วงเสวนาชี้แก้ปัญหาข่าวปลอมเรื่องของทุกฝ่ายไม่ใช่แค่ภารกิจสื่อมวลชน แต่ทั้งแหล่งข่าว-ผู้รับสารต้องร่วมมือกัน
2 เม.ย. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สำนักข่าว ThaiPBS FNF Thailand และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “บทบาทสื่อไทยในการสกัดข่าวปลอม: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ที่ รร.เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2565 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-2 เม.ย. 2565
ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่าข่าวปลอม (Fake News) จะนิยามอย่างไร ความผิดพลาดทางวารสารศาสตร์จะนับเป็นข่าวปลอมหรือไม่ หรือแค่ไหนจึงเรียกว่าข่าวปลอม แต่สำหรับตนแล้ว ข่าวปลอมนั้นต้องดูที่ผู้สร้างว่ามีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือของคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
โดยในอดีตนั้นไม่ค่อยมีปัญหาข่าวปลอม แต่จะเป็นข่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อนเสียมากกว่า ซึ่งเกิดจากการเร่งรีบในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีคำว่า Gatekeeper หมายถึงบทบาทในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนเผยแพร่ ปัจจุบันคนทำงานสื่อก็ยังต้องทำหน้าที่นี้อยู่ ดังนั้นคำถามที่ว่าสื่อจะต่อสู้กับปัญหาข่าวปลอมได้มาก-น้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของกองบรรณาธิการ สำหรับกระบวนการตรวจสอบก็คือการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เช่น ใครเป็นแหล่งข่าว เป็นแหล่งข่าวประเภทปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ วิธีนี้ก็ยังไม่เก่า
แต่ปัจจุบันสื่อต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากทั้งจากผู้รับสารปกติทั่วไป และผู้มีส่วนได้-เสียกับข้อมูลข่าวสาร การที่สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารแล้วไม่ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้-เสีย ก็อาจถูกตีตราได้ว่าเป็นผู้นำเสนอข่าวปลอม แม้ว่าข้อมูลนั้นจะมีปัญหามาจากแหล่งข่าวต้นทางก็ตามแต่จะไม่ค่อยถูกพูดถึง ดังนั้นการแก้ปัญหาข่าวปลอมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรู้เท่าทัน ทั้งคนทำงานสื่อ แหล่งข่าวซึ่งเป็นต้นทางของการสื่อสาร และผู้รับสาร ซึ่งยุคนี้กรอบจริยธรรมสื่อเป็นวิชาที่ทุกคนควรได้เรียน
“ผู้รับสารซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สื่อสารแล้ว ทันทีที่รับข้อมูล ใช้เวลากะพริบตาไม่เกิน 3 นาที ก็เป็นผู้ส่งสารได้ทันที ก็คือแชร์ ทำอย่างไรคนเหล่านี่จึงตระหนักว่าสถานะของเขาไม่ใช่แค่ผู้รับสาร พวกเธอทั้งหลายตรวจสอบให้ฉันแน่นอน ถ้าเธอไม่ทำคือเธอไม่ทำหน้าที่ แต่พอถึงตัว ได้มาปุ๊บส่งต่อเลย ทำอย่างไรจึงสร้างความตระหนักว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณแชร์หรือส่งต่อ คุณควรมีกระบวนการคิดและตรวจสอบสารเช่นกัน ตั้งคำถามสักนิดว่าตกลงอันนี้ใช่ไหม
ขณะเดียวกันมันต้องย้อนไปถึงต้นทางด้วย ผมถามหน่อยทุกวันนี้เราเข้าใจว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรป้องกันโรคโควิดได้ไหม หน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือบอกไม่ได้ อย่าไปคิดว่าป้องกันได้นะ แต่มีอาการแล้วก็ให้รีบรักษา แต่บางอัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องนี้ บอกใช้วันละ 2,000 มิลลิกรัม 5 วัน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน คุณตีความว่าอย่างไร เขาไม่ได้บอกว่าป้องกัน แต่เพิ่มภูมิต้านทาน คุณเข้าใจว่าอย่างไรในบริลบทของโควิด-19” ก่อเขต กล่าว
