ข้อเท็จจริง‘USA-MTEC’กับการจัดการเรียนการสอนของบุตรหลานแรงงานเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร

By : Zhang Taehun

เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2567 มีผู้ส่ง Link วีดีโอที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กมาให้ผู้เขียนดู เนื้อหาว่าด้วยโรงเรียนในประเทศไทย แต่นักเรียนเป็นชาวเมียนมา พูดภาษาพม่า ครูก็พูดเชิญชวนให้เด็กชาวเมียนมาเข้ามาสมัครเรียน โดยเสียงบรรยายในคลิประบุว่า โรงเรียนที่ถูกอ้างถึงนี้ชื่อว่า “USA-MTEC”แต่ไม่รู้ว่ามีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานศึกษาหรือไม่ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม อยู่ในอาคารสถานที่ที่มีสภาพเหมือนโรงเรียนโดยทั่วไป ไม่ใช่สถาบันสอนพิเศษหรือสอนภาษา ตั้งอยู่ที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

มีการอ้างต่อไปว่า ย้อนไปก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี USA-MTEC เคยเป็นสถาบันสอนภาษาไทย แต่ต่อมาได้ขอเช่าพื้นที่โรงเรียนเก่า คือโรงเรียนปัญจพรพิทยา เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้ได้ปิดการเรียนการสอนไปแล้ว โดยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีชาวเมียนมาไปดำเนินการเพื่อนำพื้นที่มาใช้เป็นโรงเรียนของเด็กและเยาวชนชาวเมียนมา และฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบด้วย

ภาพที่ 1 : คลิปวีดีโอที่อ้างว่ามีการเปิดโรงเรียนของชาวเมียนมาในประเทศไทย

ซึ่งจากการค้นหาชื่อ USA-MTEC ในอินเตอร์เน็ต พบว่า มีชื่อเต็มๆ คือ ศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย ก่อตั้งโดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของแรงงานข้ามชาติ มีพื้นที่ปฏิบัติงานหลักอยู่ใน จ.สมุทรสาคร

บทความ การศึกษาทำให้ชีวิตคนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ LPN เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2567 ระบุว่า ศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย หรือ USA-MTEC  เป็นการรวมกลุ่มพึ่งตนเองอย่างสร้างสรรค์ของชาวเมียนมา ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่พักอาศัยและทำงานในประเทศไทย   

เป็นการปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มประชากรข้ามชาติที่ประสบความยากลำบากในประเทศไทย  สนับสนุนโดย ภาคีความร่วมมือองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินการด้านการป้องกันการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย รวมถึงตัวบุคคลไทยและคนต่างชาติที่มีความสนใจในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ภาพ 02 : โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก “กอ.รมน.จังหวัดสมุทรสาคร” เข้าตรวจสอบศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย USA – MTEC

ในเบื้องต้นผู้เขียนไม่แน่ใจว่านี่เป็นคลิปเก่าแชร์วนซ้ำ หรือเป็นการทำคลิปใหม่ แต่ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ แห่งนี้ มีหน่วยงานภาครัฐของไทยลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้วหลายหน่วย อาทิ “กอ.รมน. จังหวัดสมุทรสาคร” ลงพื้นที่ในวันที่ 6 ส.ค. 2567 พร้อมด้วย นายอำเภอกระทุ่มแบน, ผกก.สภ.กระทุ่มแบน, จนท.ตร.สันติบาลจังหวัดสมุทรสาคร, ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 พูดคุยกับ นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN โดยขอความร่วมมือดังนี้ (1) ให้มูลนิธิฯรวบรวมจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนว่ามีจำนวนเท่าใดและให้แยกเป็น ช-ญ (2) ทำประวัติทะเบียนราษฎร์ของเด็กแต่ละคน เช่น ชื่อ-สกุล-อายุ-บิดา -มารดา-ที่อยู่ แสกนลายนิ้ว เป็นต้น (3) มีข้อสงสัยประการใดให้ผู้อำนวยการประสานกับนายอำเภอโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องให้กับผู้ที่จัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือชาวต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ทราบจำนวนประชากรเด็กที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และเพื่อป้องกันการก่อเหตุการณ์ต่างๆ ภายในจังหวัดสมุทรสาคร

ภาพ 03 : โพสต์จากเฟจเฟซบุ๊ก “สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร” เข้าตรวจสอบศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย USA – MTEC

