‘Romance Scam’ ภัย‘คนเหงา’ยุคดิจิทัล เมื่อ‘ความรัก’กลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ
Think-Piece by Digital Thinkers
บทความนักคิดดิจิตอล
โดย Windwalk_Jupiter
“ความรักทำให้คนตาบอด” เป็นสำนวนหมายถึงใครก็ตามลองได้ตกอยู่ในห้วงแห่งความรักแล้ว จากคนที่ในยามปกติเคยคิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล เคยประสบความสำเร็จในชีวิต สติปัญญาความรู้ที่สั่งสมมาบางทีก็หยุดทำงานไปดื้อๆ กลายเป็นทำอะไรราวกับคนไร้สติไปเสียอย่างนั้น ซึ่งสำนวนนี้แม้จะมีมาตั้งแต่โบราณแต่ก็ยังไม่ล้าสมัย ซ้ำร้ายในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความรักยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพในหลอกลวงเอาทรัพย์สิน จนหลายคนตกเป็นเหยื่อเสียเงินเสียทองแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สังคมไทยคงจะคุ้นเคยกับคำว่า “Romance Scam” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “หลอกรักออนไลน์” อาทิ ในวันที่ 15 ก.พ. 2563 หรือ 1 วันหลังจากเทศกาลแห่งความรักอย่างวันวาเลนไลน์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยแพร่บทความ “วาเลนไลน์ ปอท.เตือนภัย หลอกรักออนไลน์ (Romance Scam)” เตือนภัยประชาชน ถึงกลลวงของเหล่ามิจฉาชีพที่ล่อลวงเหยื่อโดยใช้ความรักเป็นกลอุบาย ดังนี้
1.หาเหยื่อ โดยส่วนใหญ่จะเลือกเหยื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ไม่มีครอบครัว มีฐานะดี 2.แปลงโฉมตัวเองโดย สร้างโปรไฟล์ปลอมให้ดูสวย-หล่อมีฐานะดี มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดี หรูหราเพื่อล่อเหยื่อเข้ามาติดกับดัก พร้อมเก็บข้อมูลและวางแผน โดยมักอ้างว่ามีอาชีพ หมอ ทหาร วิศวกร สถาปนิก นักธุรกิจ เป็นต้น โดยมีรูปแบบการดำเนินชีวิตหรูหรา และจะอ้างว่าเพิ่งเลิกกับภรรยา หรือ ภรรยาเสียชีวิต ตอนนี้รู้สึกเหงา อยากมีชีวิตคู่อีกครั้ง โดยทำทีว่าสนใจเหยื่อ รักเหยื่อ อยากสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อ
3.ปากหวานให้ตายใจ หว่านล้อมในรูปแบบต่างๆ ให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ โดยแชทด้วยเวลาไม่นานจะรีบพัฒนาความสัมพันธ์โดยเรียกเหยื่อว่า Darling ,Sweet heart ,My Love เป็นต้น 4.ร้อยเล่ห์เพทุบาย เมื่อเหยื่อตายใจหลงรัก ก็จะสร้างสถานการณ์ให้น่าสงสาร และเห็นใจ เพื่อขอเงิน ซึ่งที่ใช้บ่อยคือ 4.1 หลอกว่าจะมาแต่งงานกับเหยื่อที่เมืองไทย โดยจะส่งทรัพย์สิน เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร มาให้เหยื่อที่เมืองไทย มีการถ่ายรูปส่งมาให้ดู โดยรูปที่เอามาใช้ส่วนใหญ่จะนำมาจาก Google จากนั้นจะมีหน้าม้าเป็นคนไทย โทรศัพท์มาอ้างกับเหยื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร หลอกเหยื่อว่ามีทรัพย์สินส่งมาจากต่างประเทศจริง ขอให้เหยื่อโอนเงินค่าภาษีมาให้
4.2 หลอกว่าตัวเองป่วย แต่ประกันสังคม หรือประกันชีวิต ยังเบิกจ่ายไม่ได้ ขอให้เหยื่อโอนเงินมาให้ก่อนแล้วจะใช้คืน 4.3 หลอกว่าได้รับสัมปทานจากรัฐบาล แต่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียม ขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินมาให้แล้วจะใช้คืน 4.4 หลอกว่าได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาล แต่ต้องชำระภาษีมรดก โดยขอให้เหยื่อโอนเงินมาให้แล้วจะใช้คืน และ 4.5 ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสีร่วมกับคนไทย ในการกระทำความผิด
ขณะที่บทความ “รักแท้บนไซเบอร์มีจริงไหม เผลอๆ อาจเจอ Romance scam แทน” ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ researchcafe.org ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 อ้างอิงเรื่องเล่าของ ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปัจจุบันมีตำแหน่งทางวิชาการเป็น รศ.) ที่ทำงานวิจัยแล้วพบว่า แม้ผู้เสียหายจาก Romance Scam ซึ่ง ผศ.ดร.ทศพล ใช้คำแปลว่า “พิศวาสอาชญากรรม” จะมีจำนวนน้อย แต่มูลค่าความเสียหายกลับสูงมาก
“เราเคยเห็นว่า เยอะที่สุดถึงขั้นว่ามีคนเดียวเสียเงิน 33 ล้านบาท มีการโอนเงินให้กับอาชญากร 26 ครั้ง บางคนยังรู้สึกว่าตัวเองไม่โดนหลอก แจ้งความแล้วตำรวจบอกว่าคุณโดนหลอกแล้วก็ยังบอกว่าไม่โดนหลอก เพราะเป็นความลึกซึ้ง ความซับซ้อนของอาชญากรรม ที่ถ้าไม่แก้ คนๆ นั้นอาจจะหมดชีวิตทั้งชีวิต ลามไปถึงครอบครัวเขาด้วย” ผศ.ดร.ทศพล ระบุ
ผศ.ดร.ทศพล ยังกล่าวอีกว่า จุดจบของการหลอกลวงจะเกิดขึ้นเมื่อเหยื่อรู้สึก “หมดเงินและหมดรัก” บางคนเอาบ้าน ทิ่ดินไปจำนอง กู้หนี้ยืมสินเพื่อเอาเงินไปโอนให้นักหลอกลวงรัก พอหมดเงินแล้วจริงๆ นักหลอกลวงรักก็จะค่อยถอยออกไป ขณะที่ถ้าหมดรัก ความรักซาลง เหยื่อก็เริ่มจะคิดได้ เขาจะเริ่มคิดว่าเขาควรแจ้งความไหม เริ่มปรึกษาคนรอบข้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“พอเราไปทำงานชุดนี้พบว่าเป็นปัญหาสังคมเลย คือทำให้ครอบครัวแตกแยก เพื่อนฝูงทิ้งหมด คือสุดท้ายเหยื่อจะโดดเดี่ยวมากเลย เพราะไปปรึกษาปัญหาแบบนี้ พอปรึกษาใครสักคนจะเริ่มด้วยโอ้ย อธิบายแล้วว่าโดนหลอกแต่ก็ไม่เชื่อ คล้ายๆ เพื่อนเราที่มีแฟนไม่ดี เราพยายามอธิบายแต่เขาไม่รับฟัง สุดท้ายเขาก็โดดเดี่ยว ยิ่งโดดเดี่ยวคนเดียวยิ่งเปราะบางมากขึ้น แล้วความโหดร้ายน่ากลัวขององค์กรอาชญากรรมแบบนี้ ถ้าคนเก่าหลอกเสร็จแล้ว คนใหม่ก็จะมาเพราะเขามีลิสต์อยู่ อีกคนมาดูดเงินใหม่หรือหลอกอะไรใหม่อีก” ผศ.ดร.ทศพล กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหา Romance Scam ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทย อาทิ คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) เผยแพร่รายงาน “Reports of romance scams hit record highs in 2021” เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ระบุว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายจาก Romance Scam อยู่ที่ 547 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 2 หมื่นล้านบาท สูงกว่ารายงานเมื่อปี 2560 ถึง 6 เท่า อีกทั้งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 หากเทียบกับรายงานปี 2563 โดยจำนวนเงินที่เหยื่อสูญเสีย เฉลี่ยอยู่ที่ 2,400 เหรียญสหรัฐ หรือราว 8 หมื่นบาทต่อคน
เช่นเดียวกับรายงานข่าว “Online dating scams are on the rise, FBI and FTC warn. Here are some red flags.” จาก USA Today หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่งในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) ที่ระบุมูลค่าความเสียหายจาก Romance Scam ในปี 2564 ไว้สูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ เอ็มมา เฟลชเชอร์ (Emma Fletcher) นักวิเคราะห์จาก FTC ให้ความเห็นกับ USA Today ว่า น่าจะยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ถูกรายงาน เพราะการถูกหลอกเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เหยื่ออาจรู้สึกอับอาย
ที่ประเทศอังกฤษ UK Finance ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ประกอบกิจการสถาบันการเงินในอังกฤษ เผยแพร่รายงาน “Romance scams on the up during lockdown” ระบุว่า ในปี 2563 ที่โลกเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พบมูลค่าความเสียหายจากมิจฉาชีพประเภท Romance Scam (ในบทความใช้คำว่า Romance Fraud หรือการฉ้อโกงโดยใช้กลอุบายจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ) อยู่ที่ 68 ล้านปอนด์ หรือเกือบ 3 พันล้านบาท โดยเหยื่อถูกหลอกในหลายรูปแบบ เช่น การโอนเงิน การซื้อบัตรกำนัล การซื้อสิ่งของมีค่าประเภทโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ไปจนถึงการปล่อยให้มิจฉาชีพเข้าถึงบัญชีธนาคารหรือบัตรต่างๆ
รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า “มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการหาคู่ออนไลน์มากขึ้น” โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Online Dating Association (ODA) ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ระบุว่า ในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก มีชาวอังกฤษ 2.3 ล้านคนใช้บริการหาคู่ออนไลน์ โดยร้อยละ 64 ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ มองว่า แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์เป็นตัวช่วยสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง ซึ่งอินเตอร์เน็ตแม้ด้านหนึ่งจะเพิ่มโอกาสในการพบปะและสานสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ แต่ก็กลายเป็นช่องทางที่เอื้อต่อมิจฉาชีพในการก่ออาชญากรรมหลอกเอาเงินจากเหยื่อด้วย
ในเวลาต่อมา UK Finance ออกบทความอีกฉบับหนึ่ง “Nearly 40 per cent of people looking for love online were asked for money” ระบุว่า ร้อยละ 38 ของผู้ที่หาคู่ทางออนไลน์ พบเจอกับการถูกขอเงิน และร้อยละ 57 ยอมรับว่า เคยให้หรือให้ยืมเงินแก่ผู้ที่พบกันทางออนไลน์ ซึ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ Romance Scam ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีมูลค่าความเสียหายเกิดขึ้นถึง 15 ล้านปอนด์ หรือราว 660 ล้านบาท โดยเหตุผล 3 อันดับแรกของการขอเงินทางออนไลน์ อันดับ 1 มีเรื่องฉุกเฉินต้องรีบใช้เงิน ร้อยละ 37 รองลงมา เป็นค่าเดินทางเพื่อไปพบผู้ที่ให้เงิน ร้อยละ 36 และอันดับ 3 จะนำเงินไปลงทุน ร้อยละ 29
ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่น เป็นอีกประเทศที่เผชิญปัญหา Romance Scam รุนแรงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดังรายงานข่าว “Japan sees ‘romance scams’ surge amid pandemic” เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 โดย The Japan Times หนังสือพิมพ์เก่าแก่ฉบับหนึ่งในญี่ปุ่น ระบุว่า การออกนอกบ้านได้น้อยลงเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ผู้คนหันไปพึ่งพาบริการแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์
รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์กิจการผู้บริโภคแห่งชาติญี่ปุ่น (National Consumer Affairs Center of Japan หรือ NCAC) ที่พบว่า ในปีงบประมาณ 2563 สถิติผู้ตกเป็นเหยื่อ Romance Scam อยู่ที่ 84 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีเพียง 5 ราย และที่น่าห่วงคือ เพียง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ก็มีรายงานผู้ตกเป็นเหยื่อ Romance Scam ระดับเดียวกับทั้งปีงบประมาณ 2563 แล้ว
สื่อญี่ปุ่นฉบับนี้ ยังยกกรณีหนึ่งมาเป็นอุทาหรณ์ เหตุเกิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 หญิงวัย 30 ปีเศษ อาศัยอยู่ในภูมิภาคโทโอคุ (Tohoku) หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ตนได้ใช้บริการแอปพลิเคชั่นหาตู่ออนไลน์ แล้วพบผู้ที่อ้างว่าเป็นชาวแคนาดาซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว และยอมรับว่าถูกดึงดูดจาก “รูปโปรไฟล์ (Profile Picture)” ทำให้เริ่มพูดคุยจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเมื่อเริ่มสนิทกัน (ทางออนไลน์) ชายคนดังกล่าวได้ชักชวนให้หญิงสาวลงทุนผ่านการซื้อสกุลเงินดิจิทัลโดยแลกเปลี่ยนกับเงินตราต่างประเทศ
ซึ่งในตอนแรก มันทำกำไรได้ 6,600 เยน หรือประมาณ 1,700 บาท ตนก็ยิ่งเชื่อชายคนนี้มากขึ้นไปอีก ทำให้ตนไปหาระดมเงินมาจากทุกทิศทางที่หาได้ (เช่น จากครอบครัว) อีกประมาณ 6 ล้านเยน หรือประมาณ 1.5 ล้านบาท ไปยังบัญชีที่ชายคนนี้บอก ด้วยเพราะ “หลง” กับคำว่า “ผมต้องการสร้างความสำเร็จนี้ด้วยกันกับคุณ” กระทั่งต่อมาเมื่อผู้รับแลกเปลี่ยนเงินตรา อ้างว่าต้องขอเงินเพิ่ม และตนก็จ่ายไปอีก 5.5 ล้านเยน หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท ครั้งนี้จึงเริ่มเอะใจ ต่อมาจึงได้รู้ว่า รูปโปรไฟล์นั้นเป็นรูปคนดังจากต่างประเทศ และไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินเกิดขึ้นจริง
