‘โรคระบาด-ข่าวปลอม-การเมืองแบ่งขั้ว’ เรื่องเล่าต่างแดนว่าด้วยงาน‘คนทำสื่อ’ยุคโควิด
ปี 2563 ที่ผ่านมาและล่วงเลยมาถึงปี 2564 ในปัจจุบันที่โลกเผชิญสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สื่อมวลชนต้องทำงานภายใต้แรงกดดันทั้งการเป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อเพราะต้องรายงานข่าวจากสถานที่ต่างๆ ที่ถูกระบุว่าเป็นจุดเสี่ยง การต้องรับมือข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ไหลบ่าเข้ามาจำนวนมากในยุคดิจิทัลที่ใครๆ ก็นำเสนอเนื้อหาใดๆ ก็ได้ เพื่อกลั่นกรองว่าข้อมูลใดจริง-เท็จ รวมถึงการทำหน้าที่ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่สังคมแตกแยกเป็น 2 ขั้วหรือหลายขั้ว และโรคระบาดก็กลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่แต่ละฝ่ายหยิบยกมาโจมตีกัน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายอีกหลายองค์กร จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2564 หรือ World Press Freedom Day 2021 : Digital Thinkers Forum เวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 15 ว่าด้วยเรื่อง Information as A Public Good ซึ่งวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
หนึ่งในกิจกรรมวันดังกล่าวคืองานเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “How should media report on Covid-19 Vaccines without fear or favor?” มีวิทยากรหลายท่านมาบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของสื่อในต่างประเทศในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ
สเตฟาน เดลโฟร์ (Stephane Delfour) หัวหน้าสำนักข่าว AFP ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สิ่งที่สำนักข่าว AFP ทำคือการรายงานข่าวจากสถานที่จริง ในขณะเดียวกัน การนำเสนอข่าวก็ต้องมาจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และต้องสามารถอธิบายกับประชาชนได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
อย่างในประเด็นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ต้องมีการถามและตอบคำถาม เช่น วัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ วัคซีนชนิดใดมีประสิทธิภาพดีที่สุด วัคซีนแต่ละชนิดต้องฉีดกี่ครั้ง เพราะเหตุใดจึงมีความล่าช้าในหลายประเทศหรือหลายๆ สถานการณ์ มีการพูดคุยกับทั้งแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคคลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ อีกทั้งพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด
และแม้การนำเสนอข่าวต้องรายงานตามข้อเท็จจริง แต่ก็ต้องนำเสนอมุมมองด้วยเช่นกัน เช่น ข่าวที่นำเสนอนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะเหตุใดจึงเลือกนำเสนอเรื่องนี้ หรือรู้สึกว่าข้อมูลนี้มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การทำงานของสื่อต้องตั้งอยู่บนความโปร่งใสด้วยเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อประชาชน ท่ามกลางข้อมูลมากมายต้องทำให้เห็นว่าเนื้อหาของสำนักข่าวนั้นเชื่อถือได้
เดลโฟร์ เล่าต่อไปถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มีผลสำรวจพบประชาชนร้อยละ 60 ไม่อยากฉีดวัคซีน เหตุผลสำคัญคือวัคซีนโควิด-19 ถูกผลิตขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก จึงมีคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน หรือที่ เมียนมา มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกันว่าใครไม่ฉีดวัคซีนจะโดนประณามทางออนไลน์ ขณะเดียวกัน พื้นที่ออนไลน์ก็มีการแพร่กระจายข่าวลือต่างๆ มากมาย จึงเป็นความท้าทายของสำนักข่าว AFP ที่จะเข้าถึงผู้รับสารกลุ่มใหม่ๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง
“เรามีบริการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีทั้งหมดอยู่ประมาณ 80 ประเทศ ผู้สื่อข่าวทุกคนของ AFP ก็มีหน้าที่อุทิศตนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย ที่มีการดำเนินงานในจุดนี้ทั้งหมด 16 ภาษา และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน เราก็มีการตรวจสอบข้อความที่เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริงต่างๆ ในภาษาไทยด้วยเช่นกัน ตัวโรคระบาดนี้มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับโรคระบาดทางข้อมูลข่าวสาร หลายๆ ข่าวหรือหลายๆ ผู้นำเสนอก็มีอิทธิพลอย่างมากเลยในโลกออนไลน์ อย่างเช่นกลุ่มที่เป็นผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีน ก็มีอิทธิพลอย่างมากเช่นกัน เราจะเห็นว่ามีจำนวนคนที่เข้ามาชม Content (เนื้อหา) ของเขาเยอะขึ้นมากๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา” เดลโฟร์ กล่าว
หัวหน้าสำนักข่าว AFP ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวอีกว่า ในรอบปีที่ผ่านมาถือเป็นการท้าทายในการปรับตัวของทีมงานที่มีอยู่ทั่วโลก โดยมีผู้สื่อข่าวที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ฝ่ายเทคนิคช่วยเหลือฝ่ายอื่นๆ เผื่อให้เข้าใจหัวข้อข่าวที่ต้องการนำเสนอ เพราะโควิด-19 ไม่ใช่เพียงหัวข้อทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังมีนัยทางการเมืองและสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน
ผู้สื่อข่าวจึงควรรายงานข่าวโควิด-19 ในมุมอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือการไม่ได้ไปโรงเรียน เป็นต้น การรายงานข่าวโควิด-19 จึงไม่อาจใช้เพียงมุมมองทางวิทยาศาสตร์หรือสุขภาพ สาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็มีนัยทางสังคมด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของทุกคนไปอีกหลายปี และแม้เรามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยช่วย แต่คนอื่นๆ เขาก็มีมุมมองอื่นๆ ในการนำเสนอข่าวเช่นกัน
ขณะที่ อิกา นิงชาส (Ika Ningtyas) เลขาธิการสมาคมพันธมิตรนักข่าวอิสระ (The Alliance of Independent Journalists –AJI) ประเทศอินโดนีเซีย เล่าว่า อินโดนีเซียมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และยิ่งเพิ่มขึ้นและใช้เวลานานขึ้นในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การใช้โดยขาดตวามรู้เท่าทันก็นำไปสู่ปัญหาการบิดเบือนข้อมูล โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 เป็นต้นมา อินโดนีเซียเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน พบการเผยแพร่ข่าวปลอมกว่า 100 ข่าว และกระจายผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ กว่า 500 ข่าว
เช่น มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่เขียนบรรยายอ้างว่ามีการทดลองวัคซีนกับสัตว์แล้วทำให้สัตว์ตาย ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ชาวอินโดนีเซียหลายคนรู้สึกลังเลว่าจะฉีดวัคซีนดีหรือไม่ กลายเป็นความกังวลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะตามเกณฑ์แล้วประชากรอย่างน้อยร้อยละ 70 ต้องได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด ประกอบด้วย
1.การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐอ่อนแอ พลอยทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือไปด้วย โดยในช่วงแรกๆ รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้เชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์ นโยบายก็ไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งมีปัญหาการเลือกปฏิบัติและการทุจริตเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีน 2.ผู้คนขาดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และไม่เชื่อในระบบสาธารณสุข เมื่อประกอบกับการที่ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ คนทั่วไปก็ยิ่งทำความเข้าใจได้ยาก และที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วทั้งราคาสูงและไม่ทั่วถึง 3.การพาดพัวข่าวแบบล่อเป้าให้กดเข้าไปดู (Clickbait) เช่น มีข่าวอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนจริงหรือไม่ แต่การพาดหัวข่าวลักษณะนี้ก็ทำให้ผู้รับสารคิดไปก่อนแล้วว่าวัคซีนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และ 4.สื่อไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัคซีนอย่างเพียงพอ ทั่วทั้งประเทศอินโดนีเซียมีผู้สื่อข่าวประมาณ 46,000 คน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งทาง AJI ได้จัดกิจกรรมสัมมนาทางออนไลน์ เพื่อให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวในการรายงานข่าวเกี่ยวกับวัคซีน
“เคล็ดลับในการรายงานข่าวโควิด-19 ในการเขียนข่าวควรอธิบายเกี่ยวกับปฏิกิริยาการแพ้ที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่แล้วในการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนทุกๆ ประเภทมันก็จะมีอาการแสดงอยู่บ้างแต่ว่าไม่ได้ส่งผลต่อชีวิต เราก็เสนอว่าหลีกเลี่ยงการรายงานเรื่องปฏิกิริยาข้างเคียงที่เล็กน้อย เพราะมันจะส่งผลต่อความคิดของคนต่อวัคซีนนั้น เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาระดับเล็กน้อยมันมีอยู่แล้ว นอกจากนี้ภาพที่เราใช้ออกข่าวมันจะส่งผลกระตุ้นต่ออารมณ์ได้อย่างไร เช่น เสียงเด็กร้องไห้หรือเด็กยิ้มมีความสุขเวลาที่ฉีดวัคซีน
คือภาพที่มันแสดงให้เห็นถึงอารมณ์มันจะส่งผลต่อผู้อ่าน และส่งผลให้มีการแชร์ต่อไปโดยที่ไม่ทราบบริบทที่แท้จริง เรายังได้เสนออีกว่าควรเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่เป็นข่าวลือเท่านั้น และอธิบายให้เข้ากับบริบทเท่าที่จะทำได้ มันมีข้อมูลเยอะแยะมากมาย เช่น ข่าวโปลิโอ ที่ในประวัติศาสตร์ของโลก สุดท้ายควรอธิบายใช้คำในเชิงวิทยาศาสตร์ มันเป็นสิ่งสำคัญในการอธิบายศัพท์ต่างๆ เหล่านี้ทางวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่อ่านข่าวเสริมสร้างความรู้ของตัวเอง” เลขาธิการ AJI ระบุ
นิงชาส เปิดเผยว่า ข้อมูลเท็จหลายครั้งมาจากต่างประเทศ จากนั้นกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนในอินโดนีเซียก็แปลเป็นภาษาท้องถิ่น ก่อนจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วจนติดตามที่มาที่ไปได้ยาก แต่หลายกรณีก็มาจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทางศาสนา เป็นผู้เล่าเรื่องที่ทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ พบว่าสามารถเชื่อมโยงไปถึงขั้วการเมืองและการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายเพราะแต่ละกลุ่มมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมหมายถึงการมีอิทธิพลบนโลกออนไลน์มากด้วย และเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ด้าน หรุ่ย จาง (Rui Zhang) อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สถานการณ์โรคระบาดส่งผลกระทบในหลายมิติทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และรวมถึงการเมืองด้วย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายว่าจะรับมืออย่างไร แต่ก็มีการแบ่งขั้วทางการเมืองที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และความตึงเครียดทางการเมืองก็นำไปสู่ความล้มเหลวในการต่อสู้กับโรคระบาด ดังนั้นจึงไม่อาจเพิกเฉยมุมมองทางการเมืองเกี่ยวกับโรคระบาดได้
เช่น การนำมุมมองของวัคซีนไปผูกโยงกับการเมือง ทำให้มุมมองของผู้คนต่อวัคซีนเปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์และสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะถูกกระทบเมื่อนำเสนอโดยใช้มุมมองทางการเมือง อาทิ สหรัฐอเมริกา มีข่าวที่ตีพิมพ์ใน นสพ.The New York Times ว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19 ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นมายาคติส่งผลต่อความคิดและความเข้าใจของคน แต่ก็มีงานวิจัยจากแหล่งอื่นๆ ว่าด้วยความครอบคลุมในการทำข่าวของ The New York Times เป็นอย่างไรในปี 2563
