ม.จ.จุลเจิม โพสต์ภาพนักวอลเลย์บอลทีมชาติ “ชูสามนิ้ว” ผิดทั้งบริบทและข้อเท็จจริง
พลเอก หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “จุลเจิม ยุคล” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 140,000 บัญชี ตัดสินใจลบโพสต์ที่เขากล่าวหาอัจฉราพร คงยศ นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ว่าแสดงออกทางการเมืองด้วยการ “ชูสามนิ้ว” ในสนามแข่ง และประกาศขอโทษที่สร้างความเข้าใจผิด หลังจากอัจฉราพรออกมายืนยันผ่านสื่อมวลชนว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นรหัสมือสื่อสารแผนการเล่นกับเพื่อนร่วมทีม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ล่าสุด โคแฟคได้รับการยืนยันจาก Volleyball World ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ดำเนินการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอล เนชันส์ลีก 2023 ว่า ภาพดังกล่าวถ่ายโดยช่างภาพของ Volleyball World ในการแข่งขันระหว่างทีมชาติไทยกับโครเอเชีย ที่ประเทศบราซิลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 และไม่ได้มีนัยทางการเมืองแต่อย่างใด
วันที่ 30 มิ.ย. 2566 ม.จ.จุลเจิมได้โพสต์ภาพของอัจฉราพรขณะชูสามนิ้ว พร้อมเขียนวิจารณ์ว่านักกีฬาทีมชาติไม่ควรแสดงออกทางการเมืองในขณะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศ เขาระบุว่าด้วยว่าผู้ที่กระทำเช่นนี้มีส่วนในการสร้างความแตกแยกในสังคม และ “ไม่สมควรจะเป็นตัวแทนของชาติไทยอีกต่อไป”
แม้จะมีผู้เข้ามาเขียนคอมเมนต์ทักท้วงว่า ท่าดังกล่าวเป็นรหัสมือที่นักกีฬาใช้สื่อสารกัน อีกทั้งไม่ได้เป็นภาพจากการแข่งขันวันที่ 29 มิ.ย. ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไปเชียร์ข้างสนาม แต่ ม.จ.จุลเจิมก็ยังไม่ลบโพสต์ จนกระทั่งเพจเฟซบุ๊ก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” โพสต์ข้อความอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของอัจฉราพรที่ยืนยันว่าภาพดังกล่าวถ่ายในการแข่งขันแมตช์ก่อนหน้าที่ประเทศบราซิลและรหัสมือที่เธอสื่อสารแผนการเล่นกับเพื่อนร่วมทีม ม.จ.จุลเจิมจึงได้ลบโพสต์และเขียนข้อความยอมรับว่า “เป็นความผิดพลาดของผมเองที่มิได้ตรวจสอบภาพให้ถี่ถ้วน” พร้อมกับขออภัยอัจฉราพร ที่สร้างความเข้าใจผิด
ต่อมาสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าภาพดังกล่าว “เป็นภาพจากการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชั่นลีกที่ประเทศบราซิลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 ที่อัจฉราพร คงยศ นักกีฬาทีมชาติไทย แสดงสัญลักษณ์เพื่อให้เพื่อนร่วมทีมรู้ว่าคู่ต่อสู้จะเล่นในลักษณะใด ทีมเราควรจะเตรียมพร้อมตั้งรับตามแผนที่ผู้ฝึกสอนวางไว้อย่างไร”
ขณะที่นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ได้ส่งจดหมายถึงบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจัดการแข่งขันวอลเลย์บอล เนชันส์ลีก ในประเทศไทย กรณีที่นายพิธาลงไปถ่ายภาพร่วมกับนักกีฬาทีมชาติในสนามหลังการแข่งขัน โดยนายสมพรระบุว่า ภาพดังกล่าวได้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับกีฬา
“จึงขอให้กำชับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้ระมัดระวังอย่าให้เกิดกรณีที่จะนำไปสู่มติติทางการเมือง และทางที่อาจจะเกิดความเสียหายต่อสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ผู้ฝึกสอน และนักกีฬา” นายสมพรระบุในจดหมายถึง บริษัท เทโรฯ ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2566
Volleyball World ยืนยัน ภาพอัจฉราพร “ไม่เกี่ยวการเมือง”
วันที่ 30 มิ.ย. 2566 โคแฟคส่งอีเมลสอบถาม Volleyball World ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขันวอลเลย์บอล เนชันส์ลีก 2023 เกี่ยวกับภาพที่ ม.จ.จุลเจิมนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ซึ่งทาง Volleyball World ได้ส่งอีเมลตอบกลับเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2566 โดยให้ข้อมูลว่า ภาพนี้ถ่ายโดยช่างภาพของ Volleyball World ในแมตช์การแข่งขันระหว่างไทยกับโครเอเชียเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 พร้อมกับระบุว่า “เราไม่เห็นว่าภาพนี้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริบททางการเมือง”
ข้อสังเกตโคแฟค
ภาพจริงแต่ผิดบริบท (false context)
แม้ว่า ม.จ.จุลเจิมจะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าภาพดังกล่าวถ่ายเมื่อไหร่และเกิดขึ้นในบริบทไหน แต่ด้วยจังหวะเวลาที่เขาโพสต์ภาพและข้อความนี้เพียงหนึ่งวันหลังจากนายพิธาเดินทางไปเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยลงแข่งขันกับทีมชาติตุรกีในศึกวอลเลย์บอลเนชันลีก 2023 ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า อัจฉราพรกำลังแสดงท่าทีสนับสนุนนายพิธาที่เดินทางมาชมการแข่งขัน เนื่องจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลเคยชูสามนิ้วเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนและนักศึกษาในช่วงปี 2563
โพสต์ของ ม.จ.จุลเจิม เป็นตัวอย่างของข้อมูลที่บิดเบือนด้วยการให้บริบทที่ผิด (false context) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 กลยุทธ์ที่พบบ่อยในการสร้างและเผยแพร่ข่าวลวง
สื่อมวลชนหยิบไปเสนอต่อโดยไม่ตรวจสอบ
หลังจากที่ ม.จ.จุลเจิมโพสต์ภาพและเนื้อหาดังกล่าว มีสื่อมวลชนหลายสำนักนำความเห็นของ ม.จ.จุลเจิม ไปเสนอต่อทั้งในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าภาพดังกล่าวนั้นเป็นภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ที่ประเทศบราซิล และสัญลักษณ์มือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แม้ว่าจะมีการอัพเดทเนื้อหาภายหลัง แต่การนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ตรวจสอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีส่วนทำให้เนื้อหาที่บิดเบือนนี้แพร่กระจายมากขึ้นและมีผู้ที่เขียนข้อความโจมตีอัจฉราพรและวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้โคแฟคยังพบว่าเนื้อหานี้ยังคงปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียของสื่อบางสำนัก หลังจากที่ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงและ ม.จ.จุลเจิมจะลบโพสต์ไปแล้วก็ตาม
ต้นทางลบโพสต์ แต่เนื้อหายังอยู่
แม้ ม.จ.จุลเจิมจะลบโพสต์ดังกล่าวไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาที่บิดเบือนนี้จะหายไปจากโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมีผู้ที่นำภาพและข้อความไปโพสต์ในบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากการโพสต์ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนที่มีต่อผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายนั้นจะยังคงอยู่และแพร่กระจายต่อไปอย่างไม่อาจควบคุมได้ แม้เจ้าของโพสต์ต้นทางจะนำออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม