สังคมชินชา‘บิดเบือน-กระตุ้นเกลียดชัง’โจมตีทางการเมือง ‘ผู้หญิง’เหยื่อรุนแรง ถามหาบทบาท‘รัฐ-แพลตฟอร์ม’
10 มิ.ย. 2568 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ Westminster Foundation for Democracy (WFD) , Decode.plus , และ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) จัดงานเสวนา “Digital Duty: Tech vs Online Violence Against Women in Politics ความรับผิดชอบบนโลกดิจิทัลและความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่การเมือง” ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อาคาร A ชั้น 1

สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้ก่อตั้ง Stoponlineharm.org บอกเล่าถึงงานวิจัยที่ตั้งโจทย์ว่า เมื่อช่วงเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วยังมีการคุกคามนักการเมืองหญิงอยู่หรือไม่ โดยเก็บข้อมูล 2 รูปแบบ คือ 1.เชิงปริมาณ ใช้การเก็บข้อมูลจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่าง Facebook และ X จำนวน 456 กรณี กับ 2.เชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์นักการเมืองหญิง จำนวน 18 ท่าน พบว่า
1.รูปแบบการใช้แพลตฟอร์ม หากเป็น Facebook จะเน้นการโจมตีระยะยาว เช่น ใส่ความเห็นซ้ำๆ ใต้โพสต์หรือแชร์ข้อมูลเท็จ ในขณะที่ X จะเน้นโจมตีประเด็นร้อน ระยะสั้น ทำแฮชแท็กหรือโพสต์แบบไวรัล 2.รูปแบบการโจมตี สำหรับ 2 อันดับแรกที่พบมากที่สุด คือ 2.1 ทำลายชื่อเสียง (Discredit) ร้อยละ 31.7 เช่น กล่าวหาว่ารับเงินจากต่างชาติ ด่าทอว่าโง่ ไม่สมควรมารับตำแหน่ง กับ 2.2 ด้อยค่า (Devalue) ร้อยละ 20.7 เช่น ชี้ว่าได้รับตำแหน่งเพราะคนในครอบครัวไม่ใช่ความรู้ความสามารถของตนเองนอกจากนั้นยังพบรูปแบบอื่นๆ เช่น ทำให้เป็นเรื่องตลก (Mocking) ร้อยละ 13.3 และโจมตีที่เรื่องเพศ (Gender-based Attack) ร้อยละ 16.4 เป็นต้น
3.พฤติกรรมของการโจมตี เช่น ใช้บัญชีปลอมหรือบัญชีแบบไม่เปิดเผยตัวตนในสื่อสังคมออนไลน์ โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทหรือข้อความเท็จแบบเดียวกันในเวลาไล่เลี่ยกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ดูเหมือนเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ บวกกับใช้แฮชแท็กในลักษณะถ้อยคำเหยียดหยามเพื่อให้เกิดกระแสในเวลาอันรวดเร็ว มีการใช้การสะกดผิดหรือใช้สัญลักษณ์ Emoji ไปจนถึงการใช้ภาพตัดต่อเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับและลบโพสต์นั้น และเมื่อเห็นบัญชีปลอมทำได้ คนทั่วไปที่ใช้บัญชีจริงระบุตัวตนได้ก็เข้าใจไปว่าตนเองก็สามารถคุกคามได้บ้างเช่นกัน
4.ผลกระทบที่นักการเมืองหญิงได้รับ พบว่า ร้อยละ 65 บอกเล่าถึงการคุกคามทางออนไลน์ที่ส่งผลต่อการทำงาน เช่น ต้องมาเสียเวลาแก้ข่าว และอีกร้อยละ 20 เคยคิดจะออกไปจากแวดวงการเมือง นอกจากนั้น ร้อยละ 60 เล่าว่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต เกิดความเครียดหรือซึมเศร้า เช่น มีกลุ่มตัวอย่างบางท่านบอกว่า บางทีการถูกทำร้ายร่างกายยังเจ็บน้อยกว่าการถูกนำภาพไปตัดต่อเป็นภาพลามกอนาจารเผยแพร่ทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การคุกคามจากในโลกออนไลน์ก็ลุกลามออกมาสู่การคุกคามในชีวิตจริงได้ เช่น มีการเผยแพร่พิกัดที่พักอาศัย ทำให้ต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย
5.ไม่ได้กระทบเฉพาะตนเอง แต่รวมถึงคนใกล้ชิดด้วย เช่น ลูกถูกเพื่อนล้อเลียน หรือคู่ชีวิตก็ถูกโจมตีด้วยจนกระทบต่อความสัมพันธ์ และมีบางครอบครัวขอให้ออกจากแวดวงการเมืองเพราะรับสิ่งที่เกิดขึ้นไมได้ 6.วิธีการรับมือ พบว่า ปัจจัยที่ยังทำให้ผู้หญิงอยู่ในแวดวงการเมืองแม้จะถูกโจมตีหรือคุกคาม คือพลังของคนรอบข้างและเครือข่ายเพื่อน รวมถึงเครือข่ายนักการเมืองหญิงด้วยกันเอง ส่วนวิธีรับมือที่พบ เช่น กลับมาดูใจตนเอง หยุดใช้สื่อสังคมออนไลน์ ปรึกษาจิตแพทย์ ดำเนินคดีทางกฎหมาย และสื่อสารผ่านสื่อเพื่อทวงคืนพื้นที่

และ 7.ทำไมปัญหาการคุกคามออนไลน์จึงยังคงดำรงอยู่ สาเหตุหลักๆ คือไม่มีหน่วยงานมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ โดยหากเป็นภาครัฐจะเน้นไปในเรื่องการหลอกลวงออนไลน์ หรือเมื่อไปแจ้งความก็ถูกเจ้าหน้าที่พูดจาซ้ำเติม ขณะที่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ก็ไม่ลบเนื้อหานั้นออก เนื่องจากเนื้อหายังไม่ถึงเส้นหรือล้ำเส้นที่ระบบตั้งไว้ว่าหากถึงจุดนั้นแล้วจึงจะลบให้
“อันนี้อยากฝากทางพรรคการเมือง คือพรรคไม่ได้ช่วยเหลือด้านนี้เลย พอตอนเข้ามาในพรรคไม่มีการอบรม ที่ได้สัมภาษณ์บางท่านบอกว่าพรรคการเมืองอบรมทุกอย่างยกเว้นเรื่องรับมือกับการถูกละเมิดออนไลน์ หรือหลายคนก็บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเจอถ้าคุณเข้ามาในตำแหน่งนี้ ไม่ต้องคิดว่าเป็นปัญหา” สายใจ กล่าว

ผศ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงพื้นที่ออนไลน์ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Big Tech) จะมีบทบาทสูงมากจนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนได้ โดยโลกก่อนยุคดิจิทัล แม้รัฐจะพยายามควบคุมการแสดงออกของคน เช่น ออกกฎหมาย มีบทลงโทษ แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจกรองสิ่งที่แต่ละคนสื่อสารออกมา ทำได้เพียงดำเนินการบางอย่างหลังคนคนนั้นสื่อสารออกไปแล้ว เช่น เชิญออกจากพื้นที่จัดงาน แตกต่างจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ บางคำที่ตั้งไว้ในระบบไม่ให้โพสต์ หากผู้ใช้งานโพสต์คำนั้น เนื้อหาที่โพสต์ก็จะถูกลบออกในทันทีเมื่อระบบตรวจจับได้ รวมถึงอาจถูกระงับการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือดังกล่าวจะถูกมองใน 2 มุม ระหว่างการป้องกันถ้อยคำที่หากสื่อสารออกไปอาจเกิดอันตรายต่อสังคม กับความกังวลเรื่องอำนาจนี้อยู่ในมือบริษัทเทคโนโลยีมากเกินไปจนกลายเป็นการเซ็นเซอร์ ขณะที่วิธีคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เดิมทีเกิดจากการต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชน จนเกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สิทธิต่างๆ ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจหรือทรัพยากรของรัฐ เช่น การใช้งบประมาณหรือดุลพินิจ เป็นต้น
“บริษัทเหล่านี้มีทั้งอำนาจในเชิงเทคโนโลยี มีความสามารถในเชิงเทคโนโลยีที่จะช่วยกำกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มได้ คำถามก็คือเราไว้ใจเขาแค่ไหน? อันนี้คิดว่าเป็นคำถามสำคัญเหมือนกัน เพราะบริษัทไม่เหมือนกับองค์กรของรัฐที่ไม่ว่าจะดีจะชั่วอย่างไรมันมีกระบวนการในการตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่การใช้อำนาจของบริษัทไม่ได้มีกลไกพื้นฐานหรือกลไกประชาธิปไตยใดๆ ที่จะเข้าไปตรวจสอบ ยกเว้นแต่ว่าคุณเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นที่มีหุ้นจำนวนมากพอที่จะบอกเขาได้ว่ามันคืออะไร”ผศ.ฐิติรัตน์ กล่าว

สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า หลักเสรีภาพในการแสดงออกนั้นการจะยกเว้นเรื่องใดรัฐต้องออกมากฎหมายายกเว้นเรื่องนั้น เช่น ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่การออกกฎหมายต้องทำเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วน รวมถึงเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ตามกติการะหว่างประเทศ (ICCPR) จะห้ามใน 2 เรื่อง คือ 1.ยุยงให้เกิดสงคราม กับ 2.ยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรง
ตัวอย่างกรณีศึกษา คือตัวแทนชาวโรฮิงญา ยื่นฟ้อง Facebook ในข้อหาปล่อยให้มีการใช้แพลตฟอร์มเพื่อสร้างความเกลียดชังชาวโรฮิงญาในเมียนมา แต่เรื่องนี้ไปจบตรงที่คดีหมดอายุความก็เป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขในกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะความรุนแรงก่อความเสียหายขึ้นแล้วแต่ไปกำหนดอายุความไว้เพียง 1 – 2 ปี อนึ่ง ตามหลักการคือแพลตฟอร์มไม่ควรต้องรับผิดเรื่องใครเผยแพร่เนื้อหาอะไรเพราะไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ต้องรับผิดชอบประมาณหนึ่งหากไม่มีการคัดกรองหรือนำเนื้อหาออกจากระบบ
แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อจะให้รัฐมีอำนาจสั่งการหรือประสานบริษัทเทคโนโลยีให้ลบเนื้อหาออก(Takedown Order) สิ่งที่ต้องระมัดระวังคืออำนาจนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้าม เช่น ตามหลักการอำนาจนี้ควรอยู่กับฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ แต่ที่ประเทศอินเดียให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐคนใดก็ได้ ผลคือ X หรือเดิมคือทวิตเตอร์ ไปฟ้องศาลว่ากฎหมายของอินเดียไม่ถูกต้องเพราะให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่กว้างเกินไป
“คือต้องเจอกันตรงกลาง ต้องมีคนมาดู ต้องมีเจ้าหน้าที่ทางด้านกฎหมาย เป็นศาลเป็นคนมาคุม แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ช้า ต้องเร็วมากภายใน 24 ชั่วโมง ไทยก็มี Takedown Order แต่เป็นคล้ายๆ อินเดีย แต่ไม่ค่อยได้ใช้ คือเป็นเจ้าหน้าที่คนไหนก็ได้เอาลงได้ ไม่ได้ผ่านกระบวนการศาล อันนี้ก็ค่อนข้างน่ากังวลเหมือนกัน” สัณหวรรณ กล่าว

กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า โลกออนไลน์หลังการเลือกตั้งในไทยเมื่อปี 2566 พบสถานการณ์การใช้ข้อมูลบิดเบือนรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ข้อมูลแฝงเจตนาร้าย (Malinformation) ที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริงแต่ถูกให้ความเห็นเพิ่มเติมจนแยกแยะได้ยากว่าข้อมูลนั้นบิดเบือนอย่างไร และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างแพลตฟอร์ม X นั้นโดยพื้นฐานเป็นแพลตฟอร์มที่สื่อสารด้วยอารมณ์อยู่แล้ว แต่สัดส่วนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงก่อนกับหลังเลือกตั้ง เมื่อเทียบกับ Facebook ที่พบการเพิ่มขึ้นมากกว่าของการสื่อสารแบบใช้อารมณ์และข้อมูลบิดเบือนที่ซับซ้อน
ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนข้อมูลเหล่านี้ยังคงเป็นรูปแบบเดิม เช่น พรรคการเมือง สื่อ ผู้สนับสนุน สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่จนกลายเป็นวัฒนธรรมการสื่อสารที่ดูเหมือนการใช้ข้อมูลบิดเบือนหรือสร้างความเกลียดชังจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ประกอบกับเทคโนโลยีเอื้อให้คนผลิตเนื้อหาได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ล้นหลามและการจัดการให้ข้อมูลถูกนำออกจากระบบก็ไม่ง่าย อย่างประสบการณ์ของโคแฟค หลายเรื่องแม้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว แต่ข้อมูลเท็จนั้นก็ยังคงอยู่ในระบบ รวมถึงธรรมชาติของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เน้นอารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริง ทำให้การที่คนจะมาฟังว่าข้อมูลที่ถูกต้องเป็นอย่างไรนั้นน้อยลง
“ทำอย่างไรสิ่งที่เราตรวจสอบไปจะถูกมองเห็นและแพร่กระจายไปในวงกว้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรเป็นความร่วมมือที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม ก็ยังไปไม่ถึงขั้นนั้นเสียทีเพราะว่าในเงื่อนไขของแพลตฟอร์มเองก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอน องค์กรที่รายงานเป็นพาร์ทเนอร์ของเขาไหม? ได้รับการรับรองมาตรฐานโดย IFCN หรือเปล่า? ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การทำงานร่วมกันไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร”กุลชาดา กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านช่องยูทูบของ Thai PBS
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-