คำถามต่อไป “ใครมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ Romance Scam มากที่สุด” ประเด็นนี้ยังไม่มีผู้ใดให้ข้อสรุปได้แน่ชัดเพราะมีข้อค้นพบแตกต่างกันไป อาทิ บทความ “Do You Love Me? Psychological Characteristics of Romance Scam Victims” ผลงานของ โมนิกา ที. วิตตี (Monica T. Whitty) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตัวแปรมนุษย์กับความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในออสเตรเลียและอังกฤษ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศแห่งชาติว่าด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (NCBI) หอสมุดแพทย์แห่งชาติ (NLM) สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2561 วิเคราะห์แต่ละตัวแปรที่เคยมีผู้ทำงานวิจัยไว้ดังนี้
1.อายุ ข้อค้นพบมีทั้งผู้สูงวัยมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมากที่สุด , วัยกลางคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมากที่สุด และทั้งผู้สูงอายุและวัยกลางคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมากพอๆ กัน
2.เพศ แม้ไม่ค่อยมีข้อมูลว่าด้วยแนวโน้มเพศใดจะถูกหลอกได้ง่าย แต่ผู้เขียนก็อ้างผลการศึกษาในประเทศออสเตรเลีย พบผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย
3.ระดับการศึกษา เช่นเดียวกับปัจจัยด้านเพศ แม้ไม่มีใครทราบถึงแนวโน้มว่าผู้มีการศึกษามากหรือน้อยจะถูกหลอกได้ง่าย แต่ก็เคยมีงานวิจัยพบอยู่บ้างว่าผู้มีการศึกษาน้อยมักตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงเกี่ยวกับผู้บริโภค (Consumer Fraud) และมีการตั้งสมมติฐาน (Hypothesize) ว่า ผู้มีการศึกษาน้อยมีแนวโน้มถูกหลอกจากมิจฉาชีพ Romance Scam ได้ง่าย
4.ความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นตัวแปรที่ชัดเจนว่า ผู้ที่มีความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ มีโอกาสตกเป็นเหยื่อน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีความรู้ เนื่องจาก Romance Scam เป็นการหลอกลวงผ่านอินเตอร์แน็ต
5.นิสัย “หุนหันพลันแล่น” พบว่า ผู้ที่มีนิสัยหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) โอกาสตกเป็นเหยื่อก็มากขึ้นด้วย เนื่องจากมิจฉาชีพมักใช้กลอุบายเรื่องการขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน (ประเภท “ร้อนเงิน” มีเรื่องต้องใช้จ่ายขอให้ช่วย) เพื่อกดดันเหยื่อให้รีบโอนเงินโดยเร็ว
6.เชื่อในโชคชะตา..หรือเชื่อในการกระทำของตน การศึกษาแบ่งคนเป็น 2 ประเภท คือ internal locus of control หมายถึง คนที่เชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมของตนเอง กับ external locus of control หมายถึง คนที่เชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยภายนอก เช่น โชคชะตา โอกาส อย่างไรก็ตาม ตัวแปรนี้บทความใช้เพียงคำว่า สมมติฐาน เท่านั้น โดยระบุว่า ผู้ที่เชื่ออย่างมากว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยภายนอก มีโอกาสตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ Romance Scam มากขึ้น 7.นิสัย “เชื่อคนง่าย” มีการตั้งสมมติฐานว่า ผู้ที่ไว้วางใจผู้อื่นได้ง่ายมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า บุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ Romance Scam อธิบายตนเองว่าเป็นคนไร้เดียงสาและน่าไว้วางใจ (naïve and trusting) ซึ่งดูจะสอดคล้องกับ
8.นิสัย “เป็นคนซื่อๆ” มีข้อค้นพบว่า ทั้งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพไปแล้ว และผู้ที่เกือบตกเป็นเหยื่อ แสดงออกถึงความไว้วางใจอย่างสูง รวมถึงมีสมมติฐานด้วยว่า คนที่มีนิสัยซื่อๆ (Trustworthy) มีโอกาสถูกหลอกได้มาก 9.นิสัย “ใจดีมีเมตตา” ตัวแปรนี้ไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการเป็นคนใจดี (Kind) มีผลมาก-น้อยเพียงใดต่อการถูกหลอกลวง แต่จากเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับ Romance Scam ที่เหยื่อพลาดเพราะต้องการช่วยเหลือผู้อื่น จึงกลายเป็นสมตติฐานได้โดยปริยายว่าคนประเภทนี้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
10.ความโลภ การที่ Romance Scam หลายกรณี มิจฉาชีพใช้กลอุบายเรื่องความมั่งคั่งจากการลงทุน และความสมบูรณ์แบบของความสัมพันธ์ (ชีวิตรัก) ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า ความโลภ (Greed) เป็นอีกพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยง คนโลภมากโอกาสตกเป็นเหยื่อก็สูงมาก และ 11.นิสัย “เสพติด” อาจจะดูแปลกสักหน่อย แต่มีคำอธิบายโดยเปรียบเทียบกับนักพนัน (Gambler) ว่า คนเล่นการพนันกับคนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมักเสพติด (Addiction) อารมณ์บางอย่าง นั่นคือความรู้สึกว่าตนเองใกล้จะชนะแล้ว (near win)
ขณะที่ The Conversation เว็บไซต์เครือข่ายแบ่งปันงานวิจัยและบทความทางวิชาการระดับโลก เผยแพร่บทความ “Organized crime has infiltrated online dating with sophisticated ‘pig-butchering’ scams” เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 เขียนโดย คาร์โล แฮนดี ชาร์ลส์ (Carlo Handy Charles) นักศึกษาปริญญาเอกด้านสังคมวิทยา/ภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ (McMaster University) ประเทศแคนาดา ซึ่งทำงานเป็นนักวิจัยอยูที่ Institute Convergence Migrations กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า มิจฉาชีพ Romance Scam เล็งเหยื่อที่เป็นคนโสดทั้งชายและหญิง รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แม้กระทั่งผู้อพยพที่เพิ่งลงหลักปักฐานใหม่
หรือที่ประเทศไทยเอง เว็บไซต์ researchcafe.org ของ สกสว. เผยแพร่บทความ “รักออนไลน์ ความเสี่ยงจากความเหงา” เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 หยิบยกงานวิจัย “โครงการวิจัยข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน” ของ ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเผยแพร่ โดยระบุว่า แนวโน้มของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักมีลักษณะดังนี้ เพศหญิง อายุ 45-65 ปี (ค่าเฉลี่ยอายุ 50 ปี) สถานภาพหย่าร้าง/หม้าย, เหงา ขี้สงสาร และต้องการมีเพื่อนต่างชาติ
เป็นผู้ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคล หรือวิถีชีวิต (Lifestyle) เข้าสู่โลกดิจิทัล เช่น การแสดงข้อมูลชื่อ อายุ การทำงาน สถานะทางสังคมสถานภาพคู่ครอง งานอดิเรก ความชื่นชอบส่วนตัว การแสดงความคิดเห็น ภาพถ่าย สเตตัส และการแชร์ข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพียงแค่การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประจำ ประกอบกับเป็นคนขี้เหงา/ขี้สงสาร และหลงเชื่อที่จะตอบกลับข้อความจากแชตคนแปลกหน้าถือว่ามีความเสี่ยงในการตกเป็นเป้าหมาย (เหยื่อ) ของนักต้มตุ๋น (Romance scam) ได้ถึง 70%
ซึ่งเมื่อเหยื่อเห็นเป้าหมาย ก็จะเริ่มปฏิบัติการโดยอาศัยหลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาร่วมกับการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การวางแผน และการดำเนินขั้นตอนตามที่วางแผนไว้ หรือเรียกรวมๆ ว่า “วิศวกรรมสังคม (Social Engineering)” โดยกระบวนการล่อลวงนี้สามารถแบ่งได้เป็นขั้นตอนหลัก 6 ขั้นตอน คือ 1.การปลอมโปรไฟล์ 2.เลือกช่องทางในการล่อลวงเป้าหมาย 3.เลือกเป้าหมาย (เหยื่อ) 4.สร้างบทบาทเพื่อเข้าถึงเป้าหมาย 5.การสร้างสถานการณ์ และ 6.บรรลุภารกิจทางการเงิน