นพปฏล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อหนังสือพิมพ์ไม่เจอปัญหาข่าวปลอม แต่เป็นปัญหาข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ณ เวลานั้น โดยการปิดต้นฉบับหากเป็นฉบับที่ไปจำหน่ายในจังหวัดไหลๆ ก็ต้องปิดเร็ว แต่หากเป็นฉบับที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือภาคกลาง ก็จะปิดช้า โดยยึดว่าหนังสือพิมพ์จะต้องไปอยู่บนแผง ณ จังหวัดปลายทาง ในเวลา 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ดังนั้นวิธีการที่กอง บก. หนังสือพิมพ์ใช้กันคือ หากเรื่องใดไม่มั่นใจก็จะยังไม่ฟันธง
สำหรับข่าวปลอมนั้นในอดีตตนมองว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง แต่การจะมาผ่านพื้นที่สื่อนั้นเป็นไปได้ยากเพราะกอง บก. ของสื่อหลักไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จะตรวจสอบก่อนเสมอ เช่น การกล่าวอ้างว่าคนนั้นพูดคนนี้พูด ก็จะต้องยืนให้ได้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวพูดเรื่องนั้นจริง ต่างจากปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้การส่งต่อหรือกระจายข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว ซึ่งหากใช้ประโยชน์ในทางที่ดีก็ดีไป แต่หากใช้ในทางที่ไม่ดี บิดเบือนเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะสร้างความปั่นป่วนทั้งผู้บริโภคข่าวสาร คนทำสื่อ และผู้เกี่ยวข้องไม่ว่ารัฐหรือเอกชน
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีปัญหาก็มาจากแหล่งข่าว เช่น กรณีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกับโควิด-19 แพทย์ท่านหนึ่งบอกช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน แพทย์อีกท่านบอกให้ใช้เพื่อรักษาโรค ส่วนอีกหน่วยงานหนึ่งบอกว่ายังไม่มีผลวิจัยรองรับ โอกาสที่สื่อจะนำข้อมูลจากทั้ง 3 แหล่งมาใส่รวมกันแทบเป็นไปไม่ได้ และแหล่งข่าวแต่ละแหล่งอาจให้ข้อมูลคนละวัน รวมไปถึงคำนิยามอีก อะไรคือสร้างภูมิคุ้มกัน แล้วการไม่มีผลงานวิชาการยืนยัน เท่ากับที่ผ่านมาหลอกลวงผู้ประชาชนหรือเปล่า ความคลาดเคลื่อนจึงเกิดขึ้นได้ แต่ที่แน่ๆ คือคนพากันกว้านซื้อฟ้าทะลายโจรแล้ว
“ต้องตรวจสอบตัวแหล่งข่าวให้ชัด หรือไม่ถ้าเอาชัวร์ๆ ไม่ให้ถูกด่า แต่จริงๆ เป็นสื่ออย่างไรก็โดนด่าอยู่แล้ว ก็ว่ากันไป แต่เราก็ทำให้มันชัดเจนมากที่สุด หาข้อมูลประกอบให้มันมากที่สุดในการที่จะนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าจะเพลย์เซฟหน่อยก็โควตคำพูด เอาคำที่หมอคนนั้นหรือแหล่งข่าวคนนั้นมาใส่ แค่นั้นไม่ต้องมีการแต่งเติม เพราะบางทีการเข้าใจของเรากับคำพูดของเขา บางทีคนที่ฟังคนที่ 3 อาจจะเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง สมมติมีญาติพี่น้องกำลังลงทุนเรื่องฟ้าทะลายโจร สุดท้ายใช้ไม่ได้แล้วก็มาโทษสื่อเขาบอกมา ฟังสื่อมา
ก็คือเพลย์เซฟที่สุด แหล่งข่าวว่าอย่างไรเราก็ว่าอย่างนั้น แต่สิ่งที่เราจะช่วยผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ก็คือการหาข้อมูบเพิ่มเติม ว่ามันอาจจะ อาจจะเฉยๆ นะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ซึ่งมันก็ตรวจสอบยากนะ เพราะหน่วยงานรัฐบางทีก็เข้าถึงยาก อย่างศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่รู้ประชาชนทั่วไปจะเข้าได้มากน้อยแค่ไหน บางทีสื่อจะขอข้อมูล หรือไปทำอะไรด้วยกันสักนิดสักหน่อย ขั้นตอนก็ยากอยู่” นพปฏล กล่าว
ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่การรับข้อมูลข่าวสารเป็นแบบตามเวลาจริง (Real Time) แต่ปัญหาคือเมื่อเกิดข่าวปลอมขึ้น เช่น มีข้อมูลที่น่าสงสงสัยว่าจริงหรือไม่ถูกเผยแพร่ในวันที่ 1 เมื่อสื่อพยายามสอบถามไปยังแหล่งข่าวที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบเรื่องนั้นโดยตรง (Direct Source) กลับถูกบอกให้ทำหนังสือมาแล้วให้รอ 2 เดือนบ้าง 2-3 สัปดาห์บ้างแล้วจะชี้แจง ในช่วงที่ต้องรอดังกล่าว ข่าวปลอมก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางนับแสนข้อความแล้ว
“ผมเคยเจอเคสตอนโควิดมาเวฟ 2 ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปทำเนียบ ไปคุยกับผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองหลายๆ ท่าน หลายๆ สื่อ หลายๆ สมาคมสื่อเข้าไป สิ่งที่เราพยายามบอกคือเวลานั้นมีปัญหาเตียงไม่พอ แล้วปัญหาเตียงไม่พอมันมีคำถามเยอะมากเลยว่าแล้วที่ไหนมีเตียง แล้วเวลาป่วยที่ไหนมีเตียง ช่วยบอกหน่อย สิ่งที่เราได้รับข้อมูลทุกวันคือตอนแถลง 11 โมง ว่าไปเท่าไรแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นเมื่อคืน
ก็มีกรณีศึกษาจากสิงคโปร์ เขามีเว็บไซต์กลางที่รายงานตามเวลาจริงว่าเตียงถูกใช้ไปเท่าไรในพื้นที่ไหนบ้าง ก็มีเรียนถามผู้เกี่ยวข้องไป เขาก็บอกทำไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่มันสร้างความทุกข์กับประชาชนคือข่าวที่ออกในเวลานั้นคือเตียงเต็มทั้งประเทศ ดังนั้นคนป่วยตื่นตระหนกหมด แล้วมันไปเปลี่ยนคำว่าตื่นตระหนกให้กลายเป็นข่าวปลอม เช่น โรงพยาบาลนี้ต่อคิว 100 คิว โรงพยาบาลนี้ต่อคิว 200 โรงพยาบาลนี้มีคนตายแล้ว ไทม์ไลน์มันมีปัญหาหมด” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว
พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT กล่าวว่า เริ่มทำชัวร์ก่อนแชร์มาตั้งแต่ปี 2558 พบว่าระยะหลังๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวได้ดีขึ้น ซึ่งหลายคนก็เคยตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมมาก่อนแล้วเกิดการเรียนรู้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่เติบโตมาในยุคที่การสร้างและเผยแพร่สื่อทำได้ง่าย หากไม่เข้าใจธรรมชาติของอินเตอร์เน็ตอาจได้รับผลกระทบ ทั้งการรับข้อมูลโดยที่ไม่รู้ว่าใครๆ ก็สร้างเว็บไซต์ได้หรือใครๆ ก็ตัดต่อภาพได้ ก็อาจจะถูกหลอก และการส่งที่ไม่รู้ว่าส่งไปแล้วข้อมูลสามารถกระจายเป็นวงกว้างมาก แล้วอาจย้อนกลับมาทำร้ายตนเองได้
แต่เมื่อหันมาดูการทำงานของสื่อก็พบข้อจำกัดหลายครั้งอยู่ที่แหล่งข่าว เช่น บางคนไม่อยากออกสื่อเพราะจะมีปัญหาตามมาแม้เป็นการพูดความจริง หรือเรื่องที่แชร์กันอยู่บนโลกออนไลน์บางเรื่องแหล่งข่าวที่เป็นนักวิชาการมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและไม่อยากพูดถึง หรือบางคนก็มีเวลาน้อย หรือเรื่องของสายการบังคับบัญชา ถ้าคนนี้ไม่พูดตนเองก็ยังพูดไม่ได้ แต่ในทางกลับกันก็จะมีแหล่งข่าวบางคนที่ใช้ช่องทางเฟซบุ๊กในการสื่อสารโดยตรง เพราะดีกว่าให้สัมภาษณ์กับสื่อแล้วไม่รู้ว่าสื่อจะไปนำเสนออย่างไร จะเกิดการตีความผิดพลาดหรือนำเสนอไม่ครบถ้วนหรือไม่