นอกจากนี้ The New York Times ก็ไม่ได้วิเคราะห์อย่างจริงจังเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ในประเทศจีน สามารถควบคุมการระบาดได้เพียงใด การนำเสนอข่าวควรตั้งอยู่บนมุมมองทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ อีกทั้งต้องเข้าใจมุมมองทางการเมือง สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของจีนเป็นอย่างไร เพราะการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประเทศจีนย่อมขัดแย้งอยู่แล้วกับสิ่งที่โลกตะวันตกมอง การวิพากษ์วิจารณ์หรือแบ่งขั้วทางการเมืองจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มาตรการล็อกดาวน์ของจีนอาจดูละเอียดอ่อนในทางการเมืองแต่ก็ใช้ได้ผลในทางวิทยาศาสตร์
จาง เล่าต่อไปถึงแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่มีประชาชนส่วนหนึ่งตั้งคำถามถึงรัฐบาลเพราะมีความสงสัยในการจัดหาวัคซีน สถานการณ์แบบเดียวกันยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย ว่าวัคซีนกลายเป็นประเด็นที่ใช้มุมมองทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จนนำมาซึ่งความขัดแย้ง (Controversial) ซึ่งแม้ข้อโต้เถียงต่างๆ ใช่ว่าจะไม่มีมูลไปเสียทั้งหมด แต่การเกิดกระแสแบบนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนด้วย
“ในประเด็นที่มีความซับซ้อน สื่อคงไม่สามารถไปเปลี่ยนอุณหภูมิทางการเมืองด้วยตัวเราเองได้ แต่เรามีอำนาจอย่างน้อย 2 อย่างที่ทำได้ 1.เวลาที่เราเลือกเรื่องที่จะนำเสนอหรือวางกรอบที่จะนำเสนอ เราต้องพิจารณามุมมองทางวิทยาศาสตร์ และปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย พยายามนำเสนอมุมมองหรือทำให้ผู้ฟัง-ผู้อ่านได้ยินเสียงบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้น 2.ในหลายๆ หน้าที่ของการเป็นสื่อมวลชน เราจำเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ข้อมูลความรู้และให้ความบันเทิง แต่ตอนนี้เราจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นของเราในหน้าที่ในแง่ของการให้ความรู้มากกว่าในเรื่องของ Education (การศึกษา)” จาง กล่าว
นักวิชาการด้านสื่อผู้นี้ เสนอแนะด้วยว่า ในสำนักข่าวควรมีทีมงานที่ศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะก่อนนำเสนอข่าวออกไป ในอดีตอาจมองไม่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ แต่จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป การที่กองบรรณาธิการมีทีมงานที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากพอจะช่วยให้นำเสนอข่าวได้อย่างถูกต้อง และสื่อเองก็สามารถให้ข้อมูลที่เป็นความรู้ได้ ประกอบกับสังคมก็ต้องการข้อมูลที่เข้าใจง่าย โดยเฉพาะศัพท์เฉพาะทางที่มีความซับซ้อน
แต่ความท้าทายคือ ข่าวที่มีเนื้อหาวิทยาศาสตร์แท้ๆ มักไม่ค่อยได้รับความสนใจ เช่น ข่าวพนักงานบริษัทในประเทศจีนที่ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 หากอ่านเพียงพาดหัวอาจเข้าใจไปว่ามีคนเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน แต่ข้อเท็จจริงจะอยู่ในเนื้อข่าว ว่าผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่เคยได้รับยาหลอก (Placebo) ในการทดลองวัคซีน ซึ่งไม่ว่าการพาดหัวข่าวนี้จะมีเหตุผลจากอะไรก็ตาม แต่ก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นแล้ว ดังนั้นสื่อมวลชนก็ต้องใช้ความระมัดระวัง
ปิดท้ายด้วย วาเนสซา สไตน์เม็ทซ์ (Vanessa Steinmetz) ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโต๊ะข่าวการเมืองประจำสำนักข่าวต่างๆ จะมีทีมงานขนาดใหญ่มาก ตรงข้ามกับโต๊ะข่าวสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ที่เป็นทีมงานเล็กๆ แต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วหลังไวรัสโควิด-19 ระบาด แม้จะไม่ใช่การจ้างทีมงานเพิ่มแต่เป็นทีมงานเดิมที่ปรับตัวมาเรียนรู้ทำความเข้าใจสถานการณ์โรคระบาดก็ตาม
ในฐานะที่เคยทำงานด้านสื่อมวลชนในประเทศเยอรมนีมา 10 ปี สิ่งหนึ่งที่พบเห็นแม้จะไม่ทุกวันคือความสมดุลที่เป็นเท็จ (False Balance) เช่น รายการทอล์กโชว์รายการหนึ่ง เชิญแขกที่เป็นมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเดียวกันแต่มีมุมมองคนละด้านมาออกรายการและให้เวลาพูดเท่ากัน แต่จริงๆ แล้ว มีเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีข้อมูลรองรับ การจัดรายการแบบนี้อาจทำให้ผู้ชม-ผู้ฟังสับสนได้ว่าตกลงแล้วข้อมูลของใครมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองมากกว่ากัน