แต่อีกด้านหนึ่ง คนอายุน้อยก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน ดังที่ Lloyds Banking Group สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ เผยแพร่บทความ “Romance scams on the rise as victims get younger” เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ระบุว่า ในปี 2564 สถิติการตกเป็นเหยื่อ Romance Scam เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ค่าเฉลี่ยของเงินที่สูญเสียคือ 8,655 ปอนด์ หรือเกือบ 4 แสนบาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 8,610 ปอนด์ หรือราว 3.9 แสนบาทต่อคน เพียงเล็กน้อย
โดยในปี 2564 แม้คนอายุ 55-64 ปี จะเป็นช่วงวัยที่เมื่อตกเป็นเหยื่อแล้วจะเสียเงินให้มิจฉาชีพเป็นจำนวนมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 15,957 ปอนด์ หรือราว 7.3 แสนบาทต่อคน แต่ก็พบว่า ผู้มีอายุ 45-54 ปี เป็นวัยที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุด โดยความสูญเสียอยู่ที่ 7,336 ปอนด์ หรือเกือบ 3.4 แสนบาทต่อคน แต่ที่น่าสนใจคือพบคนอายุน้อยตกเป็นเหยื่อเช่นกัน อาทิ วัยรุ่นหนุ่ม-สาว อายุ 18-24 ปี ความสูญเสียอยู่ที่ 2,128 ปอนด์ หรือราว 9.7 หมื่นบาทต่อคน และวัยเพิ่งเริ่มทำงาน อายุ 25-34 ปี ความสูญเสียอยู่ที่ 3,193 ปอนด์ หรือเกือบ 1.5 แสนบาทต่อคน
เช่นเดียวกับเว็บไซต์ Marketwatch สำนักข่าวออนไลน์ในสหรัฐฯ ที่เน้นเผยแพร่ประเด็นข่าวสารด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เสนอข่าว ‘There was always some kind of an emergency or some urgent need for money’: More young Americans fall victim to old-fashioned romance scams เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 (แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ 20 ก.พ. 2565) อ้างอิงข้อมูลจาก FTC ที่ระบุว่า แม้ผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ยังคงเป็นเหยื่อ Romance Scam มากที่สุด แต่ในปี 2564 กลับพบว่า คนหนุ่ม-สาว อายุ 18-29 ปี ตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่สาเหตุนั้นยังไม่ชัดเจน นักวิจัยตั้งสมมติฐานหลายข้อ ทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนขี้เหงาอยู่แล้วแถมต้องมาอยู่คนเดียวในบ้านอีกตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น รวมถึงการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของมิจฉาชีพ
อนึ่ง แม้รายงานข่าวหรือบทความทางวิชาการหลายชิ้นจะชี้ว่าคนบางประเทศหรือบางเชื้อชาติ มีแนวโน้มเป็นมิจฉาชีพ Romance Scam อีกทั้งเหยื่อจำนวนมากพบว่าพลาดพลั้งเพราะต้องการหาคู่เป็นชาวต่างชาติ แต่มิจฉาชีพประเภทนี้สามารถพบได้ทุกชาติ มาก-น้อยต่างกันไป รวมถึงคนในชาติเดียวกันหลอกกันเอง เช่น กรณีของประเทศไทย วันที่ 27 ต.ค. 2564 นสพ.ผู้จัดการ เสนอข่าว “ตร.สันกำแพงรวบป้าสุดแสบใช้ภาพสาวสวยปลอมเฟซบุ๊กอ้างตัวเป็น ตชด.หญิง หลอกหนุ่มใหญ่หลงรักเปย์เงินกว่า 2 แสน” ว่าด้วยหนุ่มใหญ่วัย 60 ปี เข้าแจ้งความที่ สภ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ว่า ตนรู้จักหญิงสาวคนหนึ่งผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) และติดต่อกันทางแอปพลิเคชั่นไลน์ (Line) พูดคุนกันอยู่ประมาณ 2 ปีโดยไม่เคยพบหน้ากัน
โดยหญิงสาวอ้างเป็นตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี และหาเรื่องขอเงินตนตลอด อ้างเหตุต่างๆ นานา โดยรวมยอดเงินที่โอนไปให้นั้นอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท กระทั่งต่อมาได้รู้ว่ารูปโปรไฟล์หญิงสาวเป็นของปลอมจึงเข้าแจ้งความ ท้ายที่สุดตำรวจไปจับกุมได้ที่บ้านพักในกรุงเทพฯ คนร้ายซึ่งเป็นหญิงอายุ 58 ปี จริงๆ แล้วทำงานเป็น รปภ. ของบริษัทแห่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นตำรวจตามที่กล่าวอ้าง
