‘โคแฟค’ เสริมความรู้ผู้สูงวัยรู้เท่าทันข่าวลวง-มิจฉาชีพออนไลน์

กิจกรรม

โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับชมรมสมองใส ใจสบาย หอภาพยนต์ (องค์การมหาชน) และ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ร่วมเป็นวิทยากรรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย หัวข้อ “สูงวัยยุคใหม่ รู้เท่าทัน ภัยกลลวงมิจฉาชีพ อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” ให้กับสมาชิกชมรมสมองใสใจสบาย ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เริ่มต้นด้วยการชวนคิดด้วยคำถาม ทำไมเราจึงหลงเชื่อ (และ/หรือ) ส่งต่อข้อมูลที่ดูอย่างไรก็ไม่จริงแน่ๆ? เช่น มะนาวโซดารักษามะเร็ง ดูอย่างไรก็ไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่หลายคนก็ยังแชร์ไปให้คนอื่นๆ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะ ความหวังดี กลัวคนใกล้ชิดจะไม่ได้รับสิ่งดีๆ ก็แชร์ต่อโดยที่ไม่ได้อ่านให้ถี่ถ้วนและพิจารณาว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งหากไม่นับการกระทำของมิจฉาชีพ ข่าวลวงส่วนใหญ่ก็มักถูกแชร์ต่อด้วยความรู้สึกหวังดี โดยเฉพาะข่าวลวงที่เกี่ยวกับสุขภาพ

นอกจากนั้น ด้วยความที่วันหนึ่งตนเองกลายมาเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผ่านการทำเคมีบำบัด 8 ครั้ง มีช่วงเวลาที่ร่างกายบอบช้ำ ไม่ค่อยอยากกินอาหาร บางครั้งอยากกินของเปรี้ยวๆ ซ่าๆ และคำตอบคือมะนาวโซดานั่นเอง เพราะกินแล้วรู้สึกสดชื่น เกิดความมั่นใจที่จะเข้ารับการรักษาตามกระบวนการต่อไป แต่เพราะแบบนี้ที่ทำให้ขยายความกันจนเกินไปว่ามะนาวโซดารักษามะเร็ง ซึ่งจริงๆ ควรจะบอกว่า มะนาวโซดา ผู้ป่วยดื่มได้ช่วยให้สดชื่น แต่ต้องระวังความหวาน และกินตอนท้องว่างก็ระวังกรดไหลย้อน เป็นต้น  เช่นเดียวกับกัญชา ที่อาจจะเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งบางระยะและบางคนช่วยบรรเทา แต่กับบางคนไม่เหมาะที่จะใช้ ซึ่งไม่สามารถคิดเองได้เพราะเราไม่ใช่แพทย์ แต่เข้าใจได้ว่าคนไทยค่อนข้างเชื่อเรื่องการแพทย์ทางเลือก และนี่เป็นอีกเหตุผลของการเกิดข่าวลวง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่การพบแพทย์มีข้อจำกัด หลายคนเข้าไม่ถึง หรือแม้จะเดินทางมาได้แต่ก็มีเวลาพบแพทย์จริงๆ ไม่นานนัก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกจะค้นหาและเชื่อข้อมูลที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ต

ทั้งนี้ สมัยที่ตนเองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เวลานั้น กสทช. พยายามส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตระดับ 3G 4G และ 5G ตามลำดับ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย แต่ทุกอย่างมีด้านบวกย่อมมีด้านลบ ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันมากแล้ว เช่น ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน จะมีสักกี่คนที่ใช้บริการโอนเงินทางออนไลน์ แต่กลับกันคือทุกวันนี้ยังมีสักกี่คนที่ไม่ใช้บริการดังกล่าว

เดี๋ยวนี้นานๆ จะเจอคนที่ไม่ทำธุรกรรมออนไลน์ เพราะใช้กันเยอะมากรวมทั้งผู้สูงอายุ  คนที่ไม่ทำก็ไม่ได้ผิดอะไร ปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำ แต่คนที่ใช้ไม่ได้ผิดอะไรเช่นเดียวกัน แต่ต้องตื่นตัวให้มันปลอดภัยมากขึ้น สุภิญญา กล่าว