อีกประการหนึ่งคือ เมื่อผู้สื่อข่าวไม่มีความเชี่ยวชาญก็อาจทำให้ตีความผลการศึกษาไม่ถูกต้อง เช่น มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเยอรมนี เสนอข่าวว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกา (Astrazeneca) มีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 8 สำหรับผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น จากนั้นก็มีสำนักข่าวอื่นๆ อ้างอิงไปนำเสนอต่อโดยไม่ได้ตรวจสอบ แต่ความเป็นจริงคือผลการศึกษาดังกล่าวแม้ไม่ได้ผิดพลาดเสียทีเดียว แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ อาทิ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษามีจำนวนน้อยเกินไปในการที่จะสรุปผล และเมื่อนำเสนอไปแล้วการจะแก้ข่าวก็ทำได้ยาก
แต่กรณีวัคซีนแอสตราเซเนกาในเยอรมนีนั้นยอมรับว่าเป็นประเด็นซับซ้อน อาจไม่ใช่ความผิดทั้งสื่อ นักการเมืองหรือนักวิทยาศาสตร์ เพราะวัคซีนยิ่งอยู่ในตลาดนานก็จะยิ่งมีข้อมูลและหลักฐานมากขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านวัคซีน ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ก็มีข้อมูลเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้ใช้เฉพาะคนอายุต่ำกว่า 65 ปีเท่านั้น ต่อมาก็เป็นให้ระงับการใช้ จากนั้นบอกให้ใช้เฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และล่าสุดยังแนะนำว่าหญิงอายุ 27-55 ปี ไม่ควรใช้เพราะเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น ส่วนอังกฤษไม่มีข่าวทำนองนี้ และนอร์เวย์เลิกใช้ไปเลย
“จะเห็นเลยว่าภาพที่เราเห็นตรงนี้มันซับซ้อน มันยากมากที่จะเข้าใจอย่างแท้จริง ฉะนั้นนักข่าวควรจะตัดสินใจว่าจะออกข่าวอะไรแล้วก็ให้มันไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่อยากให้เห็น ที่นักข่าวประสบ คือเวลาที่เราต้องให้ข้อมูลสาธารณชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของผลข้างเคียงของวัคซีนเรื่องของการอุดตันเส้นเลือดในกลุ่มผู้หญิง แล้วอีกเรื่องหนึ่งมันอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตมากขนาดนั้น คือจริงๆ ยุโรปที่ฉีดวัคซีนไปล้านคน พบเพียง 142 คนเท่านั้นเองที่มีลิ่มเลือดอุดตัน
ถ้าอ่านแต่พาดหัวข่าวเกี่ยวกับ Blood Clot (ลิ่มเลือดอุดตัน) ที่เกิดขึ้นมันก็น่ากลัว เอาตรงนี้มา Focus (เน้น) มันไม่มีบริบท แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้สื่อจริงๆ ฉะนั้นคนจะจำสิ่งที่สร้างอารมณ์ร่วมได้มากกว่า ฉะนั้นจะต้องระมัดระวัง แล้วก็ในเรื่องของการเมืองในการที่จะพยายามฉีดให้กับพลเมือง มันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยซ้ำแล้วก็ไม่ได้มีผลข้างเคียง เขาก็อาจเลี่ยงไม่ฉีด ฉะนั้นที่เยอรมันจึงค่อนข้างฉีดวัคซีนอย่างล่าช้า มีกลุ่มคนที่ไม่อยากฉีดแอสตราเซเนกา จะรอไบโอเอ็นแทค (BioNTech)” สไตน์เม็ทซ์ กล่าว
ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุปว่า ปัญหาที่ยกมาทั้งการขาดความเชี่ยวชาญในสำนักข่าว ความซับซ้อนของประเด็น นโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป-มา และอารมณ์ของข่าวที่นำเสนอออกไป เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีสิ่งที่ควรยึดถือไม่ว่าการรายงานข่าวโควิด-19 หรือข่าวอะไรก็ตาม คือ
1.ความไวไม่สำคัญเท่าความถูกต้อง ต้องตรวจสอบก่อนพาดหัวข่าวไม่ใช่เสนอข่าวไปก่อน 2.เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ที่เยอรมนีมีองค์การด้านวิทยาศาสตร์ของเอกชน รับฝึกอบรมให้ผู้สื่อข่าวสามารถอ่านผลงานทางวิชาการได้เข้าใจ 3.ระมัดระวังการพาดหัวข่าว แม้ในเนื้อข่าวจะเขียนอธิบายข้อมูลไว้อย่างถูกต้องครบถ้วน แต่ผู้รับสารมักเข้าใจไปตามพาดหัวข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
และ 4.เมื่อผิดพลาดก็ต้องแก้ข่าว เพราะความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-