มีเชื้อเอชไอวี มีลูกไม่ได้?
จริงหรือไม่? มีเชื้อเอชไอวีแล้วจะไม่สามารถมีบุตรได้ หากมีบุตรจะติดเชื้อเอชไอวีด้วย?
หากพูดถึงเรื่องเอชไอวีแล้ว ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อหลายคนก็คงคิดว่าหากมีเชื้อแล้วก็ไม่ควรมีลูก เพราะหากมีลูกก็อาจจะติดเชื้อเอชไอวีตามไปด้วย และอาจจะต้องเจอปัญหาเหมือนกับตนเอง และทำให้ใครหลายๆ คนไม่มั่นใจในการที่จะเริ่มวางแผนครอบครัวแต่อย่างไร แต่เอาเข้าจริงแล้วผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจะสามารถมีลูกโดยที่ลูกไม่ติดเชื้อเอชไอวีจากเราได้จริงเหรอ?
ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถมีลูกได้อย่างปลอดภัย โดยมีโอกาสที่ลูกจะไม่ติดเชื้อเอชไอวี หากมีการวางแผนและรับการรักษาอย่างเหมาะสม การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ และการฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก
โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 10.3 ในปี 2546 เหลือเพียงร้อยละ 1.68 ในปี 2560 ซึ่งประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ โดยสามารถลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้ และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน
แล้วถ้าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจะมีลูกควรทำอย่างไรบ้าง? ซึ่งจากคำแนะนำของแพทย์นั้นได้ให้ข้อมูลไว้ดังต่อไปนี้
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ: เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านเอชไอวีและสูตินรีเวช เพื่อประเมินสุขภาพและวางแผนการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
- รับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ: การรับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องช่วยลดปริมาณไวรัสในเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อไปยังบุตร
- ตรวจสุขภาพประจำ: ตรวจวัดปริมาณไวรัส (Viral Load) และระดับเม็ดเลือดขาว CD4 อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสถานะภูมิคุ้มกันและความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อ
- วางแผนการตั้งครรภ์: เลือกวิธีการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการรับประทานยา การตรวจสุขภาพ และการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์
การเตรียมตัวและปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังบุตร และเพิ่มโอกาสในการมีบุตรที่สุขภาพแข็งแรง แต่แน่นอนว่าต้องเริ่มต้นจากการดูแลตัวเองและคู่ให้มีสุขภาพทั้งกายและใจที่สมบูรณ์ รวมถึงการมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถวางแผนครอบครัวและมีบุตรอย่างปลอดภัยได้แล้ว
แหล่งอ้างอิง
- กระทรวงสาธารณสุข
- องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
- โรงพยาบาลเวชธานี
- ภาควิชาสูติ-นรีเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่