วันที่ 2 ก.ย. 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับอีกหลายหน่วยงาน ลงพื้นที่หลังพบมีการแชร์คลิปวีดีโอโรงเรียนแห่งหนึ่งมีนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติทั้งของไทยและเมียนมา แล้วมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นที่ จ.สมุทรสาคร อย่างไรก็ตาม พบว่า ไม่เป็นความจริง โดยมีการเปรียบเทียบภาพที่ปรากฏในคลิปวีดีโอ กับสถานที่จริงนั้น ไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม ได้ให้คำแนะนำกับทางศูนย์ฯ ดังนี้ (1) ให้ทางศูนย์ฝึกอบรมฯ ดำเนินการจัดทำทะเบียนนักเรียนในศูนย์ฝึกทั้งหมด (2) กำชับให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหลังจากนั้น ก็ยังมิได้มีข่าวเพิ่มเติมอีกว่ามีการสั่งปิดศูนย์ฯ แห่งนี้ (ค้นหา ณ วันที่ 28 ธ.ค. 2567)

นอกจากการตรวจสอบแล้วยังมีการสนับสนุนและทำงานร่วมกัน เช่น สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (หรือชื่อเดิมคือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย – กศน.) ในวันที่ 3 ต.ค. 2567 ลงพื้นที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ เพื่อสำรวจ วางแผนและร่วมหารือ เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนเด็กข้ามชาติที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาทักษะภาษาและความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันที่ 21 พ.ย. 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ส่งตัวแทนร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการจัดการศึกษาหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และมูลนิธิ LPN ณ ศูนย์ฯ USA-MTECและยังมีข่าวประชาสัมพันธ์จาก วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร วันที่ 26 พ.ย. 2567 ที่ระบุว่า ผู้บริหารวิทยาลัยฯ ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร ให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

ภาพ 04 : ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร และวิทยาลัยประมงสมุทรสาครร่วมพิธีเปิดการจัดการศึกษาหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และมูลนิธิ LPN ณ ศูนย์ฯ USA-MTEC

แม้จะยังไม่สามารถค้นหาได้ว่าสถานะปัจจุบันของศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นอย่างไร แต่จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้น ที่นี่ไม่ได้แอบลักลอบเปิด และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ในขณะที่คลิปต้นทางนั้นมีการอ้างถึงอีกสถานที่แห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี โดยระบุว่าเป็นการแอบเปิดและเกรงว่าที่ จ.สมุทรสาครจะเหมือนกัน (ซึ่งน่าจะเป็นข้อสงสัยเดียวกับโพสต์ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร จนนำไปสู่การตรวจสอบเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567) จากการสืบค้น พบว่า น่าจะหมายถึง ศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ตั้งอยู่ที่ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี

ซึ่งข้อมูลจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันที่ 5 ก.ย. 2567 ระบุถึงกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลว่า มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงชาติเมียนมาต่อจากเพลงชาติไทยทุกเช้า เพราะความต้องการของผู้ปกครอง และโรงเรียนต้องการปริมาณนักเรียนเพื่อรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ว่า ศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เพื่อจัดการศึกษาโดยกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา มีการวัดและประเมินผล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หน่วยงานราชการในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเรียกมาชี้แจง และได้ออกคำสั่งให้ปิดการเรียนการสอนหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา แต่ศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ก็ยังลักลอบเปิดมาโดยตลอด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวกับการกระทำของศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์และการกระทำเข้าข่ายความผิดฐานจัดตั้งโรงเรียนในระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 130 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง ในคลิปยังมีการระบุสถานที่ตั้งของศูนย์ฯ USA-MTEC ว่าได้เช่าพื้นที่จาก ร.ร.ปัญจพรพิทยาที่เลิกกิจการไปแล้ว เบื้องต้นผู้เขียนไม่สามารถค้นหาได้ว่า ร.ร.ปัญจพรพิทยา เลิกไปเมื่อใด แต่หากนำคำว่า ปัญจพรพิทยา และ เลิกกิจการไปค้นหาพร้อมกันในอินเตอร์เน็ต จะพบผลการค้นหาบางแหล่งที่ระบุว่าเลิกไปแล้ว ในขณะที่เมื่อนำไปค้นหาในโหมดแผนที่ของ Google หากใช้คำว่า โรงเรียนปัญจพรพิทยา” จะพบว่า ตั้งอยู่ในซอยร่วมใจ 2 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร แต่มีสถานะ ปิดถาวร โดยบริเวณเดียวกันที่มีการปักหมุด ร.ร.ปัญจพรพิทยา จะมีสถานที่ชื่อ USA-MTEC อยู่ด้วย และเมื่อคลิกดู จะพบว่าใช้ชื่อ “USAMTEC 2” และมีสถานะ เปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้ง 2 สถานที่ ใช้ “M78H+9VV” เป็นพิกัดเดียวกัน

