มองสังคมไทย “ผู้หญิง” ยังเผชิญความรุนแรงไม่เว้นแวดวงการเมือง “คุกคามออนไลน์” น่าห่วงเพราะคุมยาก

กิจกรรม

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน บรรณาธิการข่าว นักการเมือง นักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม เห็นร่วมกันถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในการเมืองไทยโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยการข่มขู่คุกคาม ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังรวมทั้งข่าวลวง/ข้อมูลเท็จเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้หญิงที่มีบทบาทในทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าของการโจมตีเท่านั้น แต่ยังอาจสกัดกั้นการเข้ามามีบทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทย

วันที่ 18 พ.ย. 2567 มูลนิธิ Westminster Foundation for Democracy ร่วมกับโคแฟค ประเทศไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สถาบันนิติวัชร์, และ Decode.plus ไทยพีบีเอส ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “สื่อกับผู้หญิงในโลกการเมือง” ที่โรงแรม สยาม แอท สยาม ดีไซน์ โฮเทล กรุงเทพฯ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Decode.plus” และ “Cofact โคแฟค”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย กล่าวว่า gender-based violence หรือความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับฐานคิดเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถีมักเริ่มต้นจากการสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคสื่อสังคมออนไลน์ที่การสื่อสารทำได้ง่าย โดยมีทั้งเนื้อหาที่เผยแพร่ตามธรรมชาติและที่เกิดจากการจัดตั้ง ผู้หญิงที่เข้ามาทำงานทางการเมืองหรือนโยบายสาธารณะหลายคนพบกับความรุนแรงในรูปแบบนี้ รวมทั้งตัวเธอเองด้วยที่ทำงานเคลื่อนไหวทางทางสังคมและเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องในเรื่องส่วนตัว เช่น ทำไมไม่แต่งงานมีลูกหรือถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว ซึ่งสะท้อนความคาดหวังว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเป็นภรรยาและเป็นแม่ แม้ว่าค่านิยมหรือมายาคติเหล่านี้จะลดลงในปัจจุบัน แต่ผู้หญิงที่ทำงานการเมืองหรือมีบทบาทในด้านอื่นๆ ก็ยังต้องเผชิญกับอคติทางเพศอยู่ไม่น้อย

มุมหนึ่งเราต้องธำรงหลักการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองไม่ว่าจะเพศสภาพไหน เราต้องมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นักการเมืองไม่ว่าหญิงหรือชายก็ต้องอดทนอดกลั้นที่จะถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ควรอยู่บนหลักเหตุและผลและข้อเท็จจริง เช่น ความคิด การกระทำหรือผลงาน ไม่ใช่ไปเน้นอคติโดยเฉพาะในเรื่องของเพศสภาพสุภิญญากล่าว

เกศชฎา พรหมจรรย์ ผู้อำนวยการ Westminster Foundation for Democracy (WFD) กล่าวว่าวงเสวนานี้สอดคล้องกับการรณรงค์ “16 วันเพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ” ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม ของทุกปีที่หลายประเทศทั่วโลกจะร่วมกันสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงทางเพศในทุกรูปแบบ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนในสังคม จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อข้อท้าทายและหาแนวทางเพื่อทำให้การเมืองไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

Screenshot

เน็นเด็น เซการ์ อารัม (Nenden Sekar Arum) จาก SAFEnet ประเทศอินโดนีเซี ฉายภาพสถานการณ์ความรุนแรงต่อนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงในอินโดนีเซีย โดยระบุว่านักการเมืองหญิงยังคงถูกข่มขู่คุกคามบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเธอมองว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย

การข่มขู่คุกคามเหล่านี้มีผลทั้งต่อจิตใจและสุขภาวะของผู้หญิง และยังอาจส่งผลต่อการแข่งขันทางการเมือง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในเวทีการเมือง…อินโดนีเซียยังขาดกลไกในการรับแจ้งเมื่อมีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเกิดขึ้น ขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งอาจไมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” เน็นเด็นระบุ

กุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker กองบรรณาธิการโคแฟค กล่าวว่าข้อมูลเท็จถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง โดยนักการเมืองหญิงจะถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จในเชิงเหยียดเพศ (gendered disinformation) มากกว่าผู้ชาย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเชิงชู้สาว การตัดต่อภาพวาบหวิว การล้อเลียนเสียดสีเรื่องความสามารถทางภาษา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการปลอมแปลงตัวตน เช่น บัญชีโซเชียลมีเดียปลอมเพื่อสร้างความเสียหายต่อนักการเมืองหญิง

กุลธิดากล่าวว่า gendered disinformationเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยอ้างกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ให้นิยามข้อมูลเท็จเชิงเหยียดเพศว่าเป็น “การคุกคามและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ด้วยการเอาประเด็นทางเพศมาสร้างข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิด ซึ่งมักจะทำกันเป็นเครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นผู้หญิงไม่ให้มีบทบาทในสังคม”

ขณะที่บทความวิชาการในวารสาร Media Asia Journal ระบุว่า gendered disinformation ที่ถูกนำมาใช้ในการโจมตีนักการเมืองหญิงนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้หญิง บ่อนเซาะความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และทำให้เกิดการตีตรานักการเมืองหญิงอีกด้วย

ตัวอย่าง gendered disinformation ต่อนักการเมืองหญิงในไทยเช่น กรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ากพรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาในประเด็นชู้สาวกับวาทกรรม “ว.5 โรงแรมโฟร์ซีซันส์”และมีการแชร์ข้อมูลว่าเธอพูดผิด เช่น อ่านคำว่าคอนกรีตว่า “คอ-นก-รีต” หรืออ่านชื่ออำเภอขนอมว่า “ขน-อม” เป็นต้น โดยที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เคยพูดหรืออ่านคำเหล่านี้ผิดเมื่อใด

รักชนก ศรีนอก สส.ทม. พรรคประชาชน ถูกระบุเท็จว่าเป็นผู้หญิงที่สวมชุดบิกินีสีส้ม และมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เชื่อว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ยืนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ห้ามสูบบุหรี่ของอาคารรัฐสภา

จิตภัสร์ กฤดากร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกอ้างเท็จว่าเป็นบุคคลในภาพที่ถีบป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทถึงปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกอ้างเท็จว่าเป็นผู้หญิงในภาพวาบหวิวและการถูกสวมรอยสร้างบัญชีเฟซบุ๊กไปทำโพลเปรียบเทียบความสวยระหว่าง“ปารีณา ไกรคุปต์” กับ “พรรณิการ์ วานิช” ซึ่งขณะนั้นพรรณิการ์เป็น สส. พรรคอนาคตใหม่ 

กุลธิดายังได้หยิบยกเนื้อหาบางส่วนจากการสัมภาษณ์นักการเมืองหญิงสองคน คือ ปารีณาและรักชนก 

ปารีณาตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีด้วยข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมเกิดขึ้นได้กับนักการเมืองทุกเพศ ขึ้นอยู่กับว่านักการเมืองคนใดมีความโดดเด่นหรือสังคมกำลังจับตามอง ส่วนในกรณีที่ตนเองเคยเจอมาก็มองว่าชินแล้ว เล่นการเมืองมานานจะให้ไปแก้ข่าวเท็จทุกเรื่องก็คงไม่เป็นอันทำอะไร ขณะที่รักชนกยอมรับว่า การถูกโจมตีในลักษณะนี้ส่งผลกระทบกับตนเองอย่างมาก เช่น เรื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้าในอาคารรัฐสภา แม้จะชี้แจงไปแล้วว่าคนในภาพนั้นไม่ใช่ตน แต่เมื่อไปลงพื้นที่ก็ยังถูกตั้งคำถามเสมอ

ประเด็นที่คุณปารีณาและคุณรักชนกพูดตรงกัน คือไม่ได้คาดหวังกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มว่าจะช่วยอะไรพวกเธอได้ในการถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จหรือมีบุคคลปลอมแปลงเฟซบุ๊ก ก็คิดว่าออกมาชี้แจงด้วยตัวเองก็คงจะทำได้เท่านี้ กุลธิดากล่าว

Screenshot

ขวัญข้าว คงเดชา นักวิจัย สถาบันพระปกเกล้ากล่าวว่า เทคโนโลยีนั้นขึ้นอยู่กับการใช้งานว่าจะสื่อสารเนื้อหาอย่างไร แต่ก็เห็นว่าเทคโนโลยีออนไลน์เหมือนเป็นการเพิ่มพื้นที่ความรุนแรงให้มากขึ้นและเกิดขึ้นกับทุกคน เพียงแต่เมื่อเกิดกับผู้หญิงมักผูกโยงกับปัจจัยเรื่องเพศมากกว่าผู้ชายที่จะไม่ค่อยถูกใช้ความรุนแรงจากเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อค้นพบจากการทำวิจัยกับเครือข่าย สส. หญิงในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปี 2567 ซึ่งแม้จะมีกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลค่อนข้างน้อย คือประมาณ 20 คน แต่ก็มีความน่าสนใจ

กล่าวคือ เมื่อถามว่าเคยประสบความรุนแรงทางเพศขณะที่เป็นนักการเมืองหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งบอกว่าเคยแต่อีกครึ่งบอกว่าไม่เคย โดยในกลุ่มที่บอกว่าเคย มี 4 คน บอกว่าเคยเจอเฉพาะความรุนแรงทางจิตใจ และอีก 6 คน ให้ข้อมูลว่าเจอทั้งความรุนแรงทางกายภาพและทางจิตใจ ขณะที่เมื่อถามว่าความเป็นเพศสภาพมีผลต่อเส้นทางชีวิตของการเป็นนักการเมืองหรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง 11 คน ตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง ส่วนอีก 9 คนตอบว่าเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ได้รับคำอธิบายว่า เมื่อได้มาเป็น สส. หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว การบ่งบอกตัวตน ณ เวลานั้น คือการเป็นตัวแทนของประชาชน และมองว่าการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าเพศสภาพ นอกจากนั้นความเป็นผู้หญิงยังสามารถใช้เป็นข้อได้เปรียบในการทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อเทียบกับผู้ชาย เช่น การหาเสียงเลือกตั้งหรือการลงพื้นที่พบปะกับประชาชน ซึ่งผู้หญิงสามารถใช้บทบาทความเป็นแม่ ลูกสาว พี่หรือน้องสาว ซึ่งมีความละเอียดอ่อนในการเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า

ไม่ได้จะบอกว่านักการเมืองหรือ สส. หญิงจะไม่สนใจเรื่องนี้ เขามีความสนใจ ทุกคนมีความตื่นตัว หลายคนอาจจะบอกว่า ignorance (เมินเฉย) หรือเปล่า? จริงๆ ไม่ใช่ ทุกคนมี perception (การรับรู้) หรือ gender lens (มุมมองเรื่องเพศ) ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยสถานะทางสังคม การเลี้ยงดู การได้รับการศึกษาที่แตกต่างกัน ฉะนั้นหากเราสามารถสร้าง gender sensibility (ความละเอียดอ่อนในประเด็นเรื่องเพศ) ที่ไม่ถึงกับต้องเป็น universal (สากล)ก็ได้ แต่เป็นที่ยอมรับในสังคมในบริบทของไทย และให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จะสามารถเพิ่มการตระหนักรู้ได้ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ว่าสิ่งที่เจอไม่ใช่แค่เกมการเมืองแต่เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ขวัญข้าวกล่าว

ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคประชาชนเล่าว่าเธอถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จและการคุกคามบนโลกออนไลน์มาตั้งแต่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 จนกระทั่งมาเป็น สส. ซึ่งมีทั้งการถูกอ้างเท็จว่าเป็นบุคคลที่สวมเสื้อสีส้มไปถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือการตัดต่อบทสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์แล้วนำไปอ้างเท็จว่าเธอมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับนักการทูตอเมริกันที่ประจำสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทย

เธอเชื่อว่าการเผยแพร่ข่าวปลอมในลักษณะนี้ไม่ใช่เพียงการแชร์กันไปด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด แต่เป็นการเผยแพร่โดยเจตนาและทำงานกันอย่างเป็นระบบ โดยสื่อมวลชนส่วนหนึ่งกับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อีกส่วนหนึ่งพยายามปั้นเรื่องขึ้นมา

