้างคอเลสเตอรอลมากเกินไป ในกรณีนี้ยาสแตตินจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยง” หมอหม่องอธิบาย

หยุดยา Statin ได้หรือไม่?

สำหรับคำถามที่ว่าสามารถหยุดยาสแตตินได้หรือไม่หมอหม่องระบุว่า ในกลุ่มป้องกันแบบปฐมภูมิ (คือไม่เคยเป้นโรคมาก่อน) หากผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนระดับ LDL ลดลงและความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำแพทย์อาจพิจารณาลดขนาดยาหรือหยุดยาได้ โดยต้องติดตามผลเลือดอย่างสม่ำเสมอ แต่ในกลุ่มที่เคยเป็นโรคหัวใจ (ป้องกันแบบทุติยภูมิ) การหยุดยาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคอย่างมาก จึงไม่แนะนำให้หยุด

ข้อแนะนำสำหรับประชาชน

– ตรวจสุขภาพเป็นประจำ : ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ควรตรวจวัดความดัน ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง

– ปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยา : อย่าหยุดยาด้วยตนเองโดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจ

– เลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ: ข้อมูลจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลของรัฐ หรือคณะแพทยศาสตร์ต่าง ๆ เป็นแหล่งที่เชื่อถือได้

– ระวังข้อมูลในโซเชียลมีเดีย: ข้อมูลที่แชร์ใน LINE หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ มักมีโอกาสผิดพลาดสูงถึง99% ควรตรวจสอบกับแพทย์หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

สรุป: Statin คือพระเอกเมื่อใช้อย่างถูกต้อง

นพ.รังสฤษฎ์ สรุปว่า สแตตินเป็น “พระเอก” ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจนับล้านคนทั่วโลก แต่การใช้ยาต้องเหมาะสมกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล หากใช้ในกลุ่มที่ไม่จำเป็น ผลข้างเคียงอาจมากกว่าประโยชน์การตัดสินใจใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์โดยพิจารณาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย

“Statin ไม่ใช่ยาพิษ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อใช้อย่างถูกต้องอย่าปล่อยให้ความกลัวจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนมาทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด” หมอหม่องทิ้งท้าย