 ภาพ 05 : ที่ตั้งของ ร.ร.ปัญจพรพิทยา
ภาพ 06 : ที่ตั้งของศูนย์ฯ USA-MTEC

โดยสรุป แม้จะเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้เด็กและเยาวชนที่เป็นบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติเหมือนกัน แต่ที่ จ.สมุทรสาคร กับ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นคนละกรณีกัน ซึ่งต้องไปดูในรายละเอียดว่าการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใดบ้าง โดยเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2567 เว็บไซต์ ศธ. 360 องศา อันเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า กรณีการสั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง จ.สุราษฎร์ธานี ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง

พบว่า การเปิดศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่กำหนดถึงสิทธิในการจัดการการศึกษาพื้นฐานในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จึงจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ หรือหากต้องการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนในประเทศไทย ก็ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมการจัดตั้งและบริหารโรงเรียนเอกชน มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียน การบริหารโรงเรียน คุณสมบัติของผู้จัดการโรงเรียนและครู มาตรฐานการศึกษาที่ต้องปฏิบัติตาม และต้องได้รับการอนุมัติจาก ศธ. เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพและสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เร่งสำรวจฐานข้อมูล และดำเนินการให้ถูกต้องและรวดเร็ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสที่ ศธ. จะกำหนดนโยบายเพื่อเร่งวางแนวทางให้ทุกหน่วยงานที่ต้องการเปิดศูนย์การศึกษาลักษณะนี้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อแนะนำการขอจัดตั้งศูนย์การศึกษา เพื่อให้เป็นวิธีปฏิบัติเดียวกันทั้งประเทศจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นอีก

มุมมองจาก สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ กสศ. X 101” เผยแพร่วันที่ 21 มิ.ย. 2566 กล่าวถึงความสำคัญของการให้บุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยเข้าถึงการศึกษา ว่า LPN ทำเรื่องศูนย์การเรียนรู้แรงงานข้ามชาติ ก่อนที่รัฐบาลไทยจะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ก.ค. 2548 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการรับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน เนื่องจากหากไม่ได้เรียนก็มีโอกาสสูงที่เด็กเหล่านี้จะไปทำงานกับพ่อแม่ ไปเป็นแรงงานเด็กตามโรงงาน ตามล้ง หรือสถานที่ทำงานที่มีความสุ่มเสี่ยง ไม่ปลอดภัย

หลายครั้งการรับเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติเข้าทำงานก็มาจากความหวังดีของนายจ้าง คิดว่าเด็กอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร รับเข้ามาทำงานช่วยพ่อแม่หาเงินดีกว่า แต่มุมมองชาวต่างชาติที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จากเรา มองว่าการใช้แรงงานเด็กเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ภายหลังนายจ้างก็ตระหนักมากขึ้นเพราะมีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง สมพงษ์ กล่าว

เช่นเดียวกับรายงานข่าว เด็กทุกชาติได้เรียนเท่าเทียม ไม่แค่สิทธิไทยก็ได้ประโยชน์” ที่เผยแพร่ใน นสพ.แนวหน้า วันที่ 6 มิ.ย. 2562 เกียรติกูล เหล่ากอดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิริมงคล (ในขณะนั้น) ซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หนึ่งในสถานศึกษาที่มีเด็กไทยเรียนร่วมกับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ ได้กล่าวว่า ต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและมองในมุมการศึกษาใหม่ 

ราจะปรับทัศนคติของครูในโรงเรียนว่าถ้าเราปล่อยเด็กกลุ่มนี้ไป เลือกแต่เด็กเรา ให้ความสำคัญแต่กับเด็กเรา เด็กกลุ่มนี้จะไม่มีใครคอยตักเตือนเมื่อเขาทำผิด และอาจก่อให้เด็กไปทำสิ่งผิดๆ ในอนาคต เช่น ก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้ เกียรติกูลกล่าว

รวมถึง เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ในขณะนั้น) ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้สิทธิเรียนในประเทศไทยว่า เรื่องนี้อย่าไปมองคนต่างด้าวได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว สังคมไทยก็ได้ประโยชน์ด้วยเป็นการ ลดปัญหาสังคม หากปล่อยให้มีเด็กคนใดไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ค้ามนุษย์หรือยาเสพติด ในทางกลับกันเมื่อเด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาเต็มที่ ก็จะมีอาชีพสุจริตและมีรายได้ดี ซึ่งก็ต้องเสียภาษีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมตามเกณฑ์ของกฎหมาย

เป็นธรรมดาที่ประเทศใดก็ตามมีความเจริญ มีการพัฒนาสูง ก็มักจะดึงดูดการย้ายถิ่นของผู้คนจากประเทศอื่นๆ เข้าไปแสวงหาโอกาส ซึ่งแม้ไทยจะยังไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่หากเทียบกับเพื่อนบ้านโดยรอบทั้ง 4 ทิศ พบว่าจาก 3 ใน 4 ประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือเมียนมา ลาวและกัมพูชา ระดับการพัฒนายังน้อยกว่าไทย อีกทั้งกรณีของเมียนมายังมีปัญหาสงครามกลางเมืองยาวนานหลายสิบปี เป็นแรงกดดันให้คนจากประเทศเหล่านี้เข้ามาแสวงหาโอกาสในไทย 

ในทางกลับกัน ประเทศที่มีความเจริญขึ้นมาในระดับหนึ่ง พลเมืองในประเทศนั้นๆ ก็มักเลือกที่จะไม่ทำงานบางประเภท แต่งานนั้นยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ จึงต้องจ้างแรงงานข้ามชาติ (หรือแรงงานต่างด้าว) เข้ามาทดแทน ซึ่งหลายครั้งก็มากันทั้งครอบครัว หอบลูกจูงหลานมาด้วยเพราะอยู่บ้านเกิดไม่มีใครดูแล หรือคนหนุ่ม-สาว มาพบรักใช้ชีวิตสร้างครอบครัวด้วยกันและให้กำเนิดลูกซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น ตามกฎหมายคนเข้าเมืองไม่ได้ถือหลักดินแดน เด็กที่เกิดมาจึงไม่ได้รับสัญชาติไทย 

แต่เมื่อเข้ามาหรือเกิดมาแล้ว หากไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาก็สุ่มเสี่ยงกับการผลักให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมและอาชญากรรม จนส่งผลกระทบกลับมาถึงพลเมืองของประเทศที่คนข้ามชาติเหล่านี้อยู่อาศัยไปโดยปริยาย เพราะ ความมั่นคงของรัฐ” กับ ความมั่นคงของมนุษย์” เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.facebook.com/watch/?v=1602583457009644&rdid=KHFrertyi9TuRLys

https://th.lpnfoundation.org/team

https://th.lpnfoundation.org/post/การศึกษาทำให้ชีวิตคนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี-ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น (การศึกษาทำให้ชีวิตคนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น : 14 ก.ค. 2567)

https://www.facebook.com/isoc.samutsakorn/posts/pfbid02pTuWKnWj9mh7jzQbroCQCpFYCBojsx281Q1wLDVc9ixhp51RjYLGS7RUM7ujzLybl?rdid=7PWLGi0IxqL73Guv#

https://www.facebook.com/sknpeo/posts/pfbid08x2LFpYZpRiuKfHGiVwKhWhNAX6Dp9YXt2ytJCPX7bL8ao4k4YK3yqijUP3HLLiCl?rdid=kmwpUhi5kqchpfjC#

https://samutsakhon.nfe.go.th/4863 (ลงพื้นที่วางแผนและหารือเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป : สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร 3 ต.ค. 2567)

https://sknpeo.moe.go.th/สำนักงานศึกษาธิการจัง-19/ (สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาครร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการจัดการศึกษาหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ของสำนักงาานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร : 21 พ.ย. 2567)

https://www.skfc.ac.th/พิธีเปิดการจัดการหลักส/ (พิธีเปิดการจัดการหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ดำเนินการส่งเสริมความรู้ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมแก่เด็กข้ามชาติร่วมกับมูลนิธิ LPN : วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร)

https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไทย-ให้นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงชาติเมียนมาทุกเช้า/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงชาติเมียนมาทุกเช้า : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 5 ก.ย. 2567)

https://moe360.blog/2024/09/29/mittayaylearningcenter/ (ศธ. เร่งแก้ปัญหา​เชิงระบบ​ จัดสรรเด็กเมียนมาจากศูนย์ฯ​ มิตตาเย๊ะ บางกุ้ง สุราษฎร์ธานี​ เข้าสู่โรงเรียน​ตามความพร้อมผู้เรียน : ศธ. 360 องศา 29 ก.ย. 2567)

https://www.eef.or.th/migrant-children-training-center-mahachai/ (“สัญชาติไม่ควรตัดโอกาสทางการศึกษาของใคร” ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ มหาชัย พื้นที่เติบใหญ่ของลูกแรงงานพม่า : กสศ. 21 มิ.ย. 2566)

https://www.naewna.com/likesara/418094 (เด็กทุกชาติได้เรียนเท่าเทียม ไม่แค่‘สิทธิ’ไทยก็ได้ประโยชน์ : แนวหน้า 6 มิ.ย. 2562)