การคุกคามทางออนไลน์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อเธออย่างรุนแรงโดยเฉพาะในทางจิตใจ ทำให้เธอกังวลถึงความปลอดภัยต่อชีวิตด้วย เพราะมีการเขียนข้อความข่มขู่ว่าจะข่มขืน มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ลงเบอร์โทรศัพท์ไว้และมีคนโทรเข้ามาข่มขู่คุกคาม หรือเมื่อออกไปเดินบนท้องถนนก็มีคนพยายามจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย ทำให้เข้าใจความสำคัญของปัญหาการคุกคามทางออนไลน์ 

ชลธิชายอมรับว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงต่อผู้หญิงในโลกออนไลน์มาก่อนจนกระทั่งได้เจอกับตนเอง ถึงขั้นต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ 4-5 เดือนเพื่อความปลอดภัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจ และได้พบจิตแพทย์ จึงได้เข้าใจว่าการปล่อยให้เกิดการคุกคามบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ข่าวปลอมทำลายกันนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจระยะยาว

มันมากกว่าที่เราคิด ไม่ใช่แค่ discredit (ทำลายความน่าเชื่อถือ) เราทางการเมืองเท่านั้น แต่มีผลทางกายภาพและเรื่องของสุขภาพจิต เคยอยู่ในภาวะที่ป่วยเป็น PTSD (โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ) อยู่ช่วงหนึ่ง เพราะรับข้อความหรือเจอการคุกคามทางกายภาพเป็นประจำ จนมีภาวะป่วยด้วยเรื่องสุขภาพจิต เชื่อไหมว่าความน่าเศร้าเกิดขึ้นเมื่อเราพบว่าในช่วงนั้นขบวนการเคลื่อนไหวหรือแม้แต่พื้นที่ของการทำงานทางการเมือง ไม่ได้มีใครตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้ ชลธิชากล่าว

ศรีโสภา โกฏคำลือ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยเล่าว่า การที่ตนเป็นผู้หญิง มีอายุน้อย และเป็นทายาทนักการเมือง ทำให้มีคนที่มองว่าชีวิตสุขสบาย ถูกตั้งคำถามว่าเคยลำบากหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้มองว่าคนเหล่านั้นคิดผิดและมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เขาจะสงสัย แต่ใครที่ได้เห็นตนทำงานก็จะรับรู้ว่าการที่มาอยู่ตรงนี้ได้ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะมีพ่อเป็นนักการเมือง แต่ยังเป็นเพราะสิ่งที่ตัวราเป็นพยายามผลักดันให้เราทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนประสบการณ์เรื่องความรุนแรง ตนเคยมีประสบการณ์ในช่วงก่อนจะเข้ามาทำงานการเมือง โดยเวลานั้นมีโอกาสได้ไปเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลเชียงใหม่ยูไนเต็ด โดยในการแข่งขันต้องเผชิญแรงกดดันจากกองเชียร์ทีมคู่แข่ง ซึ่งตนยอมรับว่าเป็นเรื่องขัดกับธรรมชาติหากไม่ตอบโต้ สุดท้ายจึงแสดงออกไปด้วยการชูนิ้วกลางใส่ฝูงชน แม้จะเป็นการแสดงออกที่สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมรับ แต่ในฐานะหัวหน้าก็ต้องแสดงให้ลูกทีมเห็นว่าตนไม่กลัว ดังนั้นทุกคนอย่าเสียกำลังใจ ให้แข่งขันต่อไปและออกจากสนามนี้อย่างปลอดภัย

สิ่งที่เราได้รับคือสำนักข่าวอื่นเขาก็ตีความปกติไปว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่แปลกใจมากๆ คือู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งวิจารณ์การกระทำของเรา เข้าใจว่าเขาไม่เคยดูฟุตบอลเลยวิจารณ์ไปตามประสาว่าเป็นผู้หญิงที่ก้าวร้าว แต่ทุกคนที่อยู่ในวงการฟุตบอลจะรู้ มันไม่มีผู้หญิงสติดีที่ไหนหรอกที่อยากจะหาเรื่องคนเป็นร้อย สิ่งที่เราได้รับคือเหมือนเขาให้ความเห็นแบบผู้หญิงมากๆ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงด้วยกันควรจะเข้าใจว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ศรีโสภากล่าว

ญดา โภคาชัยพัฒน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า การที่ผู้เสียหายจากเหตุความรุนแรงทางเพศจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็จะคิดว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่ เพราะหนึ่ง-การกระทำเกิดขึ้นทางออนไลน์ซึ่งหาตัวผู้กระทำได้ยาก เนื่องจากทุกคนมีโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เสมือนมีปากกาพร้อมจะเขียนบนโลกออนไลน์ได้เสมอ ส่วนคนจะกรองข้อความหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งสอง-กระบวนการที่ต้องเล่าซ้ำๆ ในสิ่งที่ถูกกระทำตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการและศาล ซึ่งในมุมของเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นขั้นตอนที่ทำเพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นและได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง แต่ในมุมของผู้ถูกกระทำก็อาจคิดไปได้ว่าเจ้าหน้าที่มองว่าผู้ถูกกระทำนั้นได้ทำอะไรผิดหรือไม่ สาม-ไม่มีกระบวนการเยียวยาหรือคุ้มครองผู้ถูกกระทำระหว่างอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น เมื่อถูกเผยแพร่คลิปวีดีโอ ภาพหรือข้อความ และถูกแชร์ต่อกันอย่างสนุกสนาน ผู้เสียหายไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้นำเนื้อหานั้นออกจากระบบได้

เขาจะต้องวิ่งไปทางตำรวจ แล้วกว่าคำพิพากษาจะออกมากินเวลานานมาก อาจเป็นปีหรืออาจจะฝังอยู่ ถ้าเกิดค้นหาชื่อคนคนนี้ขึ้นมา ข่าวทุกข่าวเหมือนย้อนประวัติศาสตร์เป็นบันทึกข้อความว่าเขาผ่านอะไรมา อัยการญดากล่าว

ณฐรัจน์ นิ่มรัตนสิงห์ Brand Manager จาก Mirror Thailand กล่าวว่า Mirror Thailand เป็นสื่อที่มีฐานผู้ติดตามเป็นกลุ่มคนที่สนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง เพราะมองว่าประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าขนาดนั้น และการทำงานด้านนี้ยังต้องทำงานทางความคิดกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น เมื่อผู้หญิงมาทำงานการเมือง สื่อมวลชนไทยยังคงใช้คำว่านักการเมืองหญิง ในขณะที่ผู้ชายจะใช้เพียงคำว่านักการเมือง 

หรือการตั้งประเด็นคำถามในการสัมภาษณ์นักการเมือง หากเป็นผู้ชายจะมุ่งถามในเรื่องการทำงาน ในขณะที่ผู้หญิงจะมีคำถามเรื่องชีวิตส่วนตัว (lifestyle) ขึ้นมาเพื่อให้ดูผ่อนคลาย ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภาไทยจะสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ก็ต้องดูกันต่อไป ไม่ใช่ว่ามาถึงจุดนี้จะดีใจกันแล้ว เท่าเทียมแล้ว หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วคือจบแล้ว แต่ยังต้องทำงานกันอีกมาก

ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ทาง Mirror จะพยายามไม่ทำ นั่นคือการพยายามพาดหัวให้สั้นลง การพยายามย่อยทุกอย่าง เพราะเรารู้ว่าในยุคที่ social media มีผลกระทบมากๆ ในโลกออนไลน์ สื่ออยู่ได้ด้วยยอดแชร์ต่างๆ นานา ทำให้จริยธรรมในการทำงานของสื่อน้อยลง ถ้าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างล่อแหลมหรือมีความสุ่มเสี่ยงอ่อนไหวมากๆ เราจะไม่ค่อยตัดทอนอะไรออกไป เราจะพยายามให้มันครบถ้วน เพราะเราไม่เชื่อว่าการพาดหัวที่สั้นมันสื่อสารมีประสิทธิภาพที่สุด มันอาจมีประสิทธิภาพที่สุดกับ social media แต่ไม่ใช่กับผู้รับสาร ณฐรัจน์กล่าว

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอุปนายกมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(Unesco) จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะกระจายคู่มือนี้ไปยังสื่อต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสมาคม รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในระบบงานทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรของตนเองได้

อย่างเคยมีกรณีนักข่าวผู้หญิง เกิดเรื่องแล้วไปร้องเรียนทั้งบรรณาธิการและบรรณาธิการบริหารซึ่งเป็นผู้ชายแล้วไม่สามารถช่วยเหลือได้เพราะไม่เข้าใจ ดังนั้นทำอย่างไรที่องค์กรสื่อหรือทุกๆ องค์กร จะมีระบบดูแลพนักงานที่เผชิญปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในระบบ HR และในกรณีที่เป็นนักการเมือง ก็ต้องถามไปถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนกรณีนักการเมืองหญิงถูกล่วงละเมิดหรือไม่ สส. ก็ต้องไปย้อนถามในสภาทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ มีหรือไม่ 

ผมก็มีโต๊ะข่าวที่เป็นโต๊ะสุขภาพ ก็มีคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรืออะไรพวกนี้เยอะ ผมไปพบว่าบริษัทใหญ่ๆ เขามีหน่วยเฉพาะที่ให้คำปรึกษาเมื่อคุณเจอผลกระทบทางจิตใจ อย่างเจอล่วงละเมิดทางเพศ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ผมว่าถ้ามีหน่วยพวกนี้ทุกองค์กร ผมว่าจะมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น จีรพงษ์กล่าว

ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหาร เนชั่น TVยกตัวอย่างการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ ในสภา ปัจจุบันจะเป็นการกำหนดโควตาโดยอิงจำนวน สส. ของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งพรรคจะส่งใครมาก็ไม่สามารถไปขัดแย้งได้ แต่ กมธ. บางชุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหวสามารถกำหนดบุคคลที่จะมาเป็นได้โดยอิงกับผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่ต้องยึดติดกับโควตาทางการเมือง เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว หรือการอนุญาตให้ประเทศไทยมีกาสิโนถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบมาก

ปกรณ์ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่มีสถาบันวิจัยกฎหมาย และมีตัวอย่างเรื่องกฎหมายการสร้างห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งนักการเมืองมักเข้าใจว่าความเท่าเทียมหมายถึงการสร้างห้องน้ำชายและหญิงในจำนานเท่าๆ กัน แต่ผลการศึกษาชี้ว่าในความเป็นจริงผู้หญิงใช้เวลาเข้าห้องน้ำนานกว่าผู้ชาย ดังนั้นการสร้างห้องน้ำชายและหญิงเท่ากันส่งผลให้ผู้หญิงต้องรอนานกว่ากรณีมีผู้ใช้ห้องน้ำจำนวนมาก นำมาสู่การออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้สร้างห้องน้ำหญิงมากกว่าชาย 

ขณะที่การทำงานของสื่อ ต้องยอมรับว่าในอดีตมีการแบ่งแยกกันระหว่างสื่อหลักที่มีกรอบจรรยาบรรณและมีสมาคมวิชาชีพกับสื่อออนไลน์หรือสื่อทางเลือก แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและความอยู่รอดของสื่อหลักซึ่งมีต้นทุนสูงมาก ทำให้ทั้งสื่อหลักและสื่อทางเลือกเคลื่อนมาอยู่ใกล้กัน คือยิ่งไม่มีจรรยาบรรณมากเท่าไรก็จะยิ่งมีเรตติ้งมากเท่านั้น  เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายของสื่อ การควบคุมไม่ให้ละเมิดทำได้ยากเพราะละเมิดแล้วได้เรตติ้ง เพราะเรื่องเหล่านี้สามารถหาดูได้ในสื่อออนไลน์ หากสื่อหลักไม่แข่งด้วยก็ไม่มีใครมาดู ดังนั้นหากจะแก้ไขก็ต้องทำพร้อมกัน

ตอนนี้สื่อออนไลน์ไม่ถูกควบคุมโดย กสทช. คือไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานใดไปควบคุมได้ ในขณะที่สื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ถูกควบคุม แต่บางคนเขาพร้อมยอมจ่าย ปรับที่ละ 5 หมื่นก็ปรับได้เพราะเรตติ้งเขาได้เยอะกว่า ปกรณ์กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-