FBI สหรัฐฯ แนะนำวิธีการป้องกันตนเองจากภัย Romance Scam ไว้ดังนี้ 1.ระมัดระวังการแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ การโพสต์สิ่งต่างๆ และตั้งสถานะเป็นสาธารณะที่ทุกคนมองเห็นได้ มิจฉาชีพสามารถใช้รายละเอียดเหล่านี้บนสื่อสังคมออนไลน์รวมถึงเว็บไซต์หาคู่เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายได้ 2.ตรวจสอบโปรไฟล์คู่สนทนา ภาพและรายละเอียดของคนที่ติดต่อมา ควรค้นหาทางอินเตอร์เน็ตก่อนว่ามีการใช้ที่อื่นอีกหรือไม่
3.อย่าใจร้อน ค่อยๆ พูดคุยและยิงคำถามไปเรื่อยๆ อีกทั้งควรเพิ่มความระมัดระวังหากพบว่าคู่สนทนาแสดงโปรไฟล์ที่ดูโดดเด่นสมบูรณ์แบบเกินไป หรือพยายามให้ออกจากการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสื่อสารกันโดยตรง รวมถึงความพยายามบอกให้แยกตัวจากเพื่อนครอบครัว 4.อย่าส่งข้อมูลที่ละเอียออ่อน เช่น ภาพหรือข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่ล่อแหลม เพราะมีโอกาสถูกนำไปใช้ขู่กรรโชกทรัพย์ในภายหลัง
5.ผ่านไปนานก็ไม่ยอมมาเจอกันให้ถือว่าผิดสังเกต บุคคลที่ชอบสัญญาว่าจะมาพบหน้ากัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีข้ออ้างต่างๆ นานาว่าไม่สามารถมาเจอกันได้ หากผ่านไปสัก 2-3 เดือน การตั้งข้อสงสัยนั้นก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล และ 6.อย่าโอนถ้าไม่รู้จักตัวเป็นๆ หมายถึงไม่ควรโอนเงินให้บุคคลใดที่เคยติดต่อกันเฉพาะทางแพลตฟอร์มออนไลน์หรือทางโทรศัพท์โดยเด็ดขาด
เช่นเดียวกับบทความ “Romance Scam ไม่รักไม่ว่า แต่อย่ามาหลอกกัน” โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2562 แนะวิธีป้องกันภัย Romance Scam ไว้ดังนี้ 1.หากพูดคุยกับคนแปลกหน้าออนไลน์ ควรตรวจสอบข้อมูลของบุคคลดังกล่าวเสียก่อนว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ และเป็นบุคคลตามที่บอกไว้จริงหรือไม่ อาจตรวจสอบจากรูปโพรไฟล์ โดยการดาวน์โหลดแล้วสืบค้นดูว่ามีภาพปรากฏอยู่ที่ใดบ้างหรือไม่ เป็นใคร การสืบค้นรูปภาพสามารถใช้บริการของกูเกิล https://images.google.com ข้อสังเกตคือหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้บัญชีโปรไฟล์ปลอมที่สร้างขึ้นมาใหม่ๆ มีเพื่อนน้อยมากหรือไม่มีเลยสักคน มีภาพกิจกรรม การติดต่อ หรือโพสต์ต่างๆ น้อยมากๆ และมักติดต่อหว่านล้อมด้วยคำพูดหวานๆ ทั้งมีข้อเสนอที่ดีเกินกว่าจะเป็นความจริง
2.ไม่เชื่อคนหรือเรื่องราวต่างๆ ง่ายๆ และอย่าโอนเงินให้ใครโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะคนที่รู้จักทางออนไลน์ อย่าคิดว่าจะได้เงินคืน ตระหนักอยู่เสมอว่าไม่มีของฟรีในโลก และ 3.ระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อออนไลน์ ไม่ตั้ง Status เป็นสาธารณะ และป้องกันการถูกขโมยตัวตนและข้อมูลสำคัญในบัญชีต่างๆ โดยการใช้พาสเวิร์ดที่มีความมั่นคงปลอดภัย คาดเดาได้ยาก
และเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกแล้ว “เตรียมเอกสารและหลักฐานให้พร้อม” ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารส่วนตัว และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย “กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง” ให้เตรียมหลักฐานที่พบว่ามีการกระทำความผิด เช่น หน้าจอ หน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจที่พบการกระทำความผิด พรินต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วนำไปด้วย “กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์” ให้เตรียมหลักฐานที่พบการกระทำความผิด การหลอกลวง พรินต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐานการโอนเงินต่างๆ นำไปด้วย แล้วนำไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือเข้าร้องทุกข์ที่ ปอท.