“ถ้าแหล่งข่าวเขาเชื่อว่าการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนโดยเร็วที่สุดมันคือทางออกของการแก้ปัญหาทั้งปวง เป็นการปิดการทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ถ้าเขาเชื่อแบบนี้มันก็จะเป็นการแสดงออกมา เช่น แถลงข่าวทันทีเมื่อสำคัญ เป็นการทำให้เอกสารมันถูกเข้าถึงได้โดยเร็ว ทำให้เอกสารที่มันควรเป็นเอ็กเซลก็ควรมาเป็นตารางที่สื่อเอาไปใช้ต่อได้ เชื่อในมาตรฐานข้อมูลเปิด ซึ่งถ้ามีความเชื่อและผลของความเชื่อในลักษณะแบบนี้ออกมา มันก็จะไปบรรจบกันพอดีกับเรื่องของเทคโนโลยีในอนาคต” พีรพล กล่าว
มณธิรา รุ่งจิรจิตรานนท์ ผู้สื่อข่าว ตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักข่าว AFP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะมาจากสื่อมวลชนหรือสำนักข่าว ทำให้การนำเสนอไม่เป็นไปตามเวลาจริง เช่น เหตุการณ์เกิดตอน 3 ทุ่ม แต่หนังสือพิมพ์ปิดต้นฉบับไปแล้ว แต่ปัจจุบันในยุคสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ใครเจอเหตุการณ์อะไรก็นำเสนอผ่านช่องทางดังกล่าวได้ ไม่กี่นาทีก็อาจกลายเป็นกระแสแล้ว ดังนั้นข่าวปลอมจึงเกิดได้ง่าย โดยข่าวปลอมนั้นมี 2 ความหมาย คือข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนแต่ผู้ส่งข่าวไม่มีเจตนาร้าย (Misinformation) กับข้อมูลที่นำมาใช้เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามหรือสร้างความเกลียดชังในสังคม (Disinformation)
สำหรับ AFP นั้น เริ่มต้นแผนกตรวจสอบข้อเท็จจริงในปี 2560 ซึ่งมองเห็นอันตรายจากข่าวปลอมในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในเวลานั้นมีคนทำงานตรวจสอบเพียงคนเดียว แต่ปัจจุบันในปี 2565 มีทีมงานอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก ทำการตรวจสอบข้อมูลเหตุการณ์สำคัญที่แชร์กันในโลกออนไลน์มาแล้วหลายเรื่อง ทั้งการชุมนุมประท้วงในไทย กลุ่มตาลีบันยึดอำนาจในอัฟกานิสถาน มาจนถึงล่าสุดคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน
โดยเลือกข้อมูลที่หากพบว่าเป็นข่าวปลอมจะสร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างมาก เช่น เกิดการจลาจล หรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพ มาตรจสอบ ขณะเดียวกันก็ต้องดูศักยภาพตนเองด้วยว่าสามารถตรวจสอบได้ลึกหรือละเอียดเพียงใด หากไม่มากพอก็จะไม่ทำเด็ดขาดเพราะต้องการให้เมื่อนำเสนอแล้วทุกอย่างจบสิ้น ไม่มีช่องโหว่ให้ใครตั้งข้อสงสัยใดๆ ได้อีก
แต่นอกจากบทบาทของสื่อแล้ว ประชาชนก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่ดูเป็นเรื่องตลกแต่บางครั้งก็อาจเป็นอันตรายต่อคนอื่นได้ โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะทุกคนก็มีสิทธิ์เป็นเหยื่อของข่าวปลอม แต่ระยะหลังๆ ก็พบความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น ตัวอย่างจากแม่ของตน ที่แต่ก่อนมีอะไรก็ส่งต่อ แต่ปัจจุบันมีการตรวจสอบก่อนส่งว่าเรื่องนั้นจริงหรือไม่ อีกทั้งยังไปบอกกับเพื่อนบ้านด้วยว่าเรื่องไหนจริง-ไม่จริง ถือว่าพัฒนาขึ้นหากเทียบกับเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่ไม่มีแนวคิดนี้อยู่เลย
ในขณะที่สื่อเอง แม้ต้องการทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันในสังคม อาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งข่าว เช่น เรื่องโควิดที่บางครั้งหาแหล่งข่าวในไทยไม่ได้ก็ต้องไปพึ่งแหล่งข่าวในต่างประเทศ รวมถึงลำดับชั้น (Hierarchy) ที่ต้องรอผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนั้นให้ข้อมูล หรือให้ผู้บริหารนั้นมอบหมายเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งให้ข้อมูล เป็นต้น
“เนื่องจากว่าตอนนี้ประชาชนก็รับข่าวสารกันแบบ Real Time ส่วนตัวคิดว่าทุกภาคส่วนในสังคมควรที่จะปรับตัวเข้าสู่ระบบ Real Time ด้วยเช่นกัน ขอยกตัวอย่างกรณี AFP ที่ตอนนั้นมันมีข่าวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาพบกับท่านนายกฯ ประยุทธ์ แล้วก็มีคลิปอันหนึ่งออกมาแล้วก็ถูกแชร์โดยสื่อหลักและเพจ Activist หลายๆ เพจ ทีนี้ทาง AFP ก็เลยได้ไปสอบถามกับโฆษกของตำรวจ ก็ได้รับความร่วมมืออย่างเร็วเลย ตอนนั้นก็คิดว่าสังคมของเราเริ่มเข้าสู่ Real Time มากกว่าในอดีต ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นบุคคลที่เป็นผู้ติดตามของท่านนายกฯ ส่วนตัวคิดว่าทุกภาคส่วนควรปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ควรมีประสิทธิภาพและขณะเดียวกันก็รวดเร็ว เพื่อจะได้ตามทันยุคสมัย” มณธิรา กล่าว
ในช่วงท้ายของการเสวนา บายบาร์ ออร์เซ็ค (Baybars Orsek) ผู้อำนวยการ International Fact-Checking Network (IFCN) ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยกล่าวว่า IFCN ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 ต่อมาในปี 2559 เฟซบุ๊กหรือปัจจุบันคือเมตา META ได้ประกาศใช้ชุดประมวลหลักการของ IFCN ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภารกิจของ IFCN คือการให้องค์กรต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ในการพัฒนามาตรฐาน ความถูกต้องและโปร่งใส ตลอดจาการนำเสนอข้อมูล สนับสนุนทรัพยากรและจัดประชุมต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิก 110 องค์กร จาก 54 ประเทศ
สำหรับองค์กรที่อยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกคือต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองหรือขั้วอำนาจทางการเมืองใด เพราะหลักการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking) ต้องไม่เข้าข่ายฝ่ายใดอยู่แล้ว ต้องนำเสนอข่าวสารในประเด็นที่สนใจของสาธารณะ และนำเสนออย่างเป็นธรรม มีการจัดทำมาตรฐานการนำเสนอข่าวอย่างโปร่งใส ที่มาแหล่งข่าวต้องสามารถตรวจสอบและเปิดเผยได้ เมื่อผู้รับสารมีข้อสงสัยองค์กรต้องสามารถชี้แจงได้ และหากนำเสนอข่าวผิดพลาดต้องอธิบายต่อสาธารณะด้วยว่าผิดพลาดในส่วนใด
“เราต้องการให้ทุกๆ องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถเป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้นั่นเอง เพื่อที่จะสามารถคุ้มครองความน่าเชื่อถือของเราได้โดยการทำงานอยู่บนหลักการที่ตั้งอยู่บนความเปิดเผย และสุดท้ายหลักการข้อนี้เป็นหลักการที่มีความสำคัญมากที่สุด องค์กรต้องสามารถบอกได้ว่าวิธีการทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเขาเป็นอย่างไร เพราะมันไม่มีวิธีการที่เป็นวิธีการเดียวถูกต้องเหมือนกันทั่วทุกประเทศทั่วโลก” ผอ.IFCN กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค ประเทศไทย กล่าวปิดการเสวนา ว่า ปีนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบผสมผสาน (Hybrid) มีทั้งในห้องประชุมและรับชมหรือร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้ฟังมุมมองจากวิทยากรมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เห็นสถานการณ์ที่เผชิญกันอยู่ ไม่ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การไหลเวียนของข้อมูลหลอกลวง ไปจนถึงสงครามและความรุนแรง เป็นความท้าทาย
“ข้อสรุปของการพูดคุยวันนี้ได้พูดถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะสื่อมวลชน ไม่เฉพาะสื่อออนไลน์ เป็นความร่วมมือของผู้ที่ร่วมใช้ออนไลน์ทุกคน” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-