‘Bully-Hate Speech’ คำก่อวงจร ‘ความรุนแรง’สะสมบานปลาย ใช้สื่อออนไลน์พึงตระหนัก ‘ใจเขาใจเรา’
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย TikTok Thailand บริษัท เทลสกอร์ จำกัด โคแฟค (ประเทศไทย) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการประกวดคลิปสั้นติ๊กต๊อก (TikTok) รณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ภายใต้แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ณ Creator House by TikTok ชั้น 4 สยามพารากอน กรุงเทพฯ
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า เนื่องในโอกาสที่เดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นเดือนแห่งความรัก ขณะเดียวกัน ยังเป็นเดือนที่มีการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต (Safer Internet Day) ทั้งของประเทศไทยและสากล ซึ่งการส่งเสริมให้การใช้อินเตอร์เน็ตมีความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ และหนึ่งในความไม่ปลอดภัย คือการสร้างภาษาหรือถ้อยคำที่ไปทำร้ายผู้อื่น หรือสร้างความเกลียดชัง อย่างที่เรียกกันว่า “ประทุษวาจา (Hate Speech)” จึงอยากจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
“โครงการประกวดคลิปสั้นทาง TikTok นี้ จะเปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะแบ่งปัน แชร์ประสบการณ์ หรือร่วมกันเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องปัญหา Hate Speech หรือว่าการสร้างความเกลียดชังในสื่อสังคมออนไลน์” วสันต์ กล่าว
จากนั้นเป็นวงเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate การสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง” โดย วาเนสซ่า ชไตน์เม็ทซ์ ผู้อำนวยการโครงการประจำประเทศไทยและเมียนมา มูลนิธิฟรีดริช เนามัน กล่าวว่า ผลสำรวจในเยอรมนี เมื่อปี 2566 พบว่า ร้อยละ 76 ของชาวเยอรมัน เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับ Hate Speech และร้อยละ 98 ของคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงแต่พบเห็นเท่านั้น แต่ยังมีประสบการณ์ตรงและเป็นเหยื่อของเรื่องนี้ด้วย
ซึ่ง Hate Speech ถือเป็นภัยคุกคาม ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เพราะคนจะรู้สึกกลัว และ Hate Speech ที่อยู่ในโลกออนไลน์ก็สามารถทำร้ายคนในโลกแห่งความเป็นจริงได้เช่นกัน ทั้งนี้ เราไม่จำเป็นต้องรักหรือโอบกอดคนที่เราไม่ชอบ แต่เราควรมีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ โดยมีโครงการหนึ่งที่ทำอยู่อยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น และเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเหมือนกันหมด แต่แม้จะไม่เห็นด้วยก็ควรจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ เราควรมีวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม การที่ในเยอรมนีมีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ต้องนำเนื้อหาที่ถูกระบุว่าเป็นการสร้างความเกลียดชังออกจากระบบภายใน 7 วัน มีข้อกังวล 3 ประการ 1.เหมือนกับการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก 2.ผู้เผยแพร่เนื้อหาที่ถูกนำออกจากระบบไม่มีโอกาสได้ชี้แจง และ 3.เริ่มเห็นปรากฏการณ์ของฝ่ายขวาในเยอรมนี และเห็น Hate Speech ที่กลายเป็น HateCrime (อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง) ก่อให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกขึ้นมาได้นอกจากนั้น ระยะการพิจารณาที่สั้นยังมีผลต่อการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
“กฎหมายล่าสุด ก็คือ EU European Digital Act 2024 ซึ่งได้รับการบัญญัติขึ้นมาในปีนี้ จะทำให้กฎหมายในแต่ละประเทศในยุโรปมีกฎหมายเดียวในการพิจารณาเรื่องนี้ อาจจะดีกว่าการมีกฎหมายแบบนี้ในแต่ละประเทศ” ผู้อำนวยการโครงการประจำประเทศไทยและเมียนมา มูลนิธิฟรีดริช เนามัน กล่าว
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ตนจะไม่ได้ทำงานเรื่อง Hate Speech โดยตรง แต่ก็ทำเรื่องการต่อต้านปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกัน (Anti-Bullying) มาได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งนิยามของการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) มีคำสำตัญ (keyword) 3 คำ คือ 1.การกระทำใดๆ ก็ตาม ทั้งทางร่างกาย วาจาหรือความรู้สึก ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องอะไรก็ได้
2.ต่อผู้อื่น หมายถึงยึดผู้อื่นเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดที่ตัวเราซึ่งบอกว่าตนเองไม่ได้รังแก อย่างที่ในภาษาไทยมีสำนวนว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือคำว่า “Empathy” ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงการจะทำอะไรให้คิดถึงผู้อื่นไว้ก่อน และ 3.ทำให้มีความคิดในเชิงลบ เช่น เสียใจ เจ็บใจ เศร้าใจ มีความทุกข์ คิดมาก ไม่สบายใจหรืออื่นๆ ขณะที่หากมองผลกระทบของการกลั่นแกล้งรังแก จะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 คน
1.ผู้กระทำ คนที่เติบโตมากับพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น จะเรียนรู้ว่าเมื่อใดที่ตนเองมีอำนาจหรือมีความสามารถในการทำร้ายผู้อื่นได้อย่างไม่ต้องรับผิดชอบก็มีแนวโน้มที่จะทำเช่นนั้น 2.ผู้ถูกกระทำ ซึ่งมีสุขภาพจิตที่แย่ลง ยังมีผลกระทบระยะยาวคือถูกทำให้อ่อนแอแล้วเหยียบซ้ำ เพราะเป็นการแสดงความแข็งแรงของคนบางกลุ่ม และในทางกลับกันก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า เมื่อใดตนเองมีอำนาจก็จะสามารถทำร้ายผู้อื่นได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบบ้าง และ 3.คนอื่นๆ ในสังคม ได้เรียนรู้ว่าใครก็ตามที่มีอำนาจจะทำร้ายผู้อื่น ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวด้วย
ทั้งนี้ หากถ้าเชื่อมโยงกับประเด็น Hate Speech ตนคิดว่าเติบโตขึ้นตามการเติบโตของCyberbullying (การกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์) ซึ่ง Cyberbullying มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือการละเมิดทางกายอาจจะไม่ค่อยเกิดขึ้นเพราะเป็นช่องทางออนไลน์ หลักๆ ก็จะเป็นการละเมิดทางวาจาและทางสังคมเป็นหลัก แต่ข้อเสียที่สำคัญจะมี 2 เรื่อง คือ 1.ทำให้การกลั่นแกล้งรังแกไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่อีกต่อไป ในอดีตการรังแกมักเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่ปัจจุบันทำกันในพื้นที่เปิดและเป็นพื้นที่สาธารณะ กระตุ้นให้เกิดความอยากแสดงอำนาจมากขึ้น
กับ 2.ความเท่าเทียมทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สะสมความรุนแรงที่ตอบโต้ปะทะกัน หากเป็นการกลั่นแกล้งรังแกในพื้นที่ทางกายภาพ มักเป็นเรื่องของคนตัวใหญ่รังแกคนตัวเล็กหรือคนหมู่มากรังแกคนกลุ่มน้อย แต่บนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถตอบโต้กันด้วยความรุนแรงได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งในแง่นี้ความเท่าเทียมจึงไม่ได้มีความหมายในเชิงบวก แต่เป็นเชิงลบและมีผลกระทบมหาศาล
“ความยากของประเทศไทย เราเคยพยายาม Detect (ตรวจจับ) เรื่อง Hate Speech แต่ในสังคมไทยมันมีความซับซ้อน เช่น ถ้าในเฟซบุ๊กเขียนว่า ‘แหม! วันนี้เธอสวยจัง’ ไม่รู้ชมหรือด่า? หรือ ‘เพื่อนสนิทแกโพสต์แล้ว’ เพื่อนสนิทนี่แปลว่าคนที่แกชอบหรือไม่ชอบ? หรือถ้าบอกว่า ‘แหม! เรื่องนี้เก่งเป็นพิเศษเลยนะ’ เป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า? มันแยกไม่ได้จริงๆ พอบอกว่าวันนี้fเธอสวยจัง เฉพาะเขาและเพื่อนในกลุ่มเท่านั้นที่รู้ว่าคนนี้ด่าหรือชม แต่พอเราเป็นคนนอกเราจะไม่รู้เลยว่าด่าหรือชม” ผศ.ดร.ธานีกล่าว
ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า การใช้อินเตอร์เน็ตมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า “ต้องตระหนักว่าคนที่คุณสื่อสารด้วยบนโลกออนไลน์มีตัวตนอยู่จริง”ดังนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าทำอะไรไปแล้วย่อมส่งผลกระทบกับคนจริงๆ แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ายังมีความตระหนักรู้แบบนี้เหลืออยู่มาก-น้อยเพียงใด เพราะเห็นสิ่งที่โพสต์หรือแชร์กันแบบ “ใจร้าย” จำนวนมาก
อย่างเด็กบางคนถูกกระทำมาอย่างหนักแล้วในชีวิตจริง แต่ยังต้องมาเจอถ้อยคำเหยียดหยามบนโลกออนไลน์อีก ซึ่งคนโพสต์อาจมองว่าแค่คำคำเดียวพรุ่งนี้ก็ลืมแล้ว แต่คนที่มาเห็นนั้นอาจเจอมาเป็นคำที่ 1,000 ก็ได้ และกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายถึงขั้นฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกัน ยังมีความเข้าใจว่าบางอย่างทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เช่น โพสต์ข้อความรุนแรงที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ต่อท้ายว่าความเห็นส่วนตัว (คหสต.)
อนึ่ง “Hate Speech อาจไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำหยาบคายเสมอไป แต่หมายถึงถ้อยคำที่นำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กีดกันหรือด้อยค่าก็ได้” เช่น มีการเสนอข่าวบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่สวยที่สุด นำไปสู่ความเห็นฝ่ายหนึ่งบอกไม่สวยเลย ไปหาผู้หญิงแท้ดีกว่า แต่อีกฝ่ายก็ย้อนว่า LGBT จะสวยบ้างไม่ได้หรือ ทั้งนี้ การกลั่นแกล้ง รังแก (Bully) หรือที่ราชบัณฑิตใช้คำว่า “ระราน” แปลคำว่า Cyberbullying หรือการระรานทางออนไลน์ อาจเริ่มจากการแกล้งกันแบบ 1 ต่อ 1 หรือพาพวกไปรุม
แต่เมื่อแกล้งกันไป-มา มีการล้อเลียนลักษณะทางกาย (Body Shaming) หรือล้อเลียนเรื่องเพศสภาพก็จะมีมวลมหาศาลลุกขึ้นมาสู้กันอีก ก็กลายเป็นการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังหรือ Hate Speech ดังนั้นการ Bully กับ Hate Speech จึงมีความสัมพันธ์แบบไป-กลับซึ่งกันและกัน เช่น จาก Hate Speech ที่เป็นทางวาจา อาจกลายเป็นการ Bully ทำร้ายกันทางกายได้
“ทำร้ายกันทางกายภาพ ถ่ายคลิปวีดีโอขึ้นมา ก็จะมีทางวาจามากระทำซ้ำอีก แชร์ไปบิดเบือน แล้วก็อาจมีการทำร้ายร่างกายแล้วก็ถ่ายขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นตัวเองคิดว่าไม่พูดถึงจำนวนว่ามันมากขึ้นหรือน้อยลง แต่พูดว่ามันบานปลายในแง่ที่ว่าการแกล้งหรือด่าว่าใครสักคนหรือทั้งกลุ่มก้อน พอขึ้นมาบนออนไลน์มันมีคนร่วมเยอะขึ้น แล้วเรื่องมันก็ไปไกลขึ้น ฉะนั้นการแก้ไขก็ยากขึ้น ผลกระทบก็หมู่มากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ตัวเองคิดว่า การใช้เทคโนโลยีทำให้เรื่องนี้มันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีใจเขาใจเรา” ศรีดา กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวสรุปความเห็นจากผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่าน ว่า รู้สึกสะท้อนใจในแง่เด็กและเยาวชนมีความทุกข์จากการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กยุคนี้ใช้เวลากับโลกออนไลน์กันมากจึงมีปฏิกิริยาด้านลบมาก หรือหากเป็นผู้ใหญ่ก็อาจเจอปัญหาอีกแบบหนึ่ง แต่จะแก้ปัญหากันอย่างไร เช่น หากเป็นเรื่องที่มีความผิดชัดเจนก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงอาจต้องมีกฎหมายเพิ่มในบางกรณี อาทิ เรื่องเด็กและเยาวชน
แต่สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้น คือคนทุกคนแม้จะไมได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ไมได้เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ หากนิ่งเฉยก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิดด้วย ดังนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นช่วยกันแก้ไข ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของโคแฟคที่ทำงานด้านตรวจสอบข่าวลวง ที่เน้นย้ำว่านอกจากแต่ละคนจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนแชร์ข้อมูลใดๆ ออกไปแล้ว ยังต้องช่วยแก้ไขข่าวลวงที่พบเห็นนั้นด้วย เรื่องของการใช้ Hate Speech หรือการละเมิดก็เช่นเดียวกัน ผู้พบเห็นต้องส่งเสียงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังพบว่าการเตือนกันตรงๆ หากเป็นคนรู้จักก็อาจโกรธกัน หรือหากไม่รู้จักกันก็อาจเจอทัวร์ลงได้ ทำให้คนรู้สึกกลัว และจริงๆ ทุกวันนี้หลายคนอาจทยอยหายไปจากโลกออนไลน์แล้วก็ได้ เพราะเบื่อและเหนื่อย ซึ่งตรงกับข้อมูลที่บอกว่า Hate Speech เป็นอุปสรรคของเสรีภาพในการแสดงออก (Free Speech) เพราะหากมี Hate Speech มากๆ คนก็ไม่อยากคุยกัน เพราะคุยไปก็เหนื่อยและเบื่อ
“ถ้าเป็นเรื่องของการสื่อสารที่ลดความเกลียดชัง ทุกท่านก็พูดตรงกันก็คือกลับมาเข้าอกเข้าใจกัน เห็นใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องลุกขึ้นมาเป็น Changemaker (ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง) ด้วย ในการแก้ไขหรือว่าโต้แย้ง หรือช่วยทำให้สิ่งที่มันไม่ถูกต้องเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีคิดหรือเปลี่ยนพฤติกรรม รวมไปจนถึง Culture (วัฒนธรรม) ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะจากที่ทำงานเรื่องสื่อ เรื่องโครงสร้างมานาน 2 ทศวรรษ เมืองไทยเราผลักดันกฎหมาย องค์กรอิสระ กองทุน คือเรามีทุกอย่างแต่คนก็ยังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของสื่อและพฤติกรรมการรับสื่อ เพราะส่วนหนึ่ง Culture ลึกๆ มันอาจยังไม่ได้เปลี่ยนแม้ว่าเราจะมีกลไกต่างๆ มากมาย” สุภิญญา กล่าว
สำหรับกิจกรรมประกวดคลิปสั้น TikTokรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ภายใต้แคมเปญ “ฮักบ่Hate” มีกติกาโดยให้สร้างสรรค์คลิปความยาวไม่เกิน 1 นาที มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแบ่งปันมุมมอง ความเข้าใจ และความตระหนักต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ชิงรางวัลรวมมูลค่า 50,000 บาท
ผู้สนใจมารถส่งคลิปเข้าร่วมการประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 มีนาคม 2567 และสามารถติดตามรายละเอียดและหลักเกณฑ์การประกวดเพิ่มเติมได้ที่ TikTok : สำนักงาน กสม. (@nhrc_thailand) และ Facebook Fanpage : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-