ขณะที่ ร.ต.ท.กฤษกรณ์ ก้องศักดิ์ศรี รองสารวัตร กลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บท.ตอท. กล่าวว่า คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากมิจฉาชีพโจมตีระบบโดยตรง แต่เกิดจากมิจฉาชีพสามารถทำให้เหยื่อกดติดตั้งโปรแกรมที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถควบคุมอุปกรณ์ของเหยื่อจากระยะไกลได้ หรือทำให้เหยื่อบอกข้อมูลสำคัญกับมิจฉาชีพ เช่น รหัสผ่าน 

เมื่อดูสถิติรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 – 31 ต.ค. 2567 มีจำนวนคดีทั้งหมด 708,141 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 77 ล้านบาท 5 อันดับคดีออนไลน์ อันดับ 1หลอกซื้อ-ขายสินค้า อันดับ 2 หลอกให้โอนเงินโดยอ้างว่าจะมีงานให้ทำ อันดับ 3 หลอกให้กู้เงิน อันดับ 4 หลอกให้ลงทุน และอันดับ 5 การข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

โดยกลโกงที่พบบ่อยๆ เช่น หลอกซื้อ-ขายสินค้า มิจฉาชีพมักใช้วิธีตั้งราคาถูกกว่าที่เคยพบเห็นโดยทั่วไปอย่างมาก อาทิ ของชิ้นหนึ่งเคยเห็นวางขายและเคยซื้อในราคา 800 บาท แต่มีเพจหนึ่งโฆษณาว่าขาย 500 บาท และบอกว่าใครสั่งซื้อไวจะได้ไปเลยเพราะมีเพียงชิ้นเดียว เร้าให้คนเรามีสติน้อยลงเพราะอยากได้ของถูก การขายสินค้าปลอมในราคาเท่าของแท้ เช่น รองเท้ากีฬา ทองคำ การปลอมเพจหรือบัญชีเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือบุคคลมีชื่อเสียง เป็นต้น

วิธีการตรวจสอบ อาทิ 1.ตรวจสอบนอกแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ สามารถนำชื่อบุคคลหรือชื่อบัญชีธนาคารไปค้นหาในเว็บไซต์อย่าง Google ว่าเคยมีประวัติการโกงหรือไม่ หรือที่เว็บไซต์อย่าง www.chaladohn.com หรือ www.blacklistseller.com ซึ่งเป็นฐานข้อมูลผู้ค้าที่เชื่อถือได้และผู้ค้าที่มีประวัติการโกง 2.การดูเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเพจปลอมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขั้นแรกของการสังเกตคือ “ต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้าต่อหลังชื่อเพจเท่านั้น” เพราะปัจจุบันมีมิจฉาชีพหัวใสใช้วิธีตัดต่อเครื่องหมายถูกสีฟ้าใส่เข้าไปในรูปโปรไฟล์เพจให้ดูเหมือนเป็นเพจจริง  หรืออีกวิธีหนึ่งคือ “ดูประวัติการตั้งเพจ (และ/หรือ) เปลี่ยนชื่อเพจ”สามารถเข้าไปดูโดยเริ่มจากคลิกที่ “เกี่ยวกับ (About)” แล้วตามด้วย “ความโปร่งใสของเพจ (Page transparency)” และ “ดูทั้งหมด (See all)”ซึ่งเพจที่ดูแล้วน่าสงสัยจะเป็นเพจปลอม คือมีการเปลี่ยนชื่อบ่อยๆ และชื่อที่เปลี่ยนไม่มีอะไรสอดคล้องกันเลย ดังตัวอย่างที่เคยพบ เช่น บางเพจตั้งชื่อมาตอนแรกขายอาหารเกาหลี สักพักเปลี่ยนชื่อไปขายระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สักพักเปลี่ยนชื่อไปขายกระดาษทิชชู่ และเปลี่ยนไปอื่นๆ อีกมากมาย

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่เห็นแล้วให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นเพจปลอม คือระยะเวลาการตั้งเพจที่สั้นผิดปกติ เช่น มีเพจปลอมแอบอ้างหน่วยงานตำรวจไซเบอร์ เพิ่งตั้งได้เพียง 1 เดือน ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวมีมาแล้วหลายปี เป็นต้น หรือห้างสรรพสินค้าบางเจ้าเปิดกิจการในไทยมาแล้วหลายสิบปี จู่ๆ มีเพจห้างฯ นั้นที่ระบุว่าเพิ่งตั้งได้เพียง 1-2 เดือน ก็คงไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะเป็นเพจจริง

รวมถึงที่อยู่ของแอดมินหรือผู้ดูแลเพจ โดยทั่วไปหากเป็นเพจจริง หากองค์กรหรือกิจการนั้นเปิดทำการในประเทศใด แอดมินทุกคนหรือเกือบทั้งหมดต้องอยู่ในประเทศนั้น เช่น มีเพจปลอมแอบอ้างหน่วยงานรัฐของไทย เมื่อกดเข้าไปดูความโปร่งใสของเพจ พบว่ามีแอดมินอยู่ในประเทศไทยเพียงคนเดียว นอกนั้น 8 คนอยู่ในเมียนมา 1 คนในโคลอมเบีย และอีก 1 คนในอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งประวัติการตั้งและเปลี่ยนชื่อเพจ ระยะเวลาการตั้งเพจ และที่อยู่แอดมินเพจ เป็น 3 เรื่องที่ต้องดูควบคู่กันก่อนตัดสินใจว่าจะเชื่อและติดต่อกับเพจนั้นหรือไม่

มิจฉาชีพก็เริ่มมีการซื้อเพจจากที่มีเครื่องหมายถูกสีฟ้าอยู่แล้ว ซื้อต่อมาแล้วก็เอามายิงโฆษณารับแจ้งความร้องทุกข์หรือเป็นหน่วยงาน คือเวลาเราเตือนภัยอะไรไป มิจฉาชีพจะปรับรูปแบบการทำงานตามที่เตือนภัยเลย ฉะนั้นก็พยายามอัปเดตข่าวสารกันไว้ด้วย ร.ต.ท.กฤษกรณ์ กล่าวถึงกลอุบายใหม่ในการสร้างเพจปลอมของมิจฉาชีพ

ร.ต.ท.กฤษกรณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ หลักฐานที่ต้องเตรียมไว้สำหรับนำไปแจ้งความ เช่น ภาพโปรไฟล์ของผู้ค้า , โพสต์ที่ประกาศขายสินค้า , ข้อความสนทนาเพื่อซื้อ-ขายสินค้า , ชื่อและเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไป พร้อมหลักฐานการโอนเงินหลักฐานเหล่านี้ควรมีให้ครบถ้วนเพื่อให้ตำรวจทำการสืบสวนได้ง่าย

ขณะที่การหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีตัวอย่าง เช่น อ้างว่าเป็นญาติสนิทมิตรสหายมาขอยืมเงิน โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ปลอมติดต่อไปยังเหยื่อ อ้างว่าเปลี่ยนเบอร์ใหม่ และหลายครั้งมิจฉาชีพไม่ได้ปลอมเสียงให้เหมือนบุคคลนั้น แต่ที่เหยื่อหลงเชื่อก็เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถจำเสียงคนได้ทุกคน แต่ ณ เวลานั้นเราได้เผลอนึกตามไปที่มิจฉาชีพบอก ทำให้เชื่อว่าปลายสายเป็นคนที่เรารู้จักจริงๆ ซึ่งวิธีป้องกันคือ หากมีหมายเลขโทรศัพท์ของคนคนนั้นอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ให้ลองโทรศัพท์ไปสอบถามว่าได้ติดต่อมาขอยืมเงินจริงหรือไม่

ส่วนการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับหาช่องทางส่งเอกสารมาให้เหยื่อเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ความยากคือการตรวจสอบว่าเอกสารที่ส่งมาเป็นของจริงหรือไม่ เช่น คนที่เป็นตำรวจอาจรู้เฉพาะแบบเอกสารหรือบัตรประจำตัวของตำรวจ แต่ไม่รู้ว่าแบบเอกสารของการไฟฟ้าหรือบัตรเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามีหน้าตาเป็นอย่างไร วิธีการที่ดีที่สุดคือหากได้รับเอกสารมาก็ให้ไปถามกับหน่วยงานนั้นโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด

ส่วนการส่ง SMS แอบอ้างเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ ประการแรกคือ ปัจจุบันธนาคารยกเลิกการส่ง SMS พร้อมกับแนบ Link ไปแล้ว หลังมิจฉาชีพใช้อุปกรณ์ False Base Station สวมรอยเป็นธนาคารส่ง SMS ปลอมกันมาก ส่วนหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ที่ยังใช้ SMS แนบ Link อยู่ ขอให้ดู URL ของ Link ที่แนบมาให้ดีๆ ว่าใช่ของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ก่อนคลิก เช่นเดียวกับเว็บไซต์ปลอม ที่ต้องดู Link โดยละเอียดว่าสะกดถูกหรือไม่

อนึ่ง ในอดีตมิจฉาชีพจะใช้วิธีโทรศัพท์ข้ามประเทศผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเหยื่ออาจสังเกตและระวังตัวได้ง่ายเพราะหมายเลขโทรศัพท์จะดูแปลกๆ เช่น มีเครื่องหมายบวกนำหน้า หรือมีตัวเลขจำนวนมากกว่าหมายเลขโทรศัพท์ปกติในประเทศไทย ทำให้ระยะหลังๆ มิจฉาชีพหันมาใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Sim Box วิธีการคือนำซิมโทรศัพท์ไปใส่ ซึ่ง 1 ซิมสามารถโทรหาผู้รับได้หลายสิบหรือเป็นร้อยเครื่องแล้วแต่สเปคของอุปกรณ์ Sim Box โดยเหยื่อจะเห็นเป็นหมายเลขโทรศัพท์ 10 หลักซึ่งใช้เป็นปกติในไทย 

ที่น่าห่วงคือ ยังมีคนที่พร้อมเอาชีวิตไปเสี่ยงกับการรับจ้างเปิดบัญชีม้า แม้ปัจจุบันกฎหมายไทยมีลักษณะ ยาแรง คือ หากพบบุคคลใดขายหรือปล่อยให้นำบัญชีธนาคารของตนเองไปให้บุคคลอื่นใช้ทำผิดกฎหมาย บุคคลนั้นจะถูกอายัดทุกบัญชีธนาคารที่มี แม้กระทั่งบัญชีที่ไว้ใช้รับเงินเดือนหรือทำธุรกิจตามปกติ แต่ปัจจุบันก็ยังพบโฆษณาชักชวนให้เปิดบัญชีแล้วนำไปขายอยู่เนืองๆ โดยคนเหล่านี้จะไปแฝงตัวอยู่ในกลุ่มหางาน ซึ่งสำหรับคนที่กำลังลำบากเรื่องการหาเงิน-หางาน ก็อาจยอมเสี่ยงถูกจับกุมฐานเปิดบัญชีม้าโดยแลกกับเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาท

“ไลน์” ก็เป็นอีกช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงเหยื่อ เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชั่นสนทนาที่ได้รับความนิยมมาก อีกทั้งมีบริการ “บัญชีธุรกิจ” ที่แบ่งสัญลักษณ์เป็น 3 ระดับ คือ “โล่สีเทา” ลงทะเบียนได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่อีก 2 ระดับที่สูงกว่าอย่าง “โล่สีน้ำเงิน – โล่สีเขียว” ต้องส่งเอกสารยืนยันตัวตนที่ค่อนข้างยุ่งยากและต้องเสียค่าบริการรายเดือน ดังนั้นหากเป็นธุรกิจหรือหน่วยงานที่ต้องการความน่าเชื่อถือ ก็มักจะลงทุนเพื่อให้ไลน์รับรองเป็นเครื่องหมายโล่สีน้ำเงินหรือสีเขียว เพื่อป้องกันมิจฉาชีพสร้างบัญชีไลน์ปลอมขึ้นมาแอบอ้าง

แต่ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงแบบใด ระวังไว้ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจะดีที่สุด” เพราะเงินที่โอนไปจะถูกส่งผ่านบัญชีม้าเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่นาที และหลายครั้งยังพบการแปลงเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) จนติดตามกลับคืนได้ยาก อีกทั้งไม่ว่าจะสืบสวนอย่างไรแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสาวไปถึงตัวการใหญ่ เนื่องจากมิจฉาชีพเหล่านี้มีฐานปฏิบัติการอยู่ในต่างประเทศ แม้จะใกล้กันในระดับเพื่อนบ้าน แต่ก็อยู่นอกเขตอำนาจหน้าที่ที่ตำรวจไทยจะเข้าไปจับกุมดำเนินคดี

หมายเหตุ : สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/100051119811082/videos/571601168590964/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-