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะตกหลุมรักใครสักคนหนึ่ง และความรักก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ “ความรักที่มีสติ” จะช่วยให้แยกแยะได้ว่าใครรักจริงและใครที่เป็นผู้เข้ามาหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บนพื้นที่ออนไลน์ที่การปลอมแปลงตัวตนทำได้ง่าย” ยิ่งต้องระมัดระวังหากไม่อยากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://tcsd.go.th/วาเลนไลน์ปอทเตือนภัย/ (วาเลนไลน์ ปอท.เตือนภัย หลอกรักออนไลน์ (Romance Scam) : ปอท.)
https://researchcafe.org/love-in-cyber-platform-is-real-or-not/ (รักแท้บนไซเบอร์มีจริงไหม เผลอๆ อาจเจอ Romance scam แทน : ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ , สกสว.)
https://www.ftc.gov/news-events/data-visualizations/data-spotlight/2022/02/reports-romance-scams-hit-record-highs-2021 (Reports of romance scams hit record highs in 2021 : FTC)
https://www.usatoday.com/story/news/nation/2022/02/16/romance-scams-rise-cost-americans-millions-fbi-ftc/6797616001/ (Online dating scams are on the rise, FBI and FTC warn. Here are some red flags. : USA Today)
https://www.ukfinance.org.uk/press/press-releases/romance-scams-during-lockdown (Romance scams on the up during lockdown : UK Finance)
https://www.ukfinance.org.uk/press/press-releases/nearly-40-cent-people-looking-love-online-were-asked-money (Nearly 40 per cent of people looking for love online were asked for money : UK Finance)
https://www.japantimes.co.jp/news/2021/08/19/national/crime-legal/romance-scam-rise-covid-19/ (Japan sees ‘romance scams’ surge amid pandemic : The Japan Times)
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5806049/ (Do You Love Me? Psychological Characteristics of Romance Scam Victims : NLM-NIH)
https://theconversation.com/organized-crime-has-infiltrated-online-dating-with-sophisticated-pig-butchering-scams-177445 (Organized crime has infiltrated online dating with sophisticated ‘pig-butchering’ scams : The Conversation)
https://researchcafe.org/romance-scam-2/ (รักออนไลน์ ความเสี่ยงจากความเหงา : สกสว.)
https://www.marketwatch.com/story/romance-scams-soar-80-in-2021-with-500-million-stolen-big-rise-in-people-aged-18-29-sending-money-to-people-they-met-online-11644799161 (‘There was always some kind of an emergency or some urgent need for money’: More young Americans fall victim to old-fashioned romance scams : Marketwatch)
https://mgronline.com/local/detail/9640000106564 (ตร.สันกำแพงรวบป้าสุดแสบใช้ภาพสาวสวยปลอมเฟซบุ๊กอ้างตัวเป็น ตชด.หญิง หลอกหนุ่มใหญ่หลงรักเปย์เงินกว่า 2 แสน : นสพ.ผู้จัดการ)
https://www.fbi.gov/scams-and-safety/common-scams-and-crimes/romance-scams (Romance Scams : FBI)
https://www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Romance-Scam-in-IFBL-aspx.aspx (Romance Scam ไม่รักไม่ว่า แต่อย่ามาหลอกกัน